วิธีป้องกันภัยทางอากาศ

หนังสือเรื่อง “วิธีป้องกันภัยทางอากาศ” สรุปโดย นางสาวจุฑมาส พรสิทธิ์ไพบูลย์ บรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยกองการรางวัลงานฉลองรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นที่ระลึกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2494 ประกอบกับต้องการแสดงให้เห็นว่าการคิดค้นอำนาจทำลายล้างมีมากขึ้น แต่แนวทางการป้องกันก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ในสมัยก่อนการบินยังไม่สู้เจริญนัก ทหารใช้การบินเพื่อตรวจตรา ทิ้งระเบิดด้วยของแข็งและกระสุนปืนใหญ่ อาวุธที่ใช้ก็จะเป็นปืนกลและจรวดต่าง ๆ จนมาถึงระเบิดปรมาณู ซึ่งเป็นอาวุธใหม่ที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง คิดค้นโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ปรมาณูเกิดจากการแยกธาตุยูเรเนียม การระเบิดของปรมาณูมี 3 ลักษณะ ได้แก่ ระเบิดในอากาศ ระเบิดบนพื้นดินหรือพื้นน้ำ และระเบิดใต้น้ำ
กรณีปรมาณูระเบิดในอากาศ จะกลายเป็นลูกไฟดวงใหญ่สว่างขึ้นบนท้องฟ้า เห็นได้ไกลหลายร้อยไมล์แม้ในเวลากลางวัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 300 เมตร ตรงใจกลางลูกไฟจะแผ่ความร้อนหลายล้านองศาเซนติเกรด (หรือองศาเซลเซียส) อากาศบริเวณลูกไฟดวงใหญ่จะถูกแผดเผาอย่างรุนแรงที่สุด และขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นคลื่นไหวตัวออกไปเป็นลมพายุ ขณะเดียวกันก็เกิดประกายแสงสีขาวบาดตาพุ่งออกมาพร้อมส่งความร้อนสูง เมื่อดวงไฟพุ่งขึ้นไปในอากาศ จะดูดเอาก๊าซร้อนและธุลีต่าง ๆ ติดตามไปด้วย ก๊าซร้อนเหล่านี้จะพุ่งสูงขึ้นหลายพันฟุต ต่อจากนั้นก็บานตัวออกเป็นรูปเห็ด ส่วนพื้นดินที่ได้รับแรงระเบิดจะถูกปกคลุมด้วยควันและฝุ่น อันตรายที่เกิดขึ้นจากระเบิดปรมาณู ได้แก่ อำนาจการผลักดัน ประกายความร้อน และกัมมันตรังสี
อำนาจการผลักดัน (Blast) หรือแรงระเบิดของปรมาณูมีความเร็วประมาณ 1,000 กม./ชั่วโมง พลังของแรงระเบิดสร้างความเสียหายในระยะ 1 - 8 ไมล์ โดยประมาณ (ประมาณ 12 กิโลเมตร) ทำให้บรรดาอาคารต่าง ๆ ในเมืองฮิโรชิมากับนางาซากิพังทลายกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
ประกายความร้อน (Heat Flash) ที่เกิดจากการระเบิดจะมีรังสีปะปนอยู่ด้วยคือ รังสีอัลตราไวโอเลตและอินฟาเรด ซึ่งรังสีเหล่านี้จะฉายออกเป็นเส้นตรง มีความเร็วสูงเท่าแสง และมีอุณหภูมิหลายพันองศาเซลเซียส สร้างความเสียหายได้แม้จะอยู่ห่างไปถึง 5 ไมล์ ความเสียหายในระยะ 1 ไมล์จากจุดบนพื้นดินใต้ระเบิดจะทำให้มนุษย์ พืช และสัตว์ที่อยู่ในรัศมีนี้มอดไหม้และมีการลวกอย่างรุนแรงที่สุด ระยะตั้งแต่ 1 -1.5 ไมล์ จะมีอาการลวกอย่างสาหัส ระยะตั้งแต่ 1.5 – 2 ไมล์ มีการลวกอย่างธรรมดา ส่วนตั้งแต่ระยะ 2 – 5 ไมล์ มีการเผาไหม้อยู่บ้าง
กัมมันตรังสี (Radioactivity) ที่ปรมาณูปล่อยออกมาคือ อนุภาคนิวตรอนและรังสีแกมมา เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น สามารถแทรกซึมได้ทั้งคนและวัตถุเกือบทุกชนิด ต้องใช้การตรวจวัดด้วยเครื่องมือวัดรังสีจึงจะทราบได้ ส่วนบุคคลใดที่ได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกาย โดยมากมักไม่เสียชีวิตโดยทันทีแต่อาจเสียชีวิตในเวลาต่อมา บางคนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง หน้าบวม ถ้าเป็นหญิงมีครรภ์อาจเกิดภาวะแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด และผู้ชายอาจทำให้เป็นหมัน
ระเบิดปรมาณูถูกใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น เมืองฮิโรชิมา ในวันที่ 6 ส.ค. พ.ศ. 2488 เวลา 8.15 น. ณ ใจกลางเมืองฮิโรชิมา ส่งผลให้ตัวเมืองพังพินาศย่อยยับมากกว่า 4 ตารางไมล์ พลเมืองเสียชีวิตประมาณ 7 หมื่นคน เกิดเพลิงไหม้อยู่หลายวัน และอีกครั้งที่เมืองนางาซากิ ในวันที่ 9 ส.ค. พ.ศ. 2488 เวลา 11.08 น. พลเมืองเสียชีวิตเกือบ 40,000 คน บาดเจ็บประมาณ 25,000 คน ความเสียหายในครั้งนี้เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้สงคราม
การป้องกันระเบิดปรมาณูคล้ายกับการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศโดยทั่วไป ถ้าบุคคลใดบังเอิญอยู่ตรงบริเวณจุดระเบิดแล้วก็เหลือวิสัยที่จะป้องกันชีวิต แต่หากอยู่ห่างออกตามระยะดังกล่าว สามารถบรรเทาป้องกันได้ ดังนี้
1. เมื่อใดยินเสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศ ต้องเข้าที่หลบภัยโดยเร็วที่สุด ซึ่งที่หลบภัยควรสร้างใต้พื้นดินจะดีที่สุด ปิดประตู หน้าต่างมิดชิด หากหลบภัยในอาคารควรเป็นอาคารเสริมคอนกรีต ไม่ควรหลบในอาคารไม้เพราะโครงอาคารไม้ไม่สามารถต้านแรงระเบิดได้ และควรอยู่ในห้องใหญ่หรือชั้นล่างสุดของอาคารหรือริมผนังตึก
2. หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้นอนคว่ำกับพื้น สวมเสื้อผ้ามิดชิด และควรเป็นสีอ่อน เพราะสีอ่อนจะดูดรังสีได้น้อยกว่าสีเข้ม พร้อมทั้งปกปิดอวัยวะสำคัญมากที่สุด เช่น ศีรษะ และมือ และห้ามมองแสง
3. เมื่อมีการทิ้งระเบิดปรมาณู อาจมีการปนเปื้อนของกัมมันตรังสี จึงไม่ควรรับประทานอาหารที่เปิดวางทิ้งไว้ ควรรับประทานอาหารที่เก็บไว้ในที่มิดชิดหรืออาหารกระป๋อง
ผู้สนใจสามารถอ่านหนังสือ “วิธีป้องกันภัยทางอากาศ” ได้ที่ห้องหนังสือหายาก ชั้น 3 อาคาร 2 สำนักหอสมุดแห่งชาติ
บรรณานุกรม
ศรีศรศาสตร์, ขุน. วิธีป้องกันภัยทางอากาศ. พระนคร: โรงพิมพ์ลมูลจิตต์, 2494.

(จำนวนผู้เข้าชม 710 ครั้ง)

Messenger