ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,814 รายการ
วัดภาณุรังษี เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ ริมคลองบางพลู สันนิษฐานว่าเป็นวัดโบราณมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดบางพลูใน” ตามชื่อคลองบางพลูที่ไหลผ่านด้านทิศใต้ของวัด เช่นเดียวกันกับ “วัดบางพลูบน”(วัดเทพากร) และ “วัดบางพลูล่าง” (วัดเทพนารี) ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ทรงปฏิสังขรณ์วัดบางพลูใน แล้วเปลี่ยนนามวัดเป็น “วัดภาณุรังษี” (หม่อมเจ้าดำรัศดำรง เทวกุลฯ, ๒๔๗๒ : ๔๐) อุโบสถหลังเก่าวัดภาณุรังษี เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ไม่มีการเจาะช่องหน้าต่าง ประตูทางเข้าอยู่ที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว ส่วนด้านหลังมีเพียงช่องแสงรูปกลีบบัว สันนิษฐานว่าเดิมเป็นอุโบสถมหาอุดมาก่อน แล้วเจาะช่องแสงเพิ่มในสมัยหลัง ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เครื่องประดับหน้าบันแบบรวยระกา ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ด้านสกัดหน้ามีหลังคาจั่นหับคลุม หน้าบันเป็นเครื่องก่อตกแต่งด้วยงานปูนปั้นนูนสูงรูปพระมหามงกุฎ น่าเสียดายที่งานประดับตกแต่งเกือบทั้งหมดมิได้เป็นของดั้งเดิม เพราะผ่านการซ่อมแซมหรือทำขึ้นใหม่เสียแล้ว อย่างไรก็ตาม อุโบสถหลังเก่าวัดภาณุรังษียังมีงานศิลปกรรมสำคัญและทรงคุณค่าหลงเหลือ เป็นบานประตูลายรดน้ำรูปพระบรมราชสัญลักษณ์และพระสัญลักษณ์ที่สื่อถึงพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สันนิษฐานว่าทำขึ้นเมื่อ พ.ศ ๒๔๔๖ ในคราวเดียวกับที่สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ทรงปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ พระบรมราชสัญลักษณ์และพระสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนบานประตูอุโบสถหลังเก่า ประกอบด้วย ๑. พระเกี้ยว เป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)๒. เทพบุตรทรงรถเทียมม้า เป็นพระสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์) โดยเป็นการเปรียบความหมายของพระนาม “จันทรมณฑล” ที่หมายถึง พระจันทร์(ดวงจันทร์) กับพระจันทร์ (เทพพระเคราะห์) ที่แสดงออกในรูปเทพบุตรทรงรถเทียมม้า๓. มณีรัตนะ เป็นพระสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสมเด็จเจ้าฟ้าชายจาตุรนตรัศมี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์) เป็นการเปรียบความหมายของพระนาม “จาตุรนตรัศมี” ที่หมายถึง “ผู้มีรัศมีแผ่ไปในทิศทั้ง ๔ คือพระอาทิตย์” (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙ : ๒๒๖) กับ มณีรัตนะ (หนึ่งในรัตนะ ๗ ประการของพระจักรพรรดิ) มณีรัตนะเป็นแก้วที่เปล่งแสงสว่างจนทำให้เวลากลางคืนสว่างดุจเวลากลางวัน (แสง มนวิทูร, ๒๕๕๘ : ๒๓)๔. พระอาทิตย์ เป็นพระสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสมเด็จเจ้าฟ้าชายภาณุรังษีสว่างวงษ์ (สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) เป็นการเปรียบความหมายของ พระนาม “ภาณุรังษี” ที่หมายถึง แสงของพระอาทิตย์ กับรูปพระอาทิตย์ครึ่งดวงเปล่งรัศมีเหนือผืนน้ำ นอกจากวัดภาณุรังษีแล้ว ยังมีงานสถาปัตยกรรมที่ตกแต่งด้วยพระบรมราชสัญลักษณ์ และพระสัญลักษณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร แต่จะมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากลายรดน้ำบนประตูอุโบสถหลังนี้ โดยผู้เขียนจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป------------------------------------------------------------ผู้เขียน : นายณัฐพงศ์ ศิริวัฒนพิเชษฐ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มวิชาการทะเบียนโบราณสถาน กองโบราณคดี------------------------------------------------------------บรรณานุกรม กองโบราณคดี. รายงานเบื้องต้นการสำรวจวัดภาณุรังษี. กรุงเทพฯ : กลุ่มวิชาการทะเบียนโบราณสถาน, ๒๕๖๐. ดำรัศดำรง เทวกุลฯ, หม่อมเจ้า (รวบรวม). พระประวัติสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดชฯ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๔๗๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๒. แสง มนวิทูร. คัมภีร์ลลิตวิสตระ พระพุทธประวัติฝ่ายมหาน ภาคภาษาไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้งฯ, ๒๕๕๘. อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. เทพฮินดู ผู้พิทักษ์พุทธสถาน. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๑. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : บริษัท อักษรเจริญทัศน์ อจท.จำกัด, ๒๕๓๙.
แหล่งโบราณคดีโนนหนองจาน ตั้งอยู่ที่บ้านมันปลา หมู่ที่ ๑๓ ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ได้รับการขุดค้นทางโบราณคดีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๑ พบหลักฐานการฝังศพแบบปฐมภูมิ (Primary Burial)ในท่านอนหงายเหยียดยาว และการฝังศพบแบบทุติยภูมิ (Secondary Burial) หรือการฝังศพในภาชนะดินเผา(Jar Burial) รวมกันจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๘ โครง การฝังศพแบบปฐมภูมิ(Primary Burial) คือการฝังศพแบบดั้งเดิม การฝังจะนำศพวางนอนในหลุม อาจจะวางศพนอนตะแคงงอเข่า หรือ นอนหงายเหยียดยาว การฝังศพลักษณะนี้จะพบกระดูกเรียงกันอย่างถูกต้องตามหลักกายวิภาค และพบเกือบทุกส่วนของร่างกาย ขอยกตัวอย่าง การวิเคราะห์โครงกระดูกที่พบ ๒ โครง ดังนี้ โครงกระดูก A การวิเคราะห์โครงกระดูกจากลักษณะทางกายภาพ พบว่า อายุเมื่อตายประมาณ ๑๕ – ๒๐ ปี วิเคราะห์จากขนาดของกระดูกแต่ละชิ้นที่มีขนาดใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ แต่ยังพบว่าหัวกระดูกแต่ละชิ้นยังไม่เชื่อมต่อกันจึงยังไม่สามารถระบุเพศได้ วัดความยาวของโครงกระดูกได้ ๑๔๙ เซนติเมตร หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สภาพของโครงกระดูกอยู่ในท่านอนหงาย กระดูกแต่ละชิ้นวางอยู่ในส่วนที่ถูกต้องตามกหลักกายวิภาค ส่วนกะโหลกศีรษะเสียหายจากการขุดค้น แขนท่อนบนวางแนบไปกับลำตัว แขนท่อนล่างด้านซ้ายวางเหนือกระดูกเชิงกราน ด้านขวาแนบกับลำตัว ท่อนขาและเท้าทั้งสองข้างวางตรงและค่อนข้างชิดกัน ปลายเท้าฝังลงลึกกว่าท่อนขาเล็กน้อยเอียงไปทางซ้ายเล็กน้อย หลักฐานที่พบร่วม ได้แก่ กำไลสำริดที่แขนซ้ายท่อนบนมีเครื่องจักสานติดอยู่ ขวานเหล็กมีรอยประทับเปลือกข้าว ลูกปัดหินคาร์เนเลียนทรงกลมบริเวณคอฝั่งซ้าย กำไลทรงกระบอกที่แขนท่อนล่างสองข้าง และเครื่องรางสำริดมีลักษณะคล้ายหวีแต่ซี่ห่างกว่าสองชิ้นที่ระหว่างขาท่อนบน โครงกระดูก B การวิเคราะห์โครงกระดูกจากลักษณะทางกายภาพ พบว่า เป็นเพศหญิง วิเคราะห์ได้จากลักษณะของกระดูกเชิงกรานและลักษณะที่ปรากฏบนกระโหลกศีรษะ อายุเมื่อตายประมาณ ๓๐ – ๓๕ ปี วิเคราะห์จากขนาดของโครงกระดูก เช่น หัวกระดูกไหปราร้าเชื่อมต่อแล้ว วัดความยาวของโครงกระดูก ๑๔๙ เซนติเมตร หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สภาพของโครงกระดูกอยู่ในท่านอนหงาย กระดูกแต่ละชิ้นวางอยู่ในส่วนที่ถูกต้องตามหลักกายวิภาค ส่วนศีรษะฝังยกสูงกว่าส่วนลำตัวเล็กน้อย แขนท่อนบน วางแนบกับลำตัว แขนท่อนล่างขวาวางพาดขึ้นมาวางมือทับกระดูกเชิงกราน แขนท่อนล่างซ้ายวางพาดหน้าท้องมาทับแขนขวา แต่กระดูกส่วนข้อมือสูญหายไปจากการขุดค้น ส่วนเชิงกรานฝังลึกกว่าส่วนอื่นเล็กน้อย ท่อนขาวางตัวตรงค่อนข้างชิดกัน เท้าทั้งสองข้างวางติดกัน ที่กระดูกข้อเท้า(Talus) พบรอยกดทับ (Squatting Facet) ซึ่งเกิดจากการนั่งยองเป็นประจำ หลักฐานที่พบร่วม ได้แก่ กำไลสำริดทรงแบน และลูกปัดสีเหลืองปนส้มไส้ในเป็นสีแดงกระจายอยู่ที่ส่วนอก และชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ ท่อนยาว(Long Bone) วางทับหน้าแข้งซ้าย ลักษณะอื่น ๆ ที่ปรากฏบนโครงกระดูก การถอนฟันบน ๒ คู่หน้า ได้แก่ ฟันหน้าซี่ที่ ๒ และ ฟันเขี้ยวพบในโครงกระดูกผู้ใหญ่ ที่ยังคงปรากฏหลักฐานให้เห็น ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่า เป็นลักษณะทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ Rocker Jaw ขากรรไกรล่างมีความโค้งมน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้คนแถบหมู่เกาะ(โพลินิเชี่ยน) ลักษณะแบบแผนพิธีกรรมการฝังศพแบบปฐมภูมิของแหล่งโบราณคดีโนนหนองจาน จากการวิเคราะห์พบว่า การฝังศพที่แหล่งโบราณคดีโนนหนองจานมีทิศทางการหันศีรษะทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีการห่อศพและจัดท่าทางของศพ คือ การนำเอามือทั้งสองข้างวางไว้เหนือลำตัว แล้วมัดและห่อศพเนื่องลักษณะของกระดูกท่อนแขนที่วางแนบไปกับลำตัวและกระดูกส่วนต่าง ๆ วางตัวอย่างเป็นระเบียบและค่อนข้างชิดกัน วัสดุที่ใช้ในการห่อศพนั้นคงเป็นเครื่องจักสานเนื่องจากพบร่องรอยประทับบนกำไลสำริด อุทิศเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับให้กับผู้ตาย ที่พบทั้งลักษณะการอุทิศให้และการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และพบการโรยเมล็ดข้าวไว้ด้วย จากการศึกษาเปรียบเทียบในเบื้องต้นแหล่งโบราณคดีโนนหนองจาน เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่ปรากฏร่องรอยของวัฒนธรรมดองซอน การพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นเครื่องประดับสำริด และสิ่งของอื่น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ และแหล่งโบราณคดีที่อยู่ห่างใกลออกไป คือ แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และแหล่งโบราณคดีบ้านดอนแสนพัน ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี --------------------------------------------------เรียบเรียงโดย : นายพงษ์พิศิษฏ์ กรมขันธ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี--------------------------------------------------
หนังสือ คำไหว้พระธาตุ นครศรีธรรมราช
อะหัง วันทามิ ทุรโต
อะหัง วันทามิ ธาตุโย
อะหัง วันทามิ สัพพะโส
อิติปิ โส วิเสเส อิ อิเสเสพุทธนาเมอิ
อิ เม นาพุทธตังโสอิ อิโส ตัง พุทธ ปิ ติ อิ
อิติ ปารมิตาติงสา อิติ สัพพัญญู มาคตา
อิติ โพธิ มนุปปัตโต อิติ ปิ โส จเต นโม
พุทธาติจโจ มหาเตโช ธัมมจันโท รสาหโร
สังฆตารคโณ เสฏโฐ อัมเห รักขันตุ สัพพทา ฯ
สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง สิทธิการิย ตถาคโต
สิทธิเตโช ชโย นิจจัง สิทธิลาโภ นิรันตรัง
สัพพกัมมัง ปสิทธิ เม สัพพสิทธิ ภวันตุ เม
บทบูชาพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ในหนังสือ “คำไหว้พระธาตุ นครศรีธรรมราช” ของหอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช ซึ่งปริวรรตมาเป็นอักษรไทยในปัจจุบัน จากเอกสารโบราณคัมภีร์ใบลาน สมบัติของพิพิธภัณฑ์วัดพัทธสีมา ตำบลท่าซอม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งบรรพชนได้จารไว้ด้วยอักษรขอมไทย ภาษาบาลี-ไทย
นอกจากนี้ ภายในหนังสือ คำไหว้พระธาตุนครศรีธรรมราช ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจและทรงคุณค่าอีกมากมาย ได้แก่ คำนอบน้อมพระพุทธเจ้า บทไหว้พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ คำนอบน้อมต้นไม้ที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าประจำทิศทั้งสิบ พระอริยสาวก บทบูชาพระสาวก ๘๐ รูป พระพุทธเจ้าในอนาคต และบทไหว้พระธาตุ (พระบรมสารีริกธาตุ) เป็นต้น
หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช ภาคภูมิใจที่ได้นำมรดก ทรัพย์สินทางปัญญาของบรรพชนมายืดอายุ สร้างสรรค์ ต่อยอด เพิ่มคุณค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่อนุชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้ จะได้มีส่วนช่วยปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและของประเทศชาติโดยเฉพาะเอกสารโบราณที่บรรพชนได้สร้างสรรค์ไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา
รวบรวมโดย. นายสมยศ พูนพนัง นายช่างศิลป์ชำนาญงาน หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช
อ้างอิง. หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช. คำไหว้พระธาตุนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช ; หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช, 2555.
พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพงษ์ทอง ทองเจือ ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง วันที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๕
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เจ้านายพระองค์สำคัญในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นที่รู้จักของอนุชนรุ่นหลัง ด้วยพระเกียรติคุณมากมาย ในทางศิลปะ ทั้งสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ดนตรี ตลอดจนประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ปรากฏผลงานมากมายเป็นที่ประจักษ์จนถึงปัจจุบันนี้ อย่างเช่น พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร พระอุโบสถ และภาพจิตรกรรมภายในพระวิหาร วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ฯลฯ ผลงานต่างๆ ที่ทรงสร้างสรรค์มากมายหลายด้าน ทำให้บรรดาศิษย์ และอนุชนรุ่นหลังขนานนามยกย่องว่า เป็น “สมเด็จครู” นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม
ผลงานที่ยังคงเหลืออยู่เป็นประจักษ์พยานในความสามารถทางศิลปะของพระองค์อย่างหนึ่ง คือ ตาลปัตร และพัดรอง ซึ่งทำขึ้นในโอกาสต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยพิธีสงฆ์ โดยมีความนิยมมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ออกแบบพัดรองที่ระลึก สำหรับงานพระราชพิธีต่างๆ หลายโอกาส ด้วยความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ และสื่อความถึงวาระโอกาสนั้นๆ การออกแบบพัดรองถวายพระสงฆ์ จึงได้ขยายออกไปสู่บรรดาพระราชวงศานุวงศ์ และบุคคลสำคัญอื่นๆ ด้วย
ผลงานพัดรองที่ระลึกของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นอกจากเป็นของที่ทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และ ยังทรงรับออกแบบให้กับเจ้านายพระองค์ต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ กระทั่งมาจนถึงรัชกาลที่ ๘
ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร ในรัชกาลที่ ๘ สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑ ขณะพระชนม์ได้ ๕๔ พรรษา โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง พระศพไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก่อนจะมีงานพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ ในพุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งในงานพระเมรุครั้งนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงออกแบบ พัดรองสังเค็ด สำหรับงานพระเมรุคราวนั้นอีกครั้ง แม้จะทรงมีพระชนมายุมากถึง ๗๐ กว่าพรรษาแล้ว ก็ยังทรงพระอุตสาหะร่างแบบพัดรองขึ้น ก่อนจะให้ผู้รับผิดชอบนำไปเพิ่มเติมรายละเอียดแก้ไขต่อไป ซึ่งน่าสนใจว่า พัดรองคราวนั้น ได้ทรงออกแบบมาให้เกี่ยวข้องกับเมืองเพชรบุรีด้วย
รูปพัดรองดังกล่าว มีลักษณะ เป็นพัดผ้าแพรสีเขียวอ่อน อันเป็นสีวันประสูติ คือวันพุธ ขอบสีเขียวตองอ่อน ส่วนของนมพัดส่วนบน เขียนเป็นรูปพระเจดีย์ทรงลังกาสีขาวอยู่ตรงกลาง ตั้งอยู่บนเนินเขาสีเขียวตองอ่อน ซึ่งมีใบตาลเป็นแฉกประดับอยู่ ถัดลงมาใต้เนินเป็นอักษรโลหะ ที่ออกแบบเพื่อให้เป็นรูป ว.อ. อันย่อมาจากพระนาม “วไลยอลงกรณ์” ประดับอยู่ โดยมีตัวเลขไทย ๒๔๒๗ และ ๒๔๘๑ อยู่ถัดมาทางซ้ายและขวาของอักษรย่อนั้น อันหมายถึงปีประสูติ และสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยองกรณ์ฯ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร
พระเจดีย์ทรงระฆังสีขาว ซึ่งเป็นภาพหลักในพัดรองดังกล่าว มีรูปลักษณะเดียวกันกับ พระธาตุจอมเพชร ปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองเพชรบุรี ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนยอดเขามหาสวรรค์ ในเวลาเดียวกันกับที่โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระราชวังขึ้น บนเขาลูกเดียวกันนี้ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๒ ที่มาของพระเจดีย์องค์นี้ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ (ขำ บุนนาค) ความตอนหนึ่งระบุว่า “.... เขาอีกยอด ๑ โปรดให้ก่อหุ้มพระเจดีย์เก่าขึ้นอีกองค์ ๑ ฐาน ๑๐ วา สูง ๑ เส้นให้ชื่อพระธาตุจอมเพ็ชร์....” ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์ทรงระฆัง เป็นเจดีย์ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจ กล่าวคือ เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บานประทักษิณ ๒ ชั้น และภายในองค์เจดีย์ เป็นโถง ที่มีเสาก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่รองรับน้ำหนักองค์เจดีย์ส่วนยอดไว้
พระธาตุจอมเพชร นับว่าเป็นลักษณะที่นิยมสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า เจดีย์ในลักษณะดังกล่าว เป็นเจดีย์ที่มีการถ่ายทอดรูปแบบมาแต่ครั้งโบราณ ดังปรากฏกระแสพระราชดำริว่าด้วยการสร้างพระเจดีย์ทรงระฆังที่ทรงถือว่าเจดีย์ทรงดังกล่าวเป็นทรงที่ถูกต้องและเป็นรูปแบบที่ได้รับการพัฒนาสืบต่อมาจากลังกา ซึ่งแสดงให้เห็นความเก่าแก่สืบเนื่องมาแต่ครั้งพุทธศาสนาตั้งอยู่ในอินเดีย ก่อนจะเข้ามาสู่ลังกาและสยามประเทศ
พระธาตุจอมเพชร เป็นพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่ ที่สามารถมองเห็นได้แต่ไกล และด้วยนามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานว่า “จอมเพชร” อันจะมาจากพระราชประสงค์ ที่จะให้เป็นปูชนียสถานอันยิ่งใหญ่ของเมืองเพชรบุรีนั้น คล้องกันกับพระนามกรมของสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ ซึ่งทรงกรมที่ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร นั่นเอง จึงทำให้สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเลือกมาเป็นภาพประกอบพัดรองในงานพระศพเจ้าฟ้าพระองค์นั้น
พัดรองงานพระเมรุ สมเด็จฯเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า นั้นยังเป็นพัดรอง ๑ ใน ๓ เล่มสุดท้าย ที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ โดยนอกจากพัดรองดังกล่าว ยังมีพัดรองงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบัณบัวผัน และงานศพหม่อมเชื้อ วัฒนวงศ์ ณ อยุธยา
ดังได้กล่าวข้างต้นว่า ขณะที่ทรงออกแบบพัดรองนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีพระชนมายุถึง ๗๗ พรรษาแล้ว หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“...ในชั้นหลังนี้ไม่สามารถจะทรงเขียนอย่างวิจิตรได้ดังแต่ก่อน ด้วยพระเนตรไม่ดีเสียแล้ว จึงต้องทรงเขียนลัดให้เป็นแบบง่ายๆ เสียเป็นพื้น ...ขณะนั้น มีพระชันษาได้ ๗๗ ปีแล้ว เมื่อทรงเขียนสองเล่มแรก ก็ไม่สู้เดือดร้อน ด้วยเป็นลายง่ายๆ และไม่ใช่สำคัญ แต่พัดเล่มสุดท้ายนั้นเป็นพัดสำหรับใช้ในงานใหญ่ จึงอยากจะทรงเขียนถวายสนองพระเดชพระคุณให้ดีที่สุด ดังเช่นที่ได้เคยเขียนทูลเกล้าฯ ถวายแล้วมาแต่ก่อน แต่ก็ไม่สามารถเขียนได้ดังพระทัยปรารถนา ด้วยเวลาที่ทรงเขียนนั้น ทอดพระเนตรเส้นไม่เห็นเลย ต้องใช้แว่นขยายส่องขีดทีละเส้นด้วยความลำบาก เมื่อทรงเขียนเสร็จแล้วก็ไม่ดีสมพระทัย รู้สึกพระองค์ว่าเสื่อมความสามารถเสียแล้ว ตั้งแต่นั้นมาจึงไม่ทรงรับเขียนประทานผู้ใดอีก คงแต่ประทานแนวความคิดแก่ผู้ที่ทูลปรึกษาเท่านั้น...”
อ้างอิง
ศิลปากร, กรม. ตาลปัตร ฝีพระหัตถ์สมเดจฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติ
วงศ์. ๒๕๕๓, กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊ค.
สุรศักดิ์ เจริญวงศ์. สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ “สมเด็จครู”
นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม. ๒๕๔๙,กรุงเทพฯ : มติชน.
วรรณกรรมและประวัติศาสตร์, สำนัก. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๔. ๒๕๕๔,
กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร .
ศิลปากร, กรม. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ของ
เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ฯ (ขำ บุนนาค). ๒๕๖๑, กรุงเทพฯ :
อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. วัด – วัง ในพระราชประสงค์พระจอมเกล้าฯ. ๒๕๖๐,
กรุงเทพฯ : มติชน.
วสันต์ ญาติพัฒ
ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี : เรียบเรียง
-ขอบคุณภาพประกอบจาก
๑.รูปพัดวไลย จากเพจ "สมเด็จครู" https://www.facebook.com/HRHPrinceNaris
๒.รูปพระธาตุจอมเพชร ของพิพิธภัณพสถานแห่งชาติ พระนครคีรี
#เครื่องมือเครื่องใช้ในภาคเหนือ จ้อง ภาษาล้านนาใช้เรียก ร่ม เป็นเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับกันแดดกันฝน จ้องในภาคเหนือมักทำจากกระดาษสาแล้วทาด้วยน้ำมันมะพอก ซึ่งมีคุณสมบัติเพื่อกันไม่ให้น้ำเกาะค้างบนกระดาษสา ส่วนตัวคันร่มทำจากไม้ไผ่รวก แหล่งที่ทำร่มหรือจ้องที่มีชื่อเสียงคือ ร่มบ่อสร้าง เนื่องจากในอดีตร่มบ่อสร้างนั้นมีการนำร่มจากบ้านสันต้นแหนมาลงสีสันให้สวยงาม ผู้คนจึงสะดุดตาและจดจำว่าร่มหรือจ้องต้องจากบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพชุด การประกวดภาพเก่าเกี่ยวกับจังหวัดลำพูน (เจ้าของภาพ น.ส. บัวเขียว เพชรรัตน์)อ้างอิง :๑. มณี พยอมยงค์. ๒๕๔๖. สารพจนานุกรมล้านนา. เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก.๒. ธันวดี สุขประเสริฐ.๒๕๖๔.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (Online). https://www.sac.or.th/.../trad.../th/equipment-detail.php.... สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๔.
ชื่อเรื่อง ฌาปนกิจฺจานิสํสกถา (สลองปงสบ)
สพ.บ. 306/1ก
ประเภทวัสดุมีเดีย คัมภีร์ใบลาน
หมวดหมู่ พุทธศาสนา
ลักษณะวัสดุ 36 หน้า กว้าง 4.5 ซม. ยาว 58.7 ซม.
หัวเรื่อง พุทธศาสนา
บทคัดย่อ/บันทึก
เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรขอม-ธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทย-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับล่องชาด ได้รับบริจาคมาจาก วัดบ้านหมี่ ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
วินยธรสิกฺขาปทวินิจฺฉย (วินยสิกฺขาปทวินิจฺเฉยฺย)
ชบ.บ.96/1-7
เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)