ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,869 รายการ
ที่มา: https://datasipmu.finearts.go.th/academic/70
สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เถลิงรัชช์หัตถศิลป์” เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ ๙ มิถุนายน – ๑๗ กันยายน ๒๕๖๖ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
นิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เถลิงรัชช์หัตถศิลป์” จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดง อาทิ แผ่นไม้สลักเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และดอกพิกุลทอง ดอกพิกุลเงิน สมัยรัตนโกสินทร์ หนังสือสมุดไทย ฝาบาตรและเชิงบาตรประดับมุกที่ระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๕ นอกจากนี้ ยังมีงานศิลปกรรมในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และผลงานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศ์ ซึ่งสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรได้สร้างสรรค์ขึ้น อาทิ
- ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ (เทคนิคสลักดุนโลหะ ปิดทอง ลงยาสีและประดับคริสตัล)
- เครื่องไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ถวายสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ (เทคนิคประดับมุกทึบเต็มพื้นที่ (ปูพื้นอย่างโมเสค) ประดับด้วยลายโลหะสลักดุน
- พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เทคนิคเขียนสีน้ำมัน) พร้อมกรอบปั้นปูนน้ำมัน
- พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ต้นแบบปูนปลาสเตอร์)
- การเขียนภาพจิตรกรรมลำดับเหตุการณ์สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ด้วยเทคนิคเขียนสีฝุ่นบนพื้นกาวเม็ดมะขามผสมดินสอพอง โดยได้รวบรวมขั้นตอนเป็นองค์ความรู้สืบทอดกระบวนการงานช่างแบบโบราณของกลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่
ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เถลิงรัชช์หัตถศิลป์” ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๖ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร)
กรมศิลปากร จัดสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองในโอกาสครบรอบ ๑๑๒ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร พุทธศักราช ๒๕๖๖ กรมศิลปากร ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลอง และเหรียญพระพุทธสิหิงค์ เพื่อหารายได้นำเข้ากองทุนโบราณคดี ใช้ในการบูรณะโบราณสถาน และกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ การจัด สร้างครั้งนี้ ออกแบบโดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ด้วยฝีมืออันงดงาม ถือเป็นการจัดสร้างครั้งแรก และจัดสร้างจำนวนจำกัด พิเศษคือใต้ฐานของพระพุทธสิหิงค์จำลองทุกองค์ได้บรรจุไม้ช่อฟ้าเดิมซึ่งเป็นส่วนสูงสุดของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และเทียนชัยเข้าพรรษา ซึ่งถวายองค์พระพุทธสิหิงค์เพื่อเป็นนิมิตแห่งความสว่างไสวของชีวิต
ในการนี้ กรมศิลปากรจะจัดพิธีมหาพุทธาภิเษก ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดย พระเถรานุเถระ ผู้ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชน จำนวน ๙ รูป ในวันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๔๙ น. เป็นวันมหาสิทธิโชค และตรงกับราชาแห่งฤกษ์ โดยจะอัญเชิญวัตถุมงคลที่จัดสร้างทั้งหมดไว้ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นเวลา ๑ ราตรี เพื่อซึมซับความศักดิ์สิทธิ์ จากองค์พระพุทธสิหิงค์ และถือเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง
กรมศิลปากร จึงเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและผู้สนใจสั่งจองพระพุทธสิหิงค์ พระกริ่งพระพุทธสิหิงค์ และเหรียญพระพุทธสิหิงค์ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายพัสดุ กลุ่มคลังและพัสดุ สำนักบริหารกลาง ชั้น ๓ อาคารกรมศิลปากร เทเวศร์ โทร. ๐ ๒๑๒๖ ๖๕๕๙ หรือ facebook page พระพิฆเนศวร ๑๐๘ ปี กรมศิลปากร (เปิดให้จองในวันจันทร์ -ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐ -๑๖.๐๐ น.) *ปิดวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
จารึกที่คนสับสนกับจารึกเมืองศรีเทพ....
จารึกบ้านหนองไม้สอ เป็นเสากลมรูปสัณฐานคล้ายดอกบัวตูม มีเส้นลวดบัวรอบ ฐานมีเดือยยาวเป็นรูปหมุดหรือตะปู ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็น “หลักเมืองศรีเทพ” สับสนกับจารึกเมืองศรีเทพ ตามพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “ ...ศิลาจารึกพบที่เมืองศรีเทพครั้งนี้แปลกมาก สัณฐานคล้ายตะปูหัวเห็ด ข้างปลายที่เสี้ยมแหลมเป็นแต่ถากโกลน สำหรับฝังดินขัดเกลี้ยง...”
ตามประวัติระบุว่าได้มาจากเมืองศรีเทพ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ คณะกรมการจังหวัดเพชรบูรณ์ส่งมาให้เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๘๑ นำเก็บรักษาไว้ที่คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๗
อยู่ห่างจากจุดที่พบจารึกบ้านวังไผ่ไปทางทิศตะวันออก ๓ กิโลเมตร กำหนดเลขบัญชีวัตถุเป็นจารึก K.๙๗๙ ตาม Inscriptions du Cambodge โดยศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ให้ความเห็นว่าเป็นอักษรขอมสมัยเมืองพระนคร ภาษาขอม ๓ บรรทัด มีร่องรอยถูกอุด มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ กล่าวถึง เสตญ และบริวารหญิง (ไต) ๓ คน
ภายหลังผู้ช่วยศาสตราจารย์กังวล คัชชิมา ได้ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบตัวอักษร “ร” ในจารึกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักราชกำกับไว้ว่า มีลักษณะอักษรเส้นเดียวยาว ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย มักจะเขียนไม่เป็นระเบียบ และตัวหนังสือแตกต่างจากฟูนัน-เจนละ
อีกทั้งอักษรขอมสมัยเมืองพระนคร ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ มีพัฒนามาจากอักษรหลังปัลลวะ ทำให้ถอดเนื้อความได้ใกล้เคียงกัน อาจเปรียบเทียบได้กับคาถาเยธมฺมาอักษรปัลลวะและหลังปัลลวะที่มีความแตกต่างกันสังเกตจากพัฒนาการตัวอักษร
จึงนับว่าจารึกหนองไม้สอเป็นอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ระยะแรก กำหนดอายุได้ราว พ.ศ. ๙๐๐-๑๐๐๐ กล่าวถึง ...ไวษฺณว ราม และลักษมณ... เนื้อความส่วนใหญ่ชำรุดเสียหาย แต่ยังคงแสดงให้เห็นความเชื่อและความรับรู้เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ของเมืองโบราณศรีเทพได้อย่างชัดเจน
อ้างอิงจาก :
กรมศิลปากร. “จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔”. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙.
กรมศิลปากร. “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ”. กรุงเทพฯ : สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี กรมศิลปากร, ๒๕๕๐
กังวล คัชชิมา. “จารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน”. โครงการวิจัยจากกองทุนสนันสนุนการวิจัย นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๖๒
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. “เรื่องเที่ยวที่ต่าง ภาค ๓ เล่าเรื่องเที่ยวมณฑล เพชรบูรณ์และเรื่องความไข้ เมืองเพชรบูรณ์”. กรุงเทพฯ: วิศัลย์การพิมพ์, ๒๕๑๙.
George Cœdès, “Nouvelles inscriptions de Si T’ep (K. 978, K. 979),” in Inscriptions du Cambodge vol. VII .Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1964, แปลโดย ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล
๕ พฤศจิกายน วันคล้ายวันถึงแก่พิราลัย เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย ถึงแก่พิราลัย เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖สิริชันษาได้ ๖๘ ปี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระราชทานนามสกุล ณ ลำภูน (ปัจจุบันใช้คำว่า ณ ลำพูน) เขียนเป็นตัวอักษรโรมันว่า na Lambhun ภาพถ่ายและเครื่องแต่งกายของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าพงศ์ธาดา ณ ลำพูน โอรสองค์ใหญ่มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐ อ้างอิง จ ค นะ ลำพูน ตัวตายดีกว่าชื่อตาย. พิมพ์แจกไนงานพระราชทานเพลิงสพ พลตรี เจ้าจักรคำขจรสักดิ เจ้าผู้ครองนครลำพูน นะ เมรุสุสาน นะ บ้านหลวย ๒๔ ธันวาคม ๒๔๘๖. พระนคร: พระจันท, ๒๔๘๖.พิเชษฐ์ ตันตินามชัย. เจ้าหลวงลำพูน. เชียงใหม่: วิทอินดีไซน์, ๒๕๕๘.
//กลุ่มโบราณสถานกลางเวียงกุมกาม : สมุดบันทึกความลับใต้พิภพจากอดีต//... เย็นนี้แล้ว สำหรับงานท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรี "แอ่วกุมกามยามแลง" ที่จะจัดขึ้น ณ ลานกิจกรรมสาธารณะ วัดหนานช้าง - วัดอีค่าง ใจกลางเวียงกุมกาม ซึ่งมีความสวยงามคลาสสิคตามแบบฉบับของโบราณสถานยุคทองของล้านนา ซึ่งได้เก็บความลับจากอดีตผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานจนมีการค้นพบในปัจจุบัน... กลุ่มโบราณสถานใจกลางเวียงกุมกาม ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญ 3 แห่ง ประกอบด้วย วัดอีค่าง วัดหนานช้าง และวัดปู่เปี้ย กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษ 20 - 22 ร่วมระยะเวลายุคทอง ของอาณาจักรล้านนา หนึ่งในนั้นมีโบราณสถาน 1 แห่งที่เก็บซ่อนความลับจากอดีต เปรียบเสมือนสมุดบันทึกเล่มใหญ่ของเวียงกุมกาม... โบราณสถานที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ คือ วัดหนานช้าง กลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยอาคารมากถึง 13 หลัง อยู่ใต้ชั้นตะกอนทรายลึกกว่า 2 เมตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 ไร่ การขุดศึกษาทางโบราณคดี พบข้อมูลสำคัญ ดังนี้... 1) ภูมิรู้สู้วิกฤตอุทกภัย การขุดศึกษาพบลักษณะชั้นดินก่อเป็นพนังกั้นน้ำ มีวัตถุประสงค์เพื่อกั้นน้ำไม่ให้ท่วมหลากเข้ามาในพื้นที่วัด สะท้อนถึงความพยายามแก้ปัญหาน้ำท่วมของชาวเวียงกุมกามในอดีต... 2) ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับล้านนา การศึกษาทางโบราณคดี พบหลักฐานประจักษ์พยานสำคัญ คือ กลุ่มภาชนะเครื่องถ้วยจีนและเครื่อใช้อื่น ๆ รวมกว่า 50 รายการ บรรจุในใหและถูกนำมาฝังอยู่ในชั้นดินก่อนการล่มสลายของเวียงกุมกาม หนึ่งในหลักฐานกลุ่มนี้ปรากฏเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง ที่ปรากฏจารึกอักษรจีน บ่งชี้ให้เห็นว่า เป็นของที่ผลิตขึ้นจากเตาหลวง สำหรับเป็นเป็นเครื่องต้นสำหรับจักรพรรดิ หรือพระราชทานให้แก่พระมหากษัตริย์ของดินแดนที่มีความสัมพันธ์ทางการทูต และได้รับการยอมรับในพระราชอำนาจจากจักรพรรดิจีนเท่านั้น หลักฐานกลุ่มนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและล้านนาผ่านระบบบรรณาการได้เป็นอย่างดี... 3) การล่มสลายของเวียงกุมกาม จากลักษณะการฝังไหบรรจุกลุ่มเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงที่วัดหนานช้าง พบว่าอยู่ในชั้นดินที่ต่ำกว่าฐานรากของอาคารโบราณสถาน และมีซากปรักหักพังของโบราณสถานปะปนอยู่ชั้นดินตอนบนถัดขึ้นไปเป็นชั้นตะกอนทราย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นการฝังเพื่อต้องการซุกซ่อนสมบัติเพื่อรอเวลาที่จะนำกลับขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อวิเคราะห์ร่วมกับจารึกที่ปรากฏบนเครื่องถ้วยจีน จะพบว่าในห้วงระยะเวลาดังกล่าว (พุทธศตวรรษที่ 22) เชียงใหม่อยู่ในสภาวะวุ่นวาย มีการแย่งชิงอำนาจทั้งจากภายในและภายนอก จากทั้งพม่าและกรุงศรีอยุธยา จึงอาจเป็นสาเหตุของการฝังซ่อนสมบัติ ก่อนเวียงกุมกามจะถูกทั้งร้างไปและเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นในราวปี พ.ศ.2200... สำหรับท่านที่อยากไปเสพอดีต เยือนสมุดบันทึกความลับจากใต้พิภพวัดหนานช้าง พบกันเย็นนี้ ในงานท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรี "แอ่วกุมกามยามแลง" ณ ลานกิจกรรมสาธารณะวัดอีค่าง- วัดหนานช้าง เวียงกุมกาม เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป
กรมศิลปากร ขอเชิญรับชมถ่ายทอดสด Facebook Live รายการไขความรู้จากครูกรมศิลป์ ตอน "ศาลหลวงต้นไทร : อนุสรณ์แห่งพระมหากรุณาธิคุณในรัชกาลที่ ๙" วิทยากร นายวสันต์ ญาติพัฒ นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มจารีตประเพณี สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการ นายสิทธิพร บุปผา นักวิชาการเผยแพร่ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ – ๑๑.๔๕ น.
ผู้สนใจสามารถติดตามชมได้ทาง Facebook Live : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และ Facebook : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “กรุงศรีอยุธยาในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์” โดยวิทยากร นางสาวเปรมา สัตยาวุฒิพงศ์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ นางสาวระชา ภุชชงค์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ และนายชัยประสิทธิ์ ปะนันวงค์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ ดำเนินการรายการโดย นายเอกลักษณ์ ลอยศักดิ์ นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2567 เวลา 12.00 - 16.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ผ่านการสแกน QR code ด้านล่าง หรือผ่าน Link http://forms.gle/ANoMor9856QpTBxH8
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันข้าราชการพลเรือน 1 เมษายน”
วันข้าราชการพลเรือน ตรงกับวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี เนื่องจากสำนักงาน ก.พ. ไดนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี ขอให้กำหนดวันที่ 1 เมษายนของทุกปี เป็นวันข้าราชการพลเรือน เพราะเป็นวันที่ตรงกับวันประกาศใช้ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับแรก คือ วันที่ 1 เมษายน 2472 และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงวางรากฐานระเบียบข้าราชการพลเรือนทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
เมื่อ พ.ศ. 2522 เป็นปีที่องค์การกลางบริหารบุคคลต่างๆของรัฐ และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการพลเรือนได้หารือกันที่จะให้มีการจัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการใช้กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ในที่สุดจึงได้ร่วมกันจัดงาน “สัปดาห์การบริหารงานบุคคล” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 1-7 เมษายน ปีเดียวกันนั้นเอง
จากการจัดงานดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่องค์การบริหารบุคคลต่างๆของรัฐ และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการพลเรือนได้เห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะมีวันข้าราชการพลเรือน และควรถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็น “วันข้าราชการพลเรือน”
เหตุผลที่เลือกเอาวันนี้เพราะเป็นวันที่ได้มีการประกาศใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2471 และยังเป็นเครื่องแสดงกคเวทิคุณสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นผู้ทรงวางรากฐานระเบียบข้าราชการพลเรือนสมัยใหม่ขึ้นมา
ในการจัดงานวันข้าราชการพลเรือน มีการแสดงนิทรรศการผลงานของส่วนราชการต่างๆ และมีการยกย่องเชิดชู ข้าราชการพลเรือนที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น โดยในปี พ.ศ. 2524 ได้จัดให้มีโครงการคัดเลือกข้าราชการตัวอย่างที่ทำงานให้ประชาชนชื่นใจ ต่อมาไดเ้ปลี่ยนชื่อเป็น โครงการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่น โดยคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา และได้จัดพิธีมอบเกียรติบัตรแก่ข้าราชการดีเด่นในงานวันข้าราชการพลเรือนของทุกๆ ปีจนถึงปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันข้าราชการพลเรือน มีดังนี้
1.เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของข้าราชการในการเป็นผู้ให้บริการ เสียสละ และอุทิศเวลา เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
2.เพื่อให้ข้าราชการได้ตระหนักถึงเกียรติ หน้าที่ สามัคคี ซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของข้าราชการ อันจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ ทัศนคติ ของประชาชนที่มีต่อข้าราชการให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น
3.เพื่อเผยแพร่ผลงานใหม่ๆของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชน
4.เพื่อยกย่องส่งเสริมข้าราชการที่มีความประพฤติและผลปฏิบัติงานดีเด่น เผยแพร่เกียรติคุณของข้าราชการดีเด่นให้ปรากฏ อันจะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการกระทำความดีตลอดไป
5.เพื่อให้วันข้าราชการพลเรือน (1 เมษายน) เป็นวันที่มีความหมายอยู่ในความทรงจำและเป็นที่ยอมรับของ ข้าราชการและประชาชน โดยทั่วไป
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549.
บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
องค์ความรู้: สำนักหอสมุดแห่งชาติ
เรื่อง: ๙๐ ปี มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
๒๗ มิถุนายน ศกนี้ ครบ ๙ ทศวรรษ วันสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ต่อมาปี ๒๔๙๕ ได้ออกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งยกเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การและตัดคำว่า “วิชา” กับ” “และการเมือง” ออกจากชื่อมหาวิทยาลัย
ตึกโดม อันเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัย ออกแบบโดยนายหมิว อภัยวงศ์ ปรับจากที่ทำการของทหาร ร.พัน ๔ และ ร.พัน ๕ เชื่อมอาคาร ๔ หลังด้วยกัน และตอนกลางสร้างใหม่ เชื่อมระหว่างอาคาร ๒ และ ๓ เป็นตึก ๓ ชั้น มีโดมกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร และสูงจากพื้นดินถึงยอด ๔๐ เมตร ตึกๆ หนึ่งกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๕๒ เมตร สูง ๑๔ เมตร
เมื่อจะแปลงเป็นห้องบรรยาย ต้องตัดเสาไม้ที่อยู่กลางห้องเป็นแถวออกไป โดยใช้เหล็กฉากรองรับพื้น หล่อเสาคอนกรีตเสริมกำแพง ทำหลังคา พื้น ประตู หน้าต่าง และบันไดใหม่
การก่อสร้างตอนกลาง เฉพาะส่วนนี้รวมทั้งสิ้น ๓๙,๘๐๒.๓๘ บาท และค่าใช้จ่ายการเชื่อมหลังคา ทุกหลังเบ็ดเสร็จ ๘๙,๕๑๘.๗๕ บาท
เปิดตึกและเปิดแพรคลุมป้าย วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นประธานในพิธีเปิด
บริเวณมหาวิทยาลัย ท่าพระจันทร์ เคยใช้เป็นที่กักคุมชนชาติศัตรูสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกด้วย ปรากฏหลักฐาน ร่างพระราชกำหนด ยกเลิกมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ขึ้นแทน ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เนื่องจากเหตุการณ์วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน หรือร่างพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อจาก “การเมือง”เป็นรัฐศาสตร์ เพื่อให้ตรงชื่อเรียกมหาวิยาลัยในภาษาอังกฤษ The University of Moral and Political Sciences และราวปี ๒๔๙๕ ใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” จนถึงปัจจุบัน
อาคารนี้ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพตึกโดม มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หวญ ๖๔๘/๑
-----. ร่างพระราชกำหนดมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ทม.๔.๑.๑.๓/๑ (๔-๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๒)
-----. ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทม.๔.๑.๑.๓/๕ (๒๔๙๓ - ๑๙ ธันวาคม ๒๔๙๔)
-----. เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี สร.๐๒๐๑.๕.๙.๒/๖ เรื่องพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เปิดตึกใหม่
เปิดสมัยการศึกษาและประสาทปริญญา (๒๑ มิถุนายน ๒๔๗๗ - ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๖) ทบวงมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคนอื่นๆ. สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.๒๔๗๗-๒๕๑๑. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, ๒๕๓๕.
พงศกร แก้วกระจ่าง. อาคารโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๗, จาก: https://asaconservationaward.com/.../63-dome-thammasat...
เรียบเรียงข้อมูล นายบารมี สมาธิปัญญา นักวิชาการเผยแพร่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
กราฟิก นายชลิต ปรีชากุล นายช่างศิลปกรรม สำนักหอสมุดแห่งชาติ
ชื่อเรื่อง : หนังสือแก้วส่องโลกผู้แต่ง : ส่างจันท์ นันทน้อยปีที่พิมพ์ : ๒๔๗๕สถานที่พิมพ์ : เชียงใหม่ สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์อเมริกันจำนวนหน้า : ๕๒ หน้าเนื้อหา : หนังสือเล่มนี้ชื่อแก้วส่องโลก พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์อักษร ที่โรงพิมพ์อเมริกัน ถนนเจริญเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ นายส่างจันท์ นันทน้อย ผู้แต่ง อักษรล้านนา ภาษาล้านนา หนังสือแก้วส่องโลก ข้าพเจ้านายส่างจันท์ นางเรือนคำ นันทน้อย บ้านเชียงราย อำเภอเมืองจังหวัดลำปาง ได้บริจาคทรัพย์พิมพ์หนังสือจำนวน ๑๐๐ เล่ม เพื่อแจกจ่ายหื้อผู้ที่บำรุงพระธาตุ แต่ ๒๕ สตางค์ขึ้นไป เป็นเงินบำรุงการก่อสร้างพระเจติยะวัดม่อนจำศีล บ้านป่าขาม อำเภอเมืองจังหวัดลำปาง หื้อไว้เป็นที่ระนึกพระธัมม์เจติยะองค์นี้แล “นิพพานปจฺจโยโหตุ” หน้าปกมีรูปเจ้าฤาษีอูส่วยหล่า ชาติต่องสู่ ตัวอย่างข้อความคำปรารภ “การที่ข้าพเจ้า นายส่างจัน นันทน้อย ได้แต่งหนังสือแก้วส่องโลกเล่มนี้ขึ้นนั้น ค็ด้วยท่านฤาษีอูส่วยหล่า ได้เป็นผู้ชักชวนสัทธาทายกะ แลทายิกาทั้งหลาย ก่อสร้างเจดีย์วัดม่อนจำศีล บ้านป่าขาม ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ พ.ศ.๒๔๗๕ เนื้อหาภายในเล่มประกอบด้วย คำขมาแก้วทั้งสาม คำปรารถนาที่ได้บริจาคทรัพย์ คำบรรจุธาตุ คำปรารถนาทุกค่ำเช้า คำอธิบายเรื่องสังขาร เลขทะเบียนหนังสือหายาก : ๗๒๐เลขทะเบียนหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ : E-book_๒๕๖๗_๐๐๒๑หมายเหตุ : โครงการจัดเก็บและอนุรักษ์หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ สื่อโสตทัศนวัสดุ และเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗
กรมศิลปากร ขอเชิญรับชมถ่ายทอดสด Facebook Live รายการไขความรู้จากครูกรมศิลป์ ตอน “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด แหล่งรวบรวมเรื่องราวน่ารู้ของเมืองร้อยเอ็ด” วิทยากร นางสาวเจนจิรา วิริยะ ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด และนายอุเทน ตุลากันย์ เจ้าพนักงานพิพิธภัณฑ์ชำนาญงาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด ผู้ดำเนินรายการ นายสิทธิพร บุปผา นักวิชาการเผยแพร่ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ – ๑๑.๔๕ น. ผู้สนใจสามารถติดตามชมได้ทาง Facebook Live : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และ Facebook : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร
รายการ “ไขความรู้จากครูกรมศิลป์” มีรูปแบบเนื้อหาของรายการเกี่ยวกับประวัติความเป็นไทย เกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญ ประเพณี วัฒนธรรม วีถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ผ่านการบอกเล่า ถ่ายทอดความรู้ แนวความคิด เนื้อหาวิชาการ จากประสบการณ์ของผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากร กำหนดถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊กไลฟ์ (facebook live) ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๑.๐๐ น. ตลอดปีงบประมาณ ๒๕๖๗