ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,814 รายการ
กรมศิลปากร ขอเชิญรับชมถ่ายทอดสด Facebook Live รายการ ไขความรู้จากครูกรมศิลป์ ตอน "การจัดรูปขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” วิทยากรโดย นาวาเอกณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ ผู้อำนวยการกองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ, นางยุนีย์ ธีระนันท์ หัวหน้ากลุ่มงานช่างปิดทองประดับกระจกและช่างสนะไทย กลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ และนางสาวดวงใจ พิชิตณรงค์ชัย หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ดำเนินรายการโดย นางกมลชนก พรภาสกร นักวิชาการโสตทัศนศึกษา กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ – ๑๑.๔๕ น. ผู้สนใจสามารถติดตามชมได้ทาง Facebook Live : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม Facebook Live : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร และ Youtube Live : กรมศิลปากร
...เกาะต่างๆ ในอ่าวพังงา ที่เราแล่นเรือผ่านนั้น หากสังเกตบริเวณผนังเพิงผาหรือถ้ำ อาจพบภาพเขียนสีหรือศิลปะถ้ำ ที่มนุษย์ในอดีตได้เขียนหรือวาดเอาไว้ เมื่อครั้งที่แวะเข้ามาพักพิงและใช้พื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ในหลายๆประการ ที่เกาะยางแดงแห่งนี้ แม้จะไม่ปรากฏภาพบุคคลและสัตว์ประเภทต่างๆ ดังที่พบที่เกาะอื่นๆ แต่ที่นี่ปรากฏภาพที่อาจสื่อถึงพืชพันธุ์ธรรมชาติที่อาจเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคนั้นได้... ที่ตั้งและสภาพทั่วไป แหล่งภาพเขียนสีเกาะยางแดง ตั้งอยู่ที่ ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อยู่บนเกาะซึ่งไม่ปรากฏชื่อในแผนที่ทหาร ใกล้กับเกาะทะลุใต้ เป็นเขาหินปูนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะที่อยู่ติดกัน ตัวเกาะมีรูปร่างยาวรี วางตัวตามแนวแกนทิศเหนือ – ใต้ มีความยาวประมาณ ๒๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๘๐ เมตร การเข้าถึงแหล่ง จากอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เดินทางโดยเรือระยะทางประมาณ ๑๗.๒ กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ ๒๐ – ๒๕ นาที โดยผ่านคลองเกาะปันหยี เกาะปันหยี มาทางทิศใต้ผ่านเขาพิงกัน และมุ่งหน้าทางตะวันตก มุ่งสู่เกาะทะลุใต้ ทางด้านซ้ายหรือด้านทิศใต้เป็นที่ตั้งของเกาะยางแดง ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขาพิงกัน และควรเดินทางมาถึงช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง เพื่อให้เรือสามารถแล่นเลาะเลียบเกาะทางฝั่งด้านทิศตะวันออกที่มีลักษณะเป็นอ่าวขนาดเล็กที่มีสภาพค่อนข้างตื้น ไปยังตำแหน่งทางขึ้นสู่เพิงผาที่ปรากฏภาพเขียนสีได้ ลักษณะและรูปแบบ บริเวณที่ปรากฏภาพเขียนสี เป็นเพิงผาขนาดเล็กและแคบ หันไปทางทิศตะวันออก ลักษณะเป็นโพรงถ้ำขนาดเล็กในแนวนอน ขนาดกว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๗ เมตร และสูงประมาณ ๑ เมตร ทางขึ้นค่อนข้างชันมาก เพิงผาอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓ – ๕ เมตร มีหินงอกหินย้อย และสามารถเข้าไปอยู่ในโพรงถ้ำได้เพียงครั้งละ ๑ – ๒ คนเท่านั้น ที่ผนังของเพิงผาปรากฏกลุ่มภาพเขียนสีแดงเข้ม เป็นภาพลายเส้นคล้ายดอกไม้ ลายเส้นอื่นๆ และร่องรอยภาพสีแดงที่ค่อนข้างลบเลือน ภาพที่ปรากฏชัดเจนเป็นกลุ่มภาพลายเส้นสีแดงเข้ม มีจำนวน ๕ – ๖ ภาพ อยู่ใกล้กัน ขนาดกลุ่มภาพโดยรวมกว้างประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๖๐ –๗๐ เซนติเมตร ภาพที่ปรากฏชัดเจนที่สุด อยู่ด้านล่างสุดของกลุ่มภาพ เป็นภาพลายเส้นโค้งและเส้นตรงประกอบกันคล้ายรูปดอกไม้หรือดอกหญ้าชูขึ้น ขนาดภาพกว้างและยาวด้านละประมาณ ๑๕ เซนติเมตร สูงจากพื้นเพิงผา ๔๐ เซนติเมตร ส่วนภาพอื่นๆ เป็นภาพลายเส้นตรง เส้นตรงปลายแหลม และเส้นโค้งต่างๆ ซึ่งบางภาพเขียนประกอบกันคล้ายภาพเรขาคณิต แต่ไม่มีรูปทรงที่ชัดเจน และที่ผนังด้านในปรากฏร่องรอยสีแดง สาระสำคัญ เกาะยางแดง มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่กลางทะเลในอ่าวพังงา โดยด้านทิศตะวันออกของเกาะเป็นอ่าวขนาดเล็ก ซึ่งมนุษย์ในอดีตสามารถใช้จอดเรือและหลบคลื่นลม และสามารถใช้เพิงผาและถ้ำขนาดเล็กเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว ทั้งนี้สภาพภูมิประเทศในอดีต เพิงผานี้อาจมีสภาพที่เหมาะสมและมีขนาดใหญ่มากพอที่มนุษย์จะสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ด้านในเพื่อประกอบกิจกรรม หรือพิธีกรรม ซึ่งอาจมีการขีดเขียนวาดภาพบนผนังเพิงผาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว กลุ่มภาพสีแดงเข้มที่ปรากฏบนผนังเพิงผา สันนิษฐานว่าอาจเป็นกลุ่มภาพเล่าเรื่องแสดงเหตุการณ์หรือบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต โดยมีภาพที่สำคัญเป็นภาพลายเส้นคล้ายดอกไม้ ดอกหญ้า หรือพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ผู้เขียนได้พบเห็นมา หรือเขียนบอกเล่าชนิดของพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภคได้ ส่วนภาพลายเส้นอื่นๆ ที่บางภาพเขียนประกอบกันคล้ายภาพเรขาคณิต อาจเป็นการขีดเขียนเพื่อสื่อสาร เขียนภาพประกอบ หรืออาจเป็นภาพที่ยังเขียนไม่แล้วเสร็จ -------------------------------------------------------สำรวจ/เรียบเรียง/กราฟิก : นายธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
ชื่อเรื่อง ธมฺมปทวณฺณา ธมฺมปทฏฐกถา ขุทฺทกนิกายฏฐกถา (ธมฺมปทฺธ)
สพ.บ. 376/9ประเภทวัสดุมีเดีย คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่ พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ 42 หน้า กว้าง 4 ซม. ยาว 57 ซม.หัวเรื่อง ธรรมเทศนา
บทคัดย่อ/บันทึก เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับล่องชาด-ลองรัก ได้รับบริจาคมาจากวัดลานคา ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สังคิณี-มหาปัฎฐาน)
ชบ.บ.39/1-6
เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)
เลขทะเบียน : นพ.บ.204/1ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 66 หน้า ; 5 x 58 ซ.ม. : ลานดิบ ; ไม่มีไม้ประกับชื่อชุด : มัดที่ 110 (148-158) ผูก 1 (2565)หัวเรื่อง : วินยกิจฺจ(วินัยกิจ)--เอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม
เลขทะเบียน : นพ.บ.326/1ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 22 หน้า ; 4.5 x 57 ซ.ม. : ชาดทึบ-ทองทึบ-ล่องรัก-ลานดิบ ; ไม่มีไม้ประกับชื่อชุด : มัดที่ 130 (329-337) ผูก 1 (2565)หัวเรื่อง : อุณทิสฺสวิชย (อุณหิสวิไชย)--เอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม
ผลงาน: พระยาอนุมานราชธน
ศิลปิน: สนั่น ศิลากรณ์
เทคนิค: ประติมากรรมสำริด (ถอดพิมพ์จากต้นแบบปลาสเตอร์)
ขนาด: กว้าง 52 ซม. สูง 75 ซม.
อายุสมัย: ประติมากรรมต้นแบบปลาสเตอร์ สันนิษฐานว่าปั้นขึ้นราว พ.ศ. 2500 - 2510
รายละเอียดเพิ่มเติม: สนั่น ศิลากรณ์ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นประติมากรเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประติมากร กรมศิลปากรและลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้มีส่วนสำคัญในการช่วยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในการออกแบบและปั้นประติมากรรมอนุสาวรีย์สำคัญหลายแห่งในประเทศ รูปเหมือนพระยาอนุมานราชธน (ปราชญ์คนสำคัญผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์และศิลป์หลายแขนง และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร) เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเยี่ยมที่การันตีทักษะฝีมือทางประติมากรรมของสนั่น ศิลากรณ์
Title: Phya Anuman Rajadhon
Artist: Sanan Silakorn
Technique: Bronze Casting (casted from prototype plaster model)
Size: 52 × 75 cm.
Year: A prototype approximately sculpted around late 1960s to 1970s
Details: Sanan Silakorn, Thai sculptor whom is praised as a rare gifted skill sculptor of Rattankosin era, The Fine Arts department’s sculptor & early pupil of Corrado Feroci (Silpa Bhirasri; an Italian sculptor who laid down a foundation of academic art study in Thailand), he is also regarded as one of Feroci’s major assistant who contributed a lot on sculpting many valuable pieces of sculptures and monuments in a country. This portrait sculpture of Phya Anuman Rajadhon (a prime scholar and a former Deputy Directors-General of The Fine Arts Department) is considered as one of finest sculpture which guaranteed artist’s extraordinary skill on sculpture.
- เทพาคือ ชื่อเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองจะนะ ในเอกสารต่างๆบันทึกชื่อเมืองแห่งนี้ไว้หลายรูปแบบเช่น เมืองเทพา เมืองเทภา เป็นต้น ส่วนในภาษาต่างประเทศได้แก่ Tepa Thepha เป็นต้น และในภาษามลายูท้องถิ่นออกเสียงชื่อเมืองนี้ว่า ตีบอ แต่สำหรับความหมายของคำว่าเทพานั้น รองศาสตราจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์ เห็นว่าเป็นคำมลายูคือ Tipar หมายถึง ไร่ข้าว ทั้งนี้อาณาเขตของเมืองเทพาในอดีตนั้นครอบคลุมพื้นที่ซึ่งเป็นอำเภอเทพาและอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลาในปัจจุบัน
- เทพายุคก่อนประวัติศาสตร์
พื้นที่ด้านตะวันตกและด้านใต้ของเมืองเทพา ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย พบร่องรอยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้แก่
เพิงผาทวดตาทวดยาย ในเขาถ้ำตลอด ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย พบโครงกระดูกมนุษย์ผู้ใหญ่ ๑ โครง สภาพไม่สมบูรณ์ มีอุทิศที่ฝังร่วมกับศพได้แก่ ลูกปัดเปลือกหอยและลูกปัดแก้ว เปลือกหอยแครงเจาะรู ๑ ชิ้น ชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็กและชิ้นส่วนโลหะสำริด(ต่างหู?) จากการเก็บตัวอย่างถ่านจากชั้นดินต่างๆ เพื่อกำหนดอายุด้วยวิธีคาร์บอน-๑๔ พบว่า ปรากฏช่วงการใช้พื้นที่ทำกิจกรรมอย่างหนาแน่นเมื่อราว ๑๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ถ้ำเพิงในเขาคลองโกน ตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย พบโครงกระดูกมนุษย์เพศชาย อายุเมื่อเสียชีวิตประมาณ ๓๐ ปี จำนวน ๑ โครง เครื่องมือหิน เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบสีเทาดำ ส้ม นวล และน้ำตาล ตกแต่งด้วยการขัดมัน กดประทับ และรวมควัน ลูกปัดแก้ว กระดูกสัตว์ และเปลือกหอยน้ำจืด จากการเก็บตัวอย่างถ่านจากชั้นดินต่างๆไปกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่าการกำหนดอายุด้วยวิธีคาร์บอน๑๔ มีค่าอายุราว ๙,๖๐๐ ปีมาแล้ว
- เทพาสมัยต้นยุคประวัติศาสตร์
ในช่วงเวลาหลังจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นั้น ร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของเมืองเทพาในช่วงต้นยุคประวัติศาสตร์ได้ขาดหายไป
- เทพาสมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๒๐–๒๔)
ปรากฏเรื่องราวของเมืองเทพา ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งระบุว่าพระพนมวังและนางเสดียงทองได้แต่งตั้งเจระวังสาเป็นราชาระวังเจลาบู ให้ครองเมืองจะนะเทพา แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าตั้งเมืองอยู่ ณ สถานที่แห่งใด จนกระทั่งสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุงว่าเมืองเทพา มีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองพัทลุง
- เทพาสมัยธนบุรี (ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔)
ปรากฏชื่อเมืองเทพาในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ในเหตุการณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตีเมืองนครศรีธรรมราชแตกในพ.ศ.๒๓๑๒ ว่า “...ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพเรือ เจ้าพระยาพิชัยราชาแม่ทัพบก ยกทัพติดตามเจ้าเมืองนครไปเถิงเมืองเทพา จับจีนจับแขกมาไถ่ถามได้เนื้อความว่าเจ้าเมืองนครหนีไปเมืองตานี...” และปรากฏเรื่องราวเหตุการณ์เดียวกันนี้ในพงษาวดารเมืองสงขลา ฉบับเจ้าพระยาวิเชียรคิรี บุญสังข์ด้วย
- เทพาสมัยรัตนโกสินทร์
เทพาในฐานะเมืองขึ้นของสงขลา (พ.ศ.๒๓๒๕-๒๔๓๙) ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เมืองเทพามีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองสงขลาภายใต้สังกัดของกรมพระกลาโหม โดยไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มของเมืองมลายูประเทศราช เจ้าเมืองมีอำนาจบังคับบัญชาเหมือนกับเมืองจะนะ
เทพาภายใต้มณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ.๒๔๓๙-๒๔๗๕) ในพ.ศ.๒๔๓๙ มีการจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช เมืองเทพาจึงเปลี่ยนฐานะจากเมืองขึ้นของเมืองสงขลามาเป็นอำเภอในสังกัดเมืองสงขลา โดยรวมที่จะแหนซึ่งเคยขึ้นกับเมืองสงขลามาสมทบเรียกว่า “อำเภอเมืองเทภา” โดยแต่งตั้งหลวงต่างใจเป็นนายอำเภอ ส่วนพระดำรงเทวฤทธิ์(เรือง) ผู้ว่าราชการเมืองท่านเดิมให้เลื่อนขึ้นเป็นเหมือนจางวางคือที่ปรึกษา
- เทพาที่บ้านพระสามองค์
สำหรับที่ตั้งเมืองเทพาในช่วงต้นกรุงนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงปรากฏหลักฐานว่าบ้านเจ้าเมืองเทพาในพ.ศ.๒๔๓๒ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทพาตรงกันกับเกาะใหญ่กลางน้ำ (บริเวณบ้านพระสามองค์)
- บ้านเจ้าเมืองเทพา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเมืองเทพาที่บ้านพระสามองค์ในพ.ศ.๒๔๓๒ ทรงบันทึกเรื่องราวของบ้านเจ้าเมืองเทพาไว้ตอนหนึ่งว่า “...ดูนกเข้าไซแล้วจึงได้ข้ามฟากไปที่พลับพลาหน้าหมู่บ้านที่เป็นเมืองเทพานั้น มีเรือนเจ้าเมืองและราษฎรประมาณสัก ๓๐ หลัง ปลายแหลมวัดที่เกาะสีชังอยู่ข้างแน่นหนากว่ามาก...”
บ้านเจ้าเมืองเทพาบ้านพระสามองค์ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการรื้อถอนไปเมื่อใด แต่ในท้องถิ่นยังคงเหลือหลักฐานคือต้นประดู่ใหญ่สองต้น ซึ่งกล่าวกันว่าเดิมมีศาลาตั้งอยู่หนังหนึ่ง ผู้ใดจะเข้าพบเจ้าเมืองเทพาจะต้องพักคอยในบริเวณนี้ก่อน โดยต้นประดู่ทั้งสองนี้อยู่ห่างจากวัดพระสามองค์ไปทางทิศใต้ประมาณ ๙๐๐ เมตร
- วัดเทพาไพโรจน์
เล่ากันว่าในอดีตนั้นมีพระภิกษุชื่อนวล ธุดงค์มาถึงสถานที่แห่งนี้เมื่อพระนวลฉัน “จังหัน” คือภัตตาหารเช้าซึ่งผู้คนนำมาถวายจำนวนมากแล้ว ปรากฏว่ามีข้าวเหลืออยู่ ท่านจึงเอาข้าวที่เหลือนั้นปั้นเป็นพระพุทธรูปแล้วห่อด้วยดินเหนียวขึ้นได้ชื่อว่า ”พระจังหัน” ต่อมาเมื่อสำเร็จเป็นพระพุทธรูปแล้วก็เก็บดอกไม้มาบูชา และได้นำดอกไม้บูชาที่แห้งเหี่ยวนั้นนำมาปั้นเป็นพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งได้ชื่อว่า "พระเกสร” และในช่วงนั้นธูปเทียนหายากจึงเอาแก่นจันทน์ซึ่งเป็นไม้หอมมาจุดเป็นธูปบูชา และได้เก็บเอาเศษไม้หรือขี้เถ้าจากไม้แก่นจันทร์มาปั้นเป็นพระพุทธรูปอีกองค์ได้ชื่อว่า "พระแก่นจันทน์” รวมเป็นสามองค์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงบันทึกเรื่องราวของวัดเทพาไพโรจน์ในพ.ศ.๒๔๓๒ไว้ตอนหนึ่งว่า “...มีวัดอยู่วัดหนึ่งเป็นของเก่า แต่พระเทพาเรืองคนนี้มาปฏิสังขรณ์ขอที่วิสุงคามสิมา ได้ให้ใบอนุญาตและเติมท้ายชื่อเดิมซึ่งชื่อว่าวัดเทพา ให้มีเรืองอีกคำหนึ่งชื่อวัดเทพาไพโรจน์ ได้ออกเงินช่วยในการวัดสองชั่ง...”
- เทพาที่บ้านพระพุทธ
พ.ศ.๒๔๔๓ ได้ย้ายเมืองเทพามาตั้งที่บ้านพระพุทธ โดยยังปรากฏหลักฐานคือตีนเสาก่อด้วยปูนของที่ว่าการอำเภอเก่า เรียกชื่อในท้องถิ่นว่า “เสาหลักอำเภอเทพา” ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านพระพุทธ กล่าวกันว่าเมื่อมีการย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านท่าพรุแล้ว อาคารที่ว่าการได้ปรับเปลี่ยนเป็นอาคารเรียนของโรงเรียนบ้านพระพุทธ (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว)
- เทพาที่บ้านท่าพรุ
พ.ศ.๒๔๗๕ ทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านท่าพรุใกล้สถานีรถไฟท่าม่วง และต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟท่าม่วงเป็นสถานีรถไฟเทพาตามชื่ออำเภอ
- ผู้ว่าราชการเมืองเทพา
สำหรับรายชื่อผู้ว่าราชการเมืองเทพาเท่าที่ปรากฏพบว่าในพ.ศ.๒๔๐๑ (สมัยรัชกาลที่ ๔) นายกล่อมเป็นผู้ว่าราชการเมืองเทพา และในพ.ศ.๒๔๒๘ (สมัยรัชกาลที่ ๕) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “...ให้นายเรืองมหาดเล็กเวรศักดิ เปนพระดำรงเทวฤทธิ ผู้ว่าราชการเมืองเทพา ขึ้นเมืองสงขลา ถือศักดินา ๑๖๐๐ ตั้งแต่ ณ วันอังคาร เดือนสิบสอง ขึ้นสิบเอจค่ำ ปีรกาสัปตศก ศักราช ๑๒๔๗... และนับเป็นผู้ว่าราชการเมืองเทพาในระบบเจ้าเมืองคนสุดท้ายด้วย
--------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูลโดย นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร แนะนำหนังสือออกใหม่ เรื่อง ตู้ลายทอง ภาค ๒ (สมัยรัตนโกสินทร์) เล่มที่ ๑ ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ ตู้ลายทอง ตู้ไทยโบราณที่ใช้เก็บหนังสือและพระคัมภีร์ต่าง ๆ ภายนอกลงรักปิดทองประดับตกแต่งเป็นลวดลายอันวิจิตร ด้วยภูมิปัญญาของช่างศิลปะไทย ซึ่งเป็นหนังสือที่เป็นการกลับมาตีพิมพ์ใหม่ในรอบ ๔๐ ปี หนังสือตู้ลายทอง ภาค ๒ (สมัยรัตนโกสินทร์) เล่มที่ ๑ กรมศิลปากรได้เคยจัดพิมพ์มาแล้วเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ ปัจจุบันนำมาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ เป็นครั้งที่ ๒ มีเนื้อหาว่าด้วยตู้ลายทองที่เป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ เลขที่ กท.๑ – กท.๕๐ ที่อยู่ในความดูแลของสำนักหอสมุดแห่งชาติ และสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร มีภาพประกอบ พร้อมทะเบียน ประวัติ รายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับตู้ อาทิ รูปลักษณะ ขนาด สภาพ ฝีมือช่าง ประวัติ ตลอดถึงเรื่องราวประกอบลวดลายศิลปะไทย รวมถึงให้คำอธิบายส่วนต่าง ๆ สิ่งที่ใช้พิจารณาแบ่งสมัยของศิลปะลายไทยที่ใช้ตกแต่งตู้ลายทองก็คือความอ่อนช้อยของเส้นกนก สำหรับสมัยรัตนโกสินทร์ นิยมทำเถาของกนกยาวจากขอบล่างของตู้พุ่งเถากนกขึ้นไปจรดหรือเกือบจรดขอบบนของตู้ ตัวกนกอ้วนสั้นหรือป้อม มีความอ่อนไหวน้อยลง ช่องว่างระหว่างตัวกนกมีความถี่มาก ทำให้ดูราวกับว่าเส้นกนกอยู่ในกรอบหรือเป็นแผงกนก ซึ่งถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ จึงทำให้ดูค่อนข้างขึงขังและกระด้าง แต่ก็เป็นความงามที่เป็นลักษณะเฉพาะของลายกนกในสมัยรัตนโกสินทร์ หนังสือตู้ลายทอง ภาค ๒ (สมัยรัตนโกสินทร์) เล่ม ๑ นอกจากความสวยงามของภาพและรูปเล่มแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอารยธรรม และความเจริญของไทยในด้านอักษรศาสตร์และศิลปะ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับศิลปะลายไทยและการประดิษฐ์ลายรดน้ำ หนังสือเล่มนี้มีจำนวน ๒๒๔ หน้า ปกแข็ง จัดพิมพ์สี่สีทั้งเล่ม ราคา ๗๐๐ บาท ผู้สนใจสามารถซื้อหนังสือได้ที่ร้านหนังสือกรมศิลปากร (อาคารเทเวศร์) หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่ https://bookshop.finearts.go.th สอบถามเพิ่มเติม facebook ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร
ชื่อผู้แต่ง จำนงค์ ทองประเสริฐ
ชื่อเรื่อง ปรัชญาตะวันตก : สมัยกลาง
ครั้งที่พิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ 2
สถานที่พิมพ์ พระนคร
สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์
ปีที่พิมพ์ 2514
จำนวนหน้า 742 หน้า
รายละเอียด
ปรัชญาตะวันตก : สมัยกลาง ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาปรัชญา เพื่อให้เข้าใจชีวิตและสังคมดีขึ้นมองเห็นว่าสิ่งทั้งหลายที่มีการเกิดดับมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้เราสามารถควบคุมจิตใจของเราให้อยู่ในกรอบแห่งวินัยอันดีงาม พร้อมกันนี้ยังได้นำเรื่องบุคคลสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาในสมัยกลางมานำเสนอมากยิ่งขึ้น
ชื่อเรื่อง บทละครครั้งกรุงเก่า เรื่องนางมโนห์ราและสังข์ทอง ฉบับหอสมุดแห่งชาติผู้แต่ง กรมศิลปากรพิมพ์ครั้งที่ 3ประเภทวัสดุ/มีเดีย หนังสือหายากหมวดหมู่ วรรณคดีเลขหมู่ 895.9112082 บ129สถานที่พิมพ์ พระนครสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์ปีที่พิมพ์ 2508ลักษณะวัสดุ 136 หน้าหัวเรื่อง บทละครไทย – รวมเรื่องภาษา ไทยบทคัดย่อ/บันทึก หนังสือเล่มนี้ อภิบายเรื่องบทละครครั้งกรุงเก่า นิทานและบทละครเรื่องนางมโนห์รา นิทานและบทละครเรื่องสังข์ทอง
พระเจดีย์หลวงบนเขาตังกวน
ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
ประวัติของพระเจดีย์หลวงบนเขาตังกวน
ชื่อเขาตังกวนปรากฏหลักฐานครั้งแรกในแผนที่ภาพกัลปนาวัดเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยา ส่วนองค์พระเจดีย์ที่อยู่บนยอดเขาตังกวนมีประวัติการก่อสร้างไม่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง แต่มีปรากฏข้อมูลหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์ที่ชัดเจนในเอกสารพงศาวดารเมืองสงขลาที่เขียนขึ้นโดยเจ้าพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาลำดับที่ ๕ ระบุไว้ว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๔ เสด็จประพาสเมืองสงขลา ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๐๒ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปบนเขาตังกวน เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๐๒ เพื่อสักการะพระเจดีย์และทอดพระเนตรทัศนียภาพเมืองสงขลาจากมุมสูง ทรงมีพระราชดำริจะให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ให้มีขนาดสูงใหญ่ขึ้นกว่าของเก่า จากนั้นในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๔๐๒ ทรงโปรดเกล้าฯให้สมุหพระกลาโหม (ช่วง บุนนาค) เอาตัวอย่างพระเจดีย์มาให้เจ้าพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์) ถึงทำเนียบผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๔ เสด็จนิวัติถึงพระนครแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสามภพพ่าย (หนู เกตุทัต) เป็นข้าหลวงออกไปให้เจ้าพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์) ดำเนินการบูรณะพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน มีความสูง ๙ วา ๓ ศอก (ประมาณ ๑๘.๗๕ เมตร) โดยได้พระราชทานเงินทั้งสิ้นจำนวน ๓๗ ชั่ง ๔ บาท
ในโอกาสเดียวกันนั้นเจ้าพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์) ได้สร้างคฤห์ (ซุ้มพระ) ต่อที่ฐานทักษิณ ๒ คฤห์ อยู่ทางด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ขององค์พระเจดีย์เพื่อเป็นที่ทำการสักการะบูชาพระเจดีย์ พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารเก๋งจีนขนาดเล็กอยู่ทั้ง ๔ มุม และมีกำแพงแก้วล้อมรอบ โดยสิ่งดังกล่าวนี้เจ้าพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์) ทำขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯถวายโดยเสด็จพระราชกุศลเข้าในพระเจดีย์หลวง คิดเป็นเงิน ๑๗ ชั่ง ๓ บาท การบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์นี้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๒๒๘ (พ.ศ. ๒๔๐๙) โดยปรากฏศิลาจารึกเกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์อยู่ที่ผนังเหนือแท่นบูชาภายในคฤห์ทางด้านทิศใต้ ซึ่งปัจจุบันศิลาจารึกดังกล่าวได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗ จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จฯ เขาตังกวน และทรงบันทึกถึงเรื่องพระเจดีย์บนเขาตังกวนรวมทั้งสถานที่สำคัญต่างๆของเมืองสงขลาไว้
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสแหลมมลายูถึงเมืองสงขลา เมื่อวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ (ตรงกับวันอังคารที่ ๔ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๓๑) เวลาเช้าเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวนทรงพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาพระวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริจะสร้างค้างอยู่ จนแล้วเสร็จในปีศก ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒)
นอกจากนี้ยังได้ก่อสร้างบันไดนาคซึ่งเป็นบันไดที่สร้างขึ้นด้วยหินตั้งอยู่ระหว่างศาลาพระวิหารขึ้นสู่พระเจดีย์หลวงบนยอดเขาตังกวน รวมทั้งประภาคารก่ออิฐถือปูน โดยก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ดังปรากฏข้อความในหนังสือจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ซึ่งประภาคารดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อให้แสงไฟแสดงที่หมายในการนำเรือเข้าร่องน้ำ อ่าว เขตท่าเรือหรือเตือนอันตรายเวลาเดินเรือ ปัจจุบันประภาคารบนเขาตังกวนอยู่ในความดูแลของกองเครื่องหมายทางเรือ กรมอุทกศาสตร์
ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ พระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชขอพระราชทานกราบทูลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภานุรังสีสว่างวงษ์ กรมพระภานุพันธุวงษ์วรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เรื่องขอรับพระราชทานปืนทองเหลืองขนาดย่อม ๆ จำนวน ๒ กระบอก สำหรับไว้ยิงเป็นเครื่องสัญญาณบนยอดเขาพระเจดีย์ เมื่อวันที่ ๔ เดือน มกราคม ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ซึ่งจะส่งสัญญาณเพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบในเวลาที่เรือเมล์หรือเรือราชการเข้าออก เพื่อความสะดวกทางการค้าและทางราชการ
พ.ศ. ๒๕๑๑ - ๒๕๑๖ กรมศิลปากร โดยหน่วยศิลปากรที่ ๙ สงขลา ได้ดำเนินการบูรณะพระเจดีย์บนเขาตังกวนและพลับพลาที่ประทับรัชกาลที่ ๔ (ศาลาวิหารแดง)
พ.ศ. ๒๕๒๕ กรมศิลปากร โดยหน่วยศิลปากรที่ ๙ สงขลา ได้ดำเนินการบูรณะโบราณสถานบนเขาตังกวนอีกครั้ง ประกอบด้วย พระเจดีย์หลวง ศาลาวิหารแดง บันไดนาค และบันไดทางขึ้นด้านทิศเหนือ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมฉลองสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี
ในการเฉลิมฉลองเมืองสงขลา ๓๐๐ ปี ซึ่งจัดงานระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ จังหวัดสงขลาได้ทาสีองค์พระเจดีย์และทาสีทองปลียอดพระเจดีย์หลวง ทำบันไดนาคจากเชิงเขาขึ้นตังกวน และเริ่มโครงการขอพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุเพื่อบรรจุ ณ พระเจดีย์หลวงบนเขาตังกวนนี้
ต่อมาเมื่อปี ๒๕๓๙ อันเป็นปีมหามงคลสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ครองราชย์ครบ ๕๐ ปี นายภาณุ อุทัยรัตน์ นายอำเภอเมืองสงขลา ได้รวบรวมเงินบริจาคจากชาวสงขลาผู้มีจิตศรัทธา จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท ดำเนินการทาสีองค์พระเจดีย์หลวง ขณะเดียวกันสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๐ สงขลา ได้บูรณะพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน
จากนั้นในระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๙ นายบัญญัติ จันทร์เสนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสำนักพระราชวังมาถึงจังหวัดสงขลา เพื่อทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระเจดีย์หลวงเขาตังกวน โดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษเป็นประธาน
การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
พระเจดีย์และพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบนเขาตังกวน (ศาลาวิหารแดง) ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเป็นครั้งแรก ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ และได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๘๐ หน้า ๑๔๗ (ฉบับพิเศษ) วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๘ พื้นที่ประมาณ ๓ ไร่ ๑ งาน ๒๕ ตารางวา โดยมีสิ่งสำคัญ ประกอบด้วย พระเจดีย์ , พลับพลาที่ประทับฯ (ศาลาวิหารแดง) , ประภาคาร และบันไดนาค
โครงการบูรณะพระเจดีย์บนเขาตังกวน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ปีงบประมาณ ๒๕๖๕
สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา กรมศิลปากร ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเงิน ๓,๖๙๔,๐๐๐ บาท (สามล้านหกแสนเก้าหมื่นสี่พันบาทถ้วน) เพื่อดำเนินงานโครงการบูรณะพระเจดีย์บนเขาตังกวน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยมีขอบเขตการดำเนินงาน คือ การบูรณะซ่อมแซมองค์พระเจดีย์ และองค์ประกอบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คฤห์ (ซุ้มพระ) ทางด้านทิศเหนือ – ใต้ , บันไดทางขึ้นสู่องค์พระเจดีย์ , ลานประทักษิณบนฐานพระเจดีย์ , อาคารเก๋งจีนทั้ง ๔ หลัง , กำแพงแก้ว และพื้นลานภายในเขตกำแพงแก้ว
ซึ่งจะมีรายละเอียดขั้นตอนในการอนุรักษ์พระเจดีย์บนเขาตังกวนให้รับชมในเร็วๆนี้ นะคะ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวชนาธิป ไชยานุกิจ
นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
———————————————————————————————————————————————————————————————————————————————————————————
เรื่องพระเจดีย์หลวงบนเขาตังกวน เพิ่มเติม
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1208053499532811&id=461661324172036&sfnsn=mo