ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,814 รายการ
สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สังคิณี-มหาปัฎฐาน)
เลขที่ ชบ.บ.5/1-1
เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)
ชื่อเรื่อง : จารึกอาณาจักรน่านเจ้า พ.ศ. 1390
ชื่อผู้แต่ง : -
ปีที่พิมพ์ : 2505
สถานที่พิมพ์ : พระนคร
สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี
จำนวนหน้า : 126 หน้า
สาระสังเขป : หนังสือจารึกอาณาจักรน่านเจ้า เป็นจารึกพระราชโองการของพระเจ้าโกะล่อฝง เมื่อ พ.ศ. 1309 กล่าวถึงเรื่องราวของอาณาจักรในรัชสมัยของพระเจ้าโกะล่อฝงอย่างละเอียด ทำให้ทราบพระราชประวัติของพระองค์ การดำเนินรัฐประศาสโนบาย การสงคราม และความสัมพันธ์กับต่างประเทศได้เป็นอย่างดี คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี ได้พิมพ์จำหน่ายเพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้ทางวิชาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดีของชนชาติไทยในอาณาจักรน่านเจ้า
กรมศิลปากร ดำเนินการปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เพื่อเพิ่มศักยภาพ อำนวยความสะดวกในการให้บริการ และเตรียมความพร้อมสู่การยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานในระดับสากล ในฐานะแหล่งมรดกโลกในอนาคต ภายในอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวยังได้จัดแสดงพัฒนาการด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อและศาสนาของผู้คนในพื้นที่ภูพระบาทและบริเวณใกล้เคียง แบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๖ ส่วน ประกอบด้วย๑. ส่วนจัดแสดง ธรรมชาติบนภูพระบาท๒. ส่วนจัดแสดง ธรณีวิทยาแห่งเทือกเขาภูพาน๓. ห้องจัดแสดง ภูพระบาทภูเขาศักดิ์สิทธิ์๔. ส่วนจัดแสดง ห้อง MIXED REALITY ROOM แสดงข้อมูลทางด้านโบราณคดีของภูพระบาท ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำเสนอข้อมูลได้น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง๕. ส่วนจัดแสดง ห้องพระเกจิอาจารย์สำคัญของภาคอีสาน๖. ส่วนจัดแสดง ห้องชาติพันธุ์ไทพวน รวมทั้งมีห้องให้บริการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอีกด้วย ทั้งนี้ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท เปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการแล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ น. – ๑๖.๓๐ น.
คำว่า “พระพิมพ์” หมายถึง รูปเคารพขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป หรืออาจเป็นรูปพระโพธิสัตว์ ซึ่งสร้างขึ้นด้วยการนำวัสดุต่างๆ เช่น ดินเหนียวมากดประทับลงบนแม่พิมพ์ หรือถ้าเป็นเนื้อโลหะจะใช้โลหะที่หลอมละลายเทหล่อเข้ากับแบบพิมพ์ พระพิมพ์ในยุคแรก ๆ มักสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกจากการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ แห่งในประเทศอินเดีย คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินี) สถานที่ตรัสรู้ (พุทธคยา) สถานที่ปฐมเทศนา (สารนาถ) และสถานที่ปรินิพพาน (กุสินารา) หรือสร้างขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ในทางพระศาสนา เช่น การสืบทอดพระพุทธศาสนา หรือการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การสร้างพระพิมพ์ในเมืองกำแพงเพชรนั้น สันนิษฐานว่า มีมานับแต่สมัยสุโขทัย (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๑๙) นิยมทำด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ว่าน (ดินผสมว่าน) ชินเงิน (ตะกั่วผสมดีบุก) ดินเผา ซึ่งพระราชนิพนธ์ เรื่อง เที่ยวเมืองพระร่วง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุว่า “....เมืองกำแพงเพชรต้องนับว่าเป็นเมืองเคราะห์ร้ายที่มีชื่อเสียงแล้วว่า มีพระพิมพ์ดี มีอภินิหารต่าง ๆ กันศาสตราวุธ ฟันไม่เข้ายิงไม่ออก เป็นต้น ...พระกำแพงก็คงต้องเป็นสิ่งที่มีราคาอยู่ตราบนั้น และสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่ควรรักษาไว้เป็นอนุสาวรีย์ของชาติจะยังคงถูกทำลายลงเพราะความโลภของผู้ขุดพระและความหลงของ “คนเก่ง” ที่ต้องการพระนั้น...” จึงเห็นได้ว่าพระพิมพ์เมืองกำแพงเพชรเป็นที่นับถือในพุทธคุณด้านโชคลาภและการป้องกันภยันตรายต่าง ๆ จึงเป็นที่ต้องการของคนทั่วไปนับแต่อดีต พระพิมพ์จากกรุในเมืองกำแพงเพชรที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ได้แก่ ๑. พระพิมพ์กรุเมืองกำแพงเพชร (ชากังราว) พระพิมพ์ในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย พระพิมพ์ที่มีชื่อเรียกตามรูปร่าง (เช่น พระกำแพงเม็ดขนุน พระกำแพงพลูจีบ) หรือจำนวนพระที่แทรกในพระพิมพ์ (เช่น พระกำแพงห้าร้อย) หรือเรียกชื่อตามซุ้มครอบองค์พระ (เช่น พระกำแพงซุ้มกอ) ซึ่งมีที่มาจากกรุโบราณสถานหลายแห่ง ได้แก่ กรุวัดพระแก้ว กรุวัดพระธาตุ กรุวัดพระนอน กรุวัดพระสี่อิริยาบถ กรุวัดอาวาสใหญ่ กรุวัดอาวาสน้อย ฯลฯ ๒. พระพิมพ์กรุนครชุม (กรุทุ่งเศรษฐี) พระพิมพ์ในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย พระพิมพ์ที่มีชื่อเรียกตามรูปร่าง (เช่น พระกำแพงเม็ดขนุน พระกำแพงพลูจีบ พระกำแพงกลีบบัว) หรือเรียกตามอิริยาบถ (เช่น พระกำแพงเปิดโลก พระกำแพงลีลา พระกำแพงบิด) นอกจากนี้ยังมีพระกำแพงซุ้มกอ พระนางกำแพง พระยอดขุนพล ฯลฯ พระพิมพ์เหล่านี้มาจากกรุต่าง ๆ ได้แก่ กรุวัดพระบรมธาตุ กรุเจดีย์กลางทุ่ง กรุซุ้มกอ กรุบ้านเศรษฐี ฯลฯ-------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร-------------------------------------------------บรรณานุกรม - กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๕๗. - กรมศิลปากร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๔๐. - พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๒๖.
จารึกวัดจงกอ เป็น จารึกหินทราย สลักด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร ข้อความกล่าวถึง ธุลีพระบาทกมรเตงกำตวนอัญศรีชยวีรวรมันเทวะ (พระเจ้าชัยวีรวรมัน) มีพระบรมราชโองการ ให้ดำเนินการรังวัดและปักเขตที่ดิน เพื่อกัลปนาพร้อมด้วยข้าทาส ถวายแด่กมรเตงชคตวิมาย ระบุ มหาศักราช 930 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 1551 ซึ่งนับเป็นจารึกที่เอ่ยถึง “วิมายฺ” หรือ “พิมาย” ที่เก่าแก่ที่พบอยู่ในปัจจุบัน นอกจากเป็นจารึกที่เอ่ยถึง “วิมายฺ” ที่เก่าที่สุดแล้ว จารึกวัดจงกอ ยังกล่าวถึง บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์กัมพูชา อย่างพระเจ้าชัยวีรวรมัน ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 จากข้อความบนจารึกวัดจงกอเเละจารึกที่กล่าวถึงพระเจ้าชัยวีรวรมันจึงสันนิษฐานว่า พระองค์ทรงถูกแย่งชิงราชสมบัติ โดย พระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 ภายหลังได้โยกย้าย มาตั้งถิ่นฐาน ใกล้กับเมืองพิมาย โดยประเด็นนี้ เป็น 1 ใน 3 ประเด็น ที่จารึกวัดจงกอ ช่วยเราสืบสาวราวเรื่อง ที่เกี่ยวกับ พระเจ้าชัยวีรวรมัน ได้เป็นอย่างดี -----------------------------------------------------------เรียบเรียงข้อมูลโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา
มหามกุฎราชสันตติวงศ์ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๐๑ วันประสูติพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔๑ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ พระสนมเอก เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๐๑
ในรัชกาลที่ ๕ ทรงรับราชการเป็นนายพันตรี ราชองครักษ์ ทรงกำกับกรมมหาดเล็กมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๒๒ สิริพระชันษา ๒๒ ปี
ภาพ : พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ พระสนมเอก จากซ้ายไปขวา พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์ และพระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ
ถนนเจริญกรุง นับเป็นถนนสายแรกของกรุงเทพฯ ซึ่งก่อสร้างเพื่อใช้ในการสัญจรภายในเขต ใจกลางเมือง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ.๒๔๐๔ – ๒๔๐๗ มีนายเฮนรี อลาบาสเตอร์ เป็นผู้สำรวจและเขียนแบบถนน เจ้าพระยาทบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองควบคุมการก่อสร้างถนนเจริญกรุงช่วงคูเมืองตอนในถึงถนนตก เจ้าพระยายมราช(ครุฑ) เป็นแม่กองในการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน ระหว่างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็กบน) ถนนเจริญกรุงมีระยะความยาวของเส้นทางเริ่มตั้งแต่สนามไชยถึงถนนตก ยาว ๘,๕๗๕ เมตร ถนนสายดังกล่าวเป็นที่รู้จักในชื่อสามัญว่า “ถนนใหม่(New Road)” ในพระราชปรารถเรื่องถนนเจริญกรุง ในรัชชกาลที่ ๔* กล่าวถึงว่า “...ชาวต่างประเทศเข้าชื่อกันขอให้ทำขึ้น เพื่อจะใช้ม้า ใช้รถให้สบาย ให้ถูกลมเย็นเส้นสายเหยียดยืดสบายดี...” โดยสร้างเป็นถนนถมดินและทรายอัดแน่น ปูพื้นผิวถนนด้วยอิฐ ผิวการจราจรแบ่งเป็นสองแนว ครั้นเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดใช้งานเมื่อพ.ศ.๒๔๐๗ กลับปรากฏว่า “...คนใช้ม้าทั้งไทย ทั้งชาวนอกประเทศกี่คน ใช้รถอยู่กี่เล่ม ใช้ก็ไม่เต็มสนน ใช้อยู่แต่ข้างหนึ่ง ก็ส่วนสนนอีกข้างหนึ่ง ก็ทิ้งตั้งเปล่าอยู่ ไม่มีใครเดินม้าเดินรถ เดินเท้า...ครึ่งหนึ่งของสนน เพราะไม่มีคนเดิน คนใช้ก็ยับไปเสียก่อน หากว่าปีนี้ ไม่มีฝน ถ้าฝนชุกก็เห็นจะยับไปมาก ฤาหญ้าก็จะขึ้นรกอยู่ค่างหนทาง...” ความกังวลพระทัยนั้น เป็นผลต่อมาเมื่อถนนเจริญกรุงชำรุดลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ประกาศแผ่พระราชกุศลซ่อมแซมถนน ต่อพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชสำนักฝ่ายหน้า ฝ่ายในส่วนพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดในจำนวนปีมะเส็งนพศกแบริจากทรัพย์นั้นเพื่อการซ่อมแซมถนนทั่วพระนคร ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีความเจริญมากขึ้น ถนนเจริญกรุงจึงเป็นเส้นทางสำคัญสายหนึ่งที่เชื่อมพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนในออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยในสมัยหลังได้มีการขยายผิวการจราจรและเทคอนกรีตและลาดยางพื้นผิวการจราจรเพื่อการงานเป็นเส้นทางคมนาคมสืบมาถึงปัจจุบัน ถนนเจริญกรุง ค.ศ. 1896ถนนเจริญกรุง พ.ศ. ๒๔๐๗-----------------------------------------------------------------------เรียบเรียง : เมธินี จิระวัฒนา นักโบราณคดี ชำนาญการ กองโบราณคดี -----------------------------------------------------------------------*อ้างอิงจาก กรมศิลปากร. ทำเนียบนามภาค ๔ ถนนในจังหวัดพระนครและธนบุรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตีพิมพ์พระราชทานในงานเมรุ มหาอำอาตย์นายก เจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๒ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส (พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงธรรม, ๒๔๘๒) หน้า ๖๓ – ๖๖)