ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 40,822 รายการ

ที่มา: https://datasipmu.finearts.go.th/academic/78


          เนื่องในโอกาสสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญ พระชนมายุครบ ๘ รอบ ๙๖ พรรษา นับเป็นมหามงคลสมัยยิ่ง กรมศิลปากรจึงได้จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ขึ้น ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดแสดงเรื่องราวของคตินิยมในการสร้างรูปแทนพระพุทธเจ้าเพื่อสักการบูชา การออกแบบท่าทางหรือการแสดงปางอันมีความหมายทางประติมานวิทยา โดยแบ่งเป็นหัวข้อดังนี้ ๑. ตำนานการสร้างพระพุทธรูป ๒. กำเนิดพระพุทธรูป  ๓. ท่วงท่า ภาษากาย และความหมายของพระพุทธรูป  ๔. “มุทรา” ภาษามือ สื่อธรรม ๕. ตำนานพระพุทธสิหิงค์  ๖. เหนือกว่ามนุษย์คือบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ มหาบุรุษลักษณะ๗. บอกเล่าเหตุการณ์ผ่าน “ปาง” ๘. ลักษณะการครองผ้าของพระพุทธรูปในสยามนิกาย และได้คัดเลือกพระพุทธรูป จำนวน ๘๑ องค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณที่มีพุทธศิลป์งดงามเป็นพิเศษในแต่ละสกุลช่าง มีความโดดเด่น สะท้อนถึงคติความเชื่อทางศาสนาและสุนทรียภาพความงามที่แตกต่างกันไปในแต่ละสมัยมาจัดแสดงเพื่อให้เห็นพัฒนาการของพระพุทธรูปในประเทศไทย ได้แก่ พระพุทธรูปรุ่นเก่า หมายถึงพระพุทธรูปรุ่นแรกที่พบในดินแดนประเทศไทย ซึ่งเข้ามาพร้อม ๆ กับการติดต่อค้าขายกับโลกภายนอก ประมาณ ๘๐๐ – ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว  พระพุทธรูปศิลปะทวารวดีพระพุทธรูปศิลปะศรีวิชัย  พระพุทธรูปศิลปะลพบุรี พระพุทธรูปศิลปะล้านนา  พระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย    พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา  และพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์  โดยเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่จัดแสดงและเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทั่วประเทศ อาทิ    หลวงพ่อเพชร วัดพระบรมธาตุวรวิหาร จังหวัดชัยนาท ศิลปะสุโขทัย จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี  พระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะสุโขทัย จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก จังหวัดสุโขทัย  พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย    พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา และพระเจ้าเข้านิพพาน ศิลปะรัตนโกสินทร์ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี           กรมศิลปากรขอเชิญเข้าชมนิทรรศการพิเศษ เรื่อง "พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ" ระหว่างวันที่ ๙ มิถุนายน – ๑๐ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร)  



         เทวรูปสูริยะ          พุทธศตวรรษที่ ๑๓ (ประมาณ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)          ได้มาจากเมืองศรีเทพ ตำบลนาตะกรุด (ปัจจุบันคือ ตำบลศรีเทพ) อำเภอวิเชียร จังหวัดเพชรบูรณ์ คณะกรมการจังหวัดเพชรบูรณ์ส่งมาให้เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑          ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร          แท่งศิลาแกะสลักรูปบุคคลปรากฏส่วนพระเศียรทรงกิรีฏมกุฎ (หมวกทรงกระบอก) ประดับตาบรูปทรงสามเหลี่ยมจำนวน ๓ ตาบ ตกแต่งเป็นลายกระหนกผักกูด กึ่งกลางตาบประดับเม็ดพลอย พระพักตร์รูปไข่ พระเนตรเปิดมองตรง พระกรรณยาวประดับกุณฑล พระวรกายแตกชำรุดหักหาย          ประติมากรรมชิ้นนี้มีลักษณะที่สำคัญคือการทรงกิรีฏมกุฎ (หมวกทรงกระบอก) ซึ่งมักปรากฏกับประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีสถานะเป็นผู้นำ อาทิ พระวิษณุ พระสุริยะ และพระอินทร์ ขณะที่การประดับลวดลายกระหนกผักกูดบนหมวกดังกล่าว ได้มีการศึกษาแล้วว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งรับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียมาอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ในพื้นที่เมืองศรีเทพยังพบประติมากรรมบางชิ้นตกแต่งกิรีฏมกุฎด้วยลายกระหนกผักกาด ซึ่งเป็นลวดลายที่นิยมตกแต่งในงานประติมากรรมศิลปะเขมรแบบไพรกเมง-กำพงพระ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔)* จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าวัฒนธรรมในพื้นที่เมืองศรีเทพ ปรากฏทั้งรูปแบบศิลปกรรมทวารวดีและเขมรก่อนเมืองพระนครในช่วงเวลาดังกล่าว          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีลายพระหัตถ์ถึงหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙** กล่าวถึงประติมากรรมองค์นี้ว่า          “...ฉันได้รับจดหมายลงวันที่ ๕ กับรูปฉายเครื่องศิลาที่พบใหม่ที่เมืองศรีเทพนั้นแล้ว พิจารณาดูรูปฉายรูปอื่น ๆ เป็นของแบบขอมไม่สู้อัศจรรย์ มีดีอยู่รูป ๑ ที่เป็นหัวคนติดอยู่กับแท่งศิลา จะแกะกับศิลานั้นหรือใครเอาไปติดไว้กับเสาศิลาพิจารณาดูในรูปรู้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดีหน้าภาพดูเป็นสมัยก่อนขอม งามดีด้วย เมื่อเอาลงมาควรห่อหุ้มระวังอย่าให้มาชำรุดกลางทาง เอาลงมาทั้งติดแท่งศิลาอยู่อย่างนั้น ถ้าเป็นของแกะกับแท่งศิลาจะเป็นของแปลกวิเศษที่นับเป็นศิริของพิพิธภัณฑสถานฯ ได้ชิ้น ๑ ถึงเป็นของทำเข้าติดไว้กับแท่งศิลา ถ้าติดอย่างนั้นแต่โบราณ ก็ควรตั้งไว้ทั้งแท่งศิลาอย่างเช่นฉายรูป ดูเข้าทีดี...”     *อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน : เชษฐ์ ติงสัญชลี. บทบาทของศิลปะอินเดียต่อเครื่องแต่งกายประติมากรรมบุคคลในเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๒. **ขณะนั้นพระองค์ประทับอยู่ ณ เกาะปีนัง (Penang) ประเทศมาเลเซีย     อ้างอิง เชษฐ์ ติงสัญชลี. บทบาทของศิลปะอินเดียต่อเครื่องแต่งกายประติมากรรมบุคคลในเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๒. เชษฐ์ ติงสัญชลี. มุทรา ท่าทาง เครื่องทรง สิ่งของ รูปเคารพในศาสนาพุทธ เชน ฮินดู. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๕. บริบาลบุรีภัณฑ์. หลวง, เรื่องโบราณคดี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊พ, ๒๕๓๑. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) ท.ช., ท.ม., ต.จ.ว. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑).


         เมืองเพชรบุรีได้ชื่อว่างานช่างนั้นมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและงดงาม โดยรู้จักกันทั่วไปในกลุ่มงานช่างในชื่อว่า “สกุลช่างเมืองเพชร” เป็นสกุลช่างที่งานฝีมือเกิดจากช่างพื้นบ้านและได้พัฒนาทั้งระดับฝีมือ รูปแบบและเนื้อหา จนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น ช่างเมรุ ช่างต่อเรือ ช่างทำเกวียน ช่างเรือน ซึ่งบทความนี้ผู้เขียนได้รวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยจะเน้นไปที่รูปแบบ โครงสร้าง และลักษณะของการสร้างธรรมาสน์ในเมืองเพชรบุรี          "ธรรมาสน์" หมายถึง ที่สำหรับพระภิกษุสามเณรนั่งแสดงธรรม (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554) โดยทั่วไปมักสร้างด้วยไม้ เป็นที่นั่งยกพื้นสูงกว่าระดับปกติ หรือรองรับด้วยฐานที่ตกแต่งอย่างงดงาม เพื่อแสดงถึงสถานะสูงส่งของพระสงฆ์ในฐานะผู้ถ่ายทอดพระธรรมเทศนาในวัฒนธรรมไทย และเป็นกิจกรรมที่แสดงฐานะและบุญบารมีของทั้งผู้อุปถัมภ์การสร้างและวัดที่เป็นเจ้าของธรรมาสน์เช่นกัน   ความสัมพันธ์ของธรรมาสน์กับกลุ่มช่างต่าง ๆ          ในยุคสมัยหนึ่งที่กระแสงานช่างเป็นที่นิยมมากในเมืองเพชร ตามเอกสารได้อธิบายยุคสมัยนี้ว่า “งานช่างยุคกระฎุมพอุปถัมภ์ (พ.ศ. 2400 – 2500)” ที่ลักษณะและรูปแบบของงานช่างจะสร้างขึ้นตามรสนิยมของช่างและผู้อุปถัมภ์ร่วมกัน ซึ่งความนิยมในการสร้างธรรมาสน์นั้นเริ่มมีขึ้นในช่วง 2460 เป็นต้นมา เป็นช่วงเวลาที่พบหลักฐานการสร้างธรรมาสน์จำนวนมากที่สร้างโดยกลุ่มช่างสำคัญ เช่น ธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดเกาะ ธรรมาสน์กลุ่มช่างสำนักวัดยาง ธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดพลับพลาชัย และธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดพระทรง ซึ่งครอบคลุมระยะเวลายาวนานจนถึงช่วงปี 2509 ช่วงสุดท้ายของความนิยมในการสร้างธรรมาสน์       ดังนั้น จึงได้รวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจ ความสัมพันธ์ของธรรมาสน์กับกลุ่มช่างต่าง ๆ ที่พบในแต่ละพื้นที่ และศึกษาว่าธรรมาสน์เหล่านั้นมีรูปแบบ โครงสร้าง และลักษณะการสร้างธรรมาสน์เป็นอย่างไรตามวิถีช่างในแต่ละกลุ่มช่าง โดยสรุปได้ดังนี้   กลุ่มช่างสำนักวัดยาง          กลุ่มช่างสำนักวัดยาง มีความเชี่ยวชาญงานไม้ด้านงานโครงสร้างมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่พระเทพวงศาจารย์ (หลวงพ่ออินทร์ อินทโชโต) เป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ. 2478 ถึง พ.ศ. 2524) ท่านเป็นครูช่างที่มีบทบาทมากที่สุดในขณะนั้น ผู้ก่อตั้งโรงเรียนช่างไม้วัดยาง ในปี พ.ศ. 2478 หรือวิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรีในปัจจุบัน           สำหรับการสร้างธรรมาสน์ของกลุ่มช่างสำนักวัดยาง แสดงให้เห็นการนำเอาขนบและรูปแบบทางศิลปกรรมที่ยึดโยงกับธรรมาสน์สมัยอยุธยาตอนปลายมาใช้เป็นต้นแบบ ธรรมาสน์ชิ้นสำคัญของช่างกลุ่มนี้ คือธรรมาสน์ที่ศาลาการเปรียญวัดยาง มีประวัติที่สันนิษฐานได้ว่าสร้างขึ้นใน พ.ศ.2423 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 มีผู้อุปถัมภ์หลัก คือ คุณแม่เลี่ยม พิชัยชลสินธุ์           ลักษณะสำคัญของธรรมาสน์ในกลุ่มนี้ มีจุดสังเกตที่สำคัญเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าสร้างมาก่อนธรรมาสน์หลังอื่นๆ ในช่วงที่นิยมสร้างธรรมาสน์ นั่นคือ แผ่นกระจกที่กระทงธรรมาสน์นั้นใช้กระจกเกรียบ ซึ่งนิยมใช้กันตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา แต่ธรรมาสน์ในเมืองเพชรบุรีช่วงหลัง พ.ศ. 2460 กลับไม่นิยมใช้กระจกลักษณะนี้ กลุ่มช่างสำนักวัดยางพยายามปรับให้เข้ากับสมัยนิยม ส่วนยอดยังใช้เครื่องทรงแบบสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ คือ บางหลังมีบรรพแถลงกับบางหลังใช้กระจังแทน โดยตัวกระจังปฏิญาณจะมีลักษณะแข็ง ดุดัน ตวัดปลายสะบัดพลิ้วไหวอย่างทรงพลัง ให้ความรู้สึกที่เข้มแข็งมากกว่าและไม่นิยมลวดลายที่อ่อนช้อย           ธรรมาสน์กลุ่มนี้จะมีความสูงจากฐานถึงยอดราว 5.47 เมตร ฐานกว้าง 1.54 เมตร ยาว 1.54 เมตร เรือนธาตุสูง 1.89 เมตร ยอด 4 ชั้น ไม่นิยมใส่สาหร่าย ล่องถุนนิยมทำแบบอยุธยาคือ เปิดช่องลมให้โปร่งหรือทำแบบกระเท่เซ มีดอกประจำยามติดอยู่ที่กลางล่องราชวัตร บันไดนาคนิยมทำหางนาคม้วนตลบด้วยกระหนก 3 ตัวเช่นเดียวกับกลุ่มช่างอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน   กลุ่มช่างวัดเกาะ          กลุ่มช่างวัดเกาะมีชื่อเสียงในเชิงช่างหลายแขนง ทั้งงานโครงสร้างและงานแกะสลัก พบว่าในทศวรรษ 2460 พระครูญาณวิจัย (อธิการยิด สุวณฺโณ) เป็นครูช่างคนสำคัญที่ทำการสอนเขียนและแกะสลักลวดลายต่างๆ และมีพระอาจารย์ผูกเป็นผู้สอนงานโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม โดยงานช่างที่มีชื่อเสียงมากที่สุดจะเป็น งานช่างธรรมาสน์           ลักษณะที่โดดเด่นของธรรมาสน์ช่างวัดเกาะคือ เป็นการเลียนแบบงานศิลปกรรมสมัยอยุธยา ในลักษณะของรัตนโกสินทร์ มีการประดับลวดลายที่วิจิตร ตัวกระจังปฏิญาณและกระจังมุมที่มีลักษณะเป็น 3 มิติ แตกต่างจากสมัยอยุธยา ตรงคูหามีสาหร่ายหัวนาคแกะสลักอย่างสวยงามรายล้อมไปด้วยเทวดาถือพระขรรค์และลายกนก ยอดนิยมแบบทรงจอมแห ทั้งยอดและคูหาทำแบบแอ่นโค้งเว้าคล้ายงานสมัยอยุธยา บริเวณล่องถุนธรรมาสน์นิยมแกะสลักลวดลายเป็นเนื้อเรื่องตอนต่างๆ ในวรรณกรรมรามเกียรติ์และนิยมสร้างตัวแบกจำพวกลิง ครุฑ และนก ประดับกระจกและปิดทองทั้งหลัง โดยสรุปลักษณะเฉพาะของธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดเกาะ ได้ว่า           1. กระจังของกลุ่มวัดเกาะจะมีลักษณะสะบัดตวัดไปมาซ้อนกัน 3 ตลบ           2. โดยส่วนใหญ่มักจะติดตัวแบกไว้ที่มุมของธรรมาสน์ทั้ง 4 ด้าน เช่น แกะเป็นหนุมานแบกที่วัดลาดโพธิ์ ครุฑที่วัดเกาะ และตัวกินกรวิกที่วัดชีว์ประเสริฐ          3. บริเวณล่องถุนธรรมาสน์มักจะเป็นพื้นที่สำหรับการอวดฝีมือไม่แพ้ส่วนอื่นๆ กล่าวคือ ที่ล่องถุนมักจะแกะลวดลายเช่นเดียวกับกลุ่มวัดพระทรง แต่ของกลุ่มวัดเกาะเป็นเรื่องราวของรามเกียรติ์ นิยมเขียนรายนามของผู้บริจาคและชื่อของช่างผู้สร้าง ปีที่สร้าง และจำนวนเงินที่สร้าง   กลุ่มช่างวัดพระทรง          กลุ่มช่างวัดพระทรงมีชื่อเสียงในด้านของงานวาดเขียน โดยมีช่างเขียนและครูช่างที่มีชื่อเสียง คือ ครูหวน ตาลวันนา ขุนศรีวังยศ (ขันธ์ เกิดแสงสี) และพระอาจารย์เป้า ปญฺโญ ผลงานที่โดดเด่นของสำนักวัดพระทรง ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของขุนศรีวังยศ โดยพระอาจารย์เป้า จะเป็นผู้แกะสลักลวดลาย คือ ธรรมาสน์วัดพระทรง ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญวัดพระทรง สร้างขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. 2460          ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดพระทรงจะทำตามแบบที่ลอกเลียนโครงสร้างของงานแบบสมัยอยุธยามาสร้างสรรค์ให้เข้ากับยุคสมัยด้วยการประดับลวดลายสมัยรัตนโกสินทร์ มีการจำหลักไม้ด้วยความประณีต มีความละเอียดทุกชิ้นทุกส่วน ยอดเป็นทรงจอมแหและนิยมแกะสลักล่องถุนธรรมาสน์เป็นเรื่องทศชาติชาดก รามเกียรติ์ ลายเทพพนม เป็นต้น หรือลวดลายแบบตะวันตก เช่น วิวทิวทัศน์ และสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นมุมมองทางศิลปะที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้นโดยได้รับอิทธิพลจากราชสำนักกรุงเทพฯ ผ่านทางครูช่างของกลุ่มอย่างขุนศรีวังยศ ซึ่งเป็นข้าราชการในบังคับของเจ้าเมืองเพชรบุรีสมัยนั้น มีความเชี่ยวชาญในการดัดแปลงงานศิลปะตะวันตกให้เข้ากับงานศิลปกรรมไทยได้อย่างยอดเยี่ยม        กลุ่มช่างวัดพลับพลาชัย          กลุ่มช่างใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง โดย มีครูช่างที่ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของยุคฟื้นฟูงานช่างของเมืองเพชร นั่นคือ หลวงพ่อฤทธิ์ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ทางการช่าง ซึ่งผลงานของท่านมีจำนวนมากและมีความสามารถทางช่างหลายแขนง ทั้งงานไม้ งานแกะสลัก งานปั้น โดยเฉพาะงานเขียนภาพ มีลูกศิษย์คนสำคัญที่คอยสานต่อฝีมือช่างอย่าง นายเลิศ พ่วงพระเดช          กลุ่มช่างวัดพลับพลาชัยมีความเชี่ยวชาญงานเขียนและงานปูนปั้นมากเป็นพิเศษ มีผลงานจำนวนมากในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 25 สำหรับธรรมาสน์ของกลุ่มช่างวัดพลับฯ เริ่มในปี 2465 บนศาลาการเปรียญวัดพลับพลาชัย ซึ่งเป็นผลงานของนายเลิศ พ่วงพระเดช ลักษณะของธรรมาสน์มีความแตกต่างจากกลุ่มช่างอื่นๆ ไม่มาก มีความละม้ายคล้ายคลึงจะไปเหมือนกับกลุ่มช่างวัดพระทรง ก็คือ ยอดของธรรมาสน์มีลักษณะเป็นยอดทรงจอมแหลดหลั่นชั้นลงมา เป็นเหลี่ยมตรงขึ้นไป ลดหลั่นระดับชั้นของยอดลงมาเป็นแนวตรงแบน มีสาหร่ายประดับ ล่องถุนธรรมาสน์นิยมแกะเป็นลายเทพพนม หัวสิงห์ หรือรามเกียรติ์ มีรายนามของผู้เป็นเจ้าภาพออกปัจจัยสร้างธรรมาสน์ อาจเป็นได้ว่า ช่างพลับพลาชัยกับช่างวัดพระทรงต่างเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์กัน เนื่องจากมีหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัยเป็นครูช่างใหญ่ ลักษณะที่มีกลิ่นอายของศิลปกรรมตะวันตกจึงปรากฏอยู่ทั่วไปในกลุ่มช่างทั้งสองแห่งนี้     เอกสารและหลักฐานการค้นคว้า       1. ธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดเกาะ. ภาพถ่าย ธรรมาสน์วัดเกาะ, ธรรมาสน์วัดลาดโพธิ์วัดชีว์ประเสริฐ, ธรรมาสน์วัดชีว์ประเสริฐ, ธรรมาสน์วัดลาดโพธิ์.       2. ธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดยาง. ภาพถ่าย ธรรมาสน์วัดยาง, ธรรมาสน์วัดสำมะโรง, ธรรมาสน์วัดหนองควง, ธรรมาสน์วัดราษฎร์ศรัทธา.       3. ธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดพระทรง. ภาพถ่าย ธรรมาสน์วัดพระทรง, ธรรมาสน์วัดแรก, ธรรมาสน์วัดขุนตรา.       4. ธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดพลับพลาชัย. ภาพถ่าย ธรรมาสน์วัดพลับพลาชัย, ธรรมาสน์วัดสามพราหมณ์, ธรรมาสน์วัดหนองจอก, ธรรมาสน์วัดกุฎีดาว, ธรรมาสน์วัดน้อย.       5. เหมือนพิมพ์ สุวรรณกาศ และ ชนัญญ์ เมฆหมอก, “ธรรมาสน์ไม้แกะสลักในเพชรบุรี: การวิจัยเชิงสำรวจ”, โครงการวิจัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562)        6. ดวงกมล บุญแก้วสุข, “ศิลปะสกุลช่างเพชรบุรี : งานปูนปั้นปัจจุบันย้อนอดีต”, วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย, (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557)       7. ชุชนัญญ์ เมฆหมอก.  (2561).  “ธรรมาสน์เมืองเพชร : พลวัตของวัฒนธรรมงานช่างไม้ในบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่น”. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.             8. ชุชนัญญ์ เมฆหมอก.  (2563).  “ธรรมาสน์สำนักช่างวัดเกาะ : ประวัติศาสตร์วัตถุในบริบทวัฒนธรรมกระฎุมพีเมืองเพชร”. วารสารวิจิตรศิลป์ ปีที่ ฉบับ ที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม 2563.  


           หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ จัดกิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ของหอสมุดแห่งชาติ ภายใต้โครงการพัฒนาหอสมุดแห่งชาติเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต (ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) ประจำปีงบประมาณ 2567 ร่วมกับหอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก กาญจนบุรี และเครือข่ายห้องสมุดประชาชนในอาเซียน (ASEAN Public Libraries Information Network, APLiN) ในวันที่ 15-16 ธันวาคม พ.ศ.2566 เวลา 08.30-17.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ หอสมุดแห่งชาติรัชทังคลาภิเษก เชียงใหม่            ผู้สนใจสามารถรับชมกิจกรรมได้ทาง Facebook LIVE หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ NL.CNX และFacebook philippine public libraries and APLiN


           กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดจัดกิจกรรมสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ ๒๕๖๗” ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๗    คติการสร้างพระพุทธรูป เป็นการสร้างขึ้นเพื่อแทนคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วย พระมหากรุณาธิคุณ (มีคุณด้วยความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลก) พระวิสุทธิคุณ (มีคุณด้วยจิตวิสุทธิ์) และพระปัญญาธิคุณ (มีคุณด้วยปัญญา) พระพุทธรูปจึงมิใช่รูปเสมือนจริง แต่สร้างขึ้นตามอุดมคติ ตามลักษณะของมหาบุรุษ ผู้บำเพ็ญบารมีพร้อมสมบูรณ์ กอปรด้วยความงาม ตามสุนทรียภาพหรือความรู้สึกถึงความงดงามของช่างฝีมือแต่ละสมัย พระพุทธรูปแต่ละองค์ที่สร้างขึ้น ต่างมีคุณลักษณะเปี่ยมด้วยสรรพสิริสวัสดิมงคลต่าง ๆ อันเป็นเครื่องน้อมนำให้พุทธศาสนิกชนยึดมั่น ศรัทธาต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกุศโลบายให้ตรึกถึงพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอันเป็นหนทางพ้นทุกข์ภัยในวัฏสงสาร      เนื่องในเทศกาลปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๗ ปีมะโรงนักษัตร กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้อัญเชิญพระพุทธรูปที่มีคติการสร้างเกี่ยวข้องกับพญานาค  มีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ตามตำนานปั้นหล่อจากต้นแบบพญานาคแปลงนิมิตสำแดงพระพุทธลักษณะ เป็นพระประธาน พร้อมด้วยพระพุทธรูปอีก ๙ องค์ ที่จัดแสดงและสงวนรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน ๗ องค์ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี ๑ องค์ และวัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ จำนวน ๑ องค์ มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗  พระพุทธรูปทั้ง ๑๐ องค์ ประกอบด้วย   ๑. พระพุทธสิหิงค์ แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ (๕๐๐ ปีมาแล้ว) ชนิด          สัมฤทธิ์  กะไหล่ทอง ขนาด         สูงพร้อมฐาน ๑๓๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๖๓ เซนติเมตร องค์พระสูง ๗๙ เซนติเมตร   ประวัติ                          สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ ๑) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อ พุทธศักราช ๒๓๓๘  ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล               พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์  จาก “นิทานพระพุทธสิหิงค์” ซึ่งพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่นิพนธ์เป็นภาษาบาลี ระหว่างพุทธศักราช ๑๙๔๕-๑๙๘๕ เนื้อความกล่าวถึงตำนานพระพุทธสิหิงค์ว่าสร้างโดยพระมหากษัตริย์กรุงลังกาเมื่อพุทธศักราช ๗๐๐ กำหนดพระลักษณะให้ละม้ายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากที่สุด เนื่องจากได้ถอดมาจากรูปแปลงของพญานาคที่เคยเห็นพระพุทธองค์ เนรมิตกายให้ดูเป็นแบบอย่าง             ในครั้งนั้นสีหฬทวีป เกาะลังกา มีพระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติ ๓ พระองค์ วันหนึ่งพระราชาได้ตรัสถามเหล่าพระอรหันต์ว่า บรรดาพระคุณเจ้าทั้งหลายมีรูปใดบ้างที่ได้เคยเห็นพระบรมศาสดาเมื่อยังทรงพระชนม์ชีพ แต่พระอรหันต์ทั้ง ๒๐ องค์ ไม่มีรูปใดที่เคยเห็น  พญานาคตนหนึ่งที่อยู่ในที่ประชุมนั้นซึ่งเคยได้เห็นจึงอาสานิรมิตองค์แทนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอสีติมหาสาวกถวาย เมื่อพุทธบริษัททั้งหลายได้กระทำบูชาพระพุทธรูปครบ ๗ วันแล้ว นาคราชจึงกลายเพศเป็นมานพถวายอภิวาทพระอรหันต์ทั้งหลาย แล้วกำชับว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงได้กำหนดจดจำพระพุทธลักขณะไว้เถิด” แล้วก็ไปสู่นาคพิภพแห่งตน  พระมหากษัตริย์กรุงลังกาจึงโปรดให้ช่างหล่อที่มีฝีมือดีเยี่ยมปั้นขี้ผึ้งเป็นพระพุทธรูปมีลักษณะเหมือนกับที่ได้จดจำมา            กล่าวกันว่า เมื่อหล่อพระพุทธสิหิงค์ขึ้นแล้ว เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้ ต่อมาพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย โปรดเกล้าฯ ให้พญาสิริธรรมนคร ผู้ปกครองเมืองสิริธรรมนคร (ปัจจุบันคือ นครศรีธรรมราช) แต่งทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ทูลขอพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานสักการบูชา ณ กรุงสุโขทัย ครั้นกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง พระมหากษัตริย์หรือเจ้าเมืองผู้มีอำนาจได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานตามเมืองสำคัญหลายแห่ง ได้แก่ พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย และเชียงใหม่    ๒. พระพิมพ์ปางมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ (๑,๒๐๐-๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) ชนิด          ดินเผา  ปิดทอง ขนาด         สูงพร้อมฐาน ๑๙.๕ เซนติเมตร  กว้าง ๒๑.๕ เซนติเมตร ประวัติ                  สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สถานที่เก็บรักษา         ห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร               พระพิมพ์ดินเผาสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๓ องค์ ประดิษฐานเรียงกันบนฐานไม้ องค์กลางซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าด้านหน้าพิมพ์ภาพพุทธประวัติตอนมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี  เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับใต้ร่มไม้ พระพุทธองค์ประทับขัดสมาธิราบบนดอกบัวที่เนรมิตขึ้นโดยพญานาคนันทะและอุปนันทะประคองถือก้านบัวอยู่ด้านล่าง แวดล้อมด้วยพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าเทวดาทั้งหลายที่ลงมาเฝ้า ด้านหลังพระพิมพ์จารึกคาถาเย ธมฺมาฯ ด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี ๔ บรรทัด ความว่า “เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา เยสํ เหตุ ตถาคโต อาห เตสญฺ จ โย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมโณ” แปลว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้”               พระพิมพ์ปางมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี องค์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพบจากที่ใด แต่พระพิมพ์แบบนี้ได้พบที่เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีหลายแห่งบริเวณภาคกลางของประเทศไทย อาทิ จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้อธิบายถึงก้านบัวที่มีพญานาค ๒ ตนประคองในฉากมหาปาฏิหาริย์ ว่ามีที่มาจากคัมภีร์ทิวยาวทาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ภาษาสันสกฤตของพุทธศาสนาหีนยานนิกายสรวาสติวาท ว่า “พระยานาค ๒ ตน ชื่อ นันทะ และอุปนันทะ ได้เนรมิตดอกปทุมดอกหนึ่ง มีกลีบหลายพันกลีบใหญ่เท่าล้อรถ กลีบดอกปทุมทั้งหลายเหล่านี้ล้วนด้วยทองทั้งสิ้นแต่ก้านเป็นเพชรพลอย แล้วจึงนำดอกปทุมนี้เข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคเสด็จขึ้นไปนั่งประทับขัดสมาธิบนกลีบบัวนั้น...” แต่ด้านหลังปรากฏจารึกคาถาเย ธมฺมาฯ ภาษาบาลี ซึ่งมีที่มาจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ด้วยเหตุนี้นักวิชาการจึงสันนิษฐานว่าพระพิมพ์แบบนี้ทำขึ้นโดยผู้นับถือพุทธศาสนาเถรวาท แต่หยิบยืมรูปแบบและประติมานวิทยาของพุทธศาสนานิกายอื่นมาใช้   ๓. พระไภษัชยคุรุนาคปรก แบบศิลปะ/ยุคสมัย ศิลปะลพบุรี  พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ (๘๐๐-๙๐๐ ปีมาแล้ว) ชนิด         สัมฤทธิ์ ขนาด สูงพร้อมฐาน ๖๐ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๒๗.๕ เซนติเมตร  ประวัติ                 กรมศิลปากรซื้อมาจากพิพิธภัณฑ์ของหม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ สุประดิษฐ์ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ สถานที่เก็บรักษา ห้องศิลปะลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร   พระไภษัชยคุรุ องค์นี้มีสุนทรียภาพที่ได้รับอิทธิพลศิลปะขอมแบบบายน - หลังบายน อันเป็นรูปแบบงานศิลปกรรมช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ (หรือประมาณ ๘๐๐-๙๐๐ ปีมาแล้ว) พระไภษัชยคุรุ เป็นพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนานิกายมหายาน มีประวัติกล่าวว่าเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงตั้งปณิธานว่าจะช่วยเหลือสัตว์โลกทั้งปวงให้มีชีวิตยืนยาว พ้นโรคภัย ทั้งจากทางกายและทางใจ เป็นที่นิยมนับถือในกลุ่มชนต่าง ๆ ทั้งชาวทิเบต ชาวจีน และชาวเขมร ดังปรากฏบุคคลผู้มีบทบาทในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ผู้ทรงอุทิศพระราชทรัพย์และข้าทาสบริวาร เพื่อสร้างสถานอภิบาลผู้ป่วย นามว่า “อาโรคยศาล” ทั้งยังโปรดให้สร้างพระไภษัชยคุรุเป็นประธานในศาสนสถานเพื่อบำบัดทุกข์และโรคภัยดังปณิธานในฐานะพระพุทธเจ้าแพทย์ โดยลักษณะพระไภษัชยคุรุที่พบจากอาโรคยศาลส่วนใหญ่ เป็นพระพุทธรูปนาคปรก ที่มีหม้อยาหรือตลับวางอยู่ในพระหัตถ์ แม้ตามประติมานวิทยาระบุเพียงว่าพระไภษัชยคุรุมี ๒ พระกร ครองจีวรแบบพระภิกษุก็ตาม แต่งานศิลปกรรมในวัฒนธรรมขอมยังมีองค์ประกอบสำคัญที่เพิ่มขึ้นมา คือ ฐานนาคปรก  ๔. พระรัตนตรัยมหายาน แบบศิลปะ/ยุคสมัย    ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๘ (๘๐๐ ปีมาแล้ว) ชนิด                    ศิลา ขนาด                    สูง ๓๕.๕ เซนติเมตร กว้าง ๓๑ เซนติเมตร ประวัติ                    สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สถานที่เก็บรักษา    คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี             พระรัตนตรัยมหายาน สัญลักษณ์แทนของคุณธรรม ๓ ประการ สำหรับผู้ต้องการตรัสรู้ อันได้แก่ อุบาย ความกรุณา และปัญญา มักพบในรูปแบบประติมากรรมรูปเคารพรูปบุคคลสามคนอยู่บนฐานเดียวกัน หรือเป็นกลุ่มประติมากรรมลอยตัวที่มีขนาดใกล้เคียงกัน โดยเบื้องกลางคือพระพุทธรูปนาคปรก ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิราบเหนือขนดนาค เป็นตัวแทน อุบาย หรือการสั่งสอนธรรม ถัดไปทางเบื้องขวาเป็นรูปบุรุษมีสี่กร คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร บุคคลาธิษฐานความกรุณา เสมือนความปรารถนาช่วยให้สัตว์โลกทั้งปวงหลุดพ้นจากวัฏสงสาร และเบื้องซ้ายรูปสตรี ยกกรทั้งสองข้างขึ้นถือหนังสือและดอกบัว คือ นางปรัชญาปารมิตา บุคคลาธิษฐานแห่งคัมภีร์ปรัชญาปารมิตา พระคัมภีร์สำคัญสูงสุดของฝ่ายมหายานและปัญญาสูงสุดของพระพุทธเจ้า โดยทั้งมหาปัญญาและมหากรุณาเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มพูนโพธิจิตสู่การเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล  ๕. พระพุทธรูปปางมารวิชัย แบบศิลปะ/ยุคสมัย   ศิลปะอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ (๔๐๐-๕๐๐ ปีมาแล้ว) ชนิด   สัมฤทธิ์ ขนาด   สูงพร้อมฐาน ๔๓ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๑๑.๒ เซนติเมตร   ประวัติ                   เป็นของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เดิมอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร สถานที่เก็บรักษา   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร             พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางซ้อนบนพระเพลาในอิริยาบถสมาธิ เบื้องหลังมีแผ่นโลหะรูปต้นโพธิ์ รองรับด้วยฐานภาพเล่าเรื่องรูปกองทัพพญามาร โดยมีรูปนาค ๒ ตนแผ่พังพานอยู่ทั้งสองข้าง รวมถึงมารบางตนชูศีรษะงูในมือทั้งสองข้าง สอดรับกับเรื่องราวใน “ชินมหานิทานกถา” คัมภีร์พุทธศาสนาสมัยอยุธยา อันเป็นต้นเค้าของปฐมสมโพธิกถา ปรากฎเนื้อหาว่า “...เอกจฺจา อุปริมกายโต นาคสรีรา เหฏฺฐิมกายโต มนุสฺสสรีรา. เอกจฺจา เหฏฺฐิมกายโต นาคสรีรา อุปริมกายโต มนุสฺสสรีรา...” แปลความว่า “...บางพวกท่อนบนเป็นร่างนาค ท่อนล่างเป็นร่างมนุษย์ บางพวกกายท่อนบนเป็นร่างมนุษย์ ท่อนล่างเป็นร่างนาค...” จากบริบทดังกล่าวแสดงให้เห็นว่านาคเหล่านี้ คือบริวารของพญามารที่เข้ารังควานพระพุทธเจ้า สอดรับกับเรื่องราวของ นาค ในคัมภีร์พุทธศาสนา ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มนาคผู้พิทักษ์พระพุทธเจ้าที่ยอมรับนับถือพุทธศาสนา กับนาคที่เป็นปฏิปักษ์ มิจฉาทิฐิ หรือนาคที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ ๖. พระบัวเข็ม แบบศิลปะ/ยุคสมัย   ศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔ (๒๐๐-๔๐๐ ปีมาแล้ว) ชนิด  ไม้ลงรักปิดทอง ขนาด   สูงพร้อมฐาน ๑๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๗.๓ เซนติเมตร ประวัติ   สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สถานที่เก็บรักษา   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร              พระบัวเข็ม หรือพระทักษิณสาขา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีคุณอันวิเศษที่นิยมเคารพนับถือกันในหมู่ชาวพม่า มอญ และไทใหญ่ โดยเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจากไม้ของพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นไม้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ พุทธลักษณะที่สำคัญ คือ ส่วนพระเศียรมีใบบัวปรกอยู่ บริเวณใต้ฐานมักนิยมแกะสลักเป็นภาพงู นาค และสัตว์น้ำ ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (ขอฝน) และพระราชพิธีพืชมงคล มีการประดิษฐานพระบัวเข็มร่วมกับพระคันธารราษฎร์ และประติมากรรมรูปนาคและปลาช่อนด้วย จึงกล่าวได้ว่าราชสำนักไทย นับถือพระบัวเข็มในฐานะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีพุทธคุณที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับน้ำและความอุดมสมบูรณ์            อนึ่งมีข้อน่าสังเกตว่าพระบัวเข็มบางรูปแบบมีการทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรก และมีสระน้ำ ซึ่งมุจลินทนาคราชมีความสัมพันธ์กับสระน้ำ และฝนด้วย ดังนั้นจึงอาจมีความเป็นไปได้ว่าพระบัวเข็มอาจสามารถหมายถึงพุทธประวัติตอนเสวยวิมุติสุขในสัปดาห์ที่ ๖ ใต้ต้นจิกริมสระน้ำของพญามุจลินทนาคราชได้ด้วยเช่นกัน ๗. พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์นาคปรก แบบศิลปะ/ยุคสมัย     ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ (๑๐๐ ปีมาแล้ว) ชนิด             งาช้าง ไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก ขนาด             สูง ๑๒๓ เซนติเมตร ประวัติ             สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร              พระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับในซุ้มเรือนแก้ว ๕ องค์  แกะสลักบนงาช้างที่บิดเป็นเกลียว  ส่วนปลายงาแกะเป็นรูปนาคปรก  คนไทยถือว่างาช้างที่งอกผิดจากรูปทรงปกติเป็นของขลังสูงค่านิยมนำมาแกะเป็นพระพุทธรูป  โดยพระพุทธรูป ๕ พระองค์  หมายถึง พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ในภัทรกัลป์ ซึ่งได้อุบัติขึ้นมาแล้วสี่องค์ ได้แก่ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า และพระอนาคตพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่ง คือ พระศรีอริยเมตไตย            ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในไทยและมุขปาฐะพื้นบ้าน เล่าถึงตำนาน “แม่กาเผือก” การกำเนิดของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ กล่าวถึงเมื่อครั้งช่วงต้นกัลป์ มีแม่กาเผือกได้วางไข่ไว้ที่รังบนยอดไม้ริมแม่น้ำ วันหนึ่งเกิดพายุพัดรังกาแตก ไข่ตกลงสู่แม่น้ำกระจัดกระจายไป ไข่ห้าใบได้ไหลไปตามกระแสน้ำ กระทั่งไปเกยกับฝั่งเรียงถัดกันไปเรื่อย ๆ โดยไข่ใบแรก คือ พระกกุสันธโพธิสัตว์ได้แม่ไก่รับไปดูแล พระโกนาคมนโพธิสัตว์ได้นางนาคนำไปดูแล พระกัสสปโพธิสัตว์มีแม่เต่าเป็นผู้ดูแล พระโคตมโพธิสัตว์ถูกเลี้ยงดูโดยแม่โค และไข่ใบที่ห้าพระศรีอริยเมตไตยโพธิสัตว์ได้นางสิงห์นำไปฟูมฟัก กระทั่งไข่ฟักออกมาเป็นเด็กทารกและเติบใหญ่เป็นชายหนุ่ม จึงอำลาเหล่าแม่บุญธรรมของตนออกบวช กระทั่งได้บรรลุโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด โดยไล่เรียงกันไปทั้งห้าพระองค์             การสร้างสรรค์งานศิลปกรรมอันเนื่องมาจากคติพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ตามตำนานแม่กาเผือก มักมีรูปแบบเป็นภาพพระพุทธเจ้าจำนวน ๕ พระองค์ หรือรูปพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ และพระโพธิสัตว์ ๑ พระองค์ ปรากฏคู่กับรูปสัตว์ประจำพระองค์ สำหรับเป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ว่ารูปพระพุทธเจ้าองค์นั้น ๆ คือ พระพุทธองค์ใดในภัทรกัลป์ นอกจากนี้ การปรากฏรูปสลักรูปเศียรนาคที่ปลายสุดของงาช้างบิดเกลียวกิ่งนี้ ชวนให้นึกถึง พญากาฬนาคราช สักขีพยานในการอุบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะตื่นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงถาดที่พระอดีตพุทธเจ้าทรงลอยอธิษฐานตกลงมากระทบกัน   ๘. พระพุทธรูปนาคปรกไม้จันทน์ แบบศิลปะ/ยุคสมัย  ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ (ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ ปีมาแล้ว) ชนิด  ไม้ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๔๐.๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๙ เซนติเมตร ประวัติ  ราชบัณฑิตยสภานำมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๙ สถานที่เก็บรักษา  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร             พระพุทธรูปไม้จันทน์ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิราบบนฐานบัวหงาย กลีบบัวซ้อนกันสองชั้นเหนือขนดนาค ๔ ชั้น ด้านบนเป็นพังพานนาค ๗ เศียรแผ่ปรกเหนือพระเศียร พระพุทธรูปนาคปรกสื่อถึงพุทธประวัติหลังการตรัสรู้ในสัปดาห์ที่ ๖ ขณะที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นจิก บังเกิดพายุฝนโหมกระหน่ำเป็นเวลา ๗ วัน พญานาคมุจลินทร์ซึ่งอาศัยอยู่ในหนองน้ำ (สระโบกขรณี) ใกล้กับต้นจิกเกรงว่าพระองค์จะทรงถูกพายุฝนรบกวน จึงเลื้อยขึ้นมาจากหนองน้ำและขนดกายรอบพระพุทธองค์ แล้วแผ่พังพานปรกเหนือพระเศียรพระพุทธเจ้าไว้ เป็นการป้องกันพระพุทธองค์มิให้ถูกแดด ฝน ตลอดจนแมลงต่าง ๆ มารบกวน             พระพุทธรูปนาคปรกปรากฏหลักฐานในประเทศไทยตั้งแต่สมัยทวารวดีเป็นต้นมา และใน “ตำราพระพุทธรูปปางต่าง ๆ” ตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงกำหนดให้พระพุทธรูปนาคปรกเป็นพระพุทธรูปประจำวันเสาร์   ๙. พระพุทธรูปนาคปรกนอระมาด แบบศิลปะ/ยุคสมัย   ศิลปะรัตนโกสินทร์ (ท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ (ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ ปีมาแล้ว) ชนิด   นอระมาด ขนาด   สูงพร้อมฐาน ๑๘.๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๖.๕ เซนติเมตร ประวัติ นายซาทองยศ ภูดวงศรี บ้านเสียว ตำบลอุ่มเม่า อำเภอตลาด จังหวัดมหาสารคาม มอบให้เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ สถานที่เก็บรักษา พระตำหนักแดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร              พระพุทธรูปนาคปรกแสดงปางมารวิชัยแกะจากนอระมาด (แรด) ฝีมือช่างท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  พระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างพระพุทธรูปนาคปรกในศิลปะลาว ซึ่งปรากฏรูปแบบที่หลากหลายต่างกับพระพุทธรูปในศิลปะอื่น ๆ แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มที่สำคัญคือกลุ่มที่ทำพังพานนาคปรกแบบซุ้มโขง  ซึ่งกลุ่มนี้พบมากในกลุ่มงานช่างแถบจังหวัดอุบลราชธานี กับกลุ่มที่พังพานนาคแคบมีขนาดเท่ากับองค์พระพุทธรูป ซึ่งพบได้ทั่วไปพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อเนื่องไปถึงกลุ่มพระไม้ทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่น พระไม้นาคปรกปางสมาธิ พบที่วัดชนะไพรี อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน          สำหรับ “นอระมาด” หรือ “นอแรด” เป็นของป่ามีมูลค่าและเป็นทั้งของบรรณาการและส่วยที่หัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยรวมถึงลาวส่งให้กับกรุงเทพฯ ตามความเชื่อในสังคมไทย-ลาว นอระมาดนอกจากมีสรรพคุณทางด้านการรักษาโรคแล้ว ยังถือเป็นเครื่องรางของขลังประเภทหนึ่ง ที่มีอานุภาพบันดาลทรัพย์สิน และความอุดมสมบูรณ์แก่ผู้ครอบครอง รวมทั้งมีคุณด้านป้องกันอัคคีภัยได้   ๑๐. พระนิรโรคันตราย แบบศิลปะ/ยุคสมัย    ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๔๕ ชนิด   โลหะผสมปิดทอง ขนาด   สูงพร้อมฐาน ๓๗ เซนติเมตร  หน้าตักกว้าง ๑๕ เซนติเมตร ประวัติ                   สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพันณวดี ทรงพระราชศรัทธา พระราชทานประจำวัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๖ สถานที่เก็บรักษา   วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ     พระนิรโรคันตราย เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ ภายหลังทรงหายจากพระอาการประชวรร้ายแรงเกี่ยวกับพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) โดยมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประจำวันเสาร์และนักษัตรปีมะโรง อันเป็นวันและปีพระบรมราชสมภพ แต่ก็ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีความแปลกใหม่แตกจากพระพุทธรูปนาคปรกแบบเดิมที่ปรากฏโดยทั่วไป กล่าวคือเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่มีมนุษยนาคจำแลง ๒ ตน อัญเชิญฉัตรและพัดโบกอยู่งานถวายแด่พระพุทธเจ้าแทน สอดคล้องกับพุทธประวัติตอนเสวยวิมุติสุขในสัปดาห์ที่ ๖ ซึ่งนอกจากมุจลินทนาคราชจะแผ่พังพานปกคลุมพระพุทธองค์แล้ว เมื่อพายุฝนหายไปมุจลินทนาคราชได้แปลงกายเป็นมานพเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า            ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือมนุษยนาคจำแลงเป็นประติมากรรมรูปบุรุษใส่เครื่องทรงคล้ายศิลปะชวา-ปาละ และศรีวิชัย มีพังพานนาคด้านบน ขาข้างหนึ่งเป็นขาแบบมนุษย์ส่วนขาอีกข้างหนึ่งเป็นหางคล้ายงู ซึ่งมนุษยนาคลักษณะนี้ยังปรากฏในงานจิตรกรรมของพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ ๖ ในสถานที่สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น ห้องพระเจ้า พระที่นั่งพิมานปฐม พระราชวังสนามจันทร์ และพระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นต้น


ผ้าตุ้ม / ผ้าทุ้ม / ผ้าห่ม / ผ้าห่มตาโก้ง / ผ้าห่มตาแสง / ผ้าห่มลายดี  ความหนาวมาเยือนอีกครั้งส่งท้ายปี ได้เวลาหยิบผ้าตุ้ม หรือผ้าตาโก้ง มาคลุมคลายความหนาว .     ผ้าทุ้ม หมายถึงผ้าที่ใช้คลุมไหล่ของชาวบ้าน ทำด้วยผ้าหน้ากว้างประมาณ ๑๕-๒๕ นิ้ว ยาวประมาณ ๒ เมตรอย่างเดียวกับผ้าทวบ เพียงแต่เป็นผ้าชั้นเดียว ตรงส่วนชายอาจมีการทอหรือตกแต่งลวดลายประดับ ชาวบ้านจะใช้ผ้าทุ้มนี้ ห่มคลุมไหล่ในหน้าหนาว ในระยะหลังชาวบ้านนิยมใช้ผ้าขนหนูแบบผ้าเช็ดตัวแทนผ้าทุ้มแบบโบราณ โดยกล่าวว่าผ้าทุ้มแบบใหม่นี้ให้ความอบอุ่นได้มากกว่า. “ผ้าห่มตาแสง” หรือ “ผ้าห่มตาโก้ง” เป็นผ้าฝ้าย ทอเทคนิคยกดอกเป็นตาเล็กๆ ในเนื้อผ้า ๓-๔ เขา (ตะกอ) ทอให้เป็นลายตาราง หรือขัดสาน มีลักษณะเป็นลาย “ต๋า” หรือลายทอขวางขัดกัน (ตาราง) ส่วนคำว่า “โก้ง” คือ ลายสลับขาวดำ มีลักษณะคล้ายกับผ้าขาวม้า เย็บเพลาะกันตรงกลางเพื่อเพิ่มความกว้างของหน้าผ้า นิยมใช้เป็นผ้าห่มหรือผ้าคลุมไหล่ ซึ่งเรียกว่า “ผ้าตุ้ม” แปลว่า “ผ้าห่ม” ซึ่งนิยมใช้แพร่หลายทั่วไปในล้านนา. สีที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่อดีต คือ สีขาว สีแดง และสีดำ โดยสีขาว หรือน้ำตาล ซึ่งเป็นสีธรรมชาติของฝ้าย สีแดง ซึ่งได้จากการนำฝ้ายไปย้อมกับรากยอป่า หรือ ครั่งตัดกับแก่นฝาง สีดำ ได้จากการนำฝ้ายไปย้อมกับมะเกลือ .มีคำพูดของหนุ่มที่ไปเยือนสาวคนรักว่า      "พี่เมารักน้องผ้าต่องพอหาย เปนดีเสียดาย ผ้าลายตาโก้ง" คือบอกว่าเขาหลงรักหญิงคนนั้นจนลืมไปว่าทิ้งผ้าขาวม้าไว้ที่ไหน ผ้าขาวม้านั้นเป็นผ้าลายตาโถงเสียด้วย. ภาพ “กาดเช้า” หรือตลาดเช้า หน้าวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน แสดงถึงฤดูหนาว สังเกตได้จากผ้าคลุมไหล่ ลักษณะตลาดค้าขายตอนเช้า แม่ค้าและผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีหาบข้าวของวางขายตั้งเรียงรายกันไปใน “นิราศเมืองหลวงพระบาง” ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงการเดินทัพจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองหลวงพระบาง และพรรณนาเหตุการณ์ปราบฮ่อ ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ได้เดินทางผ่านเมืองน่าน โดยได้กล่าวถึงตลาดกลางเมืองน่าน ว่าครั้นรุ่งเช้าเข้าในเวียงเสียงออกแซ่ เที่ยวดูแม่ค้าลาวนางสาวศรีเรียกว่ากาดตลาดใหญ่ในบุรี เสียงอึงมี่หมู่ลาวชาวพาราพวกเจ้าชู้ดูเชิงเที่ยวเบิ่งสาว เห็นขําขาวเคียงคลอเข้ารอหน้าเดินแทรกแซงแสร้งเสพูดเฮฮา เว้าภาษาลาวล้อในข้อคําทั้งหญิงชายซื้อขายกันอนันต์เนก ไม่แกล้งเสกสรรใส่พิไรร้าลาวผู้ชายรายราสักขาดํา ล้วนแต่น้ำหมึกมัวจนทั่วพุงช่างเจาะหูรูโตดูโร่ร่า เอามวนยายัดใส่เหมือนได้ถุงนุ่งตาโถงโจงกระสันพันออกนั่ง ห่มเพลาะกรุ้งกริ่งกรอเดินรอรีหญิงผมยาวเกล้ามวยสวยสะอาด ลักษณ์วิลาสแลประไพวิไลศรีลานทองคําทำตุ้มหูดูก็ดี นุ่งซิ่นสีแดงประดับสลับแลเป็นริ้วรายลายขวางที่นางนุ่ง เฝ้ามองมุ่งพินิจนางไม่ห่างแหห่มผ้าจ้องคล้องคอเดินคลอแคล เว้นเสียแต่เค้าไม่ปิดให้มิดเลย . จากรายงานการเดินทางจากสยามไปเมืองน่าน หัวเมืองลาว ประเทศราชของสยาม (Report by Mr. C.E.W. Stringer of a journey to the Laos state of Nān, Siam Published 1888 by Printed for H.M.S.O. by Harrison and Sons in London) กล่าวว่า “ตลาดเปิดทุกเช้าใกล้กับหอคำ ส่วนใหญ่ขายสินค้าพื้นเมือง แม่ค้าปูใบตองวางสินค้าริมถนนเป็นแถวยาว ส่วนในเมืองเก่าก็มีตลาดเช่นเดียวกัน แต่เล็กกว่า”เอกสารอ้างอิง"ผ้าทุ้ม (ผ้าคลุมไหล่)." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 8. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 4039-4040.นิราศเมืองหลวงพระบาง และ รายงานปราบเงี้ยว เข้าถึงได้โดย https://vajirayana.org/ /นิราศเมืองหลวงพระบาง-และ-รายงานปราบเงี้ยว


            พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ขอเชิญชวนร่วมกิจกรรมดี ๆ สำหรับสถาบันการศึกษา และผู้ที่สนใจในศิลปวัฒนธรรมจีน ในระหว่างวันที่่ 7 - 18 กุมภาพันธ์ 2567 พบกิจกรรมในนิทรรศการพิเศษ “เสี่ยอี้” : สุนทรียศิลป์แห่งจีนประเพณี ผลงานศิลปะจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีน ซึ่งในครั้งนี้เอาใจกลุ่มเด็ก ๆ และเยาวชนจากสถาบันการศึกษาและผู้ที่สนใจในศิลปวัฒนธรรมของจีนเป็นพิเศษ โดยเชิญชวนมาร่วมสัมผัสและเรียนรู้ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีนผ่านนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยของจีนในสไตล์ “เสี่ยอี้” รายละเอียดกิจกรรม ดังนี้ วันที่ 7 - 11 กุมภาพันธ์ 2567  เวลา 10.00 - 11.30 น. กิจกรรมบรรยายนำชมนิทรรศการ จำนวน 1 รอบ / วัน  (ลงทะเบียนล่วงหน้า , จำกัดจำนวน 50 ท่าน / วัน) เวลา 10.00 - 11.30 น. กิจกรรมตัดกระดาษจีน (สำหรับเด็กอายุ 10 ปี ขึ้นไป - บุคคลทั่วไป) เวลา 10.00 - 15.00 น. กิจกรรมระบายสีหน้ากากงิ้ว  วันที่ 14 - 18 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 - 11.30 น. กิจกรรมบรรยายนำชมนิทรรศการ จำนวน 1 รอบ / วัน (ลงทะเบียนล่วงหน้า, จำกัดจำนวน 50 ท่าน / วัน) เวลา 10.00 - 11.30 น. กิจกรรมถักเชือกมงคลจีน (สำหรับเด็กอายุ 10 ปี ขึ้นไป - บุคคลทั่วไป) เวลา 10.00 - 15.00 น. กิจกรรมประดิษฐ์สิงโตจีน ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ทาง Qr Code หรือ https://forms.gle/tBqL2SXZT2bMvF396 ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ทาง inbox หรือ โทร. 091 7302737หมายเหตุ :- นักเรียน นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมฟรี- คคลทั่วไป ค่าเข้าชมตามปกติ ชาวไทย 30 บาท, ชาวต่างชาติ 200 บาท


           กรมศิลปากร ขอเชิญรับชมถ่ายทอดสด Facebook Live รายการไขความรู้จากครูกรมศิลป์ ตอน การอนุรักษ์จัดเก็บคัมภีร์ใบลาน เอกสารโบราณทรงคุณค่าด้านมรดกศิลปวัฒนธรรม วิทยากร นายวัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ผู้ดำเนินรายการ นางกมลชนก พรภาสกร นักวิชาการโสตทัศนศึกษา กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ในวันพฤหัสบดีที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ – ๑๑.๔๕ น.              ผู้สนใจสามารถติดตามชมได้ทาง Facebook Live : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และ Facebook Live : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร


            กองโบราณคดี และสำนักสถาปัตยกรรม ขอเชิญฟังการเสวนาทางวิชาการ "สุดยอดการค้นพบใหม่" ในทศวรรษที่ผ่านมาของกรมศิลปากร หัวข้อ “ผ่าโลกใต้พิภพเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ โบราณคดีเมืองกับการพัฒนา” ในวันพุธที่ 3 เมษายน 2567 เวลา 16.00 – 18.00 ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร             ภายใต้การพัฒนาเมืองโดยเฉพาะย่านเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน การวางระบบสาธารณูปโภค อุโมงค์ทางลอด ฯลฯ เมื่อใดที่ต้องเปิดหน้าดินลงไปทำงานก่อสร้าง จะต้องมีการทำงานทางโบราณคดีและงานอนุรักษ์ไปด้วย การเสวนาในครั้งนี้จะมาเล่าให้ฟังว่าการพัฒนาเมืองในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ได้พบร่องรอยหลักฐานที่แสดงถึงพัฒนาการบ้านเมืองของเราในยุคแรกๆ ตรงไหน อะไรบ้าง และเมื่อพบแล้ว มีกระบวนการอนุรักษ์และจัดการหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างนี้กันอย่างไร?             ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมฟังได้โดยแสกน qr-code หรือตามลิ้งนี้ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdfWdm4HBF-K1-auTiz7cX6v6tcRlDiuOXDZdF7jCE4N0R0ww/viewform  และยังสามารถติดตามชมได้ทาง Facebook Live : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และ Facebook : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร




21 เมษายน วันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2567 วันสถาปนากรุงเทพมหานครฯ ครบรอบ 242 ปี นับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรี มาที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วจัดให้ตั้งการพระราชพิธียกเสาหลักเมืองสำหรับพระนครขึ้นเพื่อเป็นหลักชัยอันสำคัญ พระฤกษ์ยกเสาหลักเมืองกระทำในวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 06.54 น. พระราชทานนามพระนครใหม่ว่า. "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนจาก 'บวรรัตนโกสินทร์' เป็น 'อมรรัตนโกสินทร์' ความหมาย “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง. เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว 9 ประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา. ซึ่งท้าวสักกเทวรา พระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้” (ข้อมูล - กรมศิลปากร)


         ภาพปูนปั้นรูปกลุ่มอัศวิน หรือนักรบ          - ทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔)          - ปูนปั้น          - ขนาด กว้าง ๗๘.๕ ซม. ยาว ๙๒.๕ ซม. หนา ๕ ซม.          เดิมประดับที่ฐานลานประทักษิณด้านทิศใต้ ของเจดีย์จุลประโทน อ.เมืองนครปฐ จ.นครปฐม ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ภาพปูนปั้นภาพกลุ่มบุคคล ๕ – ๖ คน นั่งจับเข่าเรียงแถวกัน ๒ แถว บุคคลในภาพทั้งหมดแต่งกายคล้ายๆกัน ไว้ผมลอนยาวประบ่า แสกกลาง สวมตุ้มหู และพกอาวุธซึ่งมีลักษณะคล้ายมีดดาบยาวปลายตัด ลักษณะการแต่งกายนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการแต่งกายของอัศวิน หรือนักรบในสมัยทวารวดี   แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/3d_object/?obj=40052   ที่มา: https://smartmuseum.finearts.go.th


         โต๊ะทรงงาน          วัสดุ : จักสาน ลงรักปิดทอง ประดับกระจก          ขนาด : สูงพร้อมฐาน 93 เซนติเมตร ตักกว้าง 59 เซนติเมตร          อายุ/สมัย : รัตนโกสินทร์          ประวัติ : รับมาจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2535          โต๊ะทรงพระอักษรทาสีขาวบุหนังสีแดง มีเก้าอี้หลัก 1 ตัว และเก้าอี้รอง 2 ตัว พร้อมรองพระบาท   แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/3d_object/?obj=64880   ที่มา: https://smartmuseum.finearts.go.th


Messenger