ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,823 รายการ
วันอาทิตย์ ที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเครื่องบินพระที่นั่งจากสนามบินเชียงใหม่ ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตากรหัสเอกสาร ภ หจภ สบ ๒.๓/๓๗(๑๗)
เขื่อนภูมิพล (เขื่อนยันฮี)
แหล่งผลิตไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ
เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณ เขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง ๒๕๐ เมตร สูง ๑๕๔ เมตร ยาว ๔๖๖ เมตร ความกว้างของสันเขื่อน ๖ เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุสูงสุด ๑๓,๔๖๒ ล้านลูกบาสก์เมตร จัดเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งที่ใหญ่และสูงสุดในเอเชียอาคเนย์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้าง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๐๔ การก่อสร้างในระยะแรกประกอบด้วยงานก่อสร้างตัวเขื่อน ระบบส่งไฟฟ้า และอาคารโรงไฟฟ้า ซึ่งได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ ๑ และ ๒ กำลังการผลิตเครื่องละ ๗๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม และ ๑๕ มิถุนายน ๒๐๕๗ ตามลำดับ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗รหัสเอกสาร ภ หจภ สบ ๒.๓/๓๗(๑๖)รหัสเอกสาร ภ หจภ สบ ๒.๓/๓๗(๕)รหัสเอกสาร ภ หจภ สบ ๒.๓/๓๗(๙)
#เขื่อนภูมิพล
#การไฟฟ้าฝ่ายผลิต
ข้อมูล : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
เขาพระอังคาร ตั้งอยู่ภายในวัดเขาพระอังคาร ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ในทางธรณีสัณฐานวิทยา เขาพระอังคารเป็นภูเขาไฟ หินบะซอลต์แบบลาวาโดม ดับสนิทแล้วมากว่าเจ็ดแสนปี มีรูปร่างกลมรี วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีช่องทางการไหลออกของลาวาหลายจุดตามไหล่เขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีปล่องปะทุอยู่ชัดเจน ตั้งโดดเด่นกลางพื้นที่ราบ ปากปล่องภูเขาไฟเกิดการทรุดถล่มเป็นแนวซ้อนกันหลายชั้น ปัจจุบันบนเขาพระอังคารเป็นที่ตั้งของวัดเขาพระอังคาร มีการก่อสร้างพระอุโบสถใหม่ และอาคารสมัยใหม่ต่างๆโดยรอบ พบใบเสมาทั้งสิ้น ๑๕ ชิ้น โดยนำใบเสมาที่พบจากเขาพระอังคารมาปักรอบพระอุโบสถ สันนิษฐานว่าย้ายมาจากที่อื่นที่อยู่ใกล้บริเวณวัดแล้วนำมาปักไว้รอบโบสถ์ บางส่วนนำมาไว้ภายในอาคารพ่อปู่วิริยะเมฆ ใบเสมาทั้งหมดสลักขึ้นจากหินบะซอลต์เนื้อละเอียด มีลักษณะเป็นแผ่นหินแบนๆ สมัยวัฒนธรรมทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖) ลักษณะเด่นของใบเสมาที่เขาอังคารสลักเป็นภาพบุคคลคนเดียวยืนถือดอกบัวด้วยมือขวา ประทับอยู่ใต้ฉัตร ขนาบด้วยเครื่องสูง ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ บางใบสลักบุคคลเป็นภาพยักษ์ บางชิ้นสลักเป็นบุคคลสี่กรถือสิ่งของอยู่ในมือ สันนิษฐานว่าเป็นคัมภีร์ และลูกประคำ ทั้งหมดทรงผ้าแบบเดียวกัน ประทับยืนอยู่บนฐานดอกบัว มีอิทธิพลศิลปะเขมรแบบไพรกเมงผสมอยู่ บางใบมีการสลักลายเป็นภาพธรรมจักร สถูปหม้อน้ำที่ด้านหลังด้วย ถึงแม้ว่าใบเสมาปัจจุบันถูกเคลื่อนย้ายออกจากตำแหน่งเดิม จากการสำรวจบริเวณรอบๆไม่ปรากฏร่องรอยสิ่งก่อสร้างหรือโบราณสถานอยู่เลย ปกติแล้วการปักใบเสมาเป็นเพื่อแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ในทางพุทธศาสนา ในกรณีใบเสมาวัดเขาพระอังคารในอดีตอาจปักล้อมรอบพื้นที่ว่างเปล่า โดยใบเสมาปักเพื่อเป็นหลักเขตเครื่องหมายพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรม แหล่งใบเสมาที่อยู่บนภูเขาเช่นที่เขาพระอังคาร เป็นแหล่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ที่พบในพื้นที่ภูเขาสูง ไม่พบแหล่งชุมชนที่บนเขาอังคารเลยจึงไม่สามารถบอกพื้นที่การใช้งานที่สัมพันธ์กับชุมชนได้ แต่จากลักษณะภาพสลักที่ปรากฏเป็นรูปบุคคลลักษณะเดียวกันทั้งหมด น่าจะเป็นพระโพธิสัตว์ในฝ่ายมหายาน ซึ่งไม่พบลักษณะเช่นนี้ในแหล่งโบราณคดีในสมัยทวารวดีในที่อื่นๆที่แม้จะเป็นภาพสลักบุคคลก็จะเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติหรือชาดกในฝ่ายเถรวาทเป็นหลัก การพบในพื้นที่ภูเขาสูงน่าจะเป็นลักษณะของแนวคิดภูเขาศักดิ์สิทธิ์แบบเดียวกับที่ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพุทธแบบเถรวาทก็อาจเป็นได้-----------------------------------------------ข้อมูลโดย นายกิตติพงษ์ สนเล็ก ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา-----------------------------------------------
สวัสดีทุกท่านค่ะ เนื่องในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ตรงกับวันพืชมงคล ทางเพจของเราจึงขอนำเสนอ #องค์ความรู้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องราวของพืชที่มีความผูกพันกับคนล้านนามานานอย่าง "เหมี้ยง" ให้ทุกท่านติดตามกันว่าเหมี้ยงมาจากที่ไหน การอมเหมี้ยงมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ วิธีการผลิตเหมี้ยงเป็นอย่างไร และสถานะของเหมี้ยงในปัจจุบันจะเป็นแบบไหนต่อไปในอนาคต จากบทความนี้ได้เลยค่ะ
.
.
"เหมี้ยง : จากชาป่าสู่อาหารว่างคนล้านนาที่ใกล้สูญหาย"
.
.
เมื่อพูดถึง “เมี่ยง” หลายๆ คนคุ้นเคยกันดีว่าเป็นอาหารว่าง หรือในยุคสมัยนี้ เรามักจะนึกถึงลักษณะอาหารประเภทหนึ่งที่ใช้ใบชะพลูหรือแผ่นแป้งเวียดนามห่อเครื่องจำพวกผัก สมุนไพร หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์ ราดน้ำเมี่ยงแล้วกินเป็นคำๆ เช่น เมี่ยงคำ เมี่ยงปลาทู หรือเมี่ยงปลาเผา เป็นต้น แต่สำหรับคนทางภาคเหนือหรือคนเมืองนั้น เมี่ยง หรือ เหมี้ยง ยังหมายถึงใบชาหมักรสเปรี้ยว ฝาด บางครั้งก็มีการเติมน้ำตาลให้มีรสหวาน คนเมืองนิยมรับประทานกันหลังมื้ออาหารคล้ายกับเป็นของล้างปากหลังมื้ออาหารคาวหรือกินเป็นของว่าง เรียกว่าการ “อมเหมี้ยง”
.
.
เหมี้ยง แท้จริงแล้วคือใบชาอัสสัมป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Camellia sinensis Seem. ในวงศ์ Theaceae เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ ใบเล็กยาว มีรสเปรี้ยวอมฝาด ดอกสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกเป็นช่อคล้ายดอกส้ม มักขึ้นตามหุบเขา หรือป่าดิบเชิงเขาทางภาคเหนือ เช่นที่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และน่าน ในใบเหมี้ยงหรือชา มีคาเฟอีน 3 - 4% แทนนิน 7 - 15% และน้ำมันหอมระเหย ด้วยเหตุนี้เองคนเมืองจึงนิยมอมเหมี้ยงในเวลากลางวันไว้เป็นของ “แก้ง่วง” นั่นเอง
.
.
แล้ววัฒนธรรมการอมเหมี้ยงนี้มาจากไหน?
.
.
จากการศึกษาความเป็นมาของเหมี้ยงของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง พบว่าวัฒนธรรมการอมเหมี้ยงเป็นวัฒนธรรมร่วมที่ปรากฏมาอย่างช้านานแล้วในกลุ่มไตและชาติพันธุ์บางกลุ่มในรัฐฉาน ลาวเหนือ และไทยวนในล้านนา หลักฐานที่เก่าที่สุดในขญะนี้ที่กล่าวถึงเหมี้ยง คือ ศิลาจารึกวัดพระธาตุหริภุญไชย เมื่อ พ.ศ.2053 กล่าวถึงพระเมืองแก้ว ซึ่งครองเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น ได้มีพระราชศรัทธาสร้างหอมณเฑียรธรรมและพระคัมภีร์ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงถวายเครื่องบูชา และเงิน 1,100 เพื่อให้เอาดอกเป็นค่าหมากเหมี้ยงบูชาพระธรรม และปรากฏในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ผูกที่ 9 ที่แต่งขึ้นใน พ.ศ. 2060 ได้กล่าวถึงพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งจะไปเกิดในเมืองหงสาวดี และจะมีอาชีพเป็นพ่อค้าเหมี้ยง นอกจากนี้ หลักฐานในช่วง 200 ปีที่ผ่านมายังพบ “อูปเหมี้ยงทองคำ” ที่กษัตริย์พม่ามอบเป็นเครื่องยศให้กับเจ้าฟ้าหัวเมืองเชียงแสน และปรากฏคำว่า “หมากเหมี้ยง” ในบริบทอื่นๆ อาทิ บทสวดพิธีกรรมต่างๆ เช่น คำสู่ขวัญข้าว คำสู่ขวัญควาย เป็นต้น เป็นค่าปรับไหม และปรากฏในคร่าว (บทกวี) เล่าเรื่องเมืองเชียงแสนแตก และมีการถวายหมากเหมี้ยง กินหมากพลูอมเหมี้ยง เป็นต้น
.
.
จากหลักฐานเหล่านี้อาจพออนุมานได้ว่า คนเมืองมีความผูกพันกับเมี่ยงมาตั้งแต่สมัยล้านนาแล้ว ในยุคที่การบริโภคเหมี้ยงเฟื่องฟู ราวศตวรรษที่ 19 มีนักสำรวจชาวยุโรปได้ระบุว่า ป่าเหมี้ยงได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางไปตามแหล่งน้ำต่างๆ ตั้งแต่แม่ริมจรดฝาง และเหมี้ยงถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคเหนือ เป็นรองแต่เพียงข้าวและไม้สักเท่านั้น จนเป็นที่มาของ “พ่อเลี้ยงเหมี้ยง” หรือพ่อค้าคนกลางผู้รับซื้อเหมี้ยงและดูแลกิจการป่าเหมี้ยงซึ่งเป็นเสมือนขุมทรัพย์สำคัญของยุคนั้นเลยก็ว่าได้
.
.
การอมเหมี้ยงไม่เพียงแต่จะเป็นการบริโภคเฉพาะในแต่ละครัวเรือนเท่านั้น แต่มันยังเป็นตัวเชื่อมโยงทางสังคมให้แต่ละบ้านได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น โดยการนำเหมี้ยงมาสู่ (แบ่งปัน) ให้กับแขกที่มาเยือนบ้าน หรือเตรียมไว้ให้ผู้ที่มาช่วยงานต่างๆ ทั้งงานบุญ งานแต่ง และงานศพ เป็นสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ จากเจ้าบ้านมอบให้กับผู้มาเยือนได้ผ่อนคลายกับของว่างที่มีอยู่เพียงไม่กี่อย่างในสมัยนั้น
.
.
การหมักเหมี้ยงทำอย่างไร?
.
.
กรรมวิธีการผลิตเหมี้ยงนั้นไม่ได้ยุ่งยาก เริ่มจากการเก็บใบเหมี้ยงสดจากป่าเหมี้ยง โดยเลือกเก็บเอาแต่ใบกลางแก่กลางอ่อนแล้วนำมานึ่งให้สุก เมื่อสุกแล้วจึงนำมาหมักในน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือ แต่ในบางพื้นที่ เช่น จ.แพร่ จะนำใบเหมี้ยงนึ่งสุกแล้วไปหมักในตะกร้าก่อนให้เกิดเชื้อราแล้วค่อยนำไปหมักน้ำ เรียกว่าเมี่ยงแหลบ การหมักนั้นยิ่งใช้เวลาน้อยวันเท่าไหร่ เหมี้ยงก็จะคงความฝาดมากเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะนิยมหมักตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปจนถึงเป็นปี เพื่อให้ความฝาดลดน้อยลงและมีรสเปรี้ยว เหมี้ยงที่มีรสฝาดจะเรียกว่า “เหมี้ยงฝาด” เหมี้ยงที่รสเปรี้ยว เรียกว่า “เหมี้ยงส้ม” และเหมี้ยงที่มีรสหวานจากการเติมน้ำตาลเรียกว่า “เหมี้ยงหวาน” แต่เหมี้ยงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นเหมี้ยงส้ม วิธีกิน คือ นำใบเหมี้ยงมาแผ่บางๆ แล้วใส่เกลือเม็ดลงไป 1 – 2 เม็ด จากนั้นห่อเหมี้ยงให้เป็นคำแล้วเคี้ยวหรืออมไว้ในปาก พร้อมกับสูบบุรีขี้โย (บุหรี่ใบตองห่อยาเส้น) เท่านี้ก็นับเป็นความสุขเล็กๆ สำหรับคนเมืองในสมัยก่อนแล้ว
.
.
นอกเหนือจากการบริโภคเหมี้ยงหมักที่ได้รับความนิยมกันทั่วไปอยู่แล้ว น้ำที่เหลือจากการนึ่งเหมี้ยงยังสามารถนำมาประกอบอาหารต่อได้อีก โดยนำมาเคี่ยวในกระทะจนข้นแล้วใส่ข้าวคั่ว โรยกระเทียมเจียว แคบหมูชิ้นเล็ก ขิงซอย และพริกทอด เรียกว่า “น้ำเหมี้ยง” หรือการนำใบเหมี้ยงสดมายำกับปลาปิ้งหรือปลาแห้งแล้วใส่ผักสมุนไพรต่างๆ เช่น หอมแดง กระเทียม พริกขี้หนู ตะไคร้ ขิง เรียกว่า “ส้าเหมี้ยง” ก็ถือเป็นเมนูจากเหมี้ยงที่ได้รับความนิยมไม่แพ้การอมเหมี้ยงเลยทีเดียว
.
.
ในปัจจุบัน ความนิยมบริโภคเหมี้ยงเริ่มลดน้อยลงไปตามกาลเวลาและยุคสมัย แม้เราจะยังคงพบเห็นการผลิตและค้าขายเหมี้ยงอยู่ในตลาดทั่วภาคเหนือแต่ก็หาได้ยากแล้ว ขณะเดียวกัน ป่าเหมี้ยงที่ถือได้ว่าเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของระบบนิเวศน์มากที่สุดแห่งหนึ่งก็เริ่มลดน้อยลง จากการแผ้วถางพื้นที่ไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทนอย่างกาแฟ หรือแปรสภาพเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เห็นถึงปัญหานี้ จึงได้วิจัย พัฒนา และต่อยอด “เหมี้ยง” แบบเดิมๆ ให้กลายเป็นเหมี้ยงที่ทันสมัยรองรับกับตลาดยุคใหม่มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงการผลิตให้มีมาตรฐานความสะอาด หรือการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากเหมี้ยง เช่น ชาเชียวเหมี้ยง ชาเหมี้ยงหมัก ลูกอมหรือกัมมี่เหมี้ยง หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากเหมี้ยง เช่น แชมพู สบู่ และน้ำยาบ้วนปาก ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็พยายามตีตลาดออนไลน์ให้เหมี้ยงสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายมากขึ้น เหล่านี้จึงเป็นความหวังให้กับเหมี้ยงว่าจะสามารถกลับมามีบทบาททางเศรษฐกิจอีกครั้งในอนาคต
.
.
.
ที่มา
ธเนศวร์ เจริญเมือง. เหมี้ยง : ภูมิปัญญาท้องถิ่นบนทางแยก. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่ : ทรีโอ แอดเวอร์ไทซิ่ง มีเดีย จำกัด, 2562.
https://www.agro.cmu.ac.th/lanna/sinnensis.htm
https://www.matichon.co.th/.../prachachuen.../news_1158315
https://www.matichonweekly.com/column/article_172905
https://www.youtube.com/watch?v=MP4pjBVoRys
https://www.youtube.com/watch?v=oGIvY1gYTk0&t=1101s
พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงนฤบาลวรภาชน์ (มัย ไกรฤกษ์) ต.จ. ณ เมรุวัดธาตุทอง วันอังคารที่ ๑๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๕
มหามกุฎราชสันตติวงศ์ ๑๗ กรกฎาคม ๒๓๗๗ วันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระมเหสีพระองค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๓๗๗ พระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ต้นราชสกุลศิริวงศ์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาทรัพย์) และหม่อมน้อย (พระชนนีน้อย)
พระนามเดิมหม่อมเจ้ารำเพย ในรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาเป็นพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ต่อมาทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์บรมราชเทวี สวรรคตในรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๐๔ พระชนมายุ ๒๘ พรรษา
ในรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาพระนามพระบรมอัฐิเป็นกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เมื่อ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๑๑
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
.
ภาพ : สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
แผ่นดินเผารูปพระสงฆ์สามองค์อุ้มบาตร พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อาจเป็นหลักฐานที่เก่าที่สุดซึ่งเกี่ยวข้องกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในดินแดนไทย เนื่องจากรูปแบบการครองจีวรของภาพพระภิกษุบนแผ่นดินเผา เป็นแบบห่มคลุม ริ้วจีวรมีขนาดใหญ่ คล้ายกับการครองจีวรของพระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบอมราวดี ซึ่งกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๐ (ประมาณ ๑,๖๐๐ – ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว) สันนิษฐานว่าเป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นในท้องถิ่น มิได้เป็นการนำเข้ามาจากภายนอก เนื่องจากทำด้วยดินเผาที่มีส่วนผสมของดินดิบ และแกลบค่อนข้างหยาบ ประกอบกับประติมากรรมนี้มีแผ่นหลังซึ่งน่าจะใช้ประดับติดเข้ากับผนังของศาสนสถาน อนึ่ง ภายในเมืองโบราณอู่ทองยังพบชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นประดับศาสนสถานแสดงภาพระพุทธรูปประทับ นั่งขัดสมาธิอย่างหลวมๆ เหนือขนดนาค ซึ่งนักวิชาการบางท่านกำหนดอายุจากรูปแบบศิลปกรรมว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบอมราวดีเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามยังไม่มีการค้นพบโบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่สร้างขึ้นในท้องถิ่น และมีรูปแบบศิลปกรรมร่วมสมัยกันกับแผ่นดินเผารูปพระภิกษุสามองค์อุ้มบาตร และพระพุทธรูปเหนือขนดนาคปูนปั้นที่กล่าวไป ทำให้นักวิชาการบางท่านมีความเห็นเรื่องอายุสมัยของโบราณวัตถุดังกล่าวแตกต่างกันออกไป โดยหากเชื่อว่าโบราณวัตถุนี้ มีอายุสมัยใกล้เคียงกับศิลปะอินเดียแบบอมราวดี ก็จะนับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ชุมชนแถบนี้ได้เปลี่ยนจากความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิม หันมานับถือพระพุทธศาสนา มีการสร้างรูปเคารพ รวมทั้งศาสนสถาน แสดงให้เห็นว่าระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๑ พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลง ณ บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย และเป็นที่ยอมรับในหมู่ชนพื้นเมืองแล้ว โดยมีเมืองโบราณอู่ทองเป็นศูนย์กลางสำคัญของการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในระยะแรกเริ่ม--------------------------------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี --------------------------------------------------------------------------เอกสารอ้างอิง กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒. ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย,๒๕๔๒. พนมบุตร จันทรโชติ และคณะ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเรื่องราวสุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐.
วันพุธที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ร่วมในพิธี ณ พระที่นั่ง พุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มีพระนามเดิมว่า บุญมา ทรงเป็นพระอนุชาของพระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประทับ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ชาวไทยทุกคนต่างล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระองค์ทรงทุ่มเทประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และพระปรีชาสามารถเป็นอเนกประการในการรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นสืบมาจนถึงทุกวันนี้
พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
จัดแสดงห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมดินเผารูปช้าง ขนาดกว้าง ๙ เซนติเมตร สูง ๗ เซนติเมตร ช้างมีหน้าผากกว้าง ใบหูลู่ลง งวงยาวม้วนงอ งาทั้งสองข้างหักหายไป ส่วนหลังโค้ง หางยาวจรดพื้น ช้างอยู่ในท่าหมอบ ขาหน้าและขาหลังย่อลง ส่วนฐานทรงกลมตกแต่งเป็นรอยขีดลงบนรูปทรงฐานแบบบัวคว่ำบัวหงาย ระหว่างขาหน้าและขาหลังทั้งสองด้านเจาะรูกลมทะลุถึงกัน อาจใช้สำหรับร้อยเชือก ประติมากรรมรูปช้างชิ้นนี้แสดงลักษณะทางกายวิภาคและท่าทางที่ค่อนข้างสมจริงตามธรรมชาติ
ช้างเป็นสัตว์มงคลที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาพุทธและพราหมณ์ – ฮินดู ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีผิวกายสีเทาเหมือนเมฆฝน จึงเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พืชพันธุ์เจริญงอกงาม ประติมากรรมรูปช้างพบมาแล้วตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณโดยประกอบอยู่กับประติมากรรมรูปคชลักษมี ประดับที่ประตูและรั้วล้อมรอบศาสนสถาน ในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดีพบประติมากรรมรูปช้างจำนวนมาก ทั้งประติมากรรมปูนปั้นประดับ ฐานศาสนสถาน ตราดินเผา ลวดลายประทับบนชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และยังพบประกอบอยู่กับประติมากรรมรูปคชลักษมีด้วย
นอกจากประติมากรรมดินเผารูปช้างชิ้นนี้แล้ว ที่เมืองโบราณอู่ทองยังพบประติมากรรมรูปสัตว์อื่น ๆ เช่น สิงห์ เต่า รวมถึงประติมากรรมรูปบุคคลในอิริยาบถต่าง ๆ ประติมากรรมรูปคชลักษมีและราชยลักษมี ซึ่งมีฐานบัวคว่ำบัวหงายรองรับ และมีการเจาะรูกลมทะลุถึงกัน บางชิ้นมีส่วนเดือยทรงกระบอกกลมรองรับส่วนฐานบัวอีกชั้นด้วย สันนิษฐานว่าส่วนเดือยใต้ฐานประติมากรรมเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นจุกภาชนะ และประติมากรรมดินเผาเหล่านี้ประดับอยู่บนจุกดินเผา ซึ่งใช้อุดปากภาชนะประเภทปากแคบหรือขวดที่มีความสำคัญ อาจใช้สำหรับบรรจุของที่ใช้ในพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ หรืออาจเป็นเครื่องใช้ของบุคคลชั้นสูงก็เป็นได้ กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘.
ดวงกมล อนันต์วัชรกุล. “คติความเชื่อเรื่องสัตว์ที่ปรากฏในวัฒนธรรมทวารวดี”. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคลภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔.
ผาสุข อินทราวุธ. ดรรชนีภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, ๒๕๒๘.
ชื่อเรื่อง เทวทูตสุตฺต (เทวทูตสูตร)
สพ.บ. 277/1ประเภทวัสดุมีเดีย คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่ พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ 52 หน้า กว้าง 5 ซม. ยาว 57 ซม.หัวเรื่อง พระสูตร พระไตรปิฎก พระยายม
บทคัดย่อ/บันทึก เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับลานดิบ ได้รับบริจาคมาจากวัดบ้านหมี่ ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ได้ดำเนินการโครงการศึกษาพัฒนาการของชุมชนและขุดค้นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในเขตลุ่มน้ำป่าสัก (ส่วนที่ 3) จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อศึกษาข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในเขตลุ่มน้ำป่าสัก ประกอบการอธิบายพัฒนาการทางสังคมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงสมัยทวารวดี เพื่อสนับสนุนข้อมูลการจัดทำเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก ผลจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีลำสระหัว อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน ๒ หลุม ขนาด ๔x๔ เมตร ในหลุมขุดค้นที่ ๑ พบหลุมฝังศพซ้อนทับกันหลายชั้น จำนวน ๑๗ หลุมฝังศพ ลักษณะการฝังศพเป็นแบบนอนหงายเหยียดยาว ส่วนใหญ่หันศีรษะไปทางทิศเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือ หลักฐานของอุทิศที่พบร่วม ได้แก่ ภาชนะดินเผาแบบทรงพาน เครื่องมือเหล็ก ลูกกระพรวนสำริด และลูกปัดแก้ว ผลการกำหนดอายุด้วยวิธี AMS จากตัวอย่างถ่านในระดับที่ ๘ (๑๐๐-๑๑๐ cm.dt) ได้ค่าอายุ ๓,๑๖๘ – ๒,๙๗๕ ปีมาแล้ว หรือ ๑,๒๑๙ - ๑๐๒๖ ปีก่อนคริสตกาล ส่วนหลุมขุดค้นที่ ๒ พบหลุมฝังศพ จำนวน ๖ หลุมฝังศพ หลักฐานที่พบร่วม ได้แก่ ภาชนะดินเผาทรงหม้อก้นกลม ภาชนะ ดินเผาทรงหม้อมีเชิง กำไลสำริด ลูกปัดหิน ลูกแก้ว เครื่องมือเหล็กแบบจงอยปากนก และเครื่องมือเหล็กแบบสิ่ว ผลการกำหนดอายุจากตัวอย่างถ่านในระดับ ๑๐๘ cm.dt ได้ค่าอายุ ๒,๗๘๐ - ๒๗๒๔ ปีมาแล้ว หรือ ๘๓๑ - ๗๗๕ ปีก่อนคริสตกาล สรุปผลเบื้องต้นได้ว่า แหล่งโบราณคดีลำสระหัวเป็นที่อยู่อาศัยและที่ประกอบพิธีกรรมฝังศพของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก (ราว ๓,๑๐๐ -๒,๗๐๐ ปีมาแล้ว) เพื่อศึกษาความสืบเนื่องสัมพันธ์กับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในเมืองโบราณศรีเทพ และพัฒนาการของการสร้างคูน้ำ-คันดินกำแพงเมืองระหว่างเมืองนอกและเมืองใน กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ได้กำหนดแผนการดำเนินงานโครงการศึกษาพัฒนาการของชุมชน และขุดค้นแหล่งโบราณคดียุคก่อน ประวัติศาสตร์ในเขตลุ่มน้ำป่าสัก (ส่วนที่ 3) ระยะที่ ๒ เพื่อดำเนินการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีต่อไป ----------------------------------------------------------ข้อมูลโดย : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี
ข้อง เครื่องจักสานชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีลักษณะปากแคบคล้ายคอหม้อดิน มีฝาปิดเปิดคือ ฝาข้อง ทำจากกะลามะพร้าว แล้วสานด้วยไม้ไผ่ทำเป็นรูปกรวย ปลายกรวยแหลมปล่อยเป็นซี่ไม้ไว้เรียกว่า งาแซง ข้อง ใช้สำหรับใส่สัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ข้องมีหลายลักษณะ เช่น ข้องยืน ลักษณะคล้ายโอ่งน้ำหรือทรงกระบอก ก้นข้องสานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตัวข้องกลมป่องตรงกลาง แล้วบานออกที่ปากคล้ายปากแตร ข้องนอนหรือข้องเป็ด รูปทรงเป็นแนวนอน ตัวข้องรูปร่างคล้ายตัวเป็ด ปลายปากข้องหงายขึ้นด้านบน มักไม่ค่อยสะพายติดตัวขณะหาปลา แต่มักใช้วางไว้ในเรือ หรือริมตลิ่ง เป็นต้น ข้องลอย ใช้ลอยน้ำในการจับปลา มักใช้ข้องยืมหรือข้องนอนมัดตืดลูกบวบ ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่สองท่อน มัดขนาบกันให้ลอยน้ำได้ แล้วผูกเชือกมัดติดเอวภาพ : พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเกตการามอ้างอิง : สนม ครุฑเมือง.๒๕๓๔.สารานุกรมของใช้พื้นบ้านไทยในอดีต.กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ จำกัด