ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 41,347 รายการ
เลขวัตถุ
ชื่อวัตถุ
ขนาด (ซม.)
ชนิด
สมัยหรือฝีมือช่าง
ประวัติการได้มา
ภาพวัตถุจัดแสดง
35/2553
(6/2549)
ขวานหินกะเทาะ
ย.16.5
ก.7.2
หนา 3
หิน
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุราว 2,500-2,000 ปีมาแล้ว
ได้จากบ้านเขาเพิ่ม อำเภอบ้านนา จ.นครนายก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2539
วันอังคารที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ ห้องรับรอง ๒ กระทรวงการต่างประเทศ นายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ ประกอบด้วยนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และนายณัฐพล ณ สงขลา ผู้อำนวยการกองทูตวัฒนธรรม เป็นผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ทำพิธีมอบโบราณวัตถุบ้านเชียง จำนวน ๑๓ รายการ ที่ชาวไทยในสหรัฐอเมริกาประสงค์ส่งมอบคืนให้กับประเทศไทยผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้แก่กรมศิลปากรเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยนางสาวนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นผู้แทนกรมศิลปากรรับมอบ การส่งคืนโบราณวัตถุในครั้งนี้เกิดจาก นายมะลิ นงเยาว์ ชาวไทยในสหรัฐอเมริกา ประสานมายังสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ว่ามีความประสงค์มอบโบราณวัตถุ กลับคืนสู่ประเทศไทยเพื่อเป็นสมบัติของชาติ ประกอบไปด้วย ภาชนะดินเผา จำนวน ๕ รายการ และกำไลสำริด จำนวน ๘ รายการ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๖ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส เป็นผู้แทนรับมอบโบราณวัตถุดังกล่าว ณ วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้จัดส่งโบราณวัตถุดังกล่าวผ่านถุงเมล์การทูตพิเศษมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๖
ตลอดระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นต้นมา นอกจากสามารถติดตามโบราณวัตถุชิ้นสำคัญกลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๖๔ จำนวน ๒ รายการ ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้วแล้ว ยังสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชน ส่งผลให้มีผู้ประสงค์มอบโบราณวัตถุที่อยู่ในครอบครองทั้งในต่างประเทศ และภายในประเทศไทย เพื่อเป็นสมบัติของชาติอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๖) รวมจำนวน ๑๐ ราย มีวัตถุที่ส่งมอบแล้ว จำนวน ๖๓๑ รายการ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร เป็นพิพิธภัณฑสถานที่ก่อตั้งขึ้นโดยดำริของผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (นายประยูร พรหมพันธ์) เมื่อราว พ.ศ. ๒๕๓๗ และจังหวัดชุมพรได้มอบที่ดินแก่กรมศิลปากรเพื่อใช้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถาน จำนวน ๗ ไร่ กรมศิลปากรโดยอธิบดีกรมศิลปากร (นายสมคิด โชติกวณิชย์) จึงได้ดำเนินการกำหนดเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองของคณะรัฐมนตรี ที่มุ่งหมายจะกระจายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติออกไปในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งพิพิธภัณฑสถานถือเป็นสถาบันการศึกษานอกระบบที่เอื้อประโยชน์ในเรื่องการเรียน การสอนในวิชาท้องถิ่นศึกษาให้สมบูรณ์ ทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เสริมความภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่น
ในการดำเนินงานตามโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพรนั้น เริ่มระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๓๘-๒๕๔๐ แบ่งเป็นการสำรวจและรวบรวมข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับจังหวัดชุมพรเพื่อใช้ในการเขียนบทการจัดแสดง และเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการของจังหวัดชุมพร บริเวณขาสามแก้ว ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารจัดแสดงแห่งนี้คือ นายอุดม สกุลพาณิชย์ สถาปนิก ๗ สถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากร โดยในการออกแบบอาคารจัดแสดง สถาปนิกได้ผสมผสานลักษณะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและสถาปัตยกรรมร่วมสมัยไว้ด้วยกัน ทำให้อาคารจัดแสดงที่ออกแบบจัดสร้างมีลักษณะโดดเด่น ทันสมัย และเอื้อประโยชน์ใช้สอย ส่วนพื้นที่จัดแสดง ประกอบด้วย ห้องจัดแสดง พื้นที่ส่วนบริการ ห้องสมุด ห้องบรรยาย สำนักงาน คลังเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร ขอแนะนำวิธีการเข้าชมการจัดแสดงได้ 4 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ติดต่อขอเข้าชมที่จุดจำหน่ายบัตร
กรณีที่ 2 ทำหนังสือขออนุญาตเข้าชมเป็นหมู่คณะ ระบุวัน เวลา และจำนวนผู้เข้าชม ส่งหนังสือล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันทำการ
กรณีที่ 3 สามารถจองคิวเข้าชมออนไลน์ ได้ที่เพจ Facebook พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร ตามขั้นตอนดังนี้
- กดปุ่ม "จองเลย" ได้ที่หน้าเพจ
- เลือกประเภทการเข้าชม
- ระบุวัน เวลา เข้าชม
- กดนัดหมาย
- รับข้อความยืนยันทาง messenger
กรณีที่ 4 ยื่นคำร้องขออนุญาตเข้าบันทึกภาพ ไม่น้อยกว่า 5วันทำการ ตามระเบียบกรมศิลปากร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร เปิดให้เข้าชม วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 9.00 - 16.00 น. ปิดวันจันทร์ - วันอังคาร และหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจ Facebook พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร หรือ โทร. 0 7763 0758
กรมอุตินิยมวิทยาได้ประกาศ การเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๖ ในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ พบว่า จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับผิวพื้นถึงความสูงประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของ ประเทศไทยในปีนี้
.
ในฤดูฝนก็มีปรากฏการณ์ลมกรรโชกแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า ซึ่งคนไทยในอดีตเชื่อกันว่าเหตุที่ฟ้าแลบนั้นเป็นเพราะนางมณีเมขลาหรือนางเมขลา ผู้ดูแลรักษามหาสมุทร ถือแก้ววิเศษแกว่งไปแกว่งมาอยู่บนก้อนเมฆ ส่วนเสียงฟ้าร้องฟ้าแลบเป็นเสียงของขวานเพชรที่ยักษ์รามสูรขว้างออกไปหวังประหารนางเมขลา เพราะรามสูรอยากได้แก้วในมือนางมณีเมขลา
.
หากสืบความพบเรื่องราวเมขลาล่อแก้ว ปรากฏในหนังสือ “เฉลิมไตรภพ” เป็นวรรณกรรมโบราณที่มีลักษณะเป็นตำนานหรือนิทาอธิบายเหตุ มีที่มาจากตํานานในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ พุทธศาสนา และวรรณกรรมไทย และมีแนวคิดเกี่ยวข้องกับเรื่องเทพเจ้า โลก-จักรวาล และชีวิต ที่ผู้แต่งได้ร้อยเรียงเรื่องไตรภพหรือสามโลก ตำนานการสร้างโลก เทวกำเนิด และปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ
.
เฉลิม ไตรภพ กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนางเมขลาแอบกินน้ำอมฤตและขโมยดวงแก้ว ไปจนถึงยักษ์ (รามสูร) ไล่ชิงดวงแก้วนางเมขลาจนเกิดปรากฏการณ์ฝนฟูานั้น เฉพาะเหตุการณ์ ยักษ์ (รามสูร) ไล่ชิงดวงแก้วนางเมขลาจนเกิดปรากฏการณ์ฝนฟ้า เป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นในรามายณะฉบับอินเดียตอนใต้ซึ่งเข้าใจว่ามีอิทธิพลต่อวรรณกรรมไทยโบราณ ดังปรากฏหลักฐานให้ เห็น เช่น สมุดภาพไตรภูมิฉบับอยุธยา หรือในรามเกียรติ์สํานวนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่กล่าวถึงรามสูร ปะโรต และนางเมขลาทําให้เกิด ปรากฏการณ์ฝนฟ้า แม้เหตุการณ์ยักษ์ (รามสูร) ไล่ชิงดวง แก้วนางเมขลาจนเกิดปรากฏการณ์ฝนฟ้า ซึ่งโครงเรื่องนี้คงเป็นแนวคิดร่วมกันที่พบตั้งแต่ “เฉลิมไตรภพ” กลุ่มสุริยาศศิธรในสมัยอยุธยา มาจนถึงกลุ่มพระยาราชภักดี (ช้าง) สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งผู้ประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ประพันธ์ประเภทกลอนสวด ประกอบด้วย โคลงสี่สุภาพ ร่าย และกาพย์ ไว้ให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน
.
ที่มาข้อมูลและภาพ
๑. หนังใหญ่ เมขลาล่อแก้ว อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เก็บรักษาที่ห้องหนัง คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
๒. เว็บไซด์ กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th/
๓. เปรมวัฒนา สุวรรณมาศ, “เฉลิมไตรภพ”: การศึกษาแนวคิดและกลวิธีสร้างสรรค์, วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทยและภาษาวัฒนธรรมตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๖๐.
๔. ภาพเมขลาในสมุดไทยดำ จาก https://th.wikipedia.org/
.
เผยแพร่โดย นางสาวศรินยา ปาทา ภัณฑารักษ์ชำนาญการ กลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี ขอเชิญรับชมการถ่ายทอดสด Facebook Live การจัดโครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “พื้นนคราเมืองร้อยเอ็ด” โดยมีวิทยากรประกอบไปด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาติ มณีโชติ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญชู ภูศรี ผู้ดำเนินรายการ นางสาวอาทิพร ผาจันดา นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ในวันพฤหัสบดีที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๖.๓๐ น. ณ ศูนย์บริการและส่งเสริมสุขภาพประชาชนสระสิม ศูนย์บริการและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้สนใจสามารถติดตามชมการถ่ายทอดสดได้ทาง Facebook Live : สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี
องค์ความรู้ทางวิชาการ เรื่อง โบราณสถานกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช
กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่ากำแพงเมืองนครศรีธรรมราช สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยอยุธยา ราว พ.ศ.๒๒๒๙ โดยโปรดเกล้า ฯ ให้มิสเตอร์ลามาร์ (Monsieur Lamare) วิศวกรชาวฝรั่งเศส เข้ามาทำแผนที่และร่างแบบแปลนแผนผังป้อมและกำแพงเมือง
ลักษณะของกำแพงเมืองมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูเมืองล้อมรอบ ๑ ชั้น ขนาดความกว้างของเมือง ประมาณ ๕๐๐ เมตร ความยาว ประมาณ ๒,๒๓๙ เมตร แนวกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกและตะวันตกถูกเกลื่อนกลายเป็นถนนแล้วตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เหลือเพียงกำแพงด้านทิศเหนือฟากตะวันออกประมาณ ๑๐๐ เมตร ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ ลักษณะเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน อยู่บนสันเชิงเทินดิน ยอดกำแพงก่ออิฐเป็นรูปใบเสมามีป้อมตรงกลางปากประตูเมือง (ติดกับสะพานนครน้อย) คูเมืองด้านทิศเหนือ (คลองหน้าเมือง) ยังมีสภาพค่อนข้างดี เนื่องจากได้รับการบำรุงรักษาขุดลอกอยู่เสมอ โดยเทศบาลนครนครศรีธรรมราช คูเมืองด้านทิศตะวันออกได้รับผลกระทบจากการรื้อกำแพงเมืองไถปรับเป็นถนนศรีธรรมโศก คูเมืองจึงถูกถมและถูกบุกรุกปลูกสร้างบ้านเรือนสภาพตื้นเขินและขาดเป็นช่วง ๆ หมดสภาพแล้ว กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกกลายเป็นถนนศรีธรรมราช คูเมืองตื้นเขินเหลือเพียงร่องน้ำเล็ก ๆ กำแพงเมืองด้านทิศใต้กลายเป็นที่ราบคูเมืองด้านทิศใต้คือคลองป่าเหล้าเป็นลำน้ำธรรมชาติ
ปัจจุบันกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๓๐ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙
จัดทำโดย
นายสรรชัย แย้มเยื้อน และ นายสหภาพ ขนาน นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาการจัดการสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช #โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนนครศรีธรรมราช
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง
๑) นภัคมน ทองเฝือ. โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนในเขตพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๓
๒) กองโบราณคดี กรมศิลปากร. โบราณสถานอำเภอเมือง-อำเภอท่าศาลา-และอำเภอสิชล นครศรีธรรมราช. สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช, ๒๕๖๓.
องค์ความรู้เรื่อง วันศิลปินแห่งชาติ 24 กุมภาพันธ์
ผู้เรียบเรียง : นางสาวทิพย์สุดา อาจดี เจ้าพนักงานห้องสมุดปฏิบัติงาน
จารึกวัดข่วงชุมแก้ว พ.ศ. ๒๐๓๒ จารึกวัดข่วงชุมแก้ว หรือจารึกวัดหนองหนาม ลพ. ๒๓ เดิมอยู่ในพิพิธภัณฑ์มณฑลพายัพ วัดพระธาตุหริภุญชัย หนังสือวิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เรียกจารึกนี้ตามสถานที่พบว่าจารึกวัดหนองหนาม ปัจจุบันอยู่ในตำบลหนองหนาม อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ต่อมาในจารึกล้านนา ภาค ๒ เล่ม ๑ จารึกในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ได้ใช้ชื่อว่าวัดข่วงชุมแก้ว ด้วยพบคำว่าวัดข่วงชุมแก้วปรากฏในจารึกหลักนี้ จารึกวัดข่วงชุมแก้ว แผ่นหินทรงใบเสมา จารึกด้วยอักษรฝักขาม ระบุ พ.ศ. ๒๐๓๒ ตรงกับรัชกาลพญายอดเชียงราย กษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ ๑๐ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๐-๒๐๓๘ เนื้อหาของจารึก ระบุศักราชได้ ๘๕๑ ตัว ปีกัดเร้า หรือจุลศักราชได้ ๘๕๑ ตรงกับพ.ศ. ๒๐๓๒ ปีระกา เนื้อหาโดยย่อ ด้านที่ ๑ กล่าวถึงมหาเทวี ได้พระราชทานจังโกอันปิดด้วยทองคำ พร้อมทั้งได้ถวายข้าคำสำหรับอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าและดูแลวัด จำนวน ๑๐ ครัวเรือน ซึ่ง มหาเถรมังคลพุทธิมาเจ้า ได้สร้างอารามข่วงชุมแก้ว เมืองควก ตามฤกษ์ที่ปรากฏบนจารึก ตรงกับวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๐๓๒ ในครั้งนั้นได้มีการถวายข้าคน ตามรายนามดังนี้ พันจัน ถวายข้าคน ๓ ครัวเรือน แม่มหาเถรมังคลพุทธิมาเจ้า จำนวน ๑ ครัวเรือน มหาเถรมังคลพุทธิมาเจ้า ๔ ครัวเรือน สืบต่อเนื่องกันไปจนถึงลูกหลานสืบต่อกันไปตราบต่อเท่าสิ้นศาสนา ๕,๐๐๐ ปีเนื้อหาโดยย่อด้านที่ ๒ ส่วนแรกกล่าวถึงจารึกระบุถึงการฝังหินจารึกในอีก ๒ วันต่อมา โดยมีปรากฏสักขีพยานประกอบไปด้วยพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ท่ามกลางประชาชนในเมืองควก ได้แก่ มหาพุกามเจ้า มหาสามีศรีสุนันทะกัลยาณะ กับราชบัณฑิต ตามด้วยชื่อขุนนาง มีพันนาหลังเชียงน้อย แสนเขาสอย ร้อยนาหลัง ล่ามหมื่น ลำพันคอม ส่วนที่สอง กล่าวถึงการรับพระราชอาชญาจากมหาราชเทวีให้ราชบัณฑิตชื่อญาณวิสารทะ พร้อมด้วยมหาพุกามเจ้า ไปยังที่ประชุมพระสงฆ์โดยมี มหาสามีศรีสุนันทะกัลป์ยาณะเป็นประธาน ผูกพัทธสีมาไว้ในวัดข่วงชุมแก้วนี้ แบ่งเป็นเขต ๒ เขต ท่ามกลางหมู่พระสงฆ์ที่มาชุมนุมกันอยู่ในขณะนี้ทราบโดยทั่วกัน มหาเทวีที่ปรากฏในจารึกนี้ อาจเป็นพระมเหสีในพระเจ้ายอดเชียงราย ที่ครองราชย์ในขณะนั้น ด้วยในรัชสมัยของพระองค์ปรากฏการสร้างวัดหลายแห่งโดยปรากฏชื่อมหาเทวี เช่น จารึกวัดตะโปทารามที่กล่าวถึงพระนางอะตะปาเทวี จารึกวัดพวกชอด พ.ศ. ๒๐๓๔ จารึกวัดมหาวัน (พะเยา) และจารึกวัดต้องแต้ม ที่กล่าวถึงการสร้างวัดของมหาเทวี แสดงให้เห็นถึงสถานะของสตรีชั้นสูงในสมัยล้านนาที่มีบทบาทในการทำนุบำรุงพระศาสนาโดยได้ถวายสิ่งของ ข้าคน มอบอำนาจให้ราชบัณฑิตในการกำหนดเขตวัดหรือเขตสีมาหรือกระทำการแทน อ้างอิง ก่องแก้ว วีระประจักษ์ (และคนอื่นๆ). จารึกล้านนา ภาค ๒ เล่ม ๑-๒ : จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ :กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต เตรียมจัดการแสดงละคร เรื่อง เลือดสุพรรณ บทประพันธ์ของ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร นำแสดงโดยนาฏศิลปินรุ่นใหม่ ในวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี ละคร เรื่อง เลือดสุพรรณ เป็นละครที่มีรูปแบบละครผสม คือ มีบทพูดแบบละครพูด มีทั้งการรำแบบละครรำ การบรรเลงและขับร้องเพลงไทย และเพลงไทยสากล จัดการแสดงเพื่อจูงใจให้ผู้ชมเกิดความสมัครสมานสามัคคี มีไมตรีต่อกัน และเสียสละชีวิตเพื่อชาติ ประพันธ์บทโดย พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ออกแสดงเผยแพร่ให้ประชาชนชมครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช 2479 และได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเพลงร้องในละคร คือ เพลงเลือดสุพรรณ และเพลงดวงจันทร์ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ต่อมามีการนำมาสร้างใหม่หลายครั้งทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้อนุรักษ์ สืบทอด และเผยแพร่การแสดงละคร เรื่องเลือดสุพรรณ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ที่มีต่อกรมศิลปากรอย่างมากมาย เนื่องในวาระต่างๆ พุทธศักราช 2567 กรมศิลปากร จึงกำหนดจัดการแสดงละคร เรื่องเลือดสุพรรณ ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบการบรรเลงและขับร้องเพลงไทย และเพลงไทยสากล โดยวงดุริยางค์ไทย และวงดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต นำแสดงโดยนาฏศิลปินรุ่นใหม่ อาทิ ปริญเมศร์ จูไหล รับบท มังราย นงลักษณ์ กลีบศรี รับบทดวงจันทร์ วัชรวัน ธนะพัฒน์ รับบทมังมหาสุรนาท กำกับการแสดงโดย ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ อำนวยการแสดงโดย ลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กำหนดจัดแสดง ในวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 ติดตามรายละเอียดการจองบัตรได้ที่เว็บไซต์กรมศิลปากร finearts.go.th และเฟสบุ๊ก เพจ กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร https://www.facebook.com/prfinearts