เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ลายรดน้ำประตูอุโบสถหลังเก่าวัดภาณุรังษี กรุงเทพมหานคร
วัดภาณุรังษี เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ ริมคลองบางพลู สันนิษฐานว่าเป็นวัดโบราณมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดบางพลูใน” ตามชื่อคลองบางพลูที่ไหลผ่านด้านทิศใต้ของวัด เช่นเดียวกันกับ “วัดบางพลูบน”(วัดเทพากร) และ “วัดบางพลูล่าง” (วัดเทพนารี) ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ทรงปฏิสังขรณ์วัดบางพลูใน แล้วเปลี่ยนนามวัดเป็น “วัดภาณุรังษี” (หม่อมเจ้าดำรัศดำรง เทวกุลฯ, ๒๔๗๒ : ๔๐)
อุโบสถหลังเก่าวัดภาณุรังษี เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ไม่มีการเจาะช่องหน้าต่าง ประตูทางเข้าอยู่ที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว ส่วนด้านหลังมีเพียงช่องแสงรูปกลีบบัว สันนิษฐานว่าเดิมเป็นอุโบสถมหาอุดมาก่อน แล้วเจาะช่องแสงเพิ่มในสมัยหลัง ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เครื่องประดับหน้าบันแบบรวยระกา ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ด้านสกัดหน้ามีหลังคาจั่นหับคลุม หน้าบันเป็นเครื่องก่อตกแต่งด้วยงานปูนปั้นนูนสูงรูปพระมหามงกุฎ น่าเสียดายที่งานประดับตกแต่งเกือบทั้งหมดมิได้เป็นของดั้งเดิม เพราะผ่านการซ่อมแซมหรือทำขึ้นใหม่เสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม อุโบสถหลังเก่าวัดภาณุรังษียังมีงานศิลปกรรมสำคัญและทรงคุณค่าหลงเหลือ เป็นบานประตูลายรดน้ำรูปพระบรมราชสัญลักษณ์และพระสัญลักษณ์ที่สื่อถึงพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สันนิษฐานว่าทำขึ้นเมื่อ พ.ศ ๒๔๔๖ ในคราวเดียวกับที่สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ทรงปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้
พระบรมราชสัญลักษณ์และพระสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนบานประตูอุโบสถหลังเก่า ประกอบด้วย
๑. พระเกี้ยว เป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
๒. เทพบุตรทรงรถเทียมม้า เป็นพระสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์) โดยเป็นการเปรียบความหมายของพระนาม “จันทรมณฑล” ที่หมายถึง พระจันทร์(ดวงจันทร์) กับพระจันทร์ (เทพพระเคราะห์) ที่แสดงออกในรูปเทพบุตรทรงรถเทียมม้า
๓. มณีรัตนะ เป็นพระสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสมเด็จเจ้าฟ้าชายจาตุรนตรัศมี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์) เป็นการเปรียบความหมายของพระนาม “จาตุรนตรัศมี” ที่หมายถึง “ผู้มีรัศมีแผ่ไปในทิศทั้ง ๔ คือพระอาทิตย์” (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙ : ๒๒๖) กับ มณีรัตนะ (หนึ่งในรัตนะ ๗ ประการของพระจักรพรรดิ) มณีรัตนะเป็นแก้วที่เปล่งแสงสว่างจนทำให้เวลากลางคืนสว่างดุจเวลากลางวัน (แสง มนวิทูร, ๒๕๕๘ : ๒๓)
๔. พระอาทิตย์ เป็นพระสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสมเด็จเจ้าฟ้าชายภาณุรังษีสว่างวงษ์ (สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) เป็นการเปรียบความหมายของ พระนาม “ภาณุรังษี” ที่หมายถึง แสงของพระอาทิตย์ กับรูปพระอาทิตย์ครึ่งดวงเปล่งรัศมีเหนือผืนน้ำ
นอกจากวัดภาณุรังษีแล้ว ยังมีงานสถาปัตยกรรมที่ตกแต่งด้วยพระบรมราชสัญลักษณ์ และพระสัญลักษณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร แต่จะมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากลายรดน้ำบนประตูอุโบสถหลังนี้ โดยผู้เขียนจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป
------------------------------------------------------------
ผู้เขียน : นายณัฐพงศ์ ศิริวัฒนพิเชษฐ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มวิชาการทะเบียนโบราณสถาน กองโบราณคดี
------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
กองโบราณคดี. รายงานเบื้องต้นการสำรวจวัดภาณุรังษี. กรุงเทพฯ : กลุ่มวิชาการทะเบียนโบราณสถาน, ๒๕๖๐. ดำรัศดำรง เทวกุลฯ, หม่อมเจ้า (รวบรวม). พระประวัติสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดชฯ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๔๗๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๒. แสง มนวิทูร. คัมภีร์ลลิตวิสตระ พระพุทธประวัติฝ่ายมหาน ภาคภาษาไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้งฯ, ๒๕๕๘. อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. เทพฮินดู ผู้พิทักษ์พุทธสถาน. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๑. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : บริษัท อักษรเจริญทัศน์ อจท.จำกัด, ๒๕๓๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 2580 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน