ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 41,012 รายการ
วันอังคาร ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ยินดีต้อนรับ
เวลา ๐๙.๓๐ นคณะครูและนักเรียน จากโรงเรียนสุรวิทยาคาร อ.เมือง จ.สุรินทร์ จำนวน ๗๗ คน
เวลา ๑๓.๐๐ น.คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนบ้านจานตะโนน อำเภอเมืองอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน ๖๒ คน
เข้าเยี่ยมชมปราสาทพนมรุ้ง
( นำชม/รายงานโดย นายรณชัย ดำประภา)
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดกิจกรรมของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน โดยกรมศิลปากร ร่วมจัดกิจกรรม ดังนี้
๑. เปิดให้บริการและงดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ และโบราณสถานที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๗ นอกจากนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้ปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการใหม่แล้วเสร็จ ยังถือฤกษ์ดีเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๗ เป็นต้นไป
๒. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญออกให้พุทธศาสนิกชนสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลในเทศกาลปีใหม่ อาทิ พระพุทธรูปลีลา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัด สุโขทัย พระนาคปรกศิลา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จ.ลพบุรี พระมหากัจจายนเถระ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
๓. กิจกรรมสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ ๒๕๖๗” (คำอ่าน พุด–ทะ–บู–ชา – นา–คะ–สำ–พัด) สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อัญเชิญพระพุทธรูปที่มีคติการสร้างเกี่ยวข้องกับพญานาค โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ตามตำนานปั้นหล่อจากต้นแบบนาคแปลงนิมิตสำแดงพระพุทธลักษณะ เป็นประธาน พร้อมด้วยพระพุทธรูปอีก
๙ องค์ ที่จัดแสดงและสงวนรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน ๗ องค์ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี ๑ องค์ และวัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ จำนวน ๑ องค์ มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชา ระหว่างวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
๓. ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ (Night at the Museum) ระหว่างวันที่ ๒๙ – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ ตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้เข้าชมความงามของอาคารโบราณสถานพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า และการจัดแสดงนิทรรศการภายในพระที่นั่งต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้สัมผัสมนต์เสน่ห์สถาปัตยกรรมวังหน้า และความเป็นมาแห่งอารยธรรมไทยในช่วงเวลาค่ำ นอกจากนี้ ได้จัดกิจกรรมนำชม เป็นกรณีพิเศษ ในหัวข้อ “มะโรงนักษัตรทัวร์” ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ในตำนานทั้งงูหงอน นาค มกร มังกร และเหรา ในความเหมือนและแตกต่างซึ่งมีความสัมพันธ์กับปีมะโรงที่กำลังจะมาถึง ผ่านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันละ ๑ รอบ โดยเปิดรับลงทะเบียนเวลา ๑๗.๐๐ น. บริเวณศาลาลงสรง และเริ่มนำชมเวลา ๑๘.๐๐ น. โดยภัณฑารักษ์และเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์
นอกจากนี้ กรมศิลปากร ได้เตรียมเปิดศักราชใหม่ด้วยการแสดงโครงการดนตรีสำหรับประชาชน ปีที่ ๖๗ “เหมันต์สุขศรี สุนทรีย์สังคีต” อาทิ โขน เรื่องรามเกียรติ์ ละครใน เรื่องอุณรุท ละคร เรื่องรถเสน ละครพันทาง เรื่องราชาธิราช ไฮไลท์อยู่ที่การแสดงตำนานเทวะนิยาย เรื่องนารายณ์สิบปาง ซึ่งนำมาจัดแสดงอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ แสดงโดยศิลปินของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร กำหนดจัดแสดงในทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๑๗.๓๐ น. ถึงเวลา ๑๙.๓๐ น. ระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม ๒๕๖๗ รวม ๙ ครั้ง เริ่มเปิดการแสดงในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๗ ค่าเข้าชมการแสดงคนละ ๒๐ บาท นำส่งเป็นเงินรายได้แผ่นดิน กรมศิลปากรจึงขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมของขวัญปีใหม่ เพื่อสร้างความสุข เสริมสิริมงคลให้กับชีวิตในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ ในปีมะโรง พุทธศักราช ๒๕๖๗ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมศิลปากร www.finearts.go.th
กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีน สาธารณรัฐประชาชนจีน ขอเชิญชมนิทรรศการ “Chinese Xieyi" เสี่ยอี้ สุนทรียศิลป์แห่งจีนประเพณี ผลงานศิลปะร่วมสมัยจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีน ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 – 18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคารนิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ศิลปิน : เหยียนผิงภาพ : การเผาไหม้ปี : 2560ศิลปิน : หนิวเค่อเฉิงภาพวาดจีน : ภูเขาสีเขียวชอุ่ม ยามพระอาทิตย์ตกดินปี : 2565
ศิลปะเสี่ยอี้ของจีนมีต้นกำเนิดจากมโนภาพที่จำลองปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์และตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่สอดคล้องกับทฤษฎีชีวิตแห่งจักรวาลอันยิ่งใหญ่ที่สวรรค์และโลกคือหนึ่งเดียวในจีนโบราณ และแสดงถึงความงดงามหรือสุนทรียะทางพลวัตร โดยมีรูปลักษณ์ อากาศ และเต๋า ทั้งสามค่อยๆ หล่อหลอมยกระดับขึ้นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แล้วหลอมรวมกันเข้าจนเป็นหนึ่งเดียว จังหวะที่กลมกลืนกับธรรมชาติและสอดคล้องกับหลักหยินและหยาง ของสวรรค์และโลก ทั้งยังประสานเข้ากับจังหวะของแม่น้ำและทะเล ดังนั้นการผสานเชื่อมต่อถึงกันนี้ จึงทำให้เปี่ยมไปด้วยพลังที่แท้จริง ปัจจุบันภายใต้สถานการณ์ที่เข้าสู่ยุคสากลและโลกาภิวัตน์มากขึ้น เหล่าศิลปินต่างให้ความสนใจกันมากขึ้นในด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจีน และนำเอากฎเกณฑ์อันเข้มงวดของแบบจำลอง รูปทรงมิติ แสงสี เป็นต้น ทั้งนำเอาวิธีการและรูปแบบประเพณีจีนเดิมที่สืบทอดกันมา มาเชื่อมหลอมรวมกันเพื่อศึกษาค้นคว้าถึงแหล่งที่มาของคุณสมบัติศิลปะจีนเสี่ยอี้ศิลปิน : เจิ้งกวางสวี้ภาพวาดสีน้ำมัน : ทุ่งเลี้ยงสัตว์ยามราตรีปี : 2566
นิทรรศการ “Chinese Xieyi" เสี่ยอี้ สุนทรียศิลป์แห่งจีนประเพณี ผลงานศิลปะร่วมสมัยจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีน เป็นนิทรรศการศิลปะครั้งสำคัญส่งท้ายปี 2566 คัดเลือกผลงานที่สร้างสรรค์อย่าง ยอดเยี่ยมทั้งสิ้น 63 รายการ ทั้งจิตรกรรมและประติมากรรม จากศิลปินที่มีชื่อเสียงในประเทศจีน 42 ท่าน โดยหยิบยก "เสี่ยอี้" มาเป็นหัวข้อหลักของนิทรรศการ และใช้จิตรกรรมจีนร่วมสมัย จิตรกรรมสีน้ำมัน จิตรกรรมสีน้ำ และประติมากรรม มาสร้างสรรค์เป็นเนื้อหาสำคัญเพื่อแสดงถึงจิตวิญญาณและรูปแบบเฉพาะของเสี่ยอี้ ทั้งยังสะท้อนถึงรูปแบบการสร้างสรรค์ และวิวัฒนาการร่วมสมัยของจิตวิญญาณเสี่ยอี้ ศิลปิน : หลิวกังภาพวาดจีน : สะพานเทพแห่งภูเขาไท่ซานปี : 2565
การจัดแสดงผลงานศิลปะจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีนในครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่ผลงานทัศนศิลป์ร่วมสมัยอันทรงคุณค่าของศิลปินจีนสู่สายตาประชาชนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก เพื่อให้ชาวไทยได้เข้าใจศิลปะร่วมสมัยของจีนได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประตูสู่การเรียนรู้ทางด้านทัศนศิลป์ระหว่างกัน อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “Chinese Xieyi" เสี่ยอี้ สุนทรียศิลป์แห่งจีนประเพณี ผลงานศิลปะร่วมสมัยจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีน ได้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2566 – 18 กุมภาพันธ์ 2567 วันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ณ อาคารนิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท พิเศษ!! กรมศิลปากรส่งความสุขปีใหม่ เปิดให้เข้าชมฟรีถึงวันที่ 5 มกราคม 2567 ภาพ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
----------------------------------------------------------
“Chinese Xieyi: Art from the National Art Museum of China”
The People's Republic of China and the Kingdom of Thailand established diplomatic relations on July 1, 1975, nearly half a century ago. The two countries' social and cultural ties have been deeply intertwined for thousands of years. To celebrate the 60th anniversary of the founding of the National Art Museum of China, the National Gallery of Thailand, a subdivision of the Fine Arts Department of Thailand is supporting an art exhibition that is a collaboration between Chinese and Thai government agencies.The exhibition is called "Chinese Xieyi: Art from the National Art Museum of China" to promote cooperation in art and culture and to officially disseminate valuable visual artworks by Chinese artists to the Thai people for the first time.
“Chinese Xieyi: Art from the National Art Museum of China” will serve as a gateway to learning about visual arts and a bridge to strengthen the ties between the People's Republic of China and the Kingdom of Thailand.
27th Dec, 2023 – 18th Feb, 2024
Wednesday - Sunday I 9.00 a.m. - 4.00 p.m.
(Closed on Monday -Tuesday and National holidays.)
The National Gallery of Thailand
Admission fee : 200 Baht
Opening Reception on 27th Dec, 2023 I 5.00 p.m.
วันศุกร์ที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนบ้านสระทอง ตําบลแนงมุด อําเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ จำนวน ๑๖๐ คน คุณครู ๑๕ คน เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ โดยมีนางสาวอาภาภรณ์ เปล่งปลั่งศรี นักวิชาการวัฒนธรรม และพนักงานประจำห้องทุกคน ให้การต้อนรับและบรรยายนำชม
วันศุกร์ที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๐๐น. นักเรียนชั้นอนุบาล ๒ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนบ้านกอกหวาน ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๖๘ คน คุณครู ๑๒ คน เข้าเยี่ยมชมโบราณสถานปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ โดยมีนายกรภัทร์ สุขใหญ่ พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์ ให้การต้อนรับและบรรยายนำชม
วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566) เวลา 17.30 น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานสมโภชเฉลิมฉลองครบรอบ 5 ทศวรรษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมงาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ได้จัดโครงการพิเศษเนื่องในวาระครบรอบ 5 ทศวรรษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น The 5th Decade of Khon Kaen National Museum เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2515 โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 19.00 น. การแสดงโขนจากน้องๆ เยาวชน ศูนย์การเรียนรู้นาฏกรรมโขน นาฏศิลป์ไทย จังหวัดขอนแก่น และการแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน เล่ห์รักยักขินี สี่อสุรีพ่าย จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร
ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ได้เปิดให้บริการประชาชน นักเรียน นักศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดขอนแก่น ในโอกาสครอบรอบ 50 ปี กรมศิลปากร จึงมีนโยบายที่จะปรับปรุงนิทรรศการถาวร และเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวม เก็บรักษา จัดแสดง และให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและลุ่มน้ำชี โดยจะมีการปรับปรุงข้อมูลการจัดแสดง เทคนิคและรูปแบบในการนำเสนอ ตลอดจนภูมิทัศน์ และสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ารับบริการ ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2568 – 2570 นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่น ในการเป็นขุมทรัพย์ด้านการท่องเที่ยวและเมืองแห่ง MICE CITY ศูนย์กลางการจัดประชุมและแสดงสินค้าระดับสากล รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นและอาเซียน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ตั้งอยู่เลขที่ 193 หมู่ 13 ถนนหลังศูนย์ราชการ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ทั้งหมด 45 ไร่ 35 ตารางวา จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รวบรวม สงวนรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติในเขตพื้นที่ภาคะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและลุ่มแม่น้ำชี ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร ขออำนวยพรปีใหม่ พุทธศักราช 2567 ด้วยสมุดบันทึก “มรดกเรืองรอง เครื่องทองอยุธยา” ภายในประกอบด้วย ภาพงานประณีตศิลป์เครื่องทองในสมัยอยุธยา ขนาด 17.6 x 21.6 เซนติเมตร ปกแข็ง จัดพิมพ์สี่สี ด้านในประกอบด้วยกระดาษถนอมสายตาใช้บันทึกข้อความได้ พร้อมตารางนัดหมายตลอดทั้งปี จำหน่ายในราคา 250 บาท
งานประณีตศิลป์เครื่องทองในสมัยอยุธยานับเป็นศิลปกรรมชั้นสูงที่มีความอ่อนช้อย ละเมียดละไม ผสมผสานด้วยเทคนิควิธีการต่าง ๆ ทั้งเทคนิควิธีการสลักทอง ดุนทอง ฉลุทอง ให้ได้ลวดลายตามต้องการ การหุ้มและการบุทองเพิ่มความสำคัญล้ำค่าให้กับสิ่งของ การลงยา ปิดทอง กะไหล่ทอง ที่ใช้เป็นวิธีการตกแต่ง รวมไปถึงเทคนิคการหล่อพระพุทธรูป และการถักทอเส้นไหมทองคำ ความรู้งานประณีตศิลป์เหล่านี้ล้วนเกิดจากความศรัทธาของคนในชุมชน สั่งสมประสบการณ์ส่งต่อความรู้มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระบรมสารีริกธาตุ และเพื่อแสดงความสูงส่งแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์
ผู้ที่สนใจสามารถซื้อสมุดบันทึก “มรดกเรืองรอง เครื่องทองอยุธยา” ได้ที่ร้านหนังสือกรมศิลปากร (อาคารเทเวศร์) โทรศัพท์ 0-2164-2501 ต่อ 1004 (ในวันและเวลาราชการ) หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่ https://bookshop.finearts.go.th สอบถามเพิ่มเติม facebook ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. โรงเรียนสวายวิทยาคาร ตำบลสวาย อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุรินทร์ นำคณะนักเรียนแลกเปลี่ยนจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน ๑๐ คน เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ โดยมีนายกรภัทร์ สุขใหญ่ พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์ ให้การต้อนรับและบรรยายนำชม
วันที่ 24 ธันวาคม 2566 บริษัทสมาย โรเดอร์ส จำกัด ผู้ผลิตรายการสารคดี “จากราก สู่เรา” ให้กับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เข้าใช้พื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัขฌิมาวาส เพื่อถ่ายทำรายการ ในตอน”โคกเมืองวัดเขียนบางแก้วกับเมืองสทิงพาราณสี บ้านเมืองในพุทธศตวรรษที่ 18 ” โดยมีนางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ชำนาญการ และนางสาวจันทร์สุดา ทองขุนแก้ว เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ ซึ่งรายการสารคดี “จากราก สู่เรา” ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05 น. ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส