ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 41,342 รายการ

พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม มีประภามณฑลหลังพระเศียร สำริด สูง ๒๔.๕ เซนติเมตร ศิลปะทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ ปี มาแล้ว) ได้จากเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง            พระพุทธรูปปางแสดงธรรม พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา มีขอบพระโอษฐ์เป็นเส้นตรง อมยิ้มเล็กน้อย ขมวดพระเกศาใหญ่ พระรัศมีเป็นรูปกรวย ประทับยืนตรง ครองจีวรห่มคลุม จีวรบางแนบพระวรกาย พระหัตถ์แสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) ทั้งสองข้าง ขอบจีวรด้านหน้าตกลงจากข้อพระหัตถ์เป็นวงโค้งอยู่เหนือขอบสบง ด้านหลังตกลงเป็นสี่เหลี่ยมมุมมน เบื้องหลังพระเศียรมีประภามณฑลเป็นวงโค้งประดับลวดลายเปลวไฟอยู่โดยรอบ            พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี ซึ่งมีประภามณฑลเป็นวงโค้งล้อมรอบด้วยเปลวไฟเช่นนี้ พบที่เจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน ๓ องค์ พระพุทธรูปที่มีประภามณฑลแบบนี้ปรากฏอยู่ในศิลปะอินเดียแบบหลังคุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ (ประมาณ ๑,๓๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) และศิลปะอินเดียแบบปาละ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ (ประมาณ ๙๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ดังนั้นจึงกำหนดอายุพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว)            พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์แสดงถึงพัฒนาการอันเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะทวารวดี ผสมผสานกับการตกแต่งด้วยประภามณฑลรูปวงโค้งที่ล้อมรอบด้วยลวดลายเปลวไฟ ซึ่งยังคงอิทธิพลของศิลปะอินเดียอันเป็นต้นแบบ ทั้งนี้การทำประภามณฑลเป็นรูปวงโค้งล้อมรอบด้วยลวดลายเปลวไฟนี้ ยังพบในประติมากรรมรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธแบบมหายาน ศิลปะศรีวิชัย ซึ่งเจริญขึ้นบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย อีกด้วย------------------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง------------------------------------------------------------เอกสารอ้างอิง กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒. พนมบุตร จันทรโชติ และคณะ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเรื่องราวสุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐. สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศิลปะในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓, กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐.


          นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ได้ทราบข่าวว่ามีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง พบพระพุทธรูปโบราณทิ้งอยู่ริมถนนใกล้โบราณสถานวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม และได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นทราบว่าพระพุทธรูปดังกล่าวถูกพบระหว่างการดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางรถไฟ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ ขณะที่รถแบคโฮได้ขุดลงไปที่ความลึกประมาณ ๔ เมตร จึงมีการนำส่วนขององค์พระพุทธรูปไปวางไว้บริเวณป้อมของเจ้าหน้าที่กั้นทางรถไฟ และนำส่วนเศียรไปไว้ที่บริเวณเจดีย์วัดพระงาม          นายประทีป กล่าวว่าได้มอบหมายให้ สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้น เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยเจ้าหน้าที่ได้ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานและนำพระพุทธรูปมาเก็บรักษาไว้ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ วิเคราะห์รูปแบบศิลปกรรมเพิ่มเติม ซึ่งผลการตรวจสอบโดยละเอียดพบว่า เป็นพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีปางสมาธิ สลักจากหินสีเทา แตกเป็น ๒ ชิ้น ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร สูงรวมพระเศียร ๗๙ เซนติเมตร ประทับขัดสมาธิราบ ครองจีวรห่มคลุม บางแนบพระองค์ พระหัตถ์ข้างขวาวางซ้อนเหนือพระหัตถ์ซ้ายบนพระเพลา พระหัตถ์และพระบาทมีขนาดใหญ่ ฐานสลักเป็นรูปกลีบบัวหงาย พระพักตร์แสดงลักษณะพื้นเมือง รูปค่อนข้างยาว พระหนุป้าน พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ เม็ดพระศกใหญ่ โอษฐ์หนา แบะกว้าง แย้มพระโอษฐ์ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ หรือประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๔๐๐ มาแล้ว ซึ่งพระพุทธรูปทวารวดีนั้นโดยทั่วไปสร้างขึ้นในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยได้รับรูปแบบแรงบันดาลใจมาจากศิลปะอินเดียแบบอมราวดี คุปตะ หลังคุปตะ และปาละ นับเป็นพุทธศิลป์รุ่นแรกในดินแดนประเทศไทย สะท้อนถึงการรับอิทธิพลศิลปกรรมจากต่างแดน เข้ามาผสมผสานกับสุนทรียภาพของท้องถิ่นจนเกิดเป็นรูปแบบของตนเอง          พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงอาคารและพัฒนาการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ โดยพระพุทธรูปที่พบใหม่นี้ จะอยู่ในกลุ่มโบราณวัตถุสำคัญ ที่จะนำมาจัดแสดงในนิทรรศการถาวรในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป-------------------------------------------ข่าว/ภาพ : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์


องค์ความรู้ เรื่อง การผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในสยาม การผ่าตัดตามหลักวิชาการแพทย์แผนตะวันตก เป็นวิทยาการการแพทย์ที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ผู้คน ตลอดจนการแพทย์และสาธารณสุขไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งการรักษาโดยวิธีการนี้เริ่มเป็นที่สนใจและยอมรับในสังคมไทยอย่างกว้างขวางขึ้น ภายหลังจากนายแพทย์แดน บีช แบรดเลย์ (Dan Beach Bradly) หรือ  หมอบรัดเลย์ แพทย์มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้ทำการผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในสยาม เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๗๙  การผ่าตัดครั้งนี้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ปืนใหญ่ที่ใช้จุดไฟพะเนียง ในงานเฉลิมฉลองวัดประยุรวงศาวาสเกิดระเบิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) จึงขอให้หมอบรัดเลย์ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุไปรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ ซึ่งคนเจ็บส่วนใหญ่เลือกรักษากับหมอไทยเท่านั้น แต่มีผู้บาดเจ็บเพียง ๒ ราย ที่ยินยอมให้หมอบรัดเลย์ทำการรักษา ในจำนวนนี้คือ พระภิกษุรูปหนึ่งที่กระดูกแขนแตก จำเป็นต้องตัดแขนทิ้ง หมอบรัดเลย์จึงได้ผ่าตัดแขนพระภิกษุรูปนั้นในที่เกิดเหตุนั่นเอง  ซึ่งในขณะนั้นคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะสามารถตัดอวัยวะออกจากร่างกายมนุษย์ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ทำอันตรายแก่ชีวิต เนื่องจากไม่เคยปรากฏวิธีการรักษาเช่นนี้ในระบบการแพทย์ไทยมาก่อน ความสำเร็จของการผ่าตัดครั้งนั้นจึงเป็นที่เลื่องลือกันมากในสังคมไทย สร้างความน่าเชื่อถือให้กับหมอบรัดเลย์และทำให้การรักษาโดยวิธีผ่าตัดแบบตะวันตกเริ่มเป็นที่ยอมรับ ยังผลให้การแพทย์แบบตะวันตกเริ่มมีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้นในเวลาต่อมา ..................... นางสาวระชา  ภุชชงค์  นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ  กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ : ค้นคว้าเรียบเรียง




ชื่อเรื่อง                         มาเลยฺยสูตฺต (มาลัยสุตร)      สพ.บ.                           412/6หมวดหมู่                        พุทธศาสนาภาษา                            บาลี/ไทยหัวเรื่อง                          พุทธศาสนา                                    มาลัยสูตรประเภทวัสดุ/มีเดีย            คัมภีร์ใบลานลักษณะวัสดุ                    54 หน้า : กว้าง 4.6 ซม. ยาว 57.2 ซม. บทคัดย่อเป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรขอม เส้นจาร ฉบับล่องชาด ได้รับบริจาคมาจากวัดลานคา ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี







          พัด พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า เครื่องโบกหรือกระพือลม มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน รูปทรงแตกต่างกัน และการนำไปใช้ก็แตกต่างกันด้วยชื่อที่ใช้เรียก เช่น พัดด้ามจิ้ว พัดโบก พัดวิชนี ซึ่งแต่ละชนิดมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันออกไป           พัดด้ามจิ้ว พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า ชื่อพัดชนิดหนึ่งที่คลี่ได้พับได้ ด้ามติ้วก็ว่า           พัดโบก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า ชื่อเครื่องสูงชนิดหนึ่งสำหรับโบกลมถวายพระมหากษัตริย์ซึ่งประทับ ณ ที่สูง ถือเป็นของสูง           พัดวิชนี พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า ชื่อพัดชนิดหนึ่ง มีชื่ออีกว่า วิชนี           นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติ ในการนำไปใช้ในการแสดงนาฏศิลป์โขนละครที่แตกต่างกันอีกด้วย จาก การศึกษาค้นคว้าพบว่าพัดใช้ในการแสดงโขน ละครนอก ละครพันทาง เป็นต้น          ๑. พัดด้ามจิ้ว                ๑.๑ เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับแต่งองค์ทรงเครื่อง ปรากฏในการแสดงโขนตอน ทศกัณฐ์ลงสวน ซึ่งทศกัณฐ์พญายักษ์เจ้ากรุงลงกา           เนื้อเรื่องโดยสังเขป กล่าวถึง ทศกัณฐ์เมื่อลักพานางสีดามาได้ก็นำนางมาอยู่ที่สวนขวัญ ภายในกรุงลงกา วันหนึ่งใคร่จะไปหานางสีดา จึงแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ มีผ้าแดงพาดบ่า ถือพัดด้ามจิ้ว มือขวาคล้องพวงมาลัย องอาจผึ่งผาย เสด็จไปยังสวนขวัญที่อยู่ของนางสีดา ดังบทร้องฉุยฉายที่กล่าวไว้ว่า                                                 ร้องเพลงฉุยฉาย                                  ฉุยฉายเอย                        จะไปไหนหน่อยเจ้าก็ลอยชาย           เยื้องย่างเจ้าช่างกราย                                 หล่อนมิเคยพบชายนักเลงเจ้าชู้           จะเข้าไปเกี้ยวแม่ทรามสงวน                        เจ้าช่างกระบวนหนักหนาอยู่                                   ฉุยฉายเอย                         จะไปไหนนิดเจ้าก็กรีดกราย           เยื้องย่างเจ้าช่างกราย                                 หล่อนมิเคยพบชายนักเลงเก่งแท้           จะเข้าไปเกี้ยวแม่ทรามสงวน                        เจ้าช่างกระบวนเสียจริงเจียวแม่                                                ร้องแม่ศรี                                  ยักษีเอย                              ยักษีโศภน           เจ้าช่างแต่งตน                                            เลิศล้นหนักหนา           ห้อยไหล่แดงฉาด                                        งามบาดนัยน์ตา           ช่างงามสง่า จริงยักษีเอย                                 ยักษีเอย                               ยักษีทศศีร์           วางท่าจรลี                                                  ท่วงทีองอาจ           มุ่งใจใฝ่หา                                                  สีดานงนาฏ           แล้วรีบยุรยาตร                                            เข้าอุทยานเอย                                      ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว – ลา           สำหรับความเป็นมาของกระบวนท่ารำซึ่งมีท่าการใช้พัดโบก สะบัดไปมางดงามตามกระบวนท่าโขนยักษ์ มีประวัติโดยสังเขปดังนี้ กระบวนท่ารำนั้นไม่ปรากฏว่าเกิดขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้ประดิษฐ์ แต่ปรากฏภาพทศกัณฐ์ทรงเครื่องมีผ้าห้อยบ่าสองข้าง มือขวาถือพัดด้ามจิ้ว และมีพวงมาลัยคล้องที่ข้อมือขวา ซึ่งในครั้งนั้นพระยาพรหมาภิบาล (ทองใบ สุวรรณภารต) เป็นผู้แสดง (ละครฟ้อนรำ ประชุมเรื่องละครฟ้อนรำกับระบำรำเต้น พระนิพนธ์ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)               ๑.๒ เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับแต่งองค์ทรงเครื่อง ปรากฏในการแสดงละครพันทางเรื่องราชาธิราชตอน สมิงพระรามอาสา ซึ่งพระเจ้ากรุงปักกิ่ง (พระเจ้าเส่งโจ๊วฮ่องเต้) ทรงพกพัดด้ามจิ้ว (ขนาดใหญ่) ติดตัวตามรูปแบบของการแสดงนาฏศิลป์จีน และใช้โบกพัด พร้อมทั้งปิดบังความโศกเศร้าเสียใจที่กามนีทหารเอกต้องมาพ่ายแพ้ต่อสมิงพระราม ยังความอับอายเป็นอันมาก          เนื้อเรื่องโดยสังเขปกล่าวถึง พระเจ้าเส่งโจ๊วฮ่องเต้ แห่งกรุงจีน มีทหารเอกคนหนึ่งชื่อว่ากามนี เป็นผู้ที่มีฝีมือในการขี่ม้าแทงทวนสันทัดมาก พระองค์ประสงค์จะทอดพระเนตรบรรดาทหารจากเมืองต่าง ๆ ขี่ม้าแทงทวนสู้กับกามนีตัวต่อตัว แต่ก็ยังหาเมืองใดที่จะมีทแกล้วทหารที่สามารถสู้กับกามนีได้ เห็นจะมีทหารที่สู้ได้อยู่แต่กรุงอังวะกับกรุงหงสาวดี ดังนั้น พระเจ้ากรุงจีนจึงให้โจเปียว ทหารเอกอีกผู้หนึ่งอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการมาถวายพระเจ้าอังวะ ในพระราชสาส์นนั้น มีใจความอยู่ ๒ ประการ ประการหนึ่ง มีความประสงค์ให้พระเจ้าอังวะยอมอยู่ในอำนาจและออกมาถวายบังคม อีกประการหนึ่ง จะใคร่ทอดพระเนตรทหารขี่ม้ารำทวนสู้กัน โดยมีข้อสัญญาว่า ถ้าฝ่ายอังวะแพ้ต้องยอมถวายเมือง หากชนะทางฝ่ายจีนก็จะเลิกทัพกลับไป ครั้นพระเจ้าอังวะทรงแจ้งในพระราชสาส์นแล้ว จึงให้ตีฆ้องร้องป่าวหาผู้รับอาสา สมิงพระรามทหารแห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งขณะนั้นเป็นอาชญากรสงครามอยู่ ณ กรุงอังวะ เมื่อได้ยินป่าวร้องดังนั้น จึงคิดว่าถ้าพระเจ้ากรุงจีนได้เมืองอังวะแล้ว ก็คงไม่สิ้นความปรารถนา ต้องยกล่วงเลยไปตีกรุงหงสาวดีด้วย จึงขอรับอาสาสู้กามนี เมื่อถึงกำหนดวันประลอง ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงฝีมือร่ายรำเพลงทวนกันอย่างสวยงามคล่องแคล่วว่องไว ฝ่ายหนึ่งรำฝ่ายหนึ่งตาม ผลัดเปลี่ยนกันอยู่หลายสิบเพลง สมิงพระรามจึงแกล้งทำอุบาย ร่ายรำยกแขน ก้มศีรษะโดยหวังจะดูช่องเกราะของกามนี ที่จะสอดทวนเข้าไปแทงได้กามนีไม่รู้เท่าก็รำทำท่ายกแขน ก้มศีรษะตาม สมิงพระรามเห็นได้ที จึงสอดทวนแทงเข้าช่องใต้รักแร้ และเอาดาบฟันลงที่ท้ายทอย ตัดศีรษะกามนีได้ บรรดาทหารจีนทั้งหลายเห็นพระเจ้ากรุงจีนเสียพระทัยมาก และเกรงว่าจะเป็นที่อัปยศแก่พม่า จึงรับอาสาจะตีกรุงอังวะมาถวาย แต่พระเจ้ากรุงจีนทรงห้ามไว้ และทรงทำตามคำมั่นสัญญา โดยสั่งเลิกทัพเสด็จกลับยังกรุงจีน ดังบทร้องแห่งความโศกเศร้าที่กล่าวไว้ว่า                                          - ร้องเพลงจีนหลวง -                         เมื่อนั้น                                           เจ้ากรุงจีน  มัวหมอง  ไม่ผ่องใส           สุดแสน  อัประยศ  สลดใจ                              คิดอาลัย  ทหาร  ชาญสงคราม           จึงตรัสสั่ง  เสนา  ว่าบัดนี้                                กามนี  วายวาง  กลางสนาม           ต่อหีบ  ให้สมยศ  งดงาม                                ใส่ไปฝัง  เสียตาม  ประเพณี           กระดาษต่อ  ทำต่าง  อย่างศีรษะ                     เสร็จแล้วจะ  ยกทัพ  กลับกรุงศรี           จงเตรียมพร้อม  พหล  พลโยธี                        รุ่งพรุ่งนี้  ยกกลับ  ไปฉับพลัน                         บัดนั้น                                             เสนานาย ฝ่ายพหล พลขันธ์            รับโองการ  กราบก้ม  บังคมคัล                      ไปจัดสรร เสร็จสิ้น ตามบัญชา          ขณะที่พระเจ้ากรุงจีนแสดงท่าทางก็จะใช้พัดปิดบังใบหน้าด้วยความโศกเศร้าเสียใจ ในบทที่กล่าวถึงความมัวหมองไม่ผ่องใส สุดแสน อัปยศ สลดใจ คิดอาลัย ทหาร ชาญสงคราม และเมื่อเดินเข้าเวทีก็ยังใช้พัดปิดบังใบหน้าบ้างบางช่วง แสดงถึงความโศกเศร้าสลดใจ           ๒. พัดโบก                ๒.๑ เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประกอบขบวนพระเกียรติยศ ปรากฏในการแสดงโขนตอนพรหมาสตร์ พระอินทร์แปลง ยกขบวนพระเกียรติยศพร้อมเครื่องสูง และเทวดา นางฟ้า            เนื้อเรื่องโดยสังเขปกล่าวถึง ทศกัณฐ์รับสั่งให้แสงอาทิตย์ หลานชายผู้เรืองฤทธิ์ด้วยแว่นวิเศษ กับพิจิตรไพรีพี่เลี้ยง ออกรบ กับพระรามเพื่อขัดตาทัพ ขณะที่อินทรชิต โอรสของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ ตั้งพิธีชุบศรพรหมาสตร์ ซึ่งพระอิศวรประทานให้ ณ เชิงเขาจักรวาล เพื่อใช้สังหารข้าศึกให้หมดสิ้นไป เมื่อแสงอาทิตย์และพิจิตรไพรี ถูกพระราม พระลักษมณ์ฆ่าตาย ทศกัณฐ์ใช้ให้กาลสูรไปทูลให้อินทรชิตทราบข่าวและมีรับสั่งให้ยกทัพไปสู้กับข้าศึกโดยเร็ว อินทรชิตพิโรธกาลสูรที่ทูลถึงความพ่ายแพ้เป็นลางกลางพิธี แต่ด้วยพระราชกระแสรับสั่ง จึงงดโทษและตรัสสั่งให้รุทการจัดเตรียมกองทัพ โดยให้ไพร่พลแปลงเป็นคนธรรพ์ เทวดา นางฟ้า และนักสิทธิ์ การุณราชแปลงเป็นช้างเอราวัณ แล้วตนเองแปลงเป็นพระอินทร์ ยกกองทัพไปล่อลวงพระลักษมณ์และพลวานรให้หลงเชื่อว่าเป็นกองทัพพระอินทร์ อินทรชิตแผลงศรพรหมาสตร์ถูกพระลักษมณ์และพลวานรสลบลง เหลือแต่หนุมานผู้เดียวเหาะขึ้นไปหักคอช้างเอราวัณ ถูกตีด้วยคันศรตกลงมาสลบเช่นกัน อินทรชิตจึงยกทัพกลับเข้ากรุงลงกาด้วยความมีชัย ดังบทร้องที่กล่าวว่า                                            - ร้องเพลงกราวนอก -                         ขึ้นทรง คอคชา เอราวัณ                    ทหารแห่ โห่สนั่น หวั่นไหว           ขยายยก โยธา คลาไคล                                  ลอยคว้าง มาใน โพยมมาน                                        - ร้องเพลงทะแยกลองโยน -                         ช้างนิมิต                                          เหมือนไม่ผิดช้างมัฆวาน           เริงแรงกำแหงหาญ                                         ชาญศึกสู้รู้ท่วงที           ผูกเครื่องเรืองทองทอ                                     กระวินทองหล่อทอแสงศรี           ห้อยหูพู่จามรี                                                 ปกกระพองทองพรรณราย           เครื่องสูงเรียงสามแถว                                     ลายกาบแก้วแสงแพรวพราย           อภิรุมสับชุมสาย                                             บังแทรกอยู่เป็นคู่เคียง           กลองชนะประโคมครึก                                    มโหรทึกกึกก้องเสียง           แตรสังข์ส่งสำเนียง                                         นางจำเรียงเคียงช้างทรง           สาวสุรางค์นางรำฟ้อน                                     ดังกินนรแน่งนวลหงส์           นักสิทธิ์ฤทธิรงค์                                             ถือทวนธงลิ่วลอยมา                 ขบวนของพระอินทร์แปลงประกอบด้วยเครื่องสูงครบถ้วน             ๒.๒ เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ปรากฏในการแสดงละครพันทางเรื่องพญาผานอง ซึ่งพระวรุณเทพเจ้าทรงถือพัดโบกในการประทานฝนให้กับนางพญาคำปิน          เนื้อเรื่องโดยสังเขปกล่าวถึง นางพญาคำปินครองเมืองวรนครแทนพญาเก้าเกื่อนพระราชสามี ซึ่งเสด็จไปครองเมืองภูคา ขณะนั้นนางพญาคำปินทรงพระครรภ์อยู่ พญางำเมืองเจ้าเมืองพะเยายกกองทัพเข้ายึดเมืองวรนครไว้ได้ นางพญาคำปินเป็นห่วงบุตรในครรภ์ จึงหลบหนีออกจากวรนครได้ทัน ก่อนที่ พญางำเมืองจะจับตัวได้พร้อมทั้งนางข้าหลวงคนสนิท นางพญาคำปินได้ประสูติพระกุมารอยู่ ณ กระท่อมร้างกลางไร่ชายเมืองวรนคร นางเฝ้าระทมทุกข์สงสารพระกุมารยิ่งนัก จึงเสี่ยงสัตย์อธิษฐานหากพระกุมารมีบุญญาธิการจะได้ครอบครองบ้านเมืองต่อไป ขอให้มีฝนตกลงมาเพื่อขจัดความแห้งแล้ง พระวรุณเทพเจ้าก็ทรงบันดาลให้ฝนตกจนน้ำเต็มหนองและไหลเชี่ยวพัดพาเอาก้อนหินมากองอยู่หน้ากระท่อม ดังบทร้องที่กล่าวว่า                                               - ร้องเพลงลาวพุงขาว-                         เมื่อนั้น                                             พระวรุณ  อุทกราช  เป็นใหญ่           ประทับเหนือ  เทพอาสน์  อำไพ                         ภูวไนย  ทอดพระเนตร  นางพญา           ร่ายรำ  ขอน้ำ  จากสวรรค์                                  ทรงธรรม์  โปรดประสาท  ดังปรารถนา           บัดดล  น้ำทิพย์  ธารา                                       หลั่งลง  พสุธา  ทันที                                              - ปี่พาทย์ทำเพลงรัวสามลา -                 (พระวรุณรำเพลงหน้าพาทย์ โบกพัดไปมา พร้อมควงบ่วงบาศ จนฝนตก)          ๓. พัดวิชนี               ๓.๑ เป็นส่วนหนึ่งในเครื่องประกอบพระเกียรติยศ ปรากฏในการแสดงโขนและละคร ทั้งในกรุงศรีอยุธยาเมืองของพระราม กรุงลงกาเมืองของทศกัณฐ์ และท้องพระโรงเมืองต่างๆในละคร โดยนางพระกำนัลจะนั่งถือพัดวิชนีอยู่ข้างเตียงด้านขวา และนางพระกำนัลที่ถือแส้จะนั่งอยู่ข้างเตียงด้านซ้าย ทำหน้าที่โบกสะบัดสลับไปมาอย่างช้าๆ                ๓.๒ เป็นส่วนหนึ่งในเครื่องใช้ของพระลอ ในการแสดงละครพันทางเรื่องพระลอตอน พระลอเสี่ยงน้ำ ซึ่งพระลอจะใช้ในระหว่างที่โศกเศร้าเสียใจ ร้องไห้ โดยนำพัดวิชนีมาปิดบังใบหน้า สะอึกสะอื้น เมื่อเห็นแม่น้ำกาหลงเป็นสีเลือด และรู้ว่าอาจจะไม่ได้กลับมาที่เมืองแมนสรวงอีกเลย          เนื้อเรื่องโดยสังเขปกล่าวถึง พระลอหลังจากต้องมนต์ของปู่เจ้า ก็ไม่สามารถทนทานได้ เกิดความคลั่งไคล้เพ้อหาแต่พระเพื่อนพระแพง กระวนกระวายต้องการที่จะเดินทางไปหา ทั้งพระราชมารดาและพระมเหสีจะทัดทานอย่างไรก็ไม่ฟัง พระนางบุญเหลือจึงจำต้องให้เสด็จไป เพื่อพาพระเพื่อนพระแพงมายังเมืองสรอง พอเสด็จมาถึงแม่น้ำกาหลง พระลอเกิดลังเลใจ ทั้งห่วงพระราชมารดา บ้านเมือง และห่วงหาในสองพระราชธิดา พระองค์จึงทรงอธิษฐานทำพิธีเสี่ยงน้ำ เพื่อช่วยในการตัดสินพระทัย ดังบทร้องที่กล่าวว่า                                                            - เกริ่น -                      พอวางพระโอษฐ์น้ำ          ไหลวนคล่ำควะคว้าง           เห็นแดงดังสีเลือดฉาด           น่าอนาถสยดสยองโลมา               เสียวหัทยาพระลอราช         พระบาทธท่าวร้าวกมล           เหมือนไม้สนสิบอ้อมสะบั้น            ทับอุระพระลออั้น                สะอื้นอาดูรแดเอย                                                 -ปี่พาทย์ทำเพลงโอดลาว-                         (พระลอโศกเศร้าเสียใจ สะอึกสะอื้น นำพัดวิชนีมาปิดบังใบหน้า)           พัดเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดงที่มีความสำคัญมากอย่างหนึ่ง ทั้งยังใช้ในการประกอบลีลาท่ารำให้งดงามขึ้น การโบกสะบัด และการคลี่พัดตามจังหวะถือเป็นกลวิธีในการร่ายรำ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความอลังการในการประกอบขบวนพระเกียรติยศทำให้การแสดงสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นภาพประกอบภาพที่ ๑ พระยาพรหมาภิบาล (ทองใบ สุวรรณภารต) ในชุด ทศกัณฐ์ลงสวน ที่มาภาพ : ประชุมเรื่องละครฟ้อนรำกับระบำรำเต้น พระนิพนธ์ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพภาพที่ ๒ พระเจ้ากรุงปักกิ่ง (พระเจ้าเส่งโจ๊วฮ่องเต้) ทรงพกพัดด้ามจิ้ว ที่มาภาพ : สูจิบัตรละครเรื่องราชาธิราชตอนสมิงพระรามอาสาภาพที่ ๓ เครื่องประกอบขบวนพระเกียรติยศ ปรากฏในการแสดงโขนตอนพรหมาสตร์ ที่มาภาพ : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สำนักการสังคีต กรมศิลปากรภาพที่ ๔ พระวรุณเทพเจ้าทรงถือพัดโบกในการประทานฝนให้กับนางพญาคำปิน ที่มาภาพ : หนังสือศิลปะ ศิลปิน ศิลปากร พุทธศักราช ๒๕๕๗ , นางพญาคำปินขอฝนภาพที่ ๕ พหลวิชัยถือพัด จากละคร เรื่อง คาวี ที่มาภาพ : สำนักการสังคีต กรมศิลปากรภาพที่ ๖ นางกำนัลถือพัด ในการแสดงละคร เรื่อง แก้วหน้าม้า ที่มาภาพ : สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์---------------------------------------------------------เรียบเรียงโดย นายไพโรจน์ ทองคำสุก นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ สำนักการสังคีต---------------------------------------------------------บรรณานุกรม กรมศิลปากร, ทะเบียนข้อมูล : วิพิธทัศนา ชุดระบำ รำ เต้น เล่ม ๓, กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง,๒๕๕๑. กรมศิลปากร, ศิลปะ ศิลปิน ศิลปากร พุทธศักราช ๒๕๕๗, นนทบุรี : ไทภูมิ พับลิชชิ่ง ,๒๕๕๗. กรมศิลปากร, สูจิบัตรละครเรื่องราชาธิราชตอนสมิงพระรามอาสา, กรุงเทพฯ : พระจันทร์,๒๔๙๕. กรมศิลปากร, สูจิบัตรละครเรื่องพระลอ, กรุงเทพฯ : พระจันทร์, ๒๔๙๑. กรมศิลปากร, สูจิบัตรบทละครเรื่องราชาธิราชตอนสมิงพระรามอาสา, กรุงเทพฯ : พระจันทร์,๒๔๙๕. ดำรงราชานุภาพ สมเด็จฯกรมพระยา, ละครฟ้อนรำ(ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ), พิฆเณศ, ๒๕๔๖.


          กระเบื้องเชิงชาย คือ กระเบื้องแผ่นปลายสุดของชายคา เป็นองค์ประกอบสำคัญของเครื่องมุงหลังคาสถาปัตยกรรมโบราณ ใช้ประดับเรียงรายโดยอุดชายคากระเบื้องลอน เพื่อให้เกิดความงามของแนวชายคา ป้องกันฝนสาดเข้าไปตามช่องของลอนกระเบื้องมุง รวมทั้งป้องกันสัตว์ไม่ให้เข้าไปทำรังและทำลายโครงสร้างภายในอาคารได้ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กระเบื้องหน้าอุด          กระเบื้องเชิงชายโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วหรือสามเหลี่ยมด้านเท่า มีเดือยออกทางด้านหลังเพื่อเสียบเข้าไปในลอนกระเบื้องมุง ทำด้วยดินเผา สันนิษฐานว่าช่างโบราณเลือกเทคนิคการทำด้วยวิธีการพิมพ์จากแบบ ซึ่งลวดลายบนกระเบื้องเชิงชายเป็นลายนูนต่ำ ตัวลายมีความกลมมน ละเว้นรายละเอียดที่มากเกินไป เพราะสะดวกต่อการถอดพิมพ์ นอกจากนี้การทำลวดลายบนกระเบื้องเชิงชายที่จะประดับบนหลังคาเดียวกันให้เหมือนและเท่ากันนั้นยากด้วยวิธีการปั้นแบบอิสระ          สิ่งก่อสร้างในสมัยอยุธยาที่ใช้กระเบื้องเชิงชายสามารถแบ่งออกได้ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ได้ ๒ ประเภท คือ ประเภทศาสนสถาน ได้แก่ อุโบสถ วิหาร กุฏิ ซุ้มประตู และประเภทที่อยู่อาศัย ได้แก่ พระมหาปราสาท พระที่นั่ง ตำหนัก ซึ่งกระเบื้องเชิงชายใช้กับอาคารของชนชั้นสูง สอดคล้องกับการตกแต่งลวดลายบนกระเบื้องเชิงชายด้วยรูปภาพที่มีความหมายทางประติมานวิทยา เช่น รูปเทพนม รูปดอกบัว ทำให้สันนิษฐานได้ว่ากระเบื้องเชิงชายแต่ละชิ้นน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของวิมานที่สถิตของเทวดา เป็นการส่งเสริมความสำคัญของอาคารนั้น ๆ และแสดงฐานะของผู้ใช้อาคารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น          ลวดลายที่ปรากฏบนกระเบื้องเชิงชาย ได้แก่ ลายดอกบัว ลายเทพนม ลายหน้ากาล ลายพันธุ์พฤกษา ลายครุฑยุดนาค จากการสำรวจกระเบื้องเชิงชายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร พบกระเบื้องเชิงชายลวดลายดอกบัว โดยดอกบัวเป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์ ความสมบูรณ์ ในพุทธศาสนาใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการกำเนิดขององค์พระศาสดา ดังความในพระไตรปิฎกว่า “...สีเส ปฐวิ โปกขเร อภิเลเก สพพพุทธานํ...” หมายความว่า แผ่นดินคือดอกบัว เป็นที่อุบัติตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น จึงนิยมสร้างงานศิลปกรรมเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับอยู่เหนือดอกบัว ต่อมาลายดอกบัวได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นลายลายกระหนก          ลายเทพนมที่ตกแต่งบนกระเบื้องเชิงชายเป็นภาพเทวดาครึ่งตัวประนมมือเสมอพระอุระอยู่เหนือดอกบัว เป็นลวดลายที่พบในงานศิลปกรรมไทยทั่วไป เช่น ในงานจิตรกรรม ลายพุ่มหน้าบิณฑ์เทพนม ลายก้านขดเทพนม ลายเทพนมบนเครื่องถ้วยเบญจรงค์ ในงานประติมากรรม พบที่กระเบื้องเชิงชาย หน้าบัน บันแถลงประตูหน้าต่างของโบสถ์หรือวิหาร เป็นต้น ซึ่งกระเบื้องเชิงชายที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓ --------------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร : Kamphaeng Phet National Museum https://www.facebook.com/kamphaengphetnationalmuseum/posts/3796695317123532 -------------------------------------------------------บรรณานุกรม - ประทีป เพ็งตะโก. “กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๔๐. - วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๕๙. - สันติ เล็กสุขุม. งานช่าง คำช่างโบราณ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๗.


โตกหรือขันโตกโตก สะโตก หรือขันโตก เป็นภาชนะใส่อาหารหรือใส่ของ ทำด้วยไม้ รูปร่างคล้ายถาด มีขาสูงโดยรอบ นิยมทารักสีดำ หรือทาชาดสีแดง ในภาคกลางเรียก กระบะหรือสำรับอาหารของภาคกลาง ภาคอีสานเรียก พาข้าว โตกนั้นมีขนาดแตกต่างกัน ๓ ขนาด ได้แก่       ๑. โตกหลวงหรือสะโตก มีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๓ - ๒๕ นิ้ว ใช้ในพระราชสำนักหรือใช้กับเจ้านายฝ่ายเหนือ       ๒. โตกฮามหรือโตกหะราม มีขนาดกลาง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๗ - ๒๔ นิ้ว ฮามหรือหะรามเป็นคำภาษาโบราณที่ใช้เรียกขันโตกของรองเจ้าอาวาสวัดหรือบ้านคหบดี หรือครอบครัวใหญ่       ๓. โตกน้อยหรือสะโตกหน่อย มีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ - ๑๕ นิ้ว ใช้ในครอบครัวเล็ก หรือพระภิกษุที่แยกฉันองค์เดียวภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพชุด การประกวดภาพเก่าเกี่ยวกับจังหวัดลำพูน (เจ้าของภาพ นายบัญญัติ สุขสัก)อ้างอิง๑. มณี พยอมยงค์. ๒๕๔๖. สารพจนานุกรมล้านนา. เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก.๒. พิชชา ทองขลิบ. ๒๕๖๔. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (Online). https://www.sac.or.th/.../trad.../th/equipment-detail.php.... สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๔.


พฺรยาสุนนฺทราช (พฺรยาสุนนฺทราช)  ชบ.บ.67/1-1จ  เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


ชื่อเรื่อง                                มหานิปาตวณฺณนา (เวสฺสนฺตรชาตก) ชาตกฏฐกถา ขุทฺทกนิกายฏฐกถา (หิมพานต์-นครกัณฑ์) สพ.บ.                                  415/12ประเภทวัสดุมีเดีย                    คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่                               พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ                           28 หน้า กว้าง 4.33 ซม. ยาว 55.3 ซม.หัวเรื่อง                                 พุทธศาสนา                                           เทศน์มหาชาติ                                           ชาดก บทคัดย่อ/บันทึก          เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับทองทึบ-ลานดิบ-ล่องชาด  ได้รับบริจาคมาจากวัดลานคา ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี


เลขทะเบียน : นพ.บ.288/4ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 46 หน้า ; 4 x 51.5 ซ.ม. : ทองทึบ-ล่องชาด-ลานดิบ ; ไม่มีไม้ประกับชื่อชุด : มัดที่ 121  (258-265) ผูก 4 (2565)หัวเรื่อง : แปดหมื่นสี่พันขันธ์(8หมื่น) --เอกสารโบราณ            คัมภีร์ใบลาน            พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา  สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม


Messenger