ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 41,355 รายการ

         อานม้าประดับวงศ์          เครื่องรองนั่งบนหลังม้าทำจากไม้ เป็นแท่นวงรีและแอ่นโค้ง ด้านบนทาสีแดง เจาะช่องตรงกลางตามแนวยาวสำหรับวางผ้าบุนวม และด้านข้างเจาะช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กสำหรับผูกสายโกลน มีเชิงยื่นออกมาเป็นขามุมมนด้านละสองข้าง ติดห่วงกลมทำจากโลหะใช้คล้องสายเหาและเครื่องผูก พนักรอบนอกประดับมุก ทำจากชิ้นเปลือกมุกขนาดเล็กต่อกันปูพื้นจนเต็ม ขอบรอบนอกทำจากโลหะตีลายวงกลมเรียงต่อกัน พนักด้านหลังค่อนข้างเตี้ยตกแต่งด้วยโลหะเส้นแบนทำเป็นลวดลายก้านขด ส่วนพนักด้านหน้าสูงมีความโค้งเว้าปลายงอน ใช้คล้องวางเก็บสายบังเหียน ตกแต่งด้วยโลหะเส้นแบนผูกลายใบโพธิ์ ภายในผูกเป็นลายก้านขด          ฝีมือพระยาเพ็ชรพิชัย (ทองจีน) บิดาเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย (พร จารุจินดา) ทำให้บุตรของท่านเนื่องในวันเกียรติยศฯ เมื่อใช้ประกอบการแสดงขี่ม้ารำทวนถวายทอดพระเนตรหน้าพลับพลาในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พ.ศ.๒๔๒๔ โดยกรมศิลปากรรับมอบจากคุณหญิงชอุ่ม สุรบดินทร์ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘          คำว่า “สวรรคต” หมายถึง การเสด็จสู่สวรรค์ นับเป็นการสิ้นสุดภารกิจบนโลกมนุษย์ ดังนั้นการแสดงมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ จึงไม่ได้ถือเป็นเรื่องโศกเศร้า ใช้สำหรับการแสดงความอาลัย ความกตัญญูกตเวที และสนองพระมหากรุณาธิคุณ ให้ฝูงชนที่มาช่วยงานได้ชมมหรสพเป็นการผ่อนคลาย ฉากงานมหรสพสมโภชในวรรณคดีจึงมีความโศกเศร้าปนกับความยินดี          เมื่ออัญเชิญพระโกศมายังพระเมรุมาศ มหรสพแต่ละประเภทจะเริ่มการแสดงทันที ดังบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ระบุไว้ว่า          “...ครั้นพระศพชักมาถึงหน้าเมรุ ก็โห่ฉาวกราวเขนขึ้นอึงมี่ ต่างเล่นเต้นรำทำท่วงที เสียงฆ้องกลองตีทุกโรงงาน...”           ในช่วงแรกเริ่มการจัดแสดงมหรสพเข้าร่วม มีเฉพาะ “มหรสพหลวง” ต่อมาจึงได้มีการละเล่นพื้นบ้าน การละเล่นตามชาติพันธ์ และศิลปะป้องกันตัวเข้าไปด้วย เปลี่ยนแปลงรูปแบบตามความนิยมของยุคสมัยและพระราชประสงค์ อาทิ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้นำ “รำโคมญวน” เข้ามาแสดงในมหรสพออกพระเมรุด้วย          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การจัดชกมวยได้รับความนิยมอย่างมาก จึงโปรดเกล้าฯ จัดมหรสพประเภทป้องกันตัว อาทิ การรำง้าวประลอง รำทวน ชกมวย และกระบี่กระบอง ถวายทอดพระเนตรในการพระศพ          จากจดหมายเหตุราชกิจรายวัน ภาคที่ ๑๑ กล่าวถึง งานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ว่ามีการจัดแสดงมหรสพ ประกอบด้วย โขน หุ่น งิ้ว หนัง มวย ตีพลอง รำง้าว รำทวน และรำโคมสิงห์โตมังกร สำหรับทอดพระเนตรหมุนเวียนกันหน้าพลับพลาที่ประทับ          “ขี่ม้ารำทวน” เป็นการแสดงประเภทรำอาวุธ ปรากฎในวรรณกรรมเรื่อง อิเหนา และราชาธิราช ซึ่งต้องใช้ความชำนาญในการควบคุมม้าและร่ายรำอาวุธยาว สำหรับ “อวดฝีมือ” โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยตั้งแต่คราวฝึกซ้อมก่อนเริ่มแสดงในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และเสด็จออกพลับพลาทอดพระเนตรการแสดงมหรสพประเภทนี้อยู่บ่อยครั้ง          “ วันที่ ๔๕๐๖ วัน ๗ ๕ฯ ๔ ค่ำ ปีมะโรงโทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ บ่าย ๕ โมงเศษ เสด็จออกพลับพลา ทรงโปรยสลากมะนาวแล้วโปรดให้ทิ้งทาน เวลาค่ำทรงจุดดอกไม้ การมหรศพมีเหมือนทุกวัน... อนึ่งผู้ซึ่งรำทวนในงานคราวนี้ คือ นายสนิทหุ้มแพร นายเสน่ห์หุ้มแพร นายเล่ห์อาวุธหุ้มแพ นายสรรพวิไชยหุ้มแพร นายชิตหุ้มแพร นายฉันหุ้มแพร นายรองชิต นายรองสรรพวิไชย นายรองพิจิตร นายพินมหาดเล็กบุตรพระยาศรีสรราช ‘นายพรมหาดเล็กบุตรพระยารัตนโกษา’ นายเชยมหาดเล็กบุตรเจ้าพระยาพลเทพ นายบุญมากมหาดเล็กบุตรพระนรินทรราชเสนี หม่อมกลมในพระองค์เจ้าชิตเชื้อพงศ์...”          ปรากฏนามของ “นายพรมหาดเล็กบุตรพระยารัตนโกษา (พระยาเพ็ชรพิชัย) ” ที่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ต่อมาคือ เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก อุปราชมณฑลพายัพ องคมนตรีในรัชกาลที่ ๖ และได้รับพระราชทานนามสกุล “จารุจินดา”           อานม้าประดับวงศ์นี้ เป็นหนึ่งในชุดเครื่องม้าโบราณที่ได้รับจากคุณหญิงชอุ่ม สุรบดินทร์ ภายหลังจากเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัยถึงแก่อสัญกรรม นับเป็นงานประณีตศิลป์เทคนิคการประดับมุกที่ต้องอาศัยความชำนาญของช่างฝีมือ เป็นโบราณวัตถุที่มีความงดงามและบ่งบอกคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ได้อย่างดี     อ้างอิง จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ ๑๑ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๘ สมศรี เอี่ยมธรรม, บรรณาธิการ. “เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์”. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๕ นิชรา ทองเย็น. มหรสพและการละเล่นในงานพระเมรุ จากจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๑-๕. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๕ ธนโชติ เกียรตินภัทร. ฉากงานพระเมรุมาศและพระเมรุในวรรณคดีไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น: ภาพสะท้อนพระราชพิธี พระบรมศพก่อนสมัยรัชกาลที่ ๖. ดำรงวิชาการ. ๑๗ ๑(มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๑). นนทพร อยู่มั่งมี. มหรสพในงานพระเมรุสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. ศิลปวัฒนธรรม. ๓๘ ๑๒ (ตุลาคม ๒๕๖๐). สำเนาสัญญาบัตร. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓ หน้า ๑๙๗ ชมรมสายสกุลจารุจินดา. ประวัติบรรพบุรุษ. เข้าถึงเมื่อ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๖, เข้าถึงได้จาก. http://charuchinda.com/ind.../history/94-2018-04-07-04-55-53


          รูปปั้นแบบร่างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1           ผลงาน : แบบร่างประติมากรรมพระบรมราชาอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช           ศิลปิน : ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (คอร์ราโด เฟโรจี)           เทคนิค : ปูนปลาสเตอร์           ปีที่สร้างสรรค์ : พ.ศ. 2474           ขนาด : สูง 30 เซนติเมตร           ประวัติ : รูปปั้นแบบร่างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
     การออกแบบอนุสาวรีย์  เป็นผลงานที่โดดเด่นของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จัดเป็นศิลปะแบบวิชาการ (Academic art) รูปแบบของพระบรมรูป  มีลักษณะที่เหมือนจริง  แต่ดูน่าเกรงขาม หากพิจารณาในประเด็นของบริบททางสังคม  การสร้างอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  เป็นเสมือนการเน้นพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย  ที่กำลังอ่อนแอและถูกท้าทาย  กับทั้งเป็นศิลปะวิชาการชิ้นสุดท้ายที่ถูกกำหนดจากทางการ โดยพระมหากษัตริย์  ก่อนที่รัฐไทยสมัยใหมจะรับช่วงการอุปถัมถ์ศิลปะแบบทางการนี้ต่อไป  ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติการสร้างอนุสาวรีย์หลายแห่งทั่วประเทศ (สุธี 2545 : 38)
           อ้างอิง : หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป  (Guide to The National Gallery, Bangkok)           แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/nationalgallery/360/model/zz10ok/   ที่มา: http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/nationalgallery/


#ตู้บัตรรายการก่อนที่เราจะมีคอมพิวเตอร์สืบค้นข้อมูลในห้องสมุดอย่างเช่นปัจจุบันนี้ สมัยก่อนนั้น เรามีเครื่องมือช่วยสืบค้นที่เรียกว่าบัตรรายการ ซึ่งจะถูกเก็บไว้ในตู้บัตรรายการแยกตามประเภทของบัตร และเรียงตามลำดับตัวอักษร เพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการและบรรณารักษ์สามารถสืบค้นว่าหนังสือที่ต้องการอยู่ที่ไหน โดยสามารถค้นได้จากชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ และหัวเรื่อง เป็นต้น ในบัตรรายการจะให้รายละเอียดของหนังสือแต่ละเล่ม และเลขหมู่หนังสือ เพื่อให้สามารถไปหาที่ชั้นหนังสือได้นั่นเอง ปัจจุบัน ตู้บัตรรายการที่หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ ก็ยังคงไว้เช่นเดิม เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการการสืบค้นในยุคก่อนที่จะมาเป็นการสืบค้นจากคอมพิวเตอร์เรียบเรียงโดย นางสาวพิมพา สุธัญญาวัชชัย บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่#ตู้บัตรรายการ#บัตรรายการ#บรรณารักษ์ชวนรู้


#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่พระเจ้าไม้พระไม้ หรือ พระเจ้าไม้ หมายถึง พระพุทธรูปที่แกะจากไม้ชนิดต่าง ๆ โดยนิยมแกะขึ้นจากไม้ท่อนเดียว แต่ก็มีบางองค์แกะจากไม้หลายชนิดมาประกอบเข้าด้วยกัน มักสร้างในช่วงเดือนยี่เป็ง หรือ เดือนสิบสองของภาคกลาง .- คติเกี่ยวกับไม้มงคลที่ใช้สร้างพระไม้จากการศึกษาของ ผศ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง พบว่าไม้ที่นิยมนำมาสร้างพระไม้ คือ ไม้สัก ไม้สะหรี (โพธิ์) ไม้สะเลียม (สะเดา) ไม้แก่นจันทน์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลมาสร้างพระไม้อีกด้วยพระไม้ที่สร้างจากไม้ท่อนเดียวมักเป็นของเจ้าภาพที่มีอำนาจหรือผู้นำชุมชน สร้างถวายวัดเพื่อหวังอานิสงค์ให้ได้ไปพบพระศรีอริยเมตไตรย (พระอนาคตพุทธเจ้า) และสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา หรือตั้งใจถวายเป็นเหตุปัจจัยให้ถึงนิพพานในที่สุดอนึ่งในบางท้องที่ทั้งในพม่าและไทย มีการสร้างพระไม้ด้วยหวายหรือไม้ไผ่จักตอก เอามาสานเป็นองค์พระแล้วพอกครั่ง หรือปูน ลงรักปิดทองให้สวยงามเรียกว่า พระสาน พระเจ้าอินทร์สาน หรือ พระอินทร์ถวายพระไม้อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “พระเจ้าพร้าโต้” ผู้สร้างจะแกะไม้เป็นรูปพระโดยใช้เวลาเพียง 1 วัน ทำให้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พระเจ้าทันใจ”พระไม้ที่สร้างโดยประกอบขึ้นจากไม้หลายท่อน เป็นพระไม้ชนิดพิเศษ เรียกว่า “พระเจ้าไม้ชาตา” (พระเจ้าชะตา) หรือ “พระเจ้าไม้สมฤทธี” หรือ “พระเจ้าไม้เจ็ดเยื่อง” เชื่อว่าผู้ใดสร้างหวังสิ่งจะสมความปรารถนาทุกประการ ผู้สร้างมักเป็นเจ้านายและขุนนาง.- อบรมสมโภชพระไม้เมื่อสร้างพระไม้เสร็จแล้ว จะมีพิธี “บวชพระเจ้า” “เบิกบายรวายสีพระเจ้า”หรือ “อบรมสมโภชพระเจ้า” คือพิธีพุทธาภิเษกเพื่อสถาปนาองค์พระให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ โดยตำราของวัดเมืองราม ตำบลนาเหลือง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ระบุว่า เจ้าภาพสร้างพระเกิดวันใดก็ให้ประกอบพิธีในวันนั้น เช่น เจ้าภาพเกิดจันทร์ ก็ให้บวชพระเจ้าในวันจันทร์ ส่วนเครื่องประกอบในพิธีการ เช่น เบี้ยหมื่น หมากหมื่น ฯลฯ.- ข้อมูลประวัติศาสตร์จากจารึกฐานพระไม้บริเวณฐานของพระไม้โดยส่วนใหญ่มักปรากฏคำจารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยให้เราทราบอายุสมัยและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ๆ ได้ พบทั้งแบบจารึกข้อความยาว ๆ หรือแบบสั้น ๆ สองสามคำ คำจารึกส่วนมากมีใจความคล้าย ๆ กัน โดยมักมีข้อความเรียงลำดับตามนี้ วัน เดือน ปีที่สร้าง : ส่วนมากจะขึ้นด้วยปีจุลศักราช ตามด้วยตัวเลขปี ชื่อปีหนไท ชื่อเดือน หรือลำดับเดือน บอกวัน (นับแบบมอญ เช่น เมงวัน) ตามด้วยตัวเลขลำดับวัน ตามด้วยวันไท ไทรวายสีเจ้าศรัทธาหรือนามผู้สร้างพร้อมคณะ : นิยมขึ้นต้นด้วยคำว่า ปถมมูลลศรัทธา มูลลศรัทธา หรือสัทธา ตามด้วยหลายนามผู้สร้างหรือถวายสิ่งที่สร้าง : ส่วนมากจะใช้คำว่า ได้สร้างพุทธรูปเจ้าองค์นี้ หรือบอกลักษณะของพระพุทธรูปที่สร้างเช่น ได้สร้างยังพุทธรูปเจ้ารับบาตร แลห้ามมารเจตนาในการสร้าง : เจตนาหลักในการสร้างเกือบทุกองค์มักเพื่อค้ำชูพระศาสนาให้ถึง 5,000 พระวัสสาคำปรารถนาของผู้สร้าง : คำปรารถนามักเขียนต่อจากเจตนาการสร้าง มีใจความสำคัญคือ ขอให้ได้พบกับความสุข และเป็นความสุข 3 ประการ (ความสุขในเมืองคน สุขในเมืองฟ้า สุขหลังความตาย)คำบาลี : ปิดท้ายด้วยคำบาลีซึ่งมีใจความเช่นเดียวกับคำปรารถนาของผู้สร้าง การจบด้วยคำบาลีเหมือนเป็นการเน้นย้ำให้คำปรารถนาเป็นจริงในอนาคต.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ นำพระเจ้าไม้มาจัดแสดงเนื่องในกิจกรรมไหว้พระปีใหม่ ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมและสักการะได้ ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2566 – 7 มกราคม 2567วันเปิดทำการ : วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 09:00 - 16:00 น.วันปิดทำการ : วันจันทร์ - วันอังคาร*เปิดให้บริการช่วงเทศกาลปีใหม่ (29 ธ.ค. 66 - 1 ม.ค. 67) ----------------------------------------------------อ้างอิงวิลักษณ์ ศรีป่าซาง. พระเจ้าไม้ล้านนา. เชียงใหม่ : สีสันพรรณไม้, 2554. หน้า 101 – 128.ศิรพงศ์ ศักดิ์สิทธิ์. คติการสร้างพระพุทธรูปไม้ล้านนา. ดำรงวิชาการ , Vol 11, No.2, 2012.


นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่กรมศิลปากรจัดกิจกรรมการประกวดภาพถ่าย “แต่งไทย ชมวัดไชยฯ ยามราตรี” เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการแต่งชุดไทยเที่ยวชมโบราณสถาน โดยเป็นภาพถ่ายบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ถ่ายทอดสาระ คุณค่า ความงามของการแต่งกายด้วยชุดไทยยุคต่างๆ ในพื้นที่โบราณสถานวัดไชยวัฒนารามยามค่ำคืน ซึ่งเป็นกิจกรรมในงาน "ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม"   มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนมาก และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากร ได้พิจารณาตัดสินผลงานภาพถ่ายเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 มีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้  1. รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล จำนวน 20,000 บาท ได้แก่ ภาพ "ท่องราตรี ที่วัดไชยวัฒนาราม งดงามดั่งมีมนต์ขลัง" โดย นางสาวจิรา ชุมศรี                 2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท ได้แก่ ภาพ "ราตรีศรีโสภา" โดย นายพรพรต สหกิจ                  3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล จำนวน 5,000 บาท ได้แก่ ภาพ "พ.ศ. 2310" โดย นายนาวี ผาจันทร์                  4. รางวัลพิเศษภาพถ่ายวัยเกษียณสำราญ เงินรางวัล จำนวน 5,000 บาท ได้แก่ ภาพ "แสงเทียน ณ วัดไชย" โดย นางโสภา ทองอ่อน                  ผู้ได้รับรางวัลสามารถติดต่อเพื่อขอรับรางวัลได้ที่ สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 3524 2501 และ 0 3524 2448


            สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนาทางวิชาการ ทศวรรษแห่งการค้นพบใหม่ เนื่องในงานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย พ.ศ. ๒๕๖๗ หัวข้อ “๑๐ สุดยอดโบราณวัตถุหายากที่สูญหายไปจากความทรงจำ” พร้อมกับ Mini Exhibition และลุ้นรับของที่ระลึกจากสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วันพุธที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วิทยากรโดย นางสาวโสภิต ปัญญาขันธ์ นายอริย์ธัช  นกงาม นายศรัญ  กลิ่นสุคนธ์ นางสาวพลอยไพลิน ปุราทะกา ดำเนินรายการโดย นายณัฐชัย ลลิตพิพัฒน์           ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานรับฟังการเสวนาโดยแสกน QR Code หรือลิงค์แบบฟอร์ม : https://forms.gle/7iBrr6qqwqtdkbGB9


            สืบเนื่องจากที่สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้กำหนดจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการเนื่องในงานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๗ หัวข้อ “๑๐ สุดยอดโบราณวัตถุหายากที่สูญหายไปจากความทรงจำ” พร้อมกับนำโบราณวัตถุเหล่านั้นไปจัด Mini Exhibition ขอเชิญชวนทุกท่านมาทายของชิ้นที่สอง ที่จะนำไปจัดแสดงในนิทรรศการดังกล่าว โดยมีของรางวัลมาสุ่มแจก เพียงทำตามกติการ่วมสนุก ดังนี้            ๑. กดไลก์เพจ Central Storage of National Museums : คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ            ๒. กดไลก์และแชร์โพสต์นี้  https://www.facebook.com/centralstorageofnationalmuseums/posts/pfbid022tY7cfBxJGCT1EqeGTJ5AP2Ac3bzE9bkKrr2bVs7o1hMj1XHUAgLDqCxMcs9LJYJl บนหน้า Facebook ของท่าน โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ พร้อมติดแฮชแท็ก #๑๐สุดยอดโบราณวัตถุหายากที่สูญหายไปจากความทรงจำ                     ๓. ตอบคำถามใต้โพสต์นี้ว่า "เงาที่ท่านเห็น เห็นโบราณวัตถุชิ้นใด" พร้อมคำอธิบายประกอบ            ผู้สนใจร่วมกิจกรรม สามารถตอบคำถามได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๒.๐๐ น. ทั้งนี้ ท่านใดตอบได้ครบถ้วนและถูกใจทีมงานที่สุดรับรางวัลไปเลย ๑ รางวัล แต่หากพลาดรางวัลรอบนี้ สามารถติดตามเพจ Central Storage of National Museums : คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป  





ชื่อเรื่อง                                เทวทูตสุตฺต (เทวทูตสูตร) สพ.บ.                                  436/2ประเภทวัสดุมีเดีย                    คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่                               พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ                           46 หน้า กว้าง 5 ซม. ยาว 40 ซม.หัวเรื่อง                                 พระสูตร บทคัดย่อ/บันทึก          เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับลานดิบ ทองทึบ ได้รับบริจาคมาจากวัดลานคา ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี


         พระเจดีย์จุฬามณี         ลักษณะ : เจดีย์ทรงเครื่องตั้งอยู่บนฐานไพทีแปดเหลี่ยมมีพนักราวลูกกรงล้อมรอบประดับเสาเม็ด เว้นช่องเปิด 4 ด้าน ส่วนฐานรองรับองค์ระฆังเป็นฐานหน้ากระดาน และฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง ต่อด้วยชั้นเชิงบาตร และฐานบัวคลุ่มรองรับองค์ระฆัง ประดับด้วยทับทรวงและสังวาล ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตร บัวฝาละมี บัวคลุ่มเถา ปลียอดและลูกแก้ว เจดีย์ถอดประกอบได้ 3 ส่วน คือ ส่วนฐานไพที องค์ระฆัง และส่วนก้านฉัตร ฐานหน้ากระดานด้านหนึ่งลงรักปิดทองเป็นแผ่นหนา สำหรับจารอักษรไทย ภาษาไทยระบุปีที่สร้าง วัตถุประสงค์การสร้าง แต่ชำรุดแตกกะเทาะ ใจความสำคัญหายไป แต่สามารถกำหนดอายุจากรูปแบบศิลปกรรมได้ว่าเป็นงานช่างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย มีการพัฒนาทั้งรูปแบบและลวดลายตกแต่งให้งดงามวิจิตรยิ่งขึ้น         คติการบูชาพระเจดีย์จุฬามณีมีมาช้านานแล้ว ด้วยเชื่อว่าเป็นสถานที่บรรจุพระเกศโมลีและพระบรมธาตุเขี้ยวแก้วของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวพุทธล้วนปรารถนาจะได้ขึ้นไปสักการะบูชาพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังนั้น ผู้มีกำลังทรัพย์จึงนิยมสร้างเจดีย์จำลองอุทิศถวายเป็นพุทธบูชาแทนเจดีย์จุฬามณี ถือว่าเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ส่วนผู้มีกำลังทรัพย์น้อย หากปรารถนาจะได้สักการะพระเจดีย์จุฬามณี ให้ตั้งจิตอธิษฐานก่อนสิ้นลม ญาติจะแต่งกรวยดอกไม้ธูปเทียนใส่ในมือผู้ตายไว้ เพื่อนำไปนมัสการพระเจดีย์จุฬามณีเมื่อล่วงลับไปแล้ว         ขนาด : กว้าง 44.5 เซนติเมตร ยาว 47 เซนติเมตร สูงรวมฐาน 94 เซนติเมตร         ชนิด : โลหะผสม ลงรักปิดทอง         อายุ/สมัย : รัตนโกสินทร์พุทธศตวรรษที่ 24 (ประมาณ 200 - 220 ปีมาแล้ว)         ประวัติ/ตำนาน : คุณทิพย์สุดา ลัดพลี และนางสาวพลิพร ลัดพลี ทายาทของศาสตราจารย์ธรรมนูญ ลัดพลี มอบให้กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2553   แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/3d_object/?obj=53057   ที่มา: https://smartmuseum.finearts.go.th




ชื่อเรื่อง : หนังสือค่าวซอเรื่องธัมม์พุทธเสนะกะ  ผู้แต่ง : บุญลือ ประทุมรัตน์ปีที่พิมพ์ : ๒๔๘๑สถานที่พิมพ์ :  เชียงใหม่ สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์เจริญเมืองจำนวนหน้า : ๒๑๐ หน้าเนื้อหา : หนังสือเล่มนี้ชื่อ พุทธเสนะกะ  พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์อักษร ที่โรงพิมพ์เจริญเมือง ถนนเจริญเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ นายบุญลือ ประทุมรัตน์ ผู้แต่ง อักษรล้านนา ภาษาล้านนา พุทธเสนะกะเล่มนี้ มี ๑๕ บท เนื้อเรื่องโดยย่อว่า “เศรษฐีคนหนึ่งเป็นคนตระหนี่มาก เขามี ลูกสาว ๑๒ คน เขาคิดว่าลูกทั้ง ๑๒ คนนำมาซึ่งความยากจนจึงนำไปปล่อยไว้ในป่า นางยักษ์ผ่านมาเห็นจึงได้พาไปอยู่ด้วยและก็ได้ให้เด็กหญิงทั้ง ๑๒ คนช่วยเหลือทำงานต่าง ๆ เวลาผ่านไปเด็กโตขึ้นทราบว่าคนที่รับเลี้ยงดูเป็นยักษ์จึงได้พากันหนี เร่ร่อนไปจนไปพบเสนาอำมาตย์ซึ่งกำลังตามสตรีผู้มีบุญไปเป็นมเหสีของพระราชา นางยักษ์แปลงร่างเป็นสตรีรูปงามและกลายเป็นมเหสีเอก นาง ๑๒ เป็นสนม นางยักษ์ออกอุบายควักลูกตานาง ๑๒ และขังไว้ที่ถ้ำ นาง ๑๒ ได้ให้กำเนิดลูก คนที่ ๑-๑๑ ถูกนางยักษ์กิน เหลือคนสุดท้ายคือ พุทธเสนะกะ ลูกของน้องคนสุดท้อง พุทธเสนกะเล่นสกากับพระบิดาเป็นที่โปรดปราน นางยักษ์ออกอุบายให้พุทธเสนกะไปเมืองยักษ์เพื่อจะให้ลูกเลี้ยงจับกิน แต่พระฤาษีแผลงสารให้แต่งงานกัน พุทธเสนกะขโมยของวิเศษและตาของป้าและแม่ ลูกสาวยักษ์อกแตกตาย พุทธเสนะกะฆ่ายักษ์ และช่วยป้ากับแม่เรียบร้อยแล้วจึงกลับไปหาภรรยา แต่พบว่านางได้ตายเสียแล้วจึงตรอมใจตายตาม  ตัวอย่างข้อความ คำปรารภ ท่านนักอ่านทั้งหลาย หนังสือซึ่งท่านถืออยู่ในมือของท่านเดี๋ยวนี้ เป็นหนังสือที่ได้แต่งขึ้นมาใหม่ๆ อีก เรื่องหนึ่ง การที่โรงพิมพ์พยายามนักหนาเอาคัมภีร์ที่เป็นแก่นของพระธรรมมาแต่งเป็นกลอนซอนี้ ก็เพราะอยากหื้อท่านผู้ที่สดับพระธรรมได้สดับในเวลาว่าง เมื่อตนบ่มีโอกาสได้สดับในวิหาร เพราะเหตุว่าคนเราย่อมมีอาชีพแตกต่างหัน หาเวลาว่างได้ยากนัก เมื่อมีติดตัวนำไปสู่ที่ใดแล้วต้องการฟังเมื่อใดก็ได้ แต่หื้อถือเสียเป็นดั่งได้สดับพระธรรมอันนี้เรื่องนี้ เรื่องพุทธเสนะกะนี้ เป็นพระธรรมที่หายากอยู่เล่มหนึ่งเหมือนกัน แต่ก็บ่หนีจากการค้นคว้าได้ จิ่งได้ถูกน้ำเอามาแปลแลแต่งเป็นกลอนคร่าวซอขึ้น การที่ได้นำมาตกแต่งหื้อมีสำนวนโวหารอันไพเราะเช่นนี้ขึ้นแล้วก็กระทำหื้อพระธรรมมีน้ำหนักขึ้นอีก ซึ่งกระทำหื้อเกิดความเลื่อมใสต่อพระธรรมมากขึ้นไป ก็เท่าเป็นการเผยแผ่พระศาสนาไปอีกเหมือนกัน ท่านที่สนใจในเรื่องพระธรรมควรหามาไว้อ่านเพื่อประดับความรู้ในส่วนวิณญานของท่านหื้อเจริญมากขึ้นไป การอ่านมากเท่าใดก็ยิ่งนำความรู้มาสู่ตัวท่านมากขึ้นทุกที นายเมืองใจ ไชยนิลพันธ์ ๕๑ วังสิงห์คำ อำเภอเมือง เชียงใหม่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๑ เลขทะเบียนหนังสือหายาก : ๖๑๘ เลขทะเบียนหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ : E-book_๒๕๖๗_๐๐๒๗หมายเหตุ : โครงการจัดเก็บและอนุรักษ์หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ สื่อโสตทัศนวัสดุ และเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗



Messenger