ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 40,814 รายการ

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเตรียมซ่อมบุษบกและโขนเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชย โดยมีผู้แทนจากกองทัพเรือ พร้อมทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ร่วมในพิธีดังกล่าว ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี วันพุธที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๙ น. โดยหลังจากพิธีบวงสรวงในครั้งนี้จะทำการเคลื่อนย้ายบุษบกไปดำเนินการบูรณะที่สำนักช่างสิบหมู่ ส่วนโขนเรือจะดำเนินการบูรณะในพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๖๖ นี้ เรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชย เป็นเรือพระที่นั่งสำคัญ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เคยใช้เป็นเรือพระที่นั่งในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการใช้งานในพระราชพิธีสำคัญเรื่อยมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้รับความเสียหายจากระเบิด เหลือเพียงส่วนประกอบของเรือ ๒ ส่วน ได้แก่ บุษบก และโขนเรือ ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นจากไม้แกะสลัก ประดับตกแต่งด้วยการลงรักปิดทองประดับกระจก เป็นโบราณวัตถุของชาติ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ปัจจุบันโครงสร้างเกิดการทรุดตัว ลายแกะสลักและงานลงรักปิดทองประดับกระจกชำรุดหลุดล่อน กรมศิลปากร ได้จัดสรรงบประมาณฉุกเฉินเร่งด่วน ดำเนินการบูรณะด้วยการเสริมโครงสร้างให้มีความมั่นคงแข็งแรง และซ่อมแซมลวดลายที่ชำรุด โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคงานช่างสมัยโบราณ เพื่อรักษารูปแบบเดิมของงานศิลปกรรมให้คงอยู่สืบไป เป็นการดำเนินงานโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านของกรมศิลปากร ประกอบด้วย บุคลากรจากกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วิเคราะห์ตัวอย่างวัสดุที่ใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรม และบุคลากรจากสำนักช่างสิบหมู่ บูรณะซ่อมแซมงานไม้แกะสลัก และงานประดับกระจก



ชื่อเรื่อง                     โกศาปานไปฝรั่งเศส ฉบับหอสมุดแห่งชาติผู้แต่ง                       กรมศิลปากรประเภทวัสดุ/มีเดีย       หนังสือหายากหมวดหมู่                   ประวัติศาสตร์ทวีปเอเชียเลขหมู่                      959.3035 ศ528กสถานที่พิมพ์               กรุงเทพฯสำนักพิมพ์                 โรงพิมพ์ชาญชัยปีที่พิมพ์                    2497ลักษณะวัสดุ               502 หน้าหัวเรื่อง                     ไทย -- ประวัติศาสตร์ -- กรุงศรีอยุธยาภาษา                       ไทยบทคัดย่อ/บันทึกโกศาปานเป็นทูตไปเมืองฝรั่งเศส มองซิเออร์ เดอ วีเซ เป็นผู้แต่งพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1686 (พ.ศ. 2229) และมีการแปลเป็นภาษาไทยโดย เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแล โดยมีเนื้อหากล่าวถึงการเดินทางและภารกิจต่าง ๆ ของโกศาปานในฐานะราชทูตไทย เพื่อไปเจริญพระราชไมตรี ณ ประเทศฝรั่งเศส


ชื่อผู้แต่ง          ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จกรมพระยา ชื่อเรื่อง           นิทานโบราณคดี ครั้งที่พิมพ์        - สถานที่พิมพ์      กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์        สำนักพิมพ์บรรณกิจ ปีที่พิมพ์           ๒๕๒๒ จำนวนหน้า      ๑๑๕ หน้า รายละเอียด                         หนังสือนิทานโบราณคดีนี้ เป็นหนังสือที่มีค่าอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสมัยที่ล่วงมาแล้ว ไม่เฉพาะแต่ด้านโบราณคดีเท่านั้น หากแต่กว้างไปถึงวิชาประวัติศาสตร์ วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม การศึกษา ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับเมืองไทย ซึ่งหมายรวมถึงการจัดการปกครองบ้านเมืองด้วย ดังนั้น นิทานโบราณคดีนี้ จึงเป็นมรดกที่หาค่าเปรียบไม่ได้ชิ้นหนึ่งในจำนวนหลายชิ้น ซึ่งได้ทรงมอบไว้แก่เราชาวไทย


เลขวัตถุ ชื่อวัตถุ ขนาด (ซม.) ชนิด สมัยหรือฝีมือช่าง ประวัติการได้มา ภาพวัตถุจัดแสดง 48/2553 (1/2549) ชิ้นส่วนฐานของไหเท้าช้าง สีน้ำตาลเข้ม สภาพช้ำรุด น้ำยาเคลือบเสื่อมสภาพ ส.14 ก.13 ดินเผาเคลือบ ลพบุรี ได้จากแหล่งโบราณคดีบ้านดงละคร จ.นครนายก นายจำเนียร ทองจันทร์ มอบให้เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2549


เลขทะเบียน : นพ.บ.427/3กห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 58 หน้า ; 5 x 55 ซ.ม. : ชาดทึบ-ล่องชาด-ล่องรัก-ลานดิบ ; ไม่มีไม้ประกับชื่อชุด : มัดที่ 154  (120-128) ผูก 3ก (2566)หัวเรื่อง : มาลาวิภักค์--เอกสารโบราณ            คัมภีร์ใบลาน            พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา  สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม


          วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2566 เวลา 14.00 น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดการแสดงคอนเสิร์ต “2 ทศวรรษ เพชรในเพลง พุทธศักราช 2566” ณ โรงละครศรีอยุธยา หอวชิราวุธานุสรณ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ โดยมีประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 200 คน             นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การแสดงคอนเสิร์ต “2 ทศวรรษ เพชรในเพลง พุทธศักราช 2566” ในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลงานของศิลปินนักร้องผู้ได้รับรางวัล “เพชรในเพลง” ในรอบ      2 ทศวรรษ เพื่อเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง งดงาม และสร้างสรรค์ ในโอกาสสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2566 อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมบทเพลงและศิลปินเพชรในเพลงให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย             กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตระหนักถึงความสำคัญของเพลงต่อการธำรงรักษาภาษาไทย   จึงจัดโครงการประกวดเพลง “เพชรในเพลง” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเป็นขวัญกำลังใจให้ศิลปินนักร้องและนักประพันธ์เพลงที่ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ เป็นการร่วมอนุรักษ์ภาษาไทยอันเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติมาอย่างสืบเนื่อง นับเป็นเวลาครบ 20 ปี หรือ 2 ทศวรรษ มีผู้ได้รับรางวัลมาแล้วทั้งสิ้น 406 รางวัล เนื่องในสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย วันที่ 2 – 8 เมษายน 2566 กรมศิลปากรได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมรดกไทย ตลอดจนส่งเสริมผู้อนุรักษ์มรดกไทยทุกสาขา จึงเป็นโอกาสอันดีที่กรมศิลปากรได้จัดกิจกรรมการแสดงคอนเสิร์ต “2 ทศวรรษ  เพชรในเพลง พุทธศักราช 2566” เพื่อเผยแพร่ผลงานของศิลปินคุณภาพที่ได้รับรางวัลเพชรในเพลงในรอบ 2 ทศวรรษให้เป็นแบบอย่างในการส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกไทยด้านภาษาและคีตศิลป์ในสังคมไทยต่อไป โดยมีศิลปินทรงคุณวุฒิ ได้แก่ อาจารย์รวงทอง ทองลั่นธม และอาจารย์วินัย พันธุรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ รวมถึงอาจารย์โฉมฉาย อรุณฉาน และปาน ธนพร แวกประยูร ผู้ทำหน้าที่กรรมการตัดสินการประกวดเพลง “เพชรในเพลง” พร้อมทั้งศิลปินนักร้องคุณภาพผู้ได้รับรางวัลเพชรในเพลง อาทิ เท่ห์ อุเทน พรหมมินทร์, หนู มิเตอร์, แจ๊ค ธนพล, รัชนก ศรีโลพันธุ์, นัน อนันต์ อาศัยไพรพนา, ใบเฟิร์น สุทธิยา, บูม ชญาภา, ปะแป้ง พลอยชมพู, หมิว เขมจิรา, นิตา ลลดา, มิวสิค โรสซาวด์ ร่วมขับขานบทเพลงไพเราะกว่า 25 เพลง บรรเลงโดยวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร




องค์ความรู้สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่เรื่อง : พัฒนาการ การอนุรักษ์โบราณสถานเมืองเชียงใหม่เรียบเรียงโดย : สายกลาง  จินดาสุ  นักโบราณคดีชำนาญการ          นับตั้งแต่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ โบราณสถานแต่ละแห่งของเมืองเชียงใหม่ผ่านการซ่อมสร้าง บูรณะปฏิสังขรณ์มานับครั้งไม่ถ้วน  หากพิจารณาจากเอกสารประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าการปรับปรุงซ่อมแซมโบราณสถานในล้านนาเป็นเรื่องปกติที่นิยมทำแม้ไม่มีปัจจัยด้านการชำรุดเสื่อมโทรม ครั้งนี้เราจะมาดูพัฒนาการการอนุรักษ์โบราณสถานเมืองเชียงใหม่ว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดและวิธีการอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา มีจุดเปลี่ยนและสาระสำคัญอะไรบ้าง          เมื่อย้อนดูเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ พบว่า มักปรากฏเนื้อความในเอกสารประวัติศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง ที่กล่าวถึงกษัตริย์ให้ซ่อมเสริมหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบโบราณสถานไปจากเดิม เช่น การที่พระเจ้าติโลกราช โปรดให้มีการขยายขนาดเจดีย์หลวง ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา และให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบยอดเจดีย์ “ให้ขุดรอบๆพระธาตุเจดีย์หลวงองค์เก่า กว้างประมาณ ๑๐ ศอก ลึกแค่ศรีษะคนเพื่อทำฐานรากเจดีย์ ก่อให้เป็นวัตถุมั่นคงยิ่งขึ้นแล้วให้เอาแผ่นศิลาอันเป็นมงคลปิดทองคำเปลว...พระธาตุเจดีย์หลวงเมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วมีระเบียบกระพุ่มยอดเดียว          จะเห็นได้ว่าแนวคิดด้านการบูรณะโบราณสถานในอดีตมิได้ยึดถือในเรื่องการรักษารูปแบบดั้งเดิม หากแต่การบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นการประกาศความยิ่งใหญ่แห่งองค์พระมหากษัตริย์ เนื่องด้วยสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนา คือ เครื่องมือสะท้อนพระราชอำนาจของกษัตริย์ ในสถานะที่กษัตริย์ล้านนาเป็นองค์อุปถัมป์แห่งพุทธศาสนา ประวัติหรือตำนานบูรพกษัตริย์ในพื้นที่ภาคเหนือมักจะกล่าวถึงการเป็นผู้รับใช้พระศาสนาและได้รับความชอบธรรมให้เป็นกษัตริย์ ดังเรื่องของปู่เจ้าลาวจก ปฐมวงษ์ของพญามังราย ที่มิได้มีเชื้อสายกษัตริย์ แต่เป็นคนพื้นเมืองที่ถวายตนเป็นข้าเฝ้าพระธาตุดอยตุง เมื่อตายผลบุญจากการเป็นข้าเฝ้าพระธาตุเป็นอานิสงให้จุติเป็นเทวดาและสุดท้ายจึงโอปาติกะลงมาเป็นกษัตริย์ครองเมืองหิรัญนครเงินยางในแอ่งที่ราบเชียงแสน ดังนั้นแนวคิดด้านการบูรณะโบราณสถานในอดีตของล้านนาจึงผูกติดกับความเป็น “ธรรมราชา” ของกษัตริย์ผู้ปกครอง          เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์มังรายประสบความสำเร็จในการปกครอง พบว่าจักต้องมีพระราชกรณียกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น อาทิ สมัยพระเจ้ากือนา ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้อาราธนาพระสุมนเถระ จากสุโขทัยมายังเชียงใหม่เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในเมืองเชียงใหม่และล้านนา รวมถึงสร้างวัดสวนดอก (บุพพารามมหาวิหาร) และวัดพระธาตุดอยสุเทพ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  พระเจ้าติโลกราช ให้ทำการบูรณะเจดีย์หลวง ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ รวมถึงสร้างวัดเจ็ดยอด และสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดแห่งนี้  พระเมืองแก้ว บูรณะวัดต่างๆทั่วล้านนา บวชกุลบุตรล้านนาเป็นจำนวนมาก ดังที่ปรากฏหลักฐานการบวชกลางเกาะดอนทรายแม่น้ำโขงที่เมืองเชียงแสน รวมถึงสร้างพระพุทธรูปจำนวนมาก ซึ่งจารึกที่ฐานพระพุทธรูปในล้านนาหลายองค์ระบุถึงศักราชในกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเป็นช่วงที่พระเมืองแก้วครองราชย์          โบราณสถานในล้านนาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ระลอกใหญ่อีกครั้งในช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ สมัยครูบาศรีวิชัย   งานบูรณะของครูบาศรีวิชัยมีแนวคิดที่คล้ายกับการบูรณะของกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายของล้านนา คือ มิได้ยึดถือในเรื่องรูปแบบดั้งเดิมเป็นสาระสำคัญ หากแต่เป็นการบูรณะเพื่อสืบต่อพระศาสนา เป็นการบูรณะเพื่อให้โบราณสถานเหล่านั้นกลับมาใช้งานได้ดังเดิม ภารกิจสำคัญของครูบาศรีวิชัยประการหนึ่ง คือ การบูรณะและฟื้นวัดร้าง รูปแบบวิธีการบูรณะของครูบาศรีวิชัย โดยเฉพาะกับเจดีย์ ใช้วิธีการเดียวกับที่มีมาแต่อดีต คือการก่อครอบ ไม่มีการทำลายเจดีย์องค์เดิมแล้วจึงสร้างเจดีย์องค์ใหม่ ลักษณะเช่นนี้พบได้ในเจดีย์ทั่วล้านนา อาทิ เจดีย์วัดพระบวช เจดีย์วัดอาทิต้นแก้ว เมืองเชียงแสน เจดีย์วัดสะดือเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์วัดพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเจดีย์องค์หลังนี้ ครูบาศรีวิชัยได้ก่อครอบไว้ราว พ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๗๓ ซึ่งการก่อครอบนี้น่าจะเป็นคติของการรักษาพระบรมสารีริกธาตุที่มีมาแต่เดิม          หากจะนับเอาจุดเริ่มต้นการบูรณะโบราณสถานอย่างเป็นสากลในพื้นที่ล้านนา (ภาคเหนือตอนบน) ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงเวลาใด จำเป็นต้องกล่าวเชิงองค์รวมของการอนุรักษ์ว่าการบูรณะ คือ กระบวนการหนึ่งของการอนุรักษ์ และการอนุรักษ์ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกกฎหมาย ไปสู่การกำหนดบทบาทหน้าที่และวิธีดำเนินการ จุดเปลี่ยนของการบูรณะโบราณสถานในล้านนาเกิดขึ้นหลังจากการออกกฎหมายอนุรักษ์โบราณสถานฉบับแรกของสยามที่ชื่อ “พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๗๗”  กฎหมายดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงวิธีคิดและระบบการอนุรักษ์โบราณสถานไปจากอดีต เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแล รักษา ตรวจสอบตามกฏหมาย ให้เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร  ซึ่งก็คือ กรมศิลปากรได้เข้ามาเป็นตัวแทนของรัฐในการดูแลโบราณสถานตามที่กฏหมายกำหนดหน้าที่เอาไว้ ทั้งนี้ในปี ๒๔๗๘ กรมศิลปากร ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นครั้งแรก โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียนในปีดังกล่าว ๑๕ แห่ง ประกอบด้วย พระธาตุจอมทอง ข่วงช้าง ข่วงสิงห์ วัดกู่เต้า วัดเจ็ดยอด กำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ วัดการะเกด วัดเจดีย์หลวง วัดเชียงมั่น พระธาตุดอยสุเทพ วิหารเก้าตื้อ (วัดสวนดอก) วัดป่าแดงหลวง วัดร่ำเปิง วัดสวนดอก วัดอุโมงค์(นอก)          การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในปี ๒๔๗๘ เป็นการประกาศขึ้นทะเบียนโดยกำหนดเพียงชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนและอาคารที่ขึ้นทะเบียนแต่ละหลัง แต่ยังไม่มีแผนผังการประกาศขึ้นทะเบียนประกอบ (แผนผังแสดงรายละเอียดรายการและขอบเขตพื้นที่โบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียน) ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าว ข้อมูลการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานแต่ละแห่งไม่มีรายละเอียดขอบเขตพื้นที่ประกาศขึ้นทะเบียน ว่ามีอาณาบริเวณถึงไหน ทำให้ปี ๒๕๒๐ – ๒๕๒๔ มีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานทั้ง ๑๕ แห่งอีกครั้ง โดยมีแผนผังพื้นที่ประกาศขึ้นทะเบียนประกอบ สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้ ที่มีการออกหลักการการอนุรักษ์อย่างเป็นสากล คือ กฎบัตรเวนิช (Venice Charter) ในปี ๒๕๑๐ ซึ่งเป็นกฎบัตรการอนุรักษ์โบราณสถานที่ยึดถือเป็นหลักทั่วโลกและใช้มายาวนานกว่า ๕๐ ปี และการออกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติในปี ๒๕๑๕ และกฎบัตรบูรา หรือที่เรียกว่า บูรา ชาเตอร์ (The Burra Charter) ซึ่งจัดทำขึ้น ณ ประเทศออสเตรเลีย ในปี ๒๕๒๒ ทำให้ความตื่นตัวในการอนุรักษ์โบราณสถานอย่างเป็นสากลเกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น  จนกระทั่งปี ๒๕๒๘ การอนุรักษ์โบราณสถานอย่างเป็นสากลจึงได้เกิดขึ้นในประเทศไทยและล้านนาอย่างเต็มเต็มตัว จากการที่กรมศิลปากรได้ออก ระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน ปี ๒๕๒๘ ซึ่งเนื้อหาต่างๆในระเบียบนี้อ้างอิงได้กับ พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปี ๒๕๐๔ และนิยามที่เกี่ยวกับประเภทการอนุรักษ์ที่กล่าวไว้ใน บูรา ชาเตอร์ และ เวนิส ชาเตอร์ ทำให้ห้วงปี ๒๕๒๒ - ๒๕๒๘ งานบูรณะโบราณสถานในเมืองเชียงใหม่ มีการดำเนินการโดยใช้หลักการอนุรักษ์อย่างเป็นสากลเต็มรูปแบบ          โบราณสถานแห่งแรกในเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏหลักฐานว่ามีการอนุรักษ์โดยอ้างอิงหลักการสากล คือ การบูรณะวัดสะดือเมืองและวัดอินทขิล ในปี ๒๕๒๖ การดำเนินการอนุรักษ์ในครั้งนั้นทำตามหลักการสากลที่กฎบัตรเวนิชวางไว้ คือ มีการขุดค้นทางโบราณคดี และการอนุรักษ์ประกอบกัน  โดยมีการขุดตรวจทางโบราณคดีเพื่อพิสูจน์ทราบโครงสร้างของเจดีย์ จากการขุดเปิดชั้นดินและเศษอิฐที่ทับถมส่วนฐานทำให้ทราบว่าเจดีย์วัดสะดือเมือง  เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่ก่อหุ้มเจดีย์องค์เดิมที่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทด้านใน ส่วนวัดอินทขิล ไม่พบการสร้างซ้อนทับ แต่ปรากฏร่องรอยแสดงให้เห็นว่าได้รับการซ่อมแซมบ้างแต่ไม่มากนัก  การดำเนินงานมีการอนุรักษ์โบราณสถานโดยมีข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นพื้นฐาน การอนุรักษ์เจดีย์สะดือเมืองได้ทำการเสริมความมั่นคงฐานรากด้วยการเทเสาตอม่อและเทคอนกรีตเสริมเหล็กรับที่ส่วนฐาน (footing) และเทคานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ส่วนฐานสี่เหลี่ยม ส่วนเจดีย์วัดอินทขิล ได้ดำเนินการเสริมความมั่นคงชั้นฐานด้วยการเทคอนกรีตเชื่อมระหว่างแกนในองค์เจดีย์กับแนวอิฐที่ก่อเสริมใหม่ และเสริมแกนเหล็กไว้ตรงกลางปลียอด ทั้งนี้หากใช้นิยามความหมายการอนุรักษ์ที่ปรากฏในกฏบัตรเวนิช และระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถานปี ๒๕๒๘ การอนุรักษ์โบราณสถานวัดสะดือเมืองและวัดอินทขิลจะจัดอยู่ในประเภท Restoration หรือ การบูรณะ เนื่องจากกฎบัตรเวนิช และระเบียบกรมศิลปากรฯ ให้มีการใช้วัสดุใหม่เข้าไปได้บ้างในกรณีที่มีความจำเป็น และต้องสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างของเก่าและของใหม่จากตัววัสดุแต่ต้องกลมกลืนในภาพรวม          ถ้าการการดำเนินงานทางโบราณคดีและการอนุรักษ์โบราณสถานที่วัดสะดือเมือง/อินทขิล คือจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์อย่างเป็นสากล ปี๒๕๒๗ ก็คือหมุดเริ่มต้นแห่งการอนุรักษ์ที่ใช้หลักการที่นานนาอารยประเทศใช้  หลังจากการดำเนินงานที่วัดสะดือเมือง/อินทขิล  ได้มีการอนุรักษ์โบราณสถานตามหลักสากลอีกหลายแห่งในเมืองเชียงใหม่ อาทิ วัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดเชียงมั่น กำแพงและป้อมมุมเมือง ทั้งนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีการบูรณะกำแพงเมืองเชียงใหม่ในปี ๒๕๓๙ คือ อิฐที่เป็นอิฐก้อนใหม่ที่ใช้บูรณะแทนที่อิฐเก่าที่เสื่อมสภาพ มีการประทับปีพุทธศักราชที่อิฐ (ประทับปี ๒๕๓๙) แสดงให้เห็นการนำแนวคิดการอนุรักษ์อย่างเป็นสากลมาใช้ ที่ต้องการรักษาหลักการในการอนุรักษ์ว่า วัสดุที่นำมาเปลี่ยนต้องกลมกลืนแต่ก็ต้องแสดงให้เห็นความต่างระหว่างของเดิมที่มีอยู่และของที่ใส่ลงไปใหม่          โบราณสถานในเมืองเชียงใหม่ที่เป็นโบราณสถานสำคัญ ล้วนมีการบูรณะปฎิสังขรณ์มาโดยตลอด วัดพระสิงห์ เป็นตัวอย่างของวัดที่มีการอนุรักษ์โบราณสถานอย่างต่อเนื่อง มีการบูรณะคันธกุฎี (ท้ายวิหารลายคำ) สมัยเจ้าหลวงเศรษฐีคำฟั่น ใน พ.ศ.๒๓๖๔-๒๓๖๗ ซ่อมแซมและสร้างมุขหน้าวิหารหลวง พ.ศ.๒๔๑๖-๒๔๑๙ สมัยเจ้าอินทวิชยนนท์ และบูรณะวิหารหลวง ในพ.ศ.๒๔๔๔ - ๒๔๕๒ สมัยเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ และบูรณะอุโบสถโดยตัดปลายแปหน้าแหนบและปั้นปูนปั้นปิดโดยครูบาศรีวิชัย          ในราว พ.ศ.๒๕๓๘ – ๒๕๔๒ การดำเนินการอุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปกรที่มีต่อเมืองเชียงใหม่ได้เริ่มเข้าสู่รูปแบบการดำเนินงานแบบองค์รวม คือ วางกรอบทิศทางการดำเนินงานโดยมีเมืองเก่าเชียงใหม่เป็นกรอบหลักที่ครอบคลุมโบราณสถานต่างๆ โดยมีการเริ่มต้นจัดทำแผนแม่บทโครงการบูรณะและอนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๓๘ และจัดทำฉบับแก้ไข ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๒  การจัดทำแผนแม่บททั้ง ๒ ครั้ง คือ ก้าวสำคัญของการอนุรักษ์เมืองเก่าเชียงใหม่ภายใต้บริบทของการอนุรักษ์โบราณสถาน  แผนแม่บทดังกล่าวนำไปสู่การวางแผนงานอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานในพื้นที่เมืองเก่าอย่างเป็นระบบ     มีการสำรวจโบราณสถานในเมืองและพื้นที่รอบเมือง และจัดแบ่งโบราณสถานเป็นประเภทต่างๆ (วัดร้างที่ขึ้นทะเบียนฯ / วัดร้างที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ/ วัดที่มีการใช้งานที่ขึ้นทะเบียนฯ / วัดที่มีการใช้งานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ) รวมถึงมีการรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆที่มีผลกระทบ และวิเคราะห์ปัจจัยปัญหาที่มีผลต่อเมืองเก่าเชียงใหม่ แผนแม่บทนี้นำไปสู่การจัดตั้งโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ทำให้โบราณสถานสำคัญที่ได้รับการอนุรักษ์ตามแผนดังกล่าว ในทศวรรษปัจจุบันนี้ กรมศิลปากรพยายามขยายขอบเขตกระบวนการงานอนุรักษ์ไปสู่การประยุกต์ใช้วิทยาการด้านอื่นๆ เช่น ด้านธรณีวิศวกรรม และฟิสิกส์ประยุกต์ ฯ เพื่อนำองค์ความรู้เฉพาะด้านมาช่วยในการรักษาโบราณสถาน ติดตามประเมินผล คาดการณ์ ประเมินความเสี่ยง  และวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์อย่างแม่นยำ  รวมถึงพยายามแสวงหาพันธมิตรทั้งจากสถาบันการศึกษา และเครือข่ายต่างๆ ในการพัฒนางานและดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้การอนุรักษ์โบราณสถานมีประสิทธิภาพสูงสุดและก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงของเมืองและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


หนังสือเรื่อง “วิธีป้องกันภัยทางอากาศ” สรุปโดย นางสาวจุฑมาส พรสิทธิ์ไพบูลย์ บรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยกองการรางวัลงานฉลองรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นที่ระลึกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2494 ประกอบกับต้องการแสดงให้เห็นว่าการคิดค้นอำนาจทำลายล้างมีมากขึ้น แต่แนวทางการป้องกันก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ในสมัยก่อนการบินยังไม่สู้เจริญนัก ทหารใช้การบินเพื่อตรวจตรา ทิ้งระเบิดด้วยของแข็งและกระสุนปืนใหญ่ อาวุธที่ใช้ก็จะเป็นปืนกลและจรวดต่าง ๆ จนมาถึงระเบิดปรมาณู ซึ่งเป็นอาวุธใหม่ที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง คิดค้นโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ปรมาณูเกิดจากการแยกธาตุยูเรเนียม การระเบิดของปรมาณูมี 3 ลักษณะ ได้แก่ ระเบิดในอากาศ ระเบิดบนพื้นดินหรือพื้นน้ำ และระเบิดใต้น้ำ กรณีปรมาณูระเบิดในอากาศ จะกลายเป็นลูกไฟดวงใหญ่สว่างขึ้นบนท้องฟ้า เห็นได้ไกลหลายร้อยไมล์แม้ในเวลากลางวัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 300 เมตร ตรงใจกลางลูกไฟจะแผ่ความร้อนหลายล้านองศาเซนติเกรด (หรือองศาเซลเซียส) อากาศบริเวณลูกไฟดวงใหญ่จะถูกแผดเผาอย่างรุนแรงที่สุด และขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นคลื่นไหวตัวออกไปเป็นลมพายุ ขณะเดียวกันก็เกิดประกายแสงสีขาวบาดตาพุ่งออกมาพร้อมส่งความร้อนสูง เมื่อดวงไฟพุ่งขึ้นไปในอากาศ จะดูดเอาก๊าซร้อนและธุลีต่าง ๆ ติดตามไปด้วย ก๊าซร้อนเหล่านี้จะพุ่งสูงขึ้นหลายพันฟุต ต่อจากนั้นก็บานตัวออกเป็นรูปเห็ด ส่วนพื้นดินที่ได้รับแรงระเบิดจะถูกปกคลุมด้วยควันและฝุ่น อันตรายที่เกิดขึ้นจากระเบิดปรมาณู ได้แก่ อำนาจการผลักดัน ประกายความร้อน และกัมมันตรังสี อำนาจการผลักดัน (Blast) หรือแรงระเบิดของปรมาณูมีความเร็วประมาณ 1,000 กม./ชั่วโมง พลังของแรงระเบิดสร้างความเสียหายในระยะ 1 - 8 ไมล์ โดยประมาณ (ประมาณ 12 กิโลเมตร) ทำให้บรรดาอาคารต่าง ๆ ในเมืองฮิโรชิมากับนางาซากิพังทลายกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ประกายความร้อน (Heat Flash) ที่เกิดจากการระเบิดจะมีรังสีปะปนอยู่ด้วยคือ รังสีอัลตราไวโอเลตและอินฟาเรด ซึ่งรังสีเหล่านี้จะฉายออกเป็นเส้นตรง มีความเร็วสูงเท่าแสง และมีอุณหภูมิหลายพันองศาเซลเซียส สร้างความเสียหายได้แม้จะอยู่ห่างไปถึง 5 ไมล์ ความเสียหายในระยะ 1 ไมล์จากจุดบนพื้นดินใต้ระเบิดจะทำให้มนุษย์ พืช และสัตว์ที่อยู่ในรัศมีนี้มอดไหม้และมีการลวกอย่างรุนแรงที่สุด ระยะตั้งแต่ 1 -1.5 ไมล์ จะมีอาการลวกอย่างสาหัส ระยะตั้งแต่ 1.5 – 2 ไมล์ มีการลวกอย่างธรรมดา ส่วนตั้งแต่ระยะ 2 – 5 ไมล์ มีการเผาไหม้อยู่บ้าง กัมมันตรังสี (Radioactivity) ที่ปรมาณูปล่อยออกมาคือ อนุภาคนิวตรอนและรังสีแกมมา เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น สามารถแทรกซึมได้ทั้งคนและวัตถุเกือบทุกชนิด ต้องใช้การตรวจวัดด้วยเครื่องมือวัดรังสีจึงจะทราบได้ ส่วนบุคคลใดที่ได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกาย โดยมากมักไม่เสียชีวิตโดยทันทีแต่อาจเสียชีวิตในเวลาต่อมา บางคนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง หน้าบวม ถ้าเป็นหญิงมีครรภ์อาจเกิดภาวะแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด และผู้ชายอาจทำให้เป็นหมัน ระเบิดปรมาณูถูกใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น เมืองฮิโรชิมา ในวันที่ 6 ส.ค. พ.ศ. 2488 เวลา 8.15 น. ณ ใจกลางเมืองฮิโรชิมา ส่งผลให้ตัวเมืองพังพินาศย่อยยับมากกว่า 4 ตารางไมล์ พลเมืองเสียชีวิตประมาณ 7 หมื่นคน เกิดเพลิงไหม้อยู่หลายวัน และอีกครั้งที่เมืองนางาซากิ ในวันที่ 9 ส.ค. พ.ศ. 2488 เวลา 11.08 น. พลเมืองเสียชีวิตเกือบ 40,000 คน บาดเจ็บประมาณ 25,000 คน ความเสียหายในครั้งนี้เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้สงคราม การป้องกันระเบิดปรมาณูคล้ายกับการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศโดยทั่วไป ถ้าบุคคลใดบังเอิญอยู่ตรงบริเวณจุดระเบิดแล้วก็เหลือวิสัยที่จะป้องกันชีวิต แต่หากอยู่ห่างออกตามระยะดังกล่าว สามารถบรรเทาป้องกันได้ ดังนี้ 1. เมื่อใดยินเสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศ ต้องเข้าที่หลบภัยโดยเร็วที่สุด ซึ่งที่หลบภัยควรสร้างใต้พื้นดินจะดีที่สุด ปิดประตู หน้าต่างมิดชิด หากหลบภัยในอาคารควรเป็นอาคารเสริมคอนกรีต ไม่ควรหลบในอาคารไม้เพราะโครงอาคารไม้ไม่สามารถต้านแรงระเบิดได้ และควรอยู่ในห้องใหญ่หรือชั้นล่างสุดของอาคารหรือริมผนังตึก 2. หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้นอนคว่ำกับพื้น สวมเสื้อผ้ามิดชิด และควรเป็นสีอ่อน เพราะสีอ่อนจะดูดรังสีได้น้อยกว่าสีเข้ม พร้อมทั้งปกปิดอวัยวะสำคัญมากที่สุด เช่น ศีรษะ และมือ และห้ามมองแสง 3. เมื่อมีการทิ้งระเบิดปรมาณู อาจมีการปนเปื้อนของกัมมันตรังสี จึงไม่ควรรับประทานอาหารที่เปิดวางทิ้งไว้ ควรรับประทานอาหารที่เก็บไว้ในที่มิดชิดหรืออาหารกระป๋อง ผู้สนใจสามารถอ่านหนังสือ “วิธีป้องกันภัยทางอากาศ” ได้ที่ห้องหนังสือหายาก ชั้น 3 อาคาร 2 สำนักหอสมุดแห่งชาติ บรรณานุกรม ศรีศรศาสตร์, ขุน. วิธีป้องกันภัยทางอากาศ. พระนคร: โรงพิมพ์ลมูลจิตต์, 2494.


          พิเศษสุด.... อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เตรียมเปิดให้เข้าชมถึงพื้นที่ชั้นในสุดของโบราณสถานในยามค่ำคืน เป็นครั้งแรก พบกับกิจกรรมท่องเที่ยวปราสาทพิมาย_ยามค่ำคืน (Phimai Night ∫ Light Up) โปรดติดตามรายละเอียดของกิจกรรมได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย Phimai Historical Park ----------------------------------------------กิจกรรมที่น่าสนใจ           >>เสริมสิริมงคล สักการะขอพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดประจำศาสนสถาน “พระกมรเตงชคตวิมาย” พระพุทธรูปนาคปรก และ ประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราช ในยามค่ำคืน เป็นครั้งแรก            >>ดื่มด่ำกับบรรยากาศ แสงไฟส่องสาด มลังเมลือง เรืองรอง อลังการ ตระการตา ปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่งดงาม อร่ามตา เป็นที่สุด ประดุจสรวงสวรรค์ ในยามราตรี ไม่มีที่ใดเหมือน           >>เปิดไฟปราสาทพิมาย ให้เข้าชมได้ถึงปราสาทประธาน เปิดไฟสะพานนาค เปิดไฟเมรุพรหมทัต เปิดไฟประตูชัย ให้ตื่นตาตื่นใจไปทั้งเมืองพิมาย           >>สายท่องเที่ยวมุมมองใหม่ สายสักการะขอพร สายคอนเทนต์เก๋ไก๋​ สายสะพายกล้อง สายส่องดาว ทั่วทุกสาย เตรียมตัวให้พร้อม..หนาวนี้พบกัน.. กับกิจกรรมดีๆ ที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา​           -----------------------------------------------           กรมศิลปากร มุ่งอนุรักษ์ สืบทอด ต่อยอด มรดกศิลปวัฒนธรรม จากคุณค่าสู่มูลค่า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติด้วยงานมรดกศิลปวัฒนธรรม พัฒนาแหล่งเรียนรู้ควบคู่กับการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น จากต้นทุนทางมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยกิจกรรมท่องเที่ยวปราสาทพิมาย_ยามค่ำคืน (Phimai Night ∫ Light Up) จัดโดยอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม 



          พระพุทธรูปปางมารวิชัย           แบบศิลปะ : อู่ทองรุ่น 3           ชนิด : สำริด            ขนาด : สูง 46 เซนติเมตร ตักกว้าง 22 เซนติเมตร           อายุสมัย : พุทธศตวรรษที่ 20             ลักษณะ :พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัยประทับบนฐานกระดานแอ่นตรงกลางเป็นร่องเข้าด้านในพระรัศมีเป็นเปลว เม็ดพระศกเล็กแบบหนามขนุน ปรากฏกรอบไรพระศก พระพักตร์รูปไข่  พระขนงโก่งต่อเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์บางแย้มพระสรวลเล็กน้อย พระกรรณยาว พระศอเป็นปล้อง ครองจีวรห่มเฉียงยาวจรดพระนาภีปลายแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ ปรากฏขอบสบงที่บั้นพระองค์ ศิลปะอู่ทองรุ่น 3 มีลักษณะผสมระหว่างศิลปะแบบอู่ทอง ได้แก่ การปรากฏกรอบไรพระศก และลักษณะของฐานที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะอู่ทอง และอิทธิพลศิลปะแบบสุโขทัยเข้าไว้ด้วยกัน           ประวัติ : พบที่กรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดอยุธยา เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2501 ย้ายจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544           สถานที่จัดแสดง : ห้องศาสนศิลป์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี   แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/suphanburi/360/model/02/   ที่มา: hhttp://www.virtualmuseum.finearts.go.th/suphanburi


องค์ความรู้สุพรรณบุรี เรื่อง แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร ผู้เรียบเรียง : นางอภิญญานุช เผ่าพงษ์คล้าย บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ


-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : การจัดการโรงพยาบาลใหม่ -- ปีพุทธศักราช 2455 มีการจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งใหม่ขึ้นที่จังหวัดสุโขทัย เรื่องราวเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งนี้มีหลักฐานปรากฏอยู่ในเอกสารจดหมายเหตุชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กระทรวงมหาดไทย โดยนอกจากจะกล่าวถึงมูลเหตุของการจัดตั้ง การบริจาคทรัพย์ของผู้มีจิตศรัทธา และการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลแล้ว ในเอกสารจดหมายเหตุชุดนี้กล่าวถึงวิธีการจัดการโรงพยาบาลที่ตั้งขึ้นใหม่ ทั้งในเรื่องการบริหาร ข้อบังคับ และหน้าที่ของแพทย์ประจำโรงพยาบาล ซึ่งน่าสนใจว่า คนเมื่อร้อยกว่าปีก่อนมีแนวคิดในการจัดการโรงพยาบาลที่ตั้งขึ้นใหม่อย่างไร. เมื่อเดือนพฤศจิกายน ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (พระอิสริยยศ-ตำแหน่งในขณะนั้น) ทรงมีลายพระหัตถ์กราบทูลพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ราชเลขานุการ ใจความของลายพระหัตถ์กล่าวถึงการสร้างโรงพยาบาลของเมืองสุโขทัย ซึ่งพระยารามราชภักดี ผู้ว่าราชการเมืองสุโขทัยพร้อมด้วยข้าราชการและราษฎรเมืองสุโขทัย ร่วมกันออกทุนทรัพย์สร้างโรงพยาบาล เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินประพาศเมืองสุโขทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ราษฎรทั่วไป การก่อสร้างโรงพยาบาลเริ่มมาตั้งแต่  ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) จนแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม ร.ศ. 131 ใช้เงินค่าก่อสร้าง 2,747 บาท 58 สตางค์ และมีกำหนดเปิดให้บริการโรงพยาบาลในวันที่ 2 มกราคม ร.ศ. 131 (เทียบกับปฏิทินปัจจุบันคือปี พ.ศ. 2456) พร้อมกับได้ทรงแนบรายชื่อผู้บริจาคเงิน รายชื่อกรรมการโรงพยาบาล รายการก่อสร้าง บัญชีรายจ่าย วิธีจัดการโรงพยาบาล และแบบแปลนมาพร้อมกับลายพระหัตถ์ฉบับนี้ สำหรับ “วิธีจัดการโรงพยาบาล” ที่แนบมากับลายพระหัตถ์นั้น จำแนกได้เป็นสามส่วนดังนี้. 1. หน้าที่กรรมการและวิธีจัดการกรรมการ กำหนดให้มีสภานายก 1 คน และกรรมการไม่ต่ำกว่า 8 คน ผู้ที่เป็นสภานายกจะต้องเป็นผู้ว่าราชการเมืองโดยตำแหน่ง ส่วนคนที่เป็นกรรมการต้องเป็นผู้มีกำลังทรัพย์เพราะจะมีคนนิยมนับถือ กรรมการมีหน้าที่หลักคือต้องตรวจและแนะนำการงานทุกอย่างของโรงพยาบาล มีอำนาจตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายของโรงพยาบาล รวมทั้งเป็นผู้บอกบุญขอรับบริจาคจากราษฎรเพื่ออุดหนุนโรงพยาบาล หากทุนทรัพย์ไม่พอกรรมการต้องออกทุนส่วนตัวคนละไม่ต่ำกว่า 40 บาทต่อปี. 2. ข้อบังคับของโรงพยาบาล เน้นไปที่หมอและคนใช้ของโรงพยาบาล โดยกำหนดให้ต้องมีหมอประจำอยู่โรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 1 คน มีคนพยาบาลหรือคนใช้ไม่ต่ำกว่า 2 คน หมอที่ประจำโรงพยาบาลนั้น ควรเป็นหมอประจำเมืองที่มีหน้าที่รักษาพยาบาลนักโทษและราษฎรอยู่แล้ว (หมอประจำเมืองนี้ต่อมาได้พัฒนามาเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในปัจจุบัน - ผู้เขียน) เพื่อจะได้ประหยัดเงิน ส่วนคนใช้ของโรงพยาบาล เสนอให้นำนักโทษที่มีโทษสถานเบามาใช้ในการพยาบาลและรักษาสถานที่ แต่ต้องมีคนใช้ที่ไม่ใช่นักโทษอีก 1 คน เพราะข้อบังคับของเรือนจำไม่อนุญาตให้นักโทษอยู่ตอนกลางคืน. 3. หน้าที่หมอ หมอในโรงพยาบาลแห่งนี้ต้องทำหน้าที่หลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุข เช่น ต้องรักษาพยาบาลราษฎรโดยไม่เลือกชาติและภาษา ต้องพิจารณาจัดยาให้แก่ราษฎรตามอาการในปริมาณที่เหมาะสม ต้องปลูกฝีไข้ทรพิษให้กับราษฎร ถ้าเป็นหมอประจำเมืองก็ต้องไปตรวจรักษาในเรือนจำตามข้อบังคับด้วย เป็นต้น. หลังจากที่มีผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมากร่วมบริจาคเงินจนสามารถนำเงินไปสร้างโรงพยาบาลให้แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ราษฎรแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานโรงพยาบาลประจำเมืองสุโขทัยแห่งนี้ว่า “ศุโขไทยศุขสถาน” (สะกดตามต้นฉบับ) แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันกลับไม่พบชื่อโรงพยาบาลแห่งนี้อีกแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสืบค้นเพิ่มเติมกันต่อไปว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ใด และเลิกดำเนินงานหรือย้ายไปที่อื่นเมื่อใด.ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา).เอกสารอ้างอิง: 1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กระทรวงมหาดไทย ร.6 ม 12.3/2 เรื่อง โรงพยาบาลเมืองศุโขไทย [ 21 พ.ย. 2455 – 7 ส.ค. 2456 ].2. “แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่องบริจาคทรัพย์สร้างโรงพยาบาล.” (2456) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 30, ตอน ง (12 ตุลาคม): 1528-1532.#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ


Messenger