ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 40,814 รายการ


          เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดี โบราณสถานเมืองยะรัง เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกรมศิลปากร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนเฝ้ารับเสด็จ ณ เมืองโบราณยะรัง หมู่ 3 ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี


นิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี ๒๕๖๖"สุวรรณลิงคะแห่งเขาพลีเมือง : ร่องรอยศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในนครศรีธรรมราช"


       หนังสือเรื่อง ไททานิค เรือมหัศจรรย์ไม่มีวันจม        ผู้เขียน : วิลล์ ออสบอร์น และ แมรี่ โป๊ป ออสบอร์น        ผู้แปลและเรียบเรียง : กัลย์จีรา - พิณทิพย์        จากเหตุการณ์เรือดำน้ำไททันที่ได้พยายามลงไปสำรวจซากเรือไททานิคที่อยู่ในจุดความลึกระดับ 3,800 เมตร ซึ่งมีความลึกมากเกือบ 4 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล และนำมาสู่โศกนาฏกรรม หนังสือเล่มนี้จะพามาย้อนดูประวัติเรือที่ได้ชื่อว่าเป็นเรือที่ไม่มีวันจมนี้ว่าในอดีตรุ่งเรืองเพียงใด สาเหตุที่ทำให้ไททานิคล่มคืออะไร วันเกิดเหตุมีสถานการณ์เป็นอย่างไร บทเรียนหลังจากที่ไททานิคล่มมีอะไรบ้าง   ห้องบริการ 1 หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ เลขหมู่ : 623.82 อ463ท


          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทยประจำปี ๒๕๖๖ เรื่อง "จากอดีตสู่ปัจจุบัน : ๕๐ ปีแห่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่" ระหว่างวันที่ ๑ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๖ ณ อาคารจัดแสดงชั้น ๑             พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เริ่มก่อตั้งในปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ เพื่อให้เป็นที่รวบรวมและจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ค้นพบในภาคเหนือ ได้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ในพุทธศักราช ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๕๐ ปี จึงได้จัดนิทรรศการนำเสนอวิวัฒนาการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านเส้นเวลา timeline ภาพถ่ายและวัตถุ รวมทั้งยังมีกิจกรรม "Stamp Rally" สะสม ๕ ตราประทับรูปโบราณวัตถุลงบนแผ่นโปสการ์ด เพื่อเป็นของที่ระลึกครบรอบ ๕๐ ปี             ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการพิเศษนี้ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๖ เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ - อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. ติดตามข่าวสารกิจกรรมเพิ่มเติมได้ทางเฟสบุ๊ก : Chiang Mai National Museum พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๕๓๒๒ ๑๓๐


           วันอังคารที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เป็นประธานแถลงข่าวการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ  เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ร่วมแถลงข่าว ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร             องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๕ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐ – ๒๕ กันยายน ๒๕๖๖ ณ กรุงริยาร์ด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล กล่าวคือ เมืองโบราณศรีเทพเป็นเมืองสำคัญสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ หรือประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๔๐๐ ปี แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการสำคัญทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาดังกล่าว รวมพื้นที่นำเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำนวน ๘๖๖.๔๗๑ เฮกตาร์ หรือประมาณ ๕,๔๑๕ ไร่ ประกอบด้วยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ๓ แหล่ง ที่มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน    มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และคงความเป็นของแท้ดั้งเดิม ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ภายใต้คุณค่าตามเกณฑ์ของยูเนสโก ประกอบด้วย เกณฑ์ข้อที่ ๒ แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง หรือพื้นที่ในวัฒนธรรมใด ๆ ของโลก ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยี การวางแผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์ และเกณฑ์ข้อที่ ๓ เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยม หรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณี วัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว             พล           ตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ได้ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม เสนอเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก และในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๕ ณ กรุงริยาร์ด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย  โดยเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ ๗ ของไทย ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เป็นแหล่งมรดกโลก จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการหวงแหน และอนุรักษ์ทรัพยากรที่เป็นทุนที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว ผมขอส่งต่อความยินดีในครั้งนี้กับทุกภาคส่วน และขอเชิญชวนให้ทุกคนไปสัมผัสความสวยงามของเมืองโบราณศรีเทพ แหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย            นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช กล่าวว่า การที่เมืองโบราณศรีเทพ ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก ทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโกในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นเป็น ๔ แหล่ง ได้แก่ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกในพุทธศักราช ๒๕๓๕ นับเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี แหล่งมรดกวัฒนธรรมของประเทศไทย คือ เมืองโบราณศรีเทพจึงได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกอีกครั้ง ภารกิจของรัฐบาล ยังไม่สิ้นสุดเพียงการเฉลิมฉลองการประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกเท่านั้น กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เพื่อรองรับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพภายหลังจากการได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก โดยแผนฯ ดังกล่าวได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ และการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะครอบคลุม ทั้งเรื่องการอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แผนบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การจัดทำแผนชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์           ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๔ กันยายน ๒๕๖๖ นอกจากนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการ เรื่อง ศรีเทพกับมรดกโลก ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๖ ถึง ๑๔ มกราคม ๒๕๖๗ เพื่อเผยแพร่เรื่องราว คุณค่า และความสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพ ให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกในครั้งนี้  


           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี เชิญชมนิทรรศการหมุนเวียน "Object of the Month" วัตถุจากคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี ประจำเดือน "ตุลาคม" เชิญพบกับ "ลายกระหนก ลายไทย มรดกของชาติ" จัดแสดงให้ชมระหว่างวันที่ ๑ - ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๖           ศิลปวัตถุที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ได้แก่ ลายกระหนก สมัยรัตนโกสินทร์ รับมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ มีลักษณะเป็นลายกระหนกสามตัวสลักลงบนไม้ ซึ่งลายกระหนกสามตัวเป็นต้นแบบของลายกระหนกทุกชนิด เช่น ลายกระหนกเปลว ลายกระหนกใบเทศ และลายกระหนกหางโต เป็นต้น หากจะแบ่งหรือบากตัวลายให้ละเอียดมากยิ่งขึ้นก็ต้องแบ่งในรูปลักษณะของลายกระหนกสามตัวทั้งสิ้น           ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ ลายกระหนก ลายไทย มรดกของชาติ"  ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ (ปิดวันจันทร์ วันอังคาร) ณ ห้องโถงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี สอบถามเพิ่มเติม โทร. ๐ ๓๕๕๓ ๕๓๓๐ หรือเฟสบุ๊ก: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี


สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่นขอนำเสนอใบเสมาสวย ๆจากการสำรวจพื้นที่อำเภอบ้านผือ มาให้ชมกันค่ะการสำรวจครั้งนี้ พบใบเสมาจำนวนมากสำหรับตัวอย่างที่นำเสนอเป็นใบเสมาที่ปักล้อมพื้นที่ จำนวน 8 จุดมีหลายใบที่มีลวดลายสวยงามแปลกตาสำหรับเนื้อหาทางวิชาการต้องอดใจรอกันสักนิดนะคะ


         สายลมเย็นเดือนพฤศจิกายน หลังออกพรรษาแอดมินมีโอกาสเดินทางไปวัดหลายพื้นที่และเริ่มสังเกตเห็นการประดับตกแต่งโคมและเครื่องแขวนต่างๆ ทำให้นึกถึงประเพณี “เทศน์มหาชาติ” ซึ่งนิยมจัดในเดือนสิบสอง ตรงกับประเพณี “ตั้งธัมม์หลวง”ของภาคเหนือ นับเป็นพิธีใหญ่คู่กับประเพณีทานสลากภัตต์ และประเพณี “บุญผะเหวด” ตามฮีตสิบสองทางภาคอีสาน           คำว่า “มหาชาติ” หมายถึง พระเวสสันดรชาดก มีความสำคัญด้วยบารมีของพระโพธิสัตว์ครบบริบูรณ์  ๑๐ ประการ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีเทศน์มหาชาติถือเป็นการบำเพ็ญกุศลครั้งใหญ่ภายในพระบรมมหาราชวัง มีการประดับตกแต่งพรรณไม้ล้อมรอบธรรมมาสน์ และจัดเครื่องบูชาถวายกัณฑ์เทศน์อย่างเอิกเกริก          สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศนา โปรดฯ ให้นิมนต์พระพิมลธรรม พระธรรมอุดม พระพุทธโฆษาจารย์ มาถวายพระธรรมเทศนาคาถาพัน โดยพระองค์ได้ถวายไตรจีวรและบริขาร พร้อมด้วยเครื่องกัณฑ์เทศน์บรรทุกเรือพระที่นั่งบรรลังก์ประดับโคมแขวนและปักธงมังกรจอดเทียบไว้หน้าพระตำหนักแพ ครั้งจบกัณฑ์ก็มีเรือคู่ชักและเรือพายข้าราชการมาส่งพระภิกษุสงฆ์ถึงพระอาราม           ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า มีเครื่องบูชาถวายกัณฑ์มหาชาติครั้งนี้ ถึง ๑๓ กระจาด ตั้งหน้ากำแพงพระมหาปราสาทมาจนถึงหน้าโรงทองและหอนาฬิกา สำหรับประกวดประชันกัน โดยคุณแว่น (คุณเสือ) พระสนมเอกได้ใส่ทาสเด็กศีรษะจุกแต่งตัวหมดจดถวายพระสงฆ์ไปเป็นสิทธิ์ขาดด้วย          พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน กล่าวถึง พระราชพิธีเดือนอ้าย : พระราชกุศลเทศนามหาชาติ มีการตกแต่งเครื่องบูชาเทศนาภายในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ความว่า          “...หลังพระที่นั่งเศวตฉัตรผูกกิ่งไม้ มีดอกไม้ร้อยห้อยย้อยเป็นพวงพู่ผูกตามกิ่งไม้ทั่วไป ...ตั้งหมากพนมพานทองมหากฐินสองพาน หมากพนมใหญ่พานแว่นฟ้าสองพาน แล้วพานนี้เปลี่ยนเป็นโคมเวียน มีต้นไม้เงินทองตั้งรายสองแถว กระถางต้นไม้ดัดลายคราม โคมพโอมแก้วรายตลอดทั้งสองข้าง หน้าแถวมีกรงนกคิรีบูน ซึ่งติดกับหม้อแก้วเลี้ยงปลาทองตั้งปิดช่องกลาง ปลายแถวตั้งขันเทียนคาถาพัน ตามตะเกียงกิ่งที่เสาแขวนฉากเทศน์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์...”          แสดงให้เห็นเครื่องบูชากัณฑ์เรียงรายจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ "โคมเวียน" เป็นโคมชนิดที่มีที่ครอบหมุนได้ บนที่ครอบเขียนรูปภาพลำดับเรื่องในพระพุทธศาสนา เมื่อจุดไฟแล้วที่ครอบจะหมุนไปช้า ๆ ทำให้รูปภาพบนที่ครอบหมุนเวียนตามไปด้วย ใช้เป็นเครื่องตั้งดูเล่นตามงานในเทศกาลต่างๆ  การเทศน์มหาชาติในช่วงต้นรัตนโกสินทร์นั้น จัดบนพระที่นั่งเศวตฉัตร ภายในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแก่งเดียว เว้นแต่คราวมีพระบรมศพอยู่บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึงได้ย้ายไปเทศนาบนพระแท่นมุก ภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแทน          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยจัด ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม แต่การเทศนาฟังไม่ได้ยิน จึงได้ย้ายเข้าไปมีที่พระที่นั่งทรงธรรม โดยมีเฉพาะเจ้านาย เจ้าพนักงานกรมพระตำรวจ และมหาดเล็กเท่านั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้ย้ายกลับมาเทศน์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยไปตามเดิม เนื่องจากอยู่ใกล้กับที่ประทับ          ทั้งนี้ยังปรากฏธรรมเนียมให้พระราชโอรสฝึกหัดกัณฑ์เทศน์ถวายด้วย ครั้งพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ ๕) เป็นสามเณรและได้ถวายเทศน์นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้จัดเครื่องบูชากัณฑ์สำหรับเฉพาะพระองค์ อันเป็นกระจาดใหญ่รูปเรือสำเภาบริเวณหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์           สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ว่า “...พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ คราวผนวชเป็นสามเณรได้ถวายกัณฑ์เทศน์แทบทุกองค์ โปรดให้พระราชครูพิราม (ชู) อยู่ในกรมราชบัณฑิตเป็นผู้ฝึกหัด” จากพระราชพิธีพระราชกุศลเทศนามหาชาติภายในพระบรมมหาราชวัง นับเป็นพระราชพิธีบำเพ็ญราชกุศล ซึ่งทำให้เห็นความเลื่อมใสศรัทธาและสถานะองค์ศาสนูปถัมภก ตามเจตนาน้อมในพระบรมพุทธาภิเษกสมบัติ อันได้นำพาสรรพสัตว์เข้าสู่นิพพานอย่างสมบูรณ์     ภาพประกอบ : โคมเวียน สมัยรัชกาลที่ ๒ (พุทธศตวรรษที่ ๒๔) ภายในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ประกอบด้วย ตัวโคมและที่ครอบ ทำรูปร่างคล้ายมณฑปทรงแปดเหลี่ยม มีสามชั้น แต่ละชั้นทำมุขโถงยื่นออกมา ๔ ทิศ มีพนักระเบียง ผนังลงรักปิดทองประดับกระจกสี และเจาะเป็นช่องหน้าต่างลายอย่างเทศ เพื่อให้มองเห็นจิตรกรรมเวสสันดรชาดก มีหลังคาทรงกระโจมยอดดอกบัวตูม เมื่อจุดไฟแล้วครอบนั้นหมุนได้ สำหรับใช้ประกอบสถานที่ในพิธีเทศน์มหาชาติ       อ้างอิง จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ" พระราชพิธีสิบสองเดือน". กรุงเทพฯ: บรรณาการ, ไม่ปรากฎปีที่พิมพ์. ธนิต  อยู่โพธิ์.  ตำนานเทศน์มหาชาติ.  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๔. จารุณี อินเฉิดฉาย และคณะ. คุณธรรม จริยธรรม ตามรอยพระโพธิสัตว์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๕๑ เทศม์หาชาติ อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางมรรคาคำณวน ( ละมูล ปิ่นแสง ). กรุงเทพฯ : วรวุฒิการพิมพ์. ๒๕๑๖. ประสงค์ รายณสุข และสมิทธิพล เนตรนิมิตร .ประเพณีการเทศน์มหาชาติ ใน วารสารมจร พุทธศาสตร์ปริทรรศน์. ๒,๒(กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๕๒)


          วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566) เวลา 17.30 น. นายเสริมศักดิ์  พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานสมโภชเฉลิมฉลองครบรอบ 5 ทศวรรษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมงาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น          กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ได้จัดโครงการพิเศษเนื่องในวาระครบรอบ 5 ทศวรรษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น The 5th Decade of Khon Kaen National Museum เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2515 โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 19.00 น. การแสดงโขนจากน้องๆ เยาวชน ศูนย์การเรียนรู้นาฏกรรมโขน นาฏศิลป์ไทย จังหวัดขอนแก่น และการแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน เล่ห์รักยักขินี    สี่อสุรีพ่าย จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร             ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ได้เปิดให้บริการประชาชน นักเรียน นักศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดขอนแก่น ในโอกาสครอบรอบ 50 ปี  กรมศิลปากร จึงมีนโยบายที่จะปรับปรุงนิทรรศการถาวร และเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น  ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวม เก็บรักษา จัดแสดง และให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและลุ่มน้ำชี โดยจะมีการปรับปรุงข้อมูลการจัดแสดง เทคนิคและรูปแบบในการนำเสนอ ตลอดจนภูมิทัศน์ และสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ารับบริการ ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2568 – 2570 นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่น ในการเป็นขุมทรัพย์ด้านการท่องเที่ยวและเมืองแห่ง MICE CITY ศูนย์กลางการจัดประชุมและแสดงสินค้าระดับสากล รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นและอาเซียน             พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ตั้งอยู่เลขที่ 193 หมู่ 13 ถนนหลังศูนย์ราชการ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น  จังหวัดขอนแก่น  มีพื้นที่ทั้งหมด 45 ไร่ 35 ตารางวา จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รวบรวม สงวนรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติในเขตพื้นที่ภาคะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและลุ่มแม่น้ำชี ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม  


      วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๗ นางสาวทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เรื่อง อารยธรรมโบราณในสีชมพู แก่นักเรียน ครู และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ”มหา‘ ลัยไทบ้าน ปีที่ ๓: สีชมพูทวีป“ พร้อมนำชมแหล่งภาพเขียนสีผาน้ำเที่ยง และถ้ำผาช้าง ในเขตอำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับนักโบราณคดีจากกรมศิลปากร


ชื่อเรื่อง                    สพ.ส.82 เวชศาสตร์_ตำรายาแผนโบราณประเภทวัสดุ/มีเดีย       สมุดไทยขาวISBN/ISSN                 -หมวดหมู่                  เวชศาสตร์ลักษณะวัสดุ              27; หน้า : ไม่มีภาพประกอบหัวเรื่อง                    เวชศาสตร์                  ภาษา                       ไทยบทคัดย่อ/บันทึก                   ประวัติวัดพยัคฆาราม ต.ศรีประจันต์  อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี มอบให้หอสมุดฯ วันที่ 15 ส.ค..2538



[IMD2024] 18 พฤษภาคม ร่วมเฉลิมฉลองวันพิพิธภัณฑ์สากล ประจำปี 2567“Museums for Education and Research”18 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์สากล (International Museum Day) โดยแนวคิดวันพิพิธภัณฑ์สากลประจำปี 2567 นี้คือ “Museums for Education and Research” พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาและวิจัย เพื่อเน้นย้ำบทบาทสำคัญขององค์กรทางด้านวัฒนธรรมในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ผลักดันให้เกิดโลกที่มีจิตสำนึก ความยั่งยืน และมีส่วนร่วมมากขึ้นสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ (ICOM Thailand)จึงได้ออกแบบโปสเตอร์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันพิพิธภัณฑ์สากลของปีนี้ โดยได้รับแรงบันดาลไทยจากโปสเตอร์ต้นฉบับที่ใช้ตัว “M” ที่แสดงถึงคำว่า Museum และใช้ “พ” ซึ่งเป็นตัวอักษรไทยที่มาจากคำว่า “พิพิธภัณฑ์” เพื่อสื่อความหมายถึงพิพิธภัณฑ์ไทย พร้อมเทคนิคแสงสีแบบสเปกตรัมเพื่อแสดงถึงความรู้อันหลากหลายที่พิพิธภัณฑ์ได้สร้างสรรค์ให้กับโลกใบนี้นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันพิพิธภัณฑ์สากล เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานด้านพิพิธภัณฑ์รวมทั้งผู้มีส่วนสนับสนุนการศึกษาพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เบื้องหลังแนวทางการสร้างสรรค์กิจกรรมทางการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ที่หลากหลาย รวมทั้งการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าอาร์ตทอย โดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมจากพิพิธภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้นำมารังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับยุคสมัย วันพิพิธภัณฑ์สากลในปีนี้ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงอยากเชิญชวนเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ไทยมาร่วมกันสร้างโลกแห่งการแบ่งปันประสบการณ์เรียนรู้และมีส่วนร่วมกับสังคมไทยให้มากยิ่งขึ้น #วันพิพิธภัณฑ์สากล #imd2024 #สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ #กรมศิลปากร



Messenger