ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,815 รายการ
นายขจร มุกมีค่า ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมาเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการจัดงาน Creative Fine Art 2014สร้างความสุขที่ยั่งยืนบนพื้นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๗ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ดวันจันทร์ที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
ชื่อเรื่อง : ความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 6 และบทละครเบิกโรง เรื่องดึกดำบรรพ์
ชื่อผู้แต่ง : มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ
ปีที่พิมพ์ : 2503
สถานที่พิมพ์ : พระนคร
สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์พระจันทร์
จำนวนหน้า : 114 หน้า
สาระสังเขป : หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงเนื้อหาแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ใน รัชกาลที่ 6 ประกอบด้วย เรื่องพระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ เรื่องท้าวหิรันยพนาสูร เรื่องพระกระบี่ธุชครุฑพ่าห์ และประวัติพระอัฐิในหอพระนาค เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งคือบทละครเบิกโรง เรื่องดึกดำบรรพ์ เป็นบทละครเบิกโรงด้วยการเล่นเป็นละครเรื่องสั้น แบ่งออกเป็น 4 เรื่อง ได้แก่ มหาพลี ฤษีเสี่ยงลูก พระนรสิงหาวะตาร และพระคเณศร์เสียงา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับบท “นายมั่นปืนยาว” จากการแสดงละคร เรื่องพระร่วง บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบายในการเชิดชูเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมของชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์ทรงปลูกฝังจิตสำนึกให้คนไทยเกิดความรักและความภาคภูมิใจในชาติของตน ในรัชกาลของพระองค์นั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อนุรักษ์และฟื้นฟูจารีตขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยหลายอย่าง อีกทั้งพระองค์ยังทรงให้ความสนพระราชหฤทัยต่อการอนุรักษ์มรดกและวัฒนธรรมของชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านดนตรี นาฏศิลป์และการละคร สังเกตได้จากการที่พระองค์ท่านได้สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากเพื่อทุ่มเทกับงานศิลปะแขนงนี้ ให้กลับมามีชีวิตชีวาและรุ่งเรืองอีกครั้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งนี้เพราะทรงเล็งเห็นแล้วว่า หากไม่ทรงทำนุบำรุงให้ทันในเวลาที่เหมาะสม ความเสื่อมโทรมของดนตรีและนาฏศิลป์ของไทยก็จะดำเนินมาถึงในอีกไม่ช้า อีกทั้งผู้ที่สามารถจะถ่ายทอดวิชาความรู้ได้นั้น นับวันยิ่งมีแต่จะร่วงโรยลงไปตามกาลเวลา ประจวบกับในช่วงรัชสมัยของพระองค์นั้น เป็นช่วงที่พายุแห่งวัฒนธรรมตะวันตกกำลังเข้าสู่ประเทศสยาม เพลงฝรั่งกลายเป็นเพลงร้องที่ติดปากของชาวบ้านโดยทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น “เพลงคุณหลวง” ที่มีเนื้อร้องว่า “…คุณหลวง ๆ อยู่กระทรวงมหาดไทย ใส่เสื้อราชประแตนท์ ทำไมไม่แขวนนาฬิกา ....” ปัญหาในข้อนี้พระองค์ทรงให้ความใส่พระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงพระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ภายหลังคือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) ผู้บัญชาการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ความว่า “…มีอยู่ข้อ ๑ ซึ่งข้าควรจะบอกเจ้าไว้ คือมีนักเรียนหลวงบางคนได้เคยหัดวิชาโขนอยู่แล้ว ถ้าจะทิ้งเสีย ข้าก็ออกจะเสียดายเพราะวิชานี้มันจะสูญอยู่แล้ว ยังมีที่หวังอยู่แต่ในพวกนี้ เพราะฉะนั้นข้าอยากจะขอให้ได้มีโอกาสฝึกซ้อมกันต่อไปบ้าง ตามสมควร ฯลฯ...” จากพระราชหัตถเลขาบางส่วนข้างต้น แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงมีความห่วงใยในศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงของชาติแขนงนี้เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงทรงวางนโยบายตั้ง “กรมมหรสพ” โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของพระราชสำนักขึ้น เพื่อมีหน้าที่ดูแลเรื่องดนตรีนาฏศิลป์และเพื่อที่พระองค์ท่านจะได้ทรงมีโอกาสให้ศิลปินทางด้านดนตรีและนาฏศิลป์เข้างานสนองพระเดชพระคุณได้ตามพระราชประสงค์ โดยพระราชทานพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ตั้งของกรม พร้อมทั้งโปรดให้มีโรงเรียน โรงโขน โรงฝึกซ้อม คลังเครื่องโขน โรงพยาบาล ที่พักอาศัยอย่างเสร็จสรรพ อีกทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ของกรมนี้ต่างได้รับ พระมหากรุณาธิคุณพระราชทานบรรดาศักดิ์และบ้างก็ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาอันเป็นเครื่องหมายความชอบเสมอด้วยวิชาประเภทอื่น ๆ จุดนี้เองแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงพยายามฟื้นฟูและยกฐานะวิชาชีพของดนตรีไทยและโขนละครให้ทัดเทียมเท่ากับศาสตร์วิชาแขนงอื่น ๆ คลังเครื่องโขนละครและเครื่องโรงของกรมมหรสพ ณ พระราชวังจันทรเกษม (ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร) สำหรับราชทินนามที่พระราชทานให้กับข้าราชการด้านดนตรีไทยในกรมมหรสพนี้ เป็นราชทินนาม ที่ทรงประพันธ์ขึ้นใหม่โดยเพิ่มเติมจากของเก่าและทรงประพันธ์ให้มีความไพเราะคล้องจองผสมเข้ากับตำแหน่ง หน้าที่ของแต่ละท่าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นราชทินนามอันไพเราะคล้องจองกัน ดังนี้ ประสานดุริยศัพท์ ประดับดุริยะกิจ ประดิษฐไพเราะ เสนาะดุริยางค์ สำอางดนตรี ศรีวาทิต สิทธิวาทิน พิณบรรเลงราช พาทย์บรรเลงรมย์ ประสมสังคีต ประณีตวรศัพท์ คนธรรพวาที ดนตรีบรรเลง เพลงไพเราะ เพราะสำเนียง เสียงเสนาะกรรณ สรรเพลงสรวง พวงสำเนียงร้อย สร้อยสำเนียงสนธ์ วิมลวังเวง บรรเลงเลิดเลอ บำเรอจิตจรุง บำรุงจิตเจริญ เพลินเพลงประเสริฐ เพริดเพลงประชัน สนั่นบรรเลงกิจ สนิทบรรเลงการ ชาญเชิงระนาด ฉลาดฆ้องวง บรรจงทุ้มเลิด บรรเจิดปี่เสนาะ ไพเราะเสียงซอ คลอขลุ่ยคล่อง ว่องจะเข้รับ ฯลฯ สำหรับราชทินนามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คัดลอกมาจากทำเนียบเดิมของกรมมหรสพ ส่วนบรรดาศักดิ์นั้นมีทั้งขุน หลวง พระ และพระยา โดยแต่ละท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่ต่างกันออกไป ภาพถ่ายหมู่นักดนตรีไทยบรรดาศักดิ์ สังกัดกรมมหรสพ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ที่มา : กลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ) พระราชจริยาวัตรของพระองค์ท่านนั้นเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ข้าราชบริพารว่าทุกเวลาที่ผ่านไปนั้นพระองค์จะทรงใช้ให้เกิดประโยชน์ทุกนาที แม้กระทั่งเวลาทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม) ซึ่งกินเวลานานราวชั่วโมงครึ่ง พระองค์ท่านจะใช้โอกาสนี้ในการตรวจสอบบทพระราชนิพนธ์ที่สำเร็จลงไปแล้วนั้น ว่ายังมีจุดใด ที่ยังขาดตกบกพร่องอยู่ โดยโปรดให้พนักงานกรมอาลักษณ์มาอ่านเป็นทำนองเสนาะถวายบ้าง โปรดให้พนักงานของกรมมหรสพขับเสภาทรงเครื่องถวายบ้าง ซึ่งบทที่นำมาอ่านขับถวายนั้นคัดเลือกจากบทละคร ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ก่อน ๆ มาบรรเลงและขับร้องถวาย เพื่อที่พระองค์ท่านจะได้ทรงตรวจสอบชำระเรื่องบทกลอน เรื่องการบรรจุเพลง ทำนองเพลงที่ร้อง ว่าถูกต้องตามหลักทางดุริยางคศาสตร์หรือไม่ ทั้งนี้เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะรักษาคุณภาพศิลปะของเดิมของชาติไว้ให้เป็นมาตรฐานให้มากที่สุด เพื่อที่คนรุ่นหลังต่อไปที่จะรับสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมแขนงนี้ต่อ จะได้ไม่เที่ยวเก็บศิลปะกะหลาป๋ามาเป็นสมบัติของชาติ หากครั้งใดมีใครสัปดนแต่งทำนองร้องหรือบรรเลง อะไรที่ประหลาด ๆ ออกมา พระองค์จะทรงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หรือทรงทักท้วงขึ้นทันทีว่า “ร้องผิดทำนอง” แล้วพระองค์จะทรงร้องให้ฟังใหม่พร้อมทั้งหาพยานหรือหลักฐานมาประกอบทันที จนไม่มีผู้ใดกล้าอุตริแต่งทำนองร้องหรือบรรเลงเพลงต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้องขึ้นมาทำลายงานศิลปะอันดีของชาติให้เสื่อมหรือหม่นหมองลงไปได้ ทั้งหมดที่กล่าวมาแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ท่านที่มีต่อวงการดนตรีและนาฏศิลป์ของชาติไทยอันเป็นศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงและทรงคุณค่าของชาติ บทความนี้ เรียบเรียงขึ้นเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระราชกรณียกิจในด้านดนตรีนาฏศิลป์ในรัชสมัยของพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์ พร้อมทั้งถวายเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ปรากฏสืบไป ---------------------------------------------นายธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ สำนักการสังคีต เรียบเรียงสนองพระเดชพระคุณเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓---------------------------------------------
ชื่อเรื่อง ปฐมสมโพธิ (ปฐมสมโพธิเผด็จ)สพ.บ. 140/20ประเภทวัสดุมีเดีย คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่ พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ 70 หน้า กว้าง 5 ซ.ม. ยาว 58 ซ.ม. หัวเรื่อง พระพุทธเจ้า พุทธศาสนาบทคัดย่อ/บันทึก
เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรขอม เส้นจาร ฉบับล่องชาด ได้รับบริจาคมาจากวัดศรีบัวบาน อ.เมืองฯ จ.สุพรรณบุรี
องค์ความรู้ : วัดพระศรีมหาอุมาเทวี
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขกสีลม เป็นวัดในศาสนาฮินดู ตั้งอยู่เลขที่ ๒ มุมถนนสีลมกับถนนปั้น แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๒ โดยชาวอินเดียจากรัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadur) ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย
สันนิษฐานว่าเดิมบริเวณที่ตั้งของวัดพระศรีมหาอุมาเทวีเป็นสวนผักของนางปั้น อุปการโกษากร ภริยาของหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) คหบดีค้าขายเรือสำเภา ต่อมาชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่านถนนสีลม ได้รวบรวมเงินบริจาคมาซื้อที่ดินแปลงนี้จากชาวจีนคนหนึ่ง แล้วสร้างวัดขึ้นโดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการประกอบกิจกรรมของชาวฮินดูจากอินเดียตอนใต้ และได้มีการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ “วัดพระศรีมหามรีอัมมัน” เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔
เมื่อแรกสร้าง เป็นเพียงศาลาขนาดเล็กมีชื่อว่า ศาลาศรีมรีอัมมัน ต่อมาจึงมีการสร้างโบสถ์และนำ เทวรูปพระแม่ศรีมหาอุมาเทวีจากประเทศอินเดียมาประดิษฐาน สถาปัตยกรรมของวัดเป็นแบบอินเดียใต้อันสืบเนื่องจากสถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์โจฬะและราชวงศ์ปัลลวะ ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในเทวาลัยที่ทมิฬนาฑู จุดเด่นทางสถาปัตยกรรมของวัด ได้แก่ โคปุระหรือซุ้มประตูที่ตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปเทพเจ้าต่าง ๆ ประดับรูปปั้นเทพเจ้าองค์สำคัญ ๆ ของศาสนาฮินดูบนซุ้มและมุมเครื่องยอด ทาสีสันสวยงาม เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูเข้ามาแล้ว จะพบกับโบสถ์ประธาน ภายในโบสถ์ประธานประดิษฐานเทวรูปสำคัญ ๓ องค์ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ได้แก่ พระศรีมหาอุมาเทวี พระขันทกุมาร และพระพิฆเนศวร
จากป้ายชื่อของวัดที่เขียนในภาษาทมิฬที่อ่านว่า “อรุลมิกุ ศรี มหา มาริอัมมัน โกวิล” นั้นหมายถึง “เทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของพระศรีมหามาริอัมมัน (เจ้าแม่แห่งฟ้าฝน)” คำว่า “มาริ” ในภาษาทมิฬ แปลว่า “ฝน” พระองค์คือเจ้าแม่แห่งฝน ซึ่งนับถือกันมากในสังคมเกษตรของทมิฬโบราณ แต่ในขณะเดียวกันตำนานพื้นเมืองกล่าวถึงพระองค์ในฐานะเจ้าแม่แห่งโรคฝีดาษด้วย ดังนั้นหากกล่าวโดยแท้จริงแล้ว พระแม่มาริเป็นพระแม่เจ้าของชาวทมิฬโดยแท้ คือ เป็นเจ้าแม่พื้นเมืองเดิมของชาวอินเดียใต้ ก่อนที่ศาสนาฮินดูจะแผ่ขยายลงมาแล้วผนวกเจ้าแม่เข้ามาเป็นเทวีฮินดูในภายหลัง แต่สาเหตุที่ต้องเรียกวัดด้วยนามว่า “ศรีมหาอุมาเทวี” นั้น ก็เพื่อให้คนไทยเข้าใจได้โดยง่าย โดยถือคติว่า เจ้าแม่ทุกองค์ย่อมเป็นภาคส่วนของพระเทวีใหญ่ เช่น ทุรคา อุมา หรือปารวตี หากแต่พระนาม “อุมาเทวี” เป็นที่นิยมมากในประเทศไทย
เดิมวัดพระศรีมหาอุมาเทวีนี้เป็นสถานที่จำเพาะของผู้นับถือศาสนาฮินดูเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเปิดต้อนรับผู้สัญจรทุกคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา แต่มีข้อกำจัดบางประการตามหลักศาสนาฮินดู เช่น ห้ามนำเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้าวัด และสตรีในระหว่างมีรอบเดือนควรงดเว้นการเดินทางมาที่วัด เป็นต้น วัดแห่งนี้ยังคงมีพราหมณ์ผู้รู้พระเวททำพิธีประจำ พราหมณ์จะสวดมนต์สรรเสริญพระเป็นเจ้าในช่วงเช้า กลางวัน เย็น และหัวค่ำเป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้ยังมีการจัดพิธีกรรมบูชาในศาสนาฮินดูตลอดทั้งปี โดยเทศกาลสำคัญประจำปีที่มีการจัดขบวนแห่ประเพณีอย่างยิ่งใหญ่และมีผู้ศรัทธาทั้งชาวอินเดียและชาวไทยจำนวนมากเข้าร่วมงาน คือ เทศกาลดูเซร่า หรือเทศกาลนวราตรี เทศกาลนี้จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงวันขึ้น ๑ – ๙ ค่ำเดือน ๑๑ (ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม) เพื่อบูชาพระศรีมหาอุมาเทวี เนื่องจากถือว่าช่วงเวลาดังกล่าวพระแม่อุมาและขบวนเทพจะเสด็จมาสู่พื้นพิภพเพื่อประทานพรแก่ชาวโลก ผู้ศรัทธาทั้งชาวอินเดียและชาวไทยจะร่วมพิธีสวดภาวนาที่วัด ถือศีลและรับประทานเฉพาะพืชผักตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ในค่ำคืนของวันที่ ๑๐ หรือวันวิชัยทัศมี จะมีการปิดถนนสีลม ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนสาทร และถนนสุรศักดิ์เพื่อเปิดทางสำหรับขบวนแห่ราชรถเทวรูปต่าง ๆ อย่างยิ่งใหญ่เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้กราบไหว้ขอพร นำขบวนด้วยคนทรงพระแม่อุมา ทูนหม้อกลัศบรรจุทราย น้ำ เหรียญ และเครื่องบูชา ตามด้วยขบวนคนทรงเจ้าแม่กาลี คนทรงพระขันทกุมาร ผู้ศรัทธาจำนวนมากจะมาตั้งโต๊ะบูชารอรับพระแม่ไปตลอดสองฝั่งถนน เครื่องบูชาประกอบด้วยมะพร้าว นม กล้วยน้ำว้า ดอกดาวเรือง และธูป อาจมีผลไม้อื่นและขนมด้วย หลังจากเสร็จพิธีแล้วจะมีการนำเครื่องพิธี อาทิ หญ้าฟาง ใบมะม่วงแห้ง และธงสิงห์ไปลอยแม่น้ำเจ้าพระยา
-------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย
น.ส.กมลทิพย์ ชัยศุภมงคลลาภ
นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มแปลและเรียบเรียง
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์