ค้นหา


รายการที่พบทั้งหมด 30,064 รายการ




ขอเชิญร่วมงาน ๑๑๒ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร ชมนิทรรศการ “ผลงาน ๑๑๒ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร”นิทรรศการ “สืบ สร้าง สาน ศาสตร์ศิลป์” ร่วมฟังการเสวนาทางวิชาการชมการแสดงนาฏศิลป์และดนตรี และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมสินค้าท้องถิ่น ของที่ระลึก และหนังสือกรมศิลปากร ลดราคาพิเศษระหว่างวันที่ ๒๗ – ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๖ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการเสวนาได้โดย สแกน Qr Code  หรือที่โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ ลงทะเบียนเข้าร่วมการเสวนา



          วันจันทร์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร ครบรอบ ๑๑๒ ปี  (๒๗ มีนาคม ๒๕๖๖) และมอบรางวัลให้แก่ข้าราชการพลเรือนดีเด่น และผู้ปฏิบัติงานดีเด่นในสังกัดกรมศิลปากร  โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าร่วมในพิธี ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นับแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ ภารกิจในการคุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม สร้างสรรค์ เผยแพร่ ค้นคว้า วิจัย พัฒนา และสืบทอดงานด้านมรดกศิลปวัฒนธรรม เพื่อธำรงคุณค่า และเอกลักษณ์ความเป็นชาติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมและความมั่นคงของประเทศ เป็นภารกิจที่กรมศิลปากรดูแลรับผิดชอบสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กว่าหนึ่งศตวรรษในการทำนุบำรุง สืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ กรมศิลปากรได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และวิธีการดำเนินงานให้เหมาะสมกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป โดยพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานในการปกป้อง ดูแล รักษา อนุรักษ์ สร้างสรรค์ ต่อยอด และเพิ่มคุณค่ามรดกศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการและถ่ายทอดเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย            ปัจจุบันกรมศิลปากร เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม มีภารกิจหลัก ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ ด้านนาฏดุริยางคศิลป์ ด้านภาษา เอกสารและหนังสือ ด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม แบ่งส่วนราชการเป็น สำนักบริหารกลาง สำนักการสังคีต กองโบราณคดี กองโบราณคดีใต้น้ำ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ สำนักช่างสิบหมู่ สำนักสถาปัตยกรรม สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม สำนักศิลปากรที่ ๑ – ๑๒ (หน่วยงานในส่วนภูมิภาค) และหน่วยงานขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมศิลปากร คือ กลุ่มตรวจสอบภายใน และกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร  กรมศิลปากรยังคงมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ ทำนุบำรุง สืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ และสนองงานรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนใช้ทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบเป็นทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์และต่อยอด อีกทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการสร้าง “soft power” เพื่อสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนให้กับประเทศชาติ           ในโอกาสนี้ กรมศิลปากรได้จัดงาน ๑๑๒ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร เพื่อเผยแพร่ผลงานสำคัญ โดยมีการจัดนิทรรศการ การเสวนาทางวิชาการ การแสดงนาฏศิลป์และดนตรี และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม สินค้าท้องถิ่น ของที่ระลึก และหนังสือกรมศิลปากร ระหว่างวันที่   ๒๗ – ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๖ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


          วันจันทร์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แถลงผลงานเนื่องในโอกาส ๑๑๒ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร เดินหน้า “อนุรักษ์ สืบทอด ต่อยอดมรดกศิลปวัฒนธรรม จากคุณค่าสู่มูลค่า” พร้อมเปิดตัว Application ในชื่อ FADiscovery สร้างประสบการณ์ใหม่ในการเที่ยวชมแหล่งเรียนรู้มรดกศิลปวัฒนธรรม            นับแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๑๑๒ ปีที่กรมศิลปากรดำเนินภารกิจหลักในการธำรงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่ สืบสาน สร้างสรรค์ พัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ความเป็นชาติ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างภาคีภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ของชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ มาขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมในความดูแลของกรมศิลปากร กรมศิลปากรมีเป้าประสงค์หลักในการส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยมีวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมที่ดีอย่างยั่งยืน ได้ดําเนินการและกําหนดกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้บรรลุตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการอนุรักษ์ สืบทอด ต่อยอดมรดกศิลปวัฒนธรรม จากคุณค่าสู่มูลค่า เพื่อให้วัฒนธรรมไทยกลายเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญยิ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ให้คงคุณค่าความเป็นของแท้และดั้งเดิมตามหลักวิชาการ ส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่สู่คนรุ่นต่อไป เสริมสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมให้แก่ประชาชน ผ่านกิจกรรมให้ความรู้ ความเข้าใจ ในความสําคัญของมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ เช่น การจัดกิจกรรมอบรมอาสาสมัครและเครือข่ายอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม การส่งเสริมการศึกษาในแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และต่อยอดมรดกศิลปวัฒนธรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่สําคัญของประเทศ ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติ ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการพัฒนาและสร้างมาตรฐานแหล่งเรียนรู้มรดกศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของแหล่งเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ได้แก่            - การปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้มีมาตรฐาน ทันสมัยและน่าสนใจ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่นำมาจัดแสดงมีความปลอดภัยจากการเสื่อมสภาพ การจัดแสดงนิทรรศการถาวร มีการออกแบบตามหลักวิชาการ เน้นความงาม ความสำคัญของโบราณวัตถุ และการสื่อความหมายต่อผู้เข้าชม รวมทั้งออกแบบแสงสว่างในการจัดแสดงตามหลักวิชาการให้เหมาะสม สวยงาม และปลอดภัยต่อโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สื่อการจัดแสดงที่ใช้มีความถูกต้องของข้อมูลทางวิชาการ มีระบบสืบค้นและนำชมสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น QR Code, AR Code, Audio Guide            - การพัฒนางานด้านการจัดเก็บและอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของชาติ มีการจัดตั้งคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ให้เป็นไปตามหลักวิชาการสากล ซึ่งมีกำหนดจะเปิดให้บริการในปีนี้  และจัดสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุ จังหวัดปทุมธานี ให้เป็นศูนย์อนุรักษ์โบราณวัตถุทุกประเภท ที่ได้มาตรฐานสากล มีความทันสมัย            - การปรับปรุงหอสมุดแห่งชาติ ให้ได้มาตรฐานทั้งสถานที่และการให้บริการ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในการให้บริการ   - การปรับปรุงโรงละครแห่งชาติ ให้ได้มาตรฐานสากล มีศักยภาพถึงพร้อมในทุก ๆ ด้าน และเป็นไปตามมาตรฐานโรงละครระดับสากล           - การพัฒนาแหล่งเรือโบราณพนม-สุรินทร์ จังหวัดสมุทรสาคร ให้เป็นศูนย์เรียนรู้งานโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรมศิลปากร   กรมศิลปากร ได้ดำเนินงานโดยมุ่งเน้นให้หน่วยงานในสังกัดขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม พัฒนาระบบการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้บริการข้อมูลที่เหมาะสม สร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ ทั้งระบบการสืบค้น และระบบการให้บริการข้อมูลผ่านเครือข่ายออนไลน์โดยขณะนี้ กรมศิลปากร เปิดประสบการณ์ใหม่ในการนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และมิติใหม่ในการให้บริการข้อมูล ด้วย Application FADiscovery  เป็น Application นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และอุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย โดยการให้ข้อมูลนำทาง ข้อมูลโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ และจัดเก็บข้อมูลความต้องการ ความสนใจของผู้ใช้ที่ครบวงจร ตั้งแต่เริ่มเข้าชม จนกระทั่งออกจากพิพิธภัณฑ์ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ ระบบจะทำการบันทึกความชื่นชอบ ความสนใจ และความต้องการในการเข้าชมไว้อย่างละเอียด ทำการแยก และจัดกลุ่มประเภทผู้เข้าชม และบันทึกประมวลผลแบบ Real Time เพื่อให้ทราบถึงความสนใจพิเศษของผู้เข้าชมแต่ละท่าน โดยแจ้งผลความต้องการและความสนใจไปยังผู้เข้าชมแบบรายบุคคล โดยระบบจะทำการประมวลผลความสนใจของประชาชนในประเด็นต่างๆ ทำการสืบค้นข้อมูล หนังสือ หรือบทความวิชาการที่เกี่ยวข้อง และส่งข้อมูลไปยังประชาชน เพื่อให้สามารถศึกษาเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง และได้รับข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียนรู้มากที่สุด มิติใหม่ในการให้บริการข้อมูล ด้วย Application FADiscovery นี้ จะเป็นการยกระดับการให้บริการและการเข้าถึงข้อมูลของกรมศิลปากรที่ครอบคลุมข้อมูลทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ โบราณวัตถุ โบราณสถาน เอกสารโบราณ จารึก หนังสือ เอกสารจดหมายเหตุ ด้วย Application เดียว           โอกาสนี้ สำนักช่างสิบหมู่ ยังได้จัดนิทรรศการพิเศษ “สืบ สร้าง สาน ศาสตร์ศิลป์” โดยนำผลงานศิลปกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจัดแสดง เพื่อเผยแพร่ความรู้และข้อมูลในงานศิลปกรรม ก่อให้เกิดการสืบทอดภูมิปัญญาด้านงานช่างสิบหมู่อันเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๖          สำหรับผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการผลงานของกรมศิลปากร เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม สินค้าท้องถิ่น ของที่ระลึกและหนังสือกรมศิลปากร ลดราคาพิเศษ ร่วมฟังการเสวนาวิชาการ พร้อมรับชมการแสดงนาฏศิลป์และดนตรี โดยสำนักการสังคีต สามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนถึงวันที่ ๒๙ มีนาคมนี้


          สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ขอเชิญเข้าร่วมฟังการเสวนาวิชาการ เนื่องในโอกาส ๑๑๒ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร วันพุธที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๖ ณ ห้องดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.  การเสวนาเรื่อง "สังคีตปริทัศน์"  โดยวิทยากร ๓ ท่าน ได้แก่ นายลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต นายจรัญ พูลลาภ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการพิเศษ และนายยุทธนา อัครเดชานัฎ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดำเนินรายการโดยนายธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ   ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมฟังการเสวนาได้โดย สแกน Qr Code  หรือสามารถติดตามรับชมผ่านทาง Facebook Live : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และ Facebook Live : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร


         พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ชวนไปท้าลมร้อนด้วยไอศกรีมโฮมเมด ราดด้วยมัทฉะแสนอร่อยจากเกียวโต ไม่ต้องไปไกลถึงญี่ปุ่น! และเลือกซื้อสินค้าจากศิลปินอาร์ตทอย ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในงาน ๑๑๒ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร วันที่ ๒๗ - ๒๙ มีนาคมนี้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ เปิดให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมนิทรรศการ ระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ มีผู้เข้าชมทั้งสิ้น ๑,๔๕๓ คน โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคโควิท ๑๙ อย่างเคร่งครัด


วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. นักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ ๑-๖ โรงเรียนบ้านกระวัน ตำบลหนองใหญ่ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ จำนวน ๔๖ คน คุณครู ๗ คน เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ โดยปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - ๑๙ อย่างเคร่งครัด โดยมีนางศรีสุดา ศรีสด พนักงานประจำห้อง ให้การต้อนรับและบรรยายนำชม


  แนะนำหนังสือให้อ่าน เทวัญ ธานีรัตน์. ฟ้าทะลายโจร ภูมิปัญญาไทย สู้ภัยโควิด-19. กรุงเทพฯ: ต้นคิด, 2564. 160 หน้า. ภาพประกอบ. 175 บาท. บอกถึงสรรพคุณของฟ้าทะลายโจร ที่เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง สามารถยับยั้งมหันตภัยโควิด-19 ได้อย่างดี เพราะสามารถยับยั้งเชื้อที่จะลงปอดได้ถึง 80-90 % รวมไปถึงประโยชน์ต่างๆ ของฟ้าทะลายโจรที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้รายละเอียดให้มากขึ้นจากเนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ 615.321 ท645ฟ ( ห้องหนังสือทั่วไป 2 )


  โชติ ศรีสุวรรณ. ท่องโลกมหัศจรรย์สิ่งมีชีวิต. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์, 2549. 112 หน้า. ภาพประกอบ. 80 บาท. ท่องโลกมหัศจรรย์สิ่งมีชีวิต เป้นหนังสืออ่านเพิ่มเติมตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับใช้ในการศึกษาค้นคว้า เสริมความรู้ความเข้าใจในลุ่มเรียนรู้วิทยาศาสตร์ซึ่งนำเสนอด้วยรูปแบบการเขียนเชิงวรรณกรรมที่อ่านสนุกและเพลิดเพลิน อย่างเรื่องสิ่งมีชีวิตคืออะไร ทำไมสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างแบคทีเรียจึงเขมือบสัตว์ใหญ่อย่างช้างและปลาวาฬได้ 570 ช822ท ฉ.02 ( ห้องทั่วไป 1 )


  หมออาสาแพทย์แผนไทย. มหัศจรรย์พืชสมุนไพรรักษามะเร็งร้าย ทุเรียน เทศเหนือกว่าคีโม 10,000เท่า. กรุงเทพฯ: เพชรพินิจ, 2565. 224 หน้า. ภาพประกอบ. 185 บาท. นำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับการเกิดมะเร็ง การใช้สมุนไพรทำยารักษาโรค มีสูตรยอดยาดีสมุนไพรรักษามะเร็งระยะสุดท้าย เรื่องสุดยอดสมุนไพรต้านมะเร็ง โภชนาบำบัดเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการต้านมะเร็ง สูตรอาหารดีต้านมะเร็งเช่น สูตรน้ำเบต้าแคโรทีน สูตรน้ำซุบโพแทสเซียม สูตรน้ำผักต้านมะเร็งของเจ้าฟ้าหญิงจุฬภรณ์ เรื่องมหัศจรรย์ทุเรียนเทศรักษามะเร็งหายขาด แนะนำแหล่งซื้อขายทุเรียนเทศ 615.321 ห177ม ( ห้องทั่วไป 2 )


    ณุภา นันทเกียรติ. คู่มือเตรียมสอบราชการส่วนท้องถิ่น วิชากฎหมาย (หลักเกณฑ์ใหม่ 25642565). นนทบุรี: ไอดีซีฯ, 2564. 232 หน้า. ภาพประกอบ. 299 บาท. ให้ความรู้เกี่ยวกับวิชากฎหมายในการปฏิบัติราชการเกี่ยวกับราชการส่วนท้องถิ่นและมีเรื่องของระเบียบ นโยบาย และแผนที่สำคัญของประเทศ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการ รัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 การสรุปย่อกฎหมายที่เคยออกข้อสอบ พร้อมแนวข้อสอบที่นำมาให้ทดลองทำในบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นการเตรียมสอบได้อย่างดี 352.14076 ณ999ค ( ห้องทั่วไป 1 )