ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 41,347 รายการ
คำบูชาข้าวพระและอนุโมทนาวิธี ชบ.ส. ๘๓
เจ้าอาวาสวัดเทพประสาท ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
มอบให้หอสมุด ๒๓ ก.ค. ๒๕๓๕
เอกสารโบราณ (สมุดไทย)
สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สังคิณี-มหาปัฎฐาน)
เลขที่ ชบ.บ.29/1-4
เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)
"การเล่นว่าวพนันในแผ่นดินสยามมีมาแต่ครั้งโบราณ เป็นกีฬาที่เอาว่าวขึ้นคว้าพนันขันต่อถึงแพ้ชนะกันได้ในอากาศ ผิดแปลกประหลาดกว่าว่าวที่มีเล่นกันอยู่ในต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งว่าวของเขานั้นลอยนิ่งอยู่เฉยๆ คว้าทำสงครามต่อสู้กันไม่ได้ ..."
หนังสือ ตำนานว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าว และการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ เรียบเรียงโดย พระยาภิรมย์ภักดี กล่าวถึง ตำนานว่าวพนันในประเทศสยาม ตำนานว่าวในต่างประเทศ วิธีผูกโครงว่าว วิธีต่อสู้ว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า พร้อมทั้งกติกาเล่นว่าวที่สนามหลวงสวนดุสิต รัตนโกสินทรศก 125
อ่านได้ที่ห้องหนังสือทั่วไป 2 หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่
เมื่อเอ่ยถึง นิตยสาร หลายคนคงรู้จักคุ้นเคยดีในฐานะสื่อหลักที่อยู่คู่แผงหนังสือไทยมาอย่างยาวนาน นอกจากจะให้สาระความรู้ ความบันเทิงแล้ว ยังเป็นเครื่องมือบันทึกเรื่องราวของสังคมทุกยุคทุกสมัยที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กุลสัตรี นิตยสารไทยปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นหนังสือพิมพ์รายเดือน แต่หากเปรียบเทียบรูปแบบในปัจจุบันแล้ว ถือได้ว่าเป็นนิตยสารซึ่งในยุคสมัยนั้นยังไม่มีการบัญญัติคำว่า “นิตยสาร” กุลสัตรี ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นระหว่าง ร.ศ. ๑๒๕-๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๔๙ – ๒๔๕๐) โดย ไม่ปรากฏชื่อจริงของผู้จัดทำ มีเพียงแจ้งความไว้ในส่วนเกี่ยวกับการติดต่อบอกรับ ให้ส่งถึง หลวงจันทรามาตย์ หอพระสมุดวชิรญาณ และหลวงวิฆเนศร์ประสิทธิวิทย์ โดยมีบรรณาธิการใช้นามแฝงว่า จันทรามาตย์ จุดมุ่งหมายของการจัดทำ กุลสัตรี ขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ผู้หญิง เป็นสื่อสำหรับนักเรียนในโรงเรียนสตรีทั้งหลายในขณะนั้น ลักษณะของหนังสือ หนาประมาณ ๖๐-๖๕ หน้า ภายในเล่มไม่มีภาพประกอบ มีภาพเฉพาะหน้าปก ซึ่งบรรณาธิการได้กล่าวไว้ในคำนำเล่ม ๑ ว่า “ในหน้าหนังสือพิมพ์นี้ ได้แสดงรูปนางเรวดีพานางนพมาศขึ้นระแทะไปสู่พระราชวัง เพื่อถวายเปนพระสนมแก่พระร่วงเจ้า ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสบัติณกรุงเทพ มหานครศุโขไทยราชธานีบุรีรัมย์สถาน....” ทั้งนี้ยังได้กล่าวถึงสาเหตุที่เลือกเป็นนางนพมาศ ความว่า “บรรดาหญิงที่มีชื่อเสียง ซึ่งได้ออกนามมานี้ ไม่มีผู้ใดเหมาะเท่ากับนางนพมาศ ในการเปนแม่เรือน จึงได้นำมาเชิดชูให้เปนที่เฉลิมเกียรติยศ แก่หญิงไทยในหนังสือเรื่องนี้” จึงได้ใช้ภาพนางเรวดีพานางนพมาศขึ้นกระแทะเป็นภาพหน้าปก เนื้อหาเริ่มจากคำนำที่กล่าวเกี่ยวกับเรื่องหนังสือ ปัญหาต่างๆ คำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อ่าน คอลัมน์ หน้าที่หญิง ต่อมาเปลี่ยนเป็นธรรมจริยานารี เป็นการให้ความรู้และกระตุ้นให้ผู้หญิงสำนึกในหน้าที่ สิทธิต่างๆ บทความอื่นๆ ซึ่งให้ความรู้ ข่าวสารทั่วไป เช่น การแต่งหนังสือ เรื่องอ่านเล่น มีทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น นิทาน โคลง กลอน ลิลิต และความรู้เบ็ดเตล็ด ในส่วนท้ายเล่มเป็นคอลัมน์แจ้งความซึ่งเป็นการแจ้งข่าว เรื่องราวเกี่ยวกับนิตยสารเล่มนี้ เช่น ระเบียบของหนังสือ วิธีการบอกรับ และประกาศต่างๆ เป็นต้น ------------------------------------------------------------เรียบเรียงข้อมูล: นางสาวยุวเรศ อิทธิชัยวัฒนา บรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ------------------------------------------------------------เอกสารอ้างอิง กุลสัตรี. เล่ม ๑ ตอนที่ ๑ เมษายน ๒๔๔๙. อุบลวรรณ ปิติพัฒนะโฆษิต และอวยพร พานิช. ๑๐๐ ปีของนิตยสารสตรีไทย (พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๕๓๑). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๒.
บรรยากาศตลาดเช้าเมืองน่าน จากนิราศเมืองหลวงพระบาง
สินค้าขายรายตลาดดูดาษดื่น
พรรณพื้นผักไห่แลไคลหิน
ทั้งกล้วยส้มชมผลจะยลยิน
เหมือนไม้ถิ่นทางไปที่ได้ดู
เนื้อสัตว์ป่าบรรดามีที่หาได้
อีกเป็ดไก่ปูปลาบ้างค้าหมู
หอยโข่งต้มหอยขมปนระคนปู
อึ่งอ่างหนูเขียดนาแลปลาซิว
ปลาแห้งสดกดกาแลปลาดุก
ทั้งปลาอุกอ้ายเบี้ยวบัวตัวจิ๋วจ๋ว
ดูผอมหมดอดแกนตัวแกร็นกริว
ช่างเต็มกิ่วเกนปลาน่าระคาย
แต่เนื้อโคกระบือเป็นถือขาด
ใครพิฆาตฆ่าริบเอาฉิบหาย
ว่าเป็นสัตว์พิพัฒน์ผลคนหญิงชาย
ไม่ทำลายล้างผลาญให้ลาญชนม์
ที่มา : นิราศเมืองหลวงพระบาง แต่งโดยนายร้อยเอกหลวงทวยหาญรักษา (เพิ่ม) เมื่อปีร.ศ. ๑๐๔ (พ.ศ.๒๔๒๘) ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ขณะเป็นจมื่นไวยวรนารถเป็นแม่ทัพใหญ่ยกทัพไทยไปปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง
พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายยืนยง วรโพธิ์ และ เด็กหญิงสุภาวดี วรโพธิ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๘
เสื่อของเมืองจันทบุรีในเอกสารจดหมายเหตุได้กล่าวไว้ว่ามีหลายชนิด ทั้งทำจากต้นกก จากต้นคลุ้มคล้า จากก้านดอกอ้อ และจากหวาย แต่ผู้เขียนขอกล่าวในตอนนี้เฉพาะเสื่อต้นกกเพียงเท่านั้น จากรายงานวิจัยของผศ.ดร.ชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์ เรื่องการทอเสื่อของชาวเว้ที่อพยพจากการถูกเบียดเบียนทางศาสนาประมาณ 130 คน มาตั้งแต่ช่วงอยุธยาตอนปลายว่า ...ก่อนที่อพยพเข้ามาจันทบุรีนั้น ชาวเวียดนามกลุ่มนี้ได้พำนักอยู่ในเขตเขมรระยะหนึ่งพร้อมปลอมตัวเป็นชาวเขมร...ทำให้ชาวคาทอลิกเวียดนามได้นำเอาภูมิปัญญาการทอเสื่อจากเขมรเข้ามาประยุกต์ใช้หลังจากได้มาตั้งฐานในจังหวัดจันทบุรี เรียกว่า"เสื่อญวนอพยพ"หรือ"เสื่อญวนหลังวัด" "เอาไว้ขายเลี้ยงชีพ เลี้ยงอาราม" คือวัตถุประสงค์ในการทอเสื่อของกลุ่มซิสเตอร์ของวัดโรมันคาทอลิกที่นิยมทอกันในยามว่าง สมัยนั้นเรียกเสื่อฝีมือซิสเตอร์ว่า"เสื่ออาราม"หรือ"เสื่อแม่ชี"เป็นเสื่อที่มีลวดลายการยกดอก ส่วนคริสตชนจะทอเสื่อรวดหรือเสื่อธรรมดา ไม่มีลวดลายสำหรับไว้ใช้งานในบ้านหรือในวัด จากพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 คราวตรวจราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ร.ศ.95 ได้พระราชนิพนธ์เรื่องการทอเสื่อของญวนว่า...เสื่อกกแดงนั้น มีแต่พวกญวนทำแห่งเดียว วิธีทำนั้นเอาต้นกกมาจักให้เล็ก ผึ่งแดดให้แห้ง แล้วจึงย้อมสีต่าง ๆ ตามที่จะให้เป็นลาย สีแดงนั้นย้อมด้วยน้ำฝาง สีดำย้อมด้วยหมึก สีเหลืองย้อมด้วยแกแล บ้างที่ย้อมขมิ้น สีน้ำเงินย้อมด้วยครามแต่ใช้น้อย แล้วเอาเข้าสดึงทอเปนลายต่าง ๆ เปนเสื่อ ผืน/ลวด บ้างยาวตามแต่จะต้องการ กว้างเฉภาะชั่วต้นกก เปนสินค้าออกนอกเมือง...(ภาษาคงตามต้นฉบับ :ผู้เขียน) ในเวลาต่อมาความนิยมในเสื่อญวนยังคงอยู่เนื่องจากมีความเป็นเอกลักษณ์ในตนเองคือการทอจากกกกลม ซึ่งมีเส้นเล็กและมีความเหนียวมากจึงทำให้เสื่อกกมีลายที่ละเอียดประณีต สามารถออกแบบให้เป็นลายต่างๆได้ จึงเป็นที่ต้องการของทางรัฐบาลในการนำไปจัดแสดงยังนานาประเทศ ยกตัวอย่างเช่น พ.ศ.2457 เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งให้สมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี ให้จัดส่งผลิตภัณฑ์และสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านไปร่วมจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เมืองแซนฟรานแซสโก ณ ประเทศอเมริกา หนึ่งในนั้นได้แก่"เสื่อกก"ลายยกดอกตราอาม ลายยกดอกหน้าสัตว์ ลายยกดอกครุฑ และลายธรรมดา จากการนำไปจัดแสดงครั้งนั้นได้รับรางวัลเป็นเหรียญเกียรติยศพร้อมใบประกาศ นอกจากนี้ ในพ.ศ.2475 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ว่า...มีความประสงค์ให้ว่าจ้างช่างที่มีฝีมือดี(ในสำนักชี)จัดทอเสื่อ...เพื่อร่วมในการแสดงในงานพิพิธภัณฑ์นานาประเทศ ณ เมืองเรไยนา ประเทศแคนาดา ชนิดที่สั่งทำ ได้แก่ เสื่อชั้นเดียวลายละเอียดสีขาวสลับสีน้ำเงิน เสื่อชั้นเดียวลายละเอียดสีแดงสลับสีดำ และเสื่อสองชั้นลายตาหมากรุกสีแดงสลับสีดำ ในระยะหลังต้นกกบริเวณชุมชนวัดโรมันคาทอลิกเริ่มหมดไปจึงมีการสั่งกกจากชาวไทยพุทธ อีกทั้งสั่งทอเสื่อผืนจากบางสระเก้า จึงนับเป็นก้าวแรกของการทอกกญวนโดยฝีมือชาวบางสระเก้า ต่อมาเมื่อสีวิทยาศาสตร์ที่หาง่ายและคงทนมาแทนที่ กอรปกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้มาประทับที่จังหวัดจันทบุรี และได้ทรงโปรดเกล้าฯจ้างคนงานทอเสื่อจากบางสระเก้ามาทอเสื่อในเขตพระตำหนัก พร้อมกันนั้นพระองค์ทรงออกแบบผลิตภัณฑ์เสื่อกกให้มีรูปแบบหลากหลายและปรับปรุงสีที่ใช้ย้อมกกให้มีความคงทนและหลากสียิ่งขึ้น จนกลายเป็น"เสื่อกกจันทบูร"ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันนี้นั่นเอง ---------------------------------------------------------------ผู้เขียน สุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี นักจดหมายเหตุชำนาญการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ---------------------------------------------------------------อ้างอิง ชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์ และคณะ. 2552. ชีวิตทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของชุมชนวัดโรมันคาทอลิก จังหวัดจันทบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัท ก.พล (1996) จำกัด. สำนักหอจดหมายเหตุเเห่งชาติ. ระยะทางเสด็จประพาสเมืองจันทบุรี. เลขที่ บ1.1/2. ร.ศ.95. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดมณฑลจันทบุรี (13)มท 2.2.4/16 เรื่องกระทรวงมหาดไทย สั่งให้จัดทำยานพาหนะต่างๆ ส่งเข้าไปกรุงเทพฯ (11 พฤษภาคม 2457 – 2 มิถุนายน 2462). หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดมณฑลจันทบุรี (13)มท 2.2.4/287 เรื่องกระทรวงมหาดไทยให้จ้างช่างทอเสื่อกกจันทบุรีเพื่อส่งไปแสดงพิพิธภัณฑ์ที่เมืองเรไยนา ประเทศแคนาดา(13 ม.ค.-28 ก.พ.2475).
เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย 2564 สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เปิดเวทีเสวนาระหว่างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์(Museum Streaming) ภายใต้แนวคิด Creating for all ระหว่างวันที่ 19 - 21 กันยายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์
Museum Streaming วันที่ 21 กันยายน 2564 เสวนาในหัวข้อ "Museum without Walls"
วิทยากรร่วมเสวนา
- ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ (สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียมหาวิทยาลัยมหิดล)
หัวข้อ "รถวิวิตชาติพันธุ์"
- นายจิรภัทร ชนะสิทธิ์ (ผู้ก่อตั้งแฟนเพจเฟสบุ๊ก พิพิธภัณฑ์ พุ่มพวง ดวงจันทร์)
หัวข้อ "พิพิธภัณฑ์ พุ่มพวง ดวงจันทร์"
- นายสุทธิพงษ์ สุริยะ (ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ)
หัวข้อ "พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ"
ดำเนินรายการ โดย
นางสาวสิรินทร์ ย้วนใยดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก
#MuseumStreaming #เสวนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ #ThailandMuseumExpo2021 #มหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย2564#สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ #กรมศิลปากร #วันพิพิธภัณฑ์ไทย2564
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ติดตามข่าวสารและกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่กิจกรรมมหกรรมวันพิพิธภัณฑ์ไทย 2564 : Thailand Museum Expo 2021Facebook Page : Office of National Museums, ThailandYouTube : Office of National Museums, Thailand
ลับแลลายรดน้ำ เรื่องรามเกียรติ์ ตอนกุมภกรรณทดน้ำลับแลลายรดน้ำ เรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระลักษมณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทราชิต ลับแลลายรดน้ำ เรื่องรามเกียรติ์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นของอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่เดิม____________________________________ ฉากไม้สี่เหลี่ยมมุมมน ส่วนขอบฉากเป็นลายรดน้ำลวดลายประจำยามก้ามปู ด้านหน้าประดับลายรดน้ำเรื่องรามเกียรติ์ตอนกุมภกรรณทดน้ำ มีเรื่องย่อว่า กุมภกรรณ ผู้เป็นน้องชายของทศกัณฐ์ออกทำศึกกับฝ่ายพระราม โดยคิดอุบายเนรมิตกายให้ใหญ่เท่าภูเขาแล้วไปนอนขวางทางน้ำเพื่อไม่ให้น้ำไหลไปถึงเขามรกตที่ตั้งทัพของพระราม ฝ่ายพระรามจึงใช้ให้หนุมานไปทำลายพิธีทดน้ำของกุมภกรรณ เมื่อหนุมานพบกับกุมภกรรณที่กำลังนอนขวางทางน้ำก็เข้าต่อสู้กัน ฝ่ายกุมภกรรณสู้หนุมานไม่ได้จึงยกทัพกลับกรุงลงกา ฉากด้านนี้เรียงลำดับโดยมุมบนขวาเป็นภาพนางกำนัลของกุมภกรรณกำลังเก็บดอกไม้ และฉากหนุมานสังหารนางคันธมาลีเพื่อแปลงกายเป็นนางกำนัลแฝงตัวเข้าไปหากุมภกรรณ ถัดมาด้านซ้ายเป็นฉากหนุมานพบกุมภกรรณที่กำลังขวางทางน้ำและต่อสู้กัน ฉากด้านล่างเป็นภาพกุมภกรรณยกทัพกลับกรุงลงกา ส่วนฉากด้านหลังประดับลายรดน้ำเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระลักษมณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทรชิต มีเรื่องย่อว่า อินทรชิตตั้งโรงทำพิธีกุมภนิยาอยู่ที่เขาจักรวาล พระลักษมณ์และขุนกระบี่เข้าทำลายพิธี อินทรชิตสู้กับพระลักษมณ์ไม่ได้จึงหนีกลับไปกรุงลงกา ฉากด้านนี้เรียงลำดับโดยแบ่งเป็นสองตอน ตอนบนเป็นฉากพระลักษมณ์และขุนกระบี่ทำลายพิธีกุมภนิยา ตอนล่างเป็นฉากพระลักษมณ์รบอินทรชิต ลับแลนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่าเป็นของที่อยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่เดิมและเป็นของที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ดังข้อความลายพระหัตถ์ว่า “...นึกถึงตัวอย่างที่จะชี้ฝีมือครั้งรัชกาลที่ ๑ ได้ชัด ไปนึกออกถึงลับแลรามเกียรติ์ที่ตั้งอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งวสันตพิมาน เป็นของอยู่ในพระราชวังบวรมาแต่เดิม...” ปัจจุบันลับแลลายรดน้ำเรื่องรามเกียรติ์นี้ จัดแสดงในพระที่นั่งวสันตพิมาน (ชั้นบน) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และกล่าวได้ว่าเป็นงานช่างชิ้นสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชพระองค์แรกในกรุงรัตนโกสินทร์ พระที่นั่งบุษบกเกริน ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร_________________________________ พระที่นั่งบุษบกเกรินหรือบุษบกราชบัลลังก์ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระทวารกลางของพระที่นั่งมุขกระสัน ด้านทิศตะวันออกของหมู่พระวิมาน ลักษณะของพระที่นั่งบุษบกเกรินเป็นงานไม้ปิดทองประดับกระจกในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุมไม้สิบสอง และมีเกรินขนาบทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ของบุษบก ส่วนฐานรองรับเรือนบุษบกประกอบด้วย ฐานสิงห์หนึ่งชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวปากฐานหรือฐานเชิงบาตรซ้อนกันสามชั้น หน้ากระดานแต่ละชั้นจำหลักลายปิดทองประดับกระจกเป็นลายก้ามปูและประดับแนวกระจังตาอ้อย ท้องไม้แต่ละชั้นประดับประติมากรรมไม้จำหลักเรียงจากชั้นล่างถึงชั้นบนประกอบด้วย ชั้นยักษ์ ครุฑ และเทวดา ตามลำดับทั้งหมดอยู่ในท่าพนมมือ ส่วนปลายของเกรินทั้งสองด้านประดับกระหนกเกรินตลอดทั้งสามชั้น ตัวเรือนบุษบกด้านล่างประดับแนวกระจังเจิมกึ่งกลางเป็นกระจังปฏิญาณ เสาเรือนบุษบก ปลายเสาประดับกาบพรหมศร กึ่งกลางประดับประจำยาม หัวเสามีคันทวยรองรับชายหลังคา ชั้นหลังคาประกอบด้วยชั้นเชิงกลอนในผังยกเก็จเพิ่มมุมไม้สิบสองซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปห้าชั้น แต่ละชั้นประดับซุ้มบรรพแถลงและบราลี ที่มุมหลังคาประดับนาคปัก ถัดขึ้นไปเป็นชั้นองค์ระฆังในผังเพิ่มมุมไม้สิบสอง ส่วนบนได้แก่ บัลลังก์ เหม บัวคลุ่มเถา ปลีคั่นด้วยลูกแก้ว ปลียอดและเม็ดน้ำค้าง เรียงกันขึ้นไปตามลำดับ พระที่นั่งบุษบกเกรินหรือพระที่นั่งบุษบกราชบัลลังก์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เดิมเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งพรหมพักตร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนางหรือออกว่าราชการ ดังนั้นจึงเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า “ท้องพระโรงหน้า” ถัดจากเบื้องหน้าพระที่นั่งบุษบกเกรินเป็นชาลาและมีอาคารทิมคดตั้งอยู่สามด้านเรียกว่า “ทิมมหาวงศ์” สำหรับเป็นที่ประชุมนักปราชญ์ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ได้ดำเนินการสร้างอาคารพระที่นั่งขึ้นใหม่ต่อมาจากพระที่นั่งมุขกระสันและรื้อทิมมหาวงศ์ ให้พระที่นั่งบุษบกเกรินประดิษฐานอยู่กึ่งกลางภายในอาคาร พระราชทานนามว่า พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยพระที่นั่งพรหมพักตร์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร_________________________________ พระที่นั่งพรหมพักตร์ ตั้งอยู่บนพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เป็นงานไม้จำหลักลายปิดทองประดับกระจกในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จ รูปแบบเดียวกับบุษบกยอดทรงปราสาท ส่วนฐานประกอบด้วยชุดฐานสิงห์หนึ่งชั้น ส่วนหลังสิงห์ประดับแนวกระจังตาอ้อย ฐานหน้ากระดานบนจำหลักลายปิดทองประดับกระจกลายประจำยามก้ามปู ถัดขึ้นมาเป็นฐานเชิงบาตรหนึ่งชั้น ส่วนท้องไม้ปิดทองประดับกระจกลายดอกซีกดอกซ้อน หน้ากระดานบนจำหลักลายปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายประจำยามก้ามปู และประดับแนวกระจังตาอ้อยด้านบนและกระจังรวนด้านล่าง ส่วนเรือนแบ่งออกเป็นสามห้องยกพื้นห้องกลางเป็นประธาน เสาเรือนปีกซ้ายและปีกขวาเป็นเสาสี่เหลี่ยม ส่วนเสาห้องกลางเป็นเสาเพิ่มมุมไม้สิบสอง ปลายเสาประดับกาบพรหมศร กึ่งกลางประดับประจำยาม หัวเสาประดับคันทวยรองรับชายหลังคา ชั้นหลังคาเป็นหลังคาทรงจั่วซ้อนสองชั้นประดับครุฑยุดนาครองรับส่วนเครื่องยอด เครื่องยอดประกอบด้วยชั้นเชิงกลอนซ้อนลดหลั่นกันขั้นไปห้าชั้น แต่ละชั้นมีบรรพแถลงที่มุมประดับนาคปัก รองรับส่วนองค์ระฆังและบัลงก์ในผังเพิ่มมุม ด้านบนเป็นพรหมพักตร์ บัวคลุ่มเถา ปลีคั่นด้วยลูกแก้ว ปลียอดและเม็ดน้ำค้าง เรียงกันขึ้นไปตามลำดับ รูปแบบชั้นหลังคาพระที่นั่งองค์นี้คล้ายกับชั้นหลังคาของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง สันนิษฐานว่าพระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงใช้เป็นที่ประทับในคราวเสด็จออกฝ่ายใน สำหรับห้องปีกซ้ายและขวานั้นสันนิษฐานว่าเป็นที่ประทับของเจ้าศิริรจจา พระชายา และสมเด็จเจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร พระราชธิดาหีบลายมังกร ศิลปะรัตนโกสินทร์พุทธศตวรรษที่ ๒๔ สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันจัดแสดง ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร_________________________________ หีบไม้จำหลักลายปิดทองประดับกระจก ลักษณะเป็นหีบทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนปากหีบกว้าง ตัวหีบสอบเข้าหากันเล็กน้อย ด้านข้างหีบจำหลักลายมังกรคู่จับลายกระหนกเครือเถา ล้อมรอบด้วยกรอบสี่เหลี่ยมลายกรวยเชิงและลายประจำยามก้ามปูคั่นด้วยแนวจุดไข่ปลา หีบลายมังกรชิ้นนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ในลายพระหัตถ์เมื่อ วันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ มีใจความกล่าวว่าหีบใบนี้น่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ด้วยเหตุผลสามประการ คือ ประการแรกลวดลายหีบรูปมังกรคู่ดังกล่าว คล้ายกับลวดลายมังกรคู่บริเวณหย่องของหมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคลและหอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นฝีมือช่างวังหน้าสร้างในรัชกาลที่ ๑ ประการที่สองเป็นหีบประดับกระจกไม่ใช่หีบไม้จำหลักลายธรรมดาจึงน่าจะเป็นของที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และประการที่สามขนาดของหีบมีขนาดเล็กกว่าหีบศพทั่วไปจึงน่าจะสร้างขึ้นเพื่อไว้ใส่ศพสตรีที่มีบรรดาศักดิ์พระเก้าอี้พับ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งมุขกระสัน หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร_________________________________ พระเก้าอี้พับ โครงพระเก้าอี้ทำด้วยไม้ส่วนที่ประทับทำด้วยหนัง พนักเก้าอี้จำหลักลายพันธุ์พฤกษากลางพนักมีนวมหนังสำหรับรับพระปฤษฎางค์เมื่อเอนพระองค์ลงพิง สันนิษฐานว่าพระเก้าอี้เป็นของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงใช้เข้าในกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน ในกรณีที่เจ้าพนักงานไม่ได้ทอดพระแท่นที่ประทับ เมื่อต้องทรงยืนอยู่นานเจ้าพนักงานจะเชิญพระเก้าอี้เข้าไปทอดถวายแทน ตลอดทรงใช้ในคราวเสด็จงานพระราชสงคราม-----------------------------------พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้บริการทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒ , ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓
ชื่อเรื่อง นิพฺพานสุตฺต (นิพพานสูตร)
สพ.บ. 370/1กประเภทวัสดุมีเดีย คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่ พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ 42 หน้า กว้าง 5 ซม. ยาว 58 ซม.หัวเรื่อง พุทธศาสนา เทศน์มหาชาติ คาถาพัน ชาดก
บทคัดย่อ/บันทึก เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับลานดิบ-ล่องชาด ได้รับบริจาคมาจากวัดลานคา ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
พระอัฏฐารส ณ วัดพระแก้ว เมืองกำแพงเพชร“พระพุทธรูป” เป็นถาวรวัตถุ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาในพระพุทธศาสนา และหลักพระธรรมคำสอนอันประเสริฐ ภายหลังการเสด็จดับขันธเข้าสู่ปรินิพพานของพระองค์ วัดพระแก้ว เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตกำแพงเมืองโบราณกำแพงเพชร ตั้งอยู่บริเวณกลางเมือง ลักษณะผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของวัดใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง เจดีย์ช้างเผือก เป็นกลุ่มโบราณสถานที่ตั้งอยู่ตอนหลังสุดทางด้านทิศตะวันตกของวัดพระแก้วเป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานสี่เหลี่ยม มีเจดีย์บริวารทรงระฆังอยู่ที่มุมทั้ง ๔ ของฐาน โดยรอบฐานสี่เหลี่ยม มีการประดับประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างโผล่ครึ่งตัว จำนวน ๓๒ เชือก แบบศิลปะสุโขทัย มีระเบียงคตล้อมรอบเจดีย์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบ ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์เป็นวิหาร สามารถศึกษาเปรียบเทียบทางศิลปะเทียบเคียงได้กับเจดีย์ประธานแห่งวัดช้างล้อมแห่งเมืองศรีสัชนาลัย และเจดีย์วัดช้างล้อมแห่งเมืองสุโขทัย บริเวณระหว่างวิหารและระเบียงคตที่ล้อมรอบเจดีย์ช้างเผือก เป็นมณฑป ขนาดกว้าง ๑๐.๖๐ เมตร ยาว ๑๒.๕๐ เมตร มีเสาอาคารสร้างด้วยศิลาแลง จำนวน ๑๒ ต้น ตรงกลางของอาคารปรากฏหลักฐานการประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน สร้างจากศิลาแลงชิ้นเดียว โกลนให้เป็นแท่นฐานสี่เหลี่ยมขนาดความกว้าง ๒.๐๐ เมตร ยาว ๒.๑๐ เมตร สูง ๐.๖๐ เมตร ส่วนของพระพุทธรูปคงเหลือเฉพาะแกนศิลาแลงที่โกลนให้เป็นพระบาทถึงข้อพระบาททั้ง ๒ ข้าง ส่วนบนขึ้นไปหักหาย ขนาดความยาวพระบาทแต่ละข้างยาว ๑.๗๐ เมตร กว้าง ๐.๖๐ เมตร สูงถึงข้อพระบาท ๐.๕๗ เมตร สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปในอิริยาบถยืนดังกล่าวคือ “พระอัฏฐารส” คำว่าอัฏฐารสในความหมายตามรากศัพท์ของภาษาบาลีนั้น เป็นคำที่ใช้ในการนับจำนวน ที่เรียกว่าคำสังขยา แบบปกติสังขยา (Cardinals) โดยมีความหมายว่าเป็นจำนวนนับที่ ๑๘ สันนิษฐานว่าพระอัฏฐารส มีความหมาย ๒ แนวทาง คือ แนวทางที่ ๑ หมายถึงความสูงของพระวรกายของพระพุทธเจ้าสมณโคดม ดังปรากฏข้อความในพระไตรปิฏก พระสุตันตปิฎก อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ พุทธปกิรณกกัณฑ์ ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ตอน ปมาณเวมัตตะ ได้อธิบายถึงความสูงของพระวรกาย พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ในรูปประโยคของภาษาบาลี ดังนี้ “…กกุสนฺธโกณาคมนกสฺสปา ยถากฺกเมน จตฺตาลีสตึสวีสติหตฺถุพฺเพธา อเหสุ ํ อมฺหากํ ภควา อฏฺฐารสหตฺถุพฺเพโธ”แปลว่า “พระพุทธเจ้าคือพระกกุสันธะ พระโกนาคมนะและพระกัสสปะ พระวรกายสูง ๔๐ ศอก ๓๐ ศอก ๒๐ ศอก ตามลำดับ ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา สูง ๑๘ ศอก…” แนวทางที่ ๒ หมายถึงจำนวน ๑๘ ประการ ของพุทธธรรม หรือคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ดังปรากฏข้อความในบทสวดมหาราชปริตร หรือปริตรหลวงชุดใหญ่ อาฏานาฏิยปริตร ดังนี้“…อุเปตา พุทธะธัมเมหิ อัฏฐาระสะหิ นายะกา ทวัตติงสะลักขะณูเปตา สีตยานุพยัญชะนาธะรา พยามัปปะภายะ สุปปะภา สัพเพ เต มุนิกุญชะรา…”แปลว่า “…พระพุทธเจ้าผู้นำโลก ทรงประกอบด้วยพุทธธรรม ๑๘ ประการ มหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ ทรงไว้ซึ่งอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ มีพระรัศมีอันงามผุดผ่องประมาณวาหนึ่งเป็นปริมณฑล ทุกพระองค์ทรงเป็นพระมุนีผู้ประเสริฐ ปานว่าพญากุญชรชาติอันมีตระกูล…” คำว่า “พระอัฏฐารส” ได้ปรากฏหลักฐานข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๔ โดยระบุถึงพระพุทธรูปที่เรียกว่าพระอัฏฐารส ที่ประดิษฐานอยู่บริเวณกลางเมืองสุโขทัย ดังนี้ “…กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูปอันใหญ่…” สันนิษฐานว่า “พระอัฏฐารส” ที่ปรากฏข้อความดังกล่าว คือพระพุทธรูปในอิริยาบถยืนที่ประดิษฐานภายในมณฑปทางด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ของเจดีย์ประธาน วัดมหาธาตุข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๔ ระบุถึงพระอัฏฐารสที่ประดิษฐานอยู่ในเขตอรัญญิก นอกกำแพงเมืองสุโขทัย ด้านทิศตะวันตก ดังนี้ “…ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่ สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารศอันณึ่ง ลุกยืน…” สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถยืนที่ประดิษฐานภายในวิหารวัดสะพานหิน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยพระอัฏฐารศที่ประดิษฐานภายในมณฑป วัดพระแก้ว เมืองกำแพงเพชรสามารถเปรียบเทียบรูปแบบทางคติและความนิยมในการสร้างเทียบเคียงได้กับพระอัฏฐารสแห่งวัดมหาธาตุและวัดสะพานหิน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และสันนิษฐานได้ว่ามีอายุในสมัยสุโขทัยราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐เอกสารอ้างอิงกรมการศาสนา. การอ่านภาษาบาลีเบื้องต้น . กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๑.กรมการศาสนา. พระไตรปิฏกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การ รับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.), ๒๕๔๘.กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑.กรมศิลปากร. ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), ๒๕๔๘.กรมศิลปากร. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. นครปฐม: บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๕๘.กรมศิลปากร. รายงานการบูรณะโบราณสถานวัดพระแก้ว จังหวัดกำแพงเพชร . กำแพงเพชร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร, ๒๕๔๓.บุณยกร วชิระเธียรชัย. “ศึกษาวิเคราะห์คติความเชื่อเรื่องพระอัฏฐารสที่มี อิทธิพลต่องานพุทธศิลป์” วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬา ลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๕๔.มหามกุฏราชวิทยาลัย.พระไตรปิฏกและอรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒. นครปฐม: โรงพิมพ์มหามกุฏราช วิทยาลัย, ๒๕๔๘.มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์. หนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรถวายพระกุศลแด่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ประธานมูลนิธิร่วมจิตต์ น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์. (กรุงเทพฯ: บริษัท มาสเตอร์ คีย์ จำกัด, ๒๕๕๓.ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑.
ชื่อเรื่อง ตำราเวชศาสตร์ (ตำรายา)
สพ.บ. 312/1กประเภทวัสดุมีเดีย คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่ เวชศาสตร์ลักษณะวัสดุ 54 หน้า กว้าง 5.4 ซม. ยาว 29.4 ซม.หัวเรื่อง ตำรายา
บทคัดย่อ/บันทึก เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรไทย-ธรรมอีสาน ภาษาไทย-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับลานดิบ (ลานก้อม) ได้รับบริจาคมาจาก วัดบ้านหมี่ ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี