ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 41,347 รายการ
วัดนาตาขวัญ
วัดนาตาขวัญ ตั้งอยู่ที่บ้านนาตาขวัญ ตำบลนาตาขวัญ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ตามประวัติกล่าวว่าวัดนี้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๕ โดยมีผู้บริจาคที่นาให้สร้างวัดนาม “ตาขวัญ” จากการศึกษารูปแบบศิลปกรรม สถาปัตยกรรมและหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่า อุโบสถหลังเก่าวัดนาตาขวัญน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราวรัชกาลที่ ๓
สิ่งสำคัญภายในวัด คือ อุโบสถหลังเก่า เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาด ๕ ห้อง กว้าง ๖.๕๐ เมตร
ยาว ๑๗.๗๕ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานอุโบสถเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ มีประตู ๑ ช่อง หน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง ผนังด้านหลังทึบ หลังคาทรงจั่วซ้อนชั้นหน้า-หลัง เรียงตับ ๓ ชุด มุงกระเบื้องดินเผา หน้าบันก่ออิฐฉาบปูนเรียบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ไม้แกะสลัก ด้านหน้ามีหลังคาพาไลและช่องทางเข้าออก ๒ ข้าง รอบอุโบสถมีแท่นใบเสมา พื้นลานประทักษิณยกพื้นล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วด้านข้างมีบันไดประดับเสาหัวเม็ดขึ้นลงด้านละ ๒ ชุด ภายในอุโบสถมีพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัยประดิษฐานบนฐานสิงห์รองรับด้วยฐานปัทม์
ส่วนเจดีย์ตั้งอยู่ทางเหนือของอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังก่ออิฐฉาบปูนตั้งอยู่บนฐานปัทม์แปดเหลี่ยม
ในปีงบประมาณพ.ศ ๒๕๕๘ กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะโบราณสถานอุโบสถหลังเก่า
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนพิเศษ ๑๒๔ง ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๔ มีพื้นที่โบราณสถาน ๗ ไร่ ๑ งาน ๘๙ ตารางวา
Wat Na Ta Khwan
Wat Na Ta Khwan is a temple located in Na Ta Khwan village, Na Ta Khwan Subdistrict, Mueang District, Rayong Province. According to the history, Ta Khwan, who had a sizable land holding, gave the land for the temple, which was constructed in 1792.
The temple’s significant ancient monument is its old ordination hall, which was built in brick and face eastward. It has a 6.5/17.45 meters rectangular shape. There is one entrance at the front of the hall. Each of the hall's side walls has five windows. The hall is covered by three rows of double-gabled roof, with clay tiles. The tympanum has a smooth surface and is in brick; it is also ornamented with gable apex, rows of decorative ridges, and decorative gable end's protrusions. The front of the hall is a veranda with two entrances. Inside the hall is a principal Buddha stucco in the attitude of subduing Mara. At cardinal points around the hall are bases for Sema stones (boundary markers). Two ornamented stairs are at each side of the two sides of the walls. The Chedi is located north of the ordination hall and is made in brick in the shape of a bell on an octagonal base.
According to the art and architecture style of the old ordination hall, as well as archaeological evidences excavated in 2015, the hall is thought to have been built in the 19th century, around the reign of Rama III in the early Rattanakosin period. In 2015, the Fine Arts Department has restored the old ordination hall of Wat Na Ta Khwan.
The Fine Arts Department announced the registration of Wat Na Ta Khwan as an ancient monument in the Royal Gazette, Volume 118, Special Part 124, dated 17th December 2001. The total area of the monument is 11,956 square meters.
ผู้แต่ง/ผู้แปล/ผู้เรียบเรียง : Author:
คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ
ครั้งที่พิมพ์ : Edition:
พิมพ์ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2555
ผู้พิมพ์ : Publisher:
กรมศิลปากร (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม ๒๕๕๔
ISBN:
978-616-283-010-5
ราคา : Price:
ไม่จำหน่าย
หนังสือเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ มีเนื้อหากล่าวถึงพระราชประวัติ พระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย กำลังพระปัญญา และกำลังพระราชทรัพย์ ปฏิบัติบำเพ็ญเพื่อความผาสุกร่มเย็นของพสกนิกรชาวไทยทั่วพระราชอาณาจักร และเพื่อความเจริญมั่นคงของประเทศ พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่ออาณาประชาราษฎร์ ได้แก่ ด้านการเกษตรกรรม ป่าไม้ การอนุรักษ์และปรับปรุงดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อม พลังงานและพลังงานทดแทน การคมนาคม การแพทย์ และสาธารณสุข การศึกษา นาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และการดำรงชีวิตของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศด้วย
ต้นฉบับของหนังสือนี้ คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน ได้คัดสรรจากบทความเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้เรียบเรียงเผยแพร่ในนิตยสารสกุลไทย รายสัปดาห์ เนื่องในโอกาสมหามงคลหลายวาระ และมอบให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์ และยังร่วมเป็นคณะบรรณาธิการอีกด้วย
ผู้สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าได้ที่หอสมุดแห่งชาติ และห้องสมุดประชาชน ทั่วประเทศ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๔๗๐๒, ๐ ๒๒๒๔ ๒๐๕๐
ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
จังหวัดพิจิตร ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ระหว่างละติจูดที่ ๑๕ องศา ๕๕ ลิปดา ๕๑ ฟิลิปดาเหนือ ถึงละติจูดที่ ๑๖ องศา ๓๖ ลิปดา ๑๕ ฟิลิปดาเหนือ และระหว่างลองจิจูดที่ ๙๙ องศา ๕๙ ลิปดา ๑๕ ฟิลิปดาตะวันออก ถึงลองจิจูดที่ ๑๑๑ องศา ๔๗ ลิปดา ๒๕ ฟิลิปดาตะวันออก โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ
ติดต่อกับ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอบางระกำ และอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
ทิศใต้
ติดต่อกับอำเภอชุมแสง และอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
ทิศตะวันออก
ติดต่อกับ อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก
ทิศตะวันตก
ติดต่อกับอำเภอไทรงาม อำเภอขาณุวรลักษบุรี อำเภอลานกระบือ อำเภอพรานกระต่าย
จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอบรรพตพิสัยจังหวัดนครสวรรค์
ภาพที่ ๑ แผนที่จังหวัดพิจิตร
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดพิจิตรตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ลักษณะพื้นที่เป็นที่สูงทางด้านทิศเหนือ และค่อยๆ ลาดเทลงไปทางตอนใต้ ต่อเนื่องไปยังที่ราบตอนกลางของจังหวัดนครสวรรค์ แม่น้ำในเขตนี้จะไหลแรงและเร็วกว่าแม่น้ำทางตอนล่าง จึงมีการกัดเซาะพื้นแผ่นดินที่น้ำไหลผ่าน พากรวดทรายโคลนตมมาทับถม แม่น้ำยมช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดพิจิตร มีความยาวประมาณ ๑๒๔ กิโลเมตร ไหลผ่านอำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอบึงนาราง และอำเภอโพทะเล แม่น้ำมีลักษณะคดเคี้ยวมาก มีการกัดเซาะค่อนข้างน้อย ส่วนแม่น้ำน่าน ช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดพิจิตร มีความยาวประมาณ ๙๗ กิโลเมตร ไหลผ่านอำเภอเมืองพิจิตร อำเภอตะพานหิน อำเภอบางมูลนาก มีความคดเคี้ยวน้อยกว่าแม่น้ำยม แต่มีการกัดเซาะพังทลายสูงกว่า ลักษณะภูมิประเทศจังหวัดพิจิตร สามารถแบ่งออกเป็น ๓ เขต คือ
๑. พื้นที่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำน่าน เป็นที่ราบแบบลูกฟูก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓๗ เมตร ที่บ้านหัวดง อำเภอเมืองพิจิตร ทางใต้ที่บ้านใหม่สำราญ บ้านวังปลาม้า อำเภอบางมูลนาก บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ เป็นดินที่เกิดจากอิทธิพลของน้ำพัดพามาทับถม ลักษณะพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบ เป็นที่ราบทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำน่าน ในเขตอำเภอเมืองพิจิตร และกิ่งอำเภอสากเหล็ก อำเภอตะพานหิน และอำเภอบางมูลนาก พื้นที่จะค่อยๆ สูงจากบริเวณริมฝั่งแม่น้ำลาดชันขึ้นไปทางตะวันออก บริเวณนี้เป็นลานตะพักน้ำระดับกลาง ติดต่อกับอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ พื้นที่บริเวณขอบด้านตะวันออกนี้เป็นภูเขาโดดๆ หรือเนินเขา กระจายห่างๆ กันในเขตอำเภอเมืองพิจิตร อำเภอวังทรายพูน อำเภอทับคล้อ อำเภอตะพานหิน และกิ่งอำเภอดงเจริญ เป็นภูเขาที่ไม่สูงนัก ไม่เกิน ๒๕๐ เมตร
๒. พื้นที่ราบระหว่างแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านในเขตอำเภอเมืองพิจิตร อำเภอตะพานหิน บางส่วนของอำเภอบางมูลนาก อำเภอโพทะเล อำเภอโพธิ์ประทับช้าง และอำเภอสามง่าม พื้นที่เป็นที่ราลลูกฟูก พื้นที่จะสูงทางด้านเหนือและลาดต่ำไปทางด้านใต้ ในเขตอำเภอโพทะเลและบางมูลนาก นอกจากแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมแล้ว ยังมีแม่น้ำพิจิตร (แม่น้ำน่านเก่า) สภาพพื้นที่ราบระหว่างแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมเป็นที่ราบดินตะกอนลุ่มน้ำ ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของแม่น้ำน่าน แม่น้ำพิจิตร แม่น้ำยม และลำน้ำสาขา
๓. พื้นที่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำยม ในเขตอำเภอวชิรบารมี อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพทะเล และอำเภอบึงนาราง สภาพพื้นที่ติดกับแม่น้ำยมเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง จากที่ราบแม่น้ำยมพื้นที่จะลาดชันไปทางตอนกลาง ในเขตอำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพทะเล และอำเภอบึงนาราง พื้นที่จะมีความสูงเพิ่มขึ้น บริเวณนี้เป็นดินตะกอนลุ่มน้ำเกิดจากตะกอนแม่น้ำยมและสาขาพัดมาทับถม (เรื่องเดียวกัน, ๖ – ๗)
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดพิจิตรมีลักษณะภูมิอากาศแบบฝนตกชุกสลับกับแห้งแล้งมีมรสุมพัดผ่าน ซึ่งเกิดจากความแตกต่างทางด้านอุณหภูมิและความกดอากาศระหว่างพื้นดินในทวีปเอเชีย กับพื้นน้ำที่กว้างใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียที่ลมมรสุมพัดผ่าน ทำให้เกิดภูมิอากาศแบ่งเป็น ๓ ฤดู
ฤดูฝน เร่ิมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม เกิดจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย
ฤดูหนาว เกิดจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนที่พัดพาอากาศหนาวและแห้งแล้งจากประเทศจีนมาปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแระเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์
ฤดูร้อน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดเอาอากาศร้อนจากบริเวณความกดอากาศสูงในทะเลจีนใต้ เป็นลมร้อนชื้น เริ่มตั้งแต่ กลางเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนพฤษภาคม
แม่น้ำลำคลอง
จังหวัดพิจิตรมีแม่น้ำสำคัญ ที่เป็นแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำพิจิตร
แม่น้ำยม มีต้นกำเนิดจากดอยขุนยวม ในเขตอำเภอปง จังหวัดเชียงราย แล้วไหลลงมาทางใต้ผ่านจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ แพร่ สุโขทัย และไหลผ่านเข้าเขตที่ราบด้านตะวันตกของจังหวัดพิษณุโลก ทางตอนเหนือของอำเภอบางระกำ บริเวณบ้านวังท่าช้าง และไหลออกจากเขตจังหวัดพิษณุโลกทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอบางระกำก่อนไหลเข้าเขตจังหวัดพิจิตรต่อไป แม่น้ำยมช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดพิจิตร มีความยาว ๑๒๔ กิโลเมตร ไหลผ่านอำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง กิ่งอำเภอบึงนาราง และอำเภอโพทะเล ก่อนจะไหลเข้าบรรจบกับแม่น้ำน่านที่บ้านเกยชัย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ แม่น้ำยมมีลักษณะคดเคี้ยว จึงพบร่องรอยการเปลี่ยนแปลงทางเดินของลำน้ำเก่า มีสภาพเป็นหนองบึง ปรากฏทั่วไปในที่ราบลุ่มของจังหวัดพิจิตร
แม่น้ำน่าน มีต้นกำเนิดจากที่สูงและภูเขาทางตอนเหนือของประเทศไทย บริเวณภูเขาผีปันน้ำ ทิวเขาหลวงพระบาง และทิวเขาเพชรบูรณ์ แล้วไหลลงมาทางใต้ ผ่านจังหวัดต่าง ๆ เช่น จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ และเข้าเขตจังหวัดพิษณุโลก ทางตอนเหนือของอำเภอพรหมพิราม เหนือบ้านโคกเทียม จนกระทั่งสุดเขตจังหวัดพิษณุโลกที่ทางใต้ของอำเภอบางกระทุ่มบริเวณบ้านสนามคลี จากนั้นจึงไหลผ่านจังหวัดพิจิตร ในเขตอำเภอเมืองพิจิตร และมีแม่น้ำวังทอง ไหลมารวมทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำน่าน ไหลผ่านตัวจังหวัดพิจิตร ผ่านอำเภอตะพานหิน และอำเภอบางมูลนาก ก่อนเข้าสู่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ต่อไป แม่น้ำน่านในจังหวัดพิจิตรมีลักษณะคดเคี้ยวและมักเปลี่ยนทางเดินบ่อยครั้ง ทำให้พบสภาพเป็นหนอง บึงเล็ก ๆ ปรากฏทั่วไป
แม่น้ำพิจิตร คือทางเดินเก่าของแม่น้ำน่าน ต้นน้ำไหลแยกจากแม่น้ำน่านที่บ้านวังกระดี่ทอง ในเขตอำเภอเมืองพิจิตร สภาพลำน้ำคดเคี้ยว แม่น้ำพิจิตรอยู่ระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ไหลผ่านอำเภอเมืองพิจิตร อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอตะพานหิน แล้วมาบรรจบกับแม่น้ำยมที่บ้านบางคลาน อำเภอโพทะเล
ดิน
ลักษณะดินในจังหวัดพิจิตร สามารถแบ่งตามลักษณะวัตถุต้นกำเนิดได้ ๖ ประเภท ดังนี้
๑. ที่ราบลุ่มแม่น้ำ (Alluvial Plain) เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำน่านและลำน้ำยมในฤดูน้ำหลาก ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญสองส่วน คือ สันดินริมน้ำ (Levee) มีลักษณะพื้นที่เป็นแนวไปตามแม่น้ำน่าน แม่น้ำยม และแม่น้ำพิจิตร สภาพพื้นที่ค่อนข้างเรียบ มีดินที่เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำเนื้อละเอียดปานกลาง มีความสมบูรณ์ปานกลาง เหมาะสมต่อการปลูกไม้ผล ผัก และพืชไร่ต่าง ๆ ถัดจากสันดินริมน้ำ คือ ที่ราบลุ่มหลังลำน้ำ (Basin) เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำเนื้อละเอียดมาก เป็นดินลึกมาก มีการระบายน้ำเลว มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงต่ำ เหมาะสมต่อการปลูกข้าว
๒. เนินตะกอนรูปพัด (Alluvial Fan) เกิดจากกระแสน้ำจากภูเขาจะพัดพาตะกอนต่างๆ มาด้วย เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านพ้นหุบเขาจะเป็นที่ราบ ทำให้กำลังของน้ำลดลง ทางน้ำก็กระจายออกไป ตะกอนที่ถูกพัดพามาก็ตกตะกอนมีลักษณะคล้ายรูปพัด ลักษณะพื้นที่เหล่านี้พบทางตะวันตกของจังหวัดพิจิตร ซึ่งเกิดจากตะกอนที่พัดมาจากจังหวัดกำแพงเพชร และด้านตะวันออกของจังหวัดพิจิตร เกิดจากตะกอนที่พัดมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์
๓. พื้นที่ที่เหลือค้างจากการกัดกร่อน (Disected Erosion Surface) เป็นกระบวนการปรับระดับพื้นที่ สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่น ดินที่พบจะเกิดจากหินตระกูลแอนดีไซต์ หินดินดาน ดินมีการระบายน้ำดี
๔. เนินเขา (Hill) เป็นโครงสร้างของภูเขาโดดของหินแอนดีไซต์ และไรโอไลต์ เป็นส่วนใหญ่ สภาพพื้นที่มีความลาดชันมากกว่าร้อยละ ๓๕ ไม่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม
แหล่งโบราณคดีก่อนสมัยสุโขทัย
แหล่งโบราณคดีก่อนสมัยสุโขทัยในเขตจังหวัดพิจิตร มีไม่มากนัก หลักฐานเท่าที่ปรากฏจนถึงปัจจุบันมีดังนี้
๑. แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์
มีรายงานการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดี ที่บริเวณบ้านดงป่าคำ อำเภอเมืองพิจิตร เป็นโครงกระดูกมนุษย์ จำนวน ๓ โครง ขวานหิน ๑ ชิ้น ภาชนะดินเผา และเศษภาชนะดินเผาลายขูดขีด สันนิษฐานว่าเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย กำหนดอายุประมาณ ๒,๐๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว นอกจากนี้ได้มีการสำรวจพบภาชนะดินเผาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่วัดบึงบ่าง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ด้วย ภาชนะดินเผาที่วัดบึงบ่าง มีลักษณะคล้ายกับภาชนะดินเผาในสมัยโลหะ ซึ่งพบในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรีและนครสวรรค์ สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ภาพที่ ๒ – ๓ ภาชนะดินเผาที่วัดบึงบ่าง
๒. แหล่งโบราณคดียุคประวัติศาสตร์
บริเวณที่พบชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบในสมัยทวารวดี ในเขตจังหวัดพิจิตรนั้น ปรากฏทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านในเขตอำเภอทับคล้อ และตะพานหิน บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มที่ต่อเนื่องมาจากพื้นที่สูงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด พบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ๒ แหล่ง คือ แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดง และแหล่งโบราณคดีเมืองบ่าง
๒.๑ แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดง
ที่ตั้ง
บ้านวังแดง หมู่ ๒ ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร
พิกัดทางภูมิศาสตร์
ละติจูด ๑๖ องศา ๑๓ ลิปดา ๓๗ ฟิลิปดาเหนือ
ลองจิจูด ๑๐๐ องศา ๓๗ ลิปดา ๖๑ ฟิลิปดาตะวันออก
UTM 674580 E 1794590N
แผนที่ทหาร
มาตราส่วน ๑ : ๕๐๐๐๐ ระวาง 5141 III ลำดับชุด L7017 พิมพ์ครั้งที่ 2 - RTSD
ประวัติการศึกษา
กลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๕ สุโขทัยสำรวจครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๓ ต่อมาได้ร่วมสำรวจอีกครั้งกับรศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๔
ต่อมา อาจารย์วินัย ผู้นำพล แจ้งว่ามีผู้นำหลักฐานข้อมูลมาแจ้งให้อาจารย์ทราบว่าพบฐานอิฐสมัยโบราณ พบตราประทับและวงล้อเสมาธรรมจักรมากพอควร และเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเตรียมสร้างอุโบสถใหม่ นั้น กลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักงานศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย จึงเข้าสำรวจพื้นที่ภายในวัดวังแดงอีกครั้งเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๙
สภาพแวดล้อม
เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา มีเนินเขาโดด อยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ห่างออกไปประมาณ ๘ – ๑๐ กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ใกล้กับคลองวังแดง ที่อยู่ทางทิศใต้ พบซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่หลายแห่งอยู่กลางทุ่งนา นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณขนาดใหญ่อยู่ห่างออกไปทางตะวันออกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
โบราณวัตถุที่พบ
ได้พบเนินโบราณสถานหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่ถูกไถทำลายเหลือเพียงเศษอิฐ มีบางแห่งที่ยังมีร่องรอยส่วนฐานของเจดีย์ อิฐที่ใช้ก่อสร้างเป็นอิฐขนาดใหญ่สมัยทวารวดี ขนาด ๑๗ x ๓๐ x ๗ เซนติเมตร มีร่องรอยของแกลบข้าวปะปนในก้อนอิฐ
นอกจากนี้มีโบราณวัตถุที่นายเล็ก มณีเรือง ราษฎร หมู่ ๒ บ้านวังแดง เก็บรักษาไว้ ดังนี้
๑.เหรียญเงินรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะ จำนวน ๓ เหรียญ ขุดพบระหว่างการสร้างถนนสายวังทอง – เขาทราย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยพบบรรจุอยู่ในไหร่วมกับเหรียญเงินประเภทเดียวกันจำนวนทั้งสิ้น ๓๐๐ เหรียญ และยังพบไหบรรจุกระดูกวางอยู่ด้วยกัน แต่ไม่พบฐานเจดีย์หรือโบราณสถานอื่น (ข้อมูลการสัมภาษณ์นายเล็ก มณีเรือง) เหรียญเงินมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๖, ๓ และ ๓.๕ เซนติเมตร
๒. ชิ้นส่วนโลหะเงิน ซึ่งน่าจะเป็นวัสดุในการผลิตเหรียญดังกล่าว
๓. เครื่องมือเหล็ก ขนาดกว้าง ๗.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๒ เซนติเมตร และหนา ๐.๘ เซนติเมตร
นอกจากนี้ที่วัดวังแดงนั้น เจ้าอาวาสวัดวังแดงได้เก็บรักษาโบราณวัตถุไว้จำนวนหนึ่ง ดังนี้
๑. แท่นหินบด ขนาด กว้าง ๑๔ เซนติเมตร ยาว ๔๐ เซนติเมตร หนา ๑๔ เซนติเมตร
๒. หินบดขนาดยาว ๘ เซนติเมตร
๓. เศษภาชนะดินเผาเนื้อไม่แกร่ง (earthern ware) ลวดลายต่าง ๆ
การกำหนดอายุ
สมัยทวารวดี ๑,๒๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว
ภาพที่ ๔ สภาพภูมิประเทศบ้านวังแดง
ภาพที่ ๕ สระเพ็ง ซึ่งเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่บ้านวังแดง
ภาพที่ ๖ เหรียญเงินรูปพระอาทิตย์ และศรีวัตสะที่บ้านวังแดง
ภาพที่ ๗ แท่นหินบดที่บ้านวังแดง
๒.๑ แหล่งโบราณคดีวัดบึงบ่าง
ที่ตั้ง
บ้านบึงบ่าง หมู่ ๗ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
พิกัดทางภูมิศาสตร์
ละติจูด ๑๖ องศา ๙ ลิปดา ๑๙ ฟิลิปดาเหนือ
ลองจิจูด ๑๐๐ องศา ๓๐ ลิปดา ๓๘ ฟิลิปดาตะวันออก
UTM 661526 E 1786735 N
แผนที่ทหาร
มาตราส่วน ๑ : ๕๐๐๐๐ ระวาง 5141 III ลำดับชุด L7018 พิมพ์ครั้งที่ 2- RTSD
ประวัติการศึกษา
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย สำรวจเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๖
สภาพแวดล้อม
แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ในเมืองบ่าง ซึ่งเป็นเมืองคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีคลองทับคล้ออยู่ทางด้านทิศใต้ พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
โบราณวัตถุที่พบ
โบราณวัตถุเก็บรักษาไว้ที่วัดบึงบ่าง มีทั้งโบราณวัตถุในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และโบราณวัตถุในยุคประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และสมัยสุโขทัย – สมัยรัตนโกสินทร์ สำหรับโบราณวัตถุในยุคก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดี โบราณวัตถุเหล่านี้ พบรวมกันระหว่างการขุดหลุมเพื่อก่อสร้างอาคารภายในวัดบึงบ่าง สำหรับโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ และโบราณวัตถุสมัยทวารวดี มีดังนี้
๑. แท่งดินเผารูปสี่เหลี่ยม ทำเป็นลายตาราง กว้าง ๒.๕ เซนติเมตร ยาว ๖ เซนติเมตร หนา ๒ เซนติเมตร
๒. ชิ้นส่วนหินดุดินเผา ๔ ชิ้น กว้างตั้งแต่ ๔ – ๗ เซนติเมตร ยาว ๖ – ๗ เซนติเมตร
๓. แวดินเผา ชิ้นเล็กกว้างประมาณ ๒ เซนติเมตร ชิ้นที่สองกว้างประมาณ ๓ เซนติเมตร
๔. ตุ๊กตาดินเผา ตัวแรกกว้าง ๖ เซนติเมตร ยาว ๑๐ เซนติเมตร ตัวที่สองกว้างประมาณ ๘ เซนติเมตร ยาว ๑๕ เซนติเมตร
๕. ภาชนะดินเผาเนื้อไม่แกร่ง (earthern ware) ลายกดประทับ ปากกว้าง ๑๓ เซนติเมตร สูง ๑๒ เซนติเมตร ก้นกว้าง ๑๖ เซนติเมตร
๖. ภาชนะดินเผามีเชิง เนื้อไม่แกร่ง (earthern ware) ไม่มีการตกแต่งลวดลาย จำนวน ๒ ใบ ใบแรกปากกว้าง ๑๐ เซนติเมตร สูง ๑๒ เซนติเมตร ก้นกว้าง ๘ เซนติเมตร ใบที่สอง ปากกว้าง ๑๑ เซนติเมตร สูง ๑๖ เซนติเมตร ก้นกว้าง ๑๒ เซนติเมตร
๗. ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นกระดูกวัว หรือ กระดูกควาย
๘. แท่งดินเผา ยาว ๙ เซนติเมตร หนา ๒ เซนติเมตร ทำเป็นลวดลาย สันนิษฐานว่า ใช้ในการกดประทับเพื่อทำลวดลายบนภาชนะดินเผา
การกำหนดอายุ
๑,๐๐๐ – ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
ภาพที่ ๘ แนวกำแพงเมือง-คูเมือง เมืองบ่าง
ภาพที่ ๙ ตุ๊กตาดินเผารูปสัตว์ที่วัดบึงบ่าง
ภาพที่ ๑๐ แท่งดินเผามีลวดลายต่าง ๆ
บทสรุป
การศึกษาพัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนสมัยสุโขทัยในพื้นที่จังหวัดพิจิตร แสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณจังหวัดพิจิตร โดยเฉพาะด้านตะวันออกของจังหวัด เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัย แหล่งโบราณคดีบ้านวังแดงในเขตอำเภอทับคล้อ ซึ่งพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี อาจเชื่อมโยงถึงผู้คนในบริเวณบ้านชมภู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ที่มีการพบหลักฐานเหรียญเงินรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะ เช่นเดียวกัน ถัดจากบ้านวังแดงลงไปทางทิศใต้ ที่แหล่งโบราณคดีวัดบึงบ่างซึ่งตั้งอยู่ภายในเมืองบ่าง ซึ่งเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ได้พบหลักฐานการอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่น่าสนใจคือภาชนะดินเผาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่วัดบึงบ่าง มีลักษณะคล้ายกับภาชนะดินเผาที่พบในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยโลหะ ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นร่องรอยของชุมชนสมัย ทวารวดี ซึ่งอาจสัมพันธ์กับชุมชนโบราณที่บ้านวังแดงที่อยู่ไม่ห่างกันนัก
ภาพที่ ๑๑ แผนที่แหล่งโบราณคดีก่อนสมัยสุโขทัยในจ.พิจิตร
บทความโดย นาตยา กรณีกิจ
นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย
บรรณานุกรม
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพิจิตร. กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๒.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, ธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ.กรุงเทพฯ : บริษัท ด่าน สุทธาการพิมพ์ จำกัด, ๒๕๓๘.
ศรีศักร วัลลิโภดม. เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพ ฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๒.
อาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี หมายถึง เครื่องประดับที่ใช้ตกแต่งในขบวนเรือพระราชพิธีในพระราชพิธีเสด็จทางชลมารค ในโอกาสพระราชพิธีสำคัญฯ มาแต่โบราณกาลจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
งานผ้าลายทองแผ่ลวด เป็นงานช่างแขนงหนึ่งในหมู่ช่างสนะไทย หรือช่างที่ปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องภูษาอาภรณ์ วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานเนื่องในสถาบันพระมหากษัตริย์และศาสนา ไม่นิยมใช้กับสามัญชน ได้แก่ ฉัตรเครื่องสูงที่ทำด้วยผ้า ตาลปัตรปักลายในรัฐพิธีสำคัญแต่โบราณ ผ้าม่าน ผ้าดาดหลังคากัญญาเรือพระที่นั่งฯ ธงงอนราชรถ ผ้าดาดหลังคาพระสีวิกากาญจน์ ผ้าดาดหลังคาพระวอประเวศวัง เป็นต้น
เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศประเภทเรือพระที่นั่ง ที่ปรากฏในงานทองแผ่ลวดที่สำคัญคือเรือพระราชพิธี โดยเฉพาะเรือพระที่นั่งประเภทเรือกิ่ง จะปรากฏงานทองแผ่ลวดที่ผ้าดาดหลังคาพระแท่นกัญญาเรือพระที่นั่ง ผ้าม่าน ผ้าหน้าโขนเรือ ฉัตร ธงสามชาย และในขบวนเรือพระราชพิธี ก็จะใช้ผ้าลายทองแผ่นลวดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้จะแตกต่างกันก็จะดูที่ลวดลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานานุศักดิ์ ชั้นยศ ของผู้ใช้เรือในขบวนเรือ เช่น เรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เรือทองขวนฟ้า เรือทองบ้าบิ่น เรืออีเหลือง เรือแตงโม จะทำผ้าลายทองแผ่ลวดดาดหลังคาคฤห์ และกัญญาเรือ และผ้าโขนเรือ เป็นต้น
ข้อมูล : สำนักช่างสิบหมู่
อธิบดีกรมศิลปากร เผยความคืบหน้างานก่อสร้างอาคารคลังกลางเก็บโบราณวัตถุที่ได้มาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย รองรับโบราณวัตถุกว่าสองแสนชิ้น พร้อมตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาข้อมูลโบราณวัตถุศิลปวัตถุของประเทศไทยคาดแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๖๑
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารคลังกลางเก็บโบราณวัตถุ ในพื้นที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อเก็บรวบรวมและสงวนรักษา โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อย่างมีระบบระเบียบตามมาตรฐานสากลของพิพิธภัณฑสถานและหลักการอนุรักษ์ เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ รวมทั้งสิ่งเทียมโบราณวัตถุ สิ่งเทียมศิลปวัตถุ จากอาคารคลังกลางเดิม และคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ๔๑ แห่ง รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัดกรมศิลปากร โดยอาคารคลังกลางแห่งใหม่นี้ สามารถจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุได้ไม่น้อยกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ชิ้น ภายในอาคารประกอบด้วย ส่วนสำนักงานคลังกลาง ส่วนการให้บริการ ส่วนปฏิบัติการทะเบียน และส่วนห้องคลังทั้งหมด ๑๐ ห้องคลัง พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยแบบ Real Time และระบบป้องกันภัยทุกประเภท โดยเฉพาะอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ และการโจรกรรม นอกจากนี้ ยังจัดให้เป็นคลังเพื่อการศึกษา (Study Collection) และคลังกึ่งจัดแสดง (Visible Storage) พร้อมให้บริการแก่สาธารณชน และมีระบบฐานข้อมูลทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพื่อการสืบค้น ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย ที่ทันสมัย สะดวกและรวดเร็ว แก่ผู้สนใจโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์และนักวิจัยอีกด้วย
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อาคารคลังกลางดังกล่าวอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ในปี ๒๕๖๑ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จะเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้อันสำคัญอีกแห่งหนึ่งในการการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย และเรียนรู้ด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่มีความสมบูรณ์ และทันสมัย สามารถเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับสถาบัน แหล่งเรียนรู้ และพิพิธภัณฑสถานต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศได้อย่างดี
จากข้อมูล ณ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ มีโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น ๒๕๒,๐๘๕ รายการ เป็นโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่เก็บอยู่ในคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง ๔๑ แห่ง ซึ่งไม่ได้นำไปจัดแสดง จำนวน ๑๔๙,๖๔๗ รายการ และมีโบราณวัตถุศิลปวัตถุในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (คลังกลาง) จำนวน ๕๔,๓๘๓ รายการ
***บรรณานุกรม***
กรมศิลปากร
ทวีปัญญา เล่ม 2 มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระกุศล ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงบำเพ็ญคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ 26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2523 ครบ 55 ปี
กรุงเทพฯ
โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย
2523
ประชุมสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๘
วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘
ณ ห้องประชุมสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา
พะเนียดคล้องช้าง : ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ประวัติและความสำคัญ : พะเนียดคล้องช้างตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านตะวันออก ในบริเวณค่ายพระนารายณ์มหาราช มีลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยม เข้าใจว่ามีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นสถานที่จับช้างเพื่อใช้ในราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อเมอร์ซิเออร์เชอวาเลีย เดอ โชมองคต์ ราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีครั้งแรก ได้เขียนจดหมายเหตุไว้ว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดฯ ให้จับช้างให้ชมที่พะเนียดนี้ นอกจากนี้บริเวณใกล้พะเนียดยังมีประตูเมืองที่เรียกว่า ประตูพะเนียด อีกแห่งหนึ่งจากรูปแบบสถาปัตยกรรมกล่าวได้ว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลักษณะรูปแบบศิลปกรรม : สมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ส่วนประตูพะเนียดก่อด้วยอิฐถือปูนขนาดสูงใหญ่ ช่องประตูมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมทางโค้งมุมแหลมมน และปรากฏแนวกำแพงช่วงสั้นๆ ก่อด้วยอิฐสอปูนขนาบทั้ง ๒ ข้างของประตูพะเนียด เหนือประตูเพนียดขึ้นไปประดับตกแต่งด้วยใบเสมา การขึ้นทะเบียน : ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๒๔ วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๗๙ ที่มา : ทะเบียนโบราณสถาน ในเขตสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี