ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 41,012 รายการ
วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2566 นางสาวเมษา ครุปิติ ผอ.หอสมุดแห่งชาติฯ จันทบุรี พร้อมด้วย น.ส.ปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ ให้การต้อนรับ ผศ.ดร.อุดมลักษณ์ ระพีแสง อาจารย์สุวิชา ถาวร และอาจารย์กนกวรรณ วารีเขตต์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ที่มาปฐมนิเทศนักศึกษา
นางสาวทับทิม พันธ์จำปา และนางสาวศศิรินทร์ มีทรัพย์มั่น นักศึกษาสหกิจศึกษา สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ฝึกปฏิบัติงานบริการ งานเทคนิค งานวิชาการ งานธุรการ และงานประชาสัมพันธ์ ของหอสมุดแห่งชาติฯ จันทบุรี ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 - 23 กุมภาพันธ์ 2567
วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566
เวลา 17.00 น. นายธวัชชัย นามสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานเปิดงาน นายจเร ชุมเปีย รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรีกล่าวรายงาน นายพีระศักดิ์ สนั่นเครื่อง นายอำเภอเขาคิชฌกูฏ กล่าวต้อนรับ ในพิธีเปิดงาน “ชวน ชม ชิม วิถีชึ่มชอง” ณ ที่ว่าการอำเภอเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี
โดยน.ส.เมษา ครุปิติ ผอ.หอสมุดแห่งชาติฯ จันทบุรี และคณะ ได้ร่วมในพิธีเปิดครั้งนี้ด้วย
งานนี้จัดโดย สภาวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี สภาวัฒนธรรมอำเภอเขาคิชฌกูฏ และภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม รวม 13 หน่วยงาน เพื่อสืบสาน รักษา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ภาษาและวัฒนธรรมชอง” จังหวัดจันทบุรี ในชื่องาน “ชวน ชม ชิม วิถี ชึ่มชอง” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 18 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 - 20.00 น. ณ ที่ว่าการอำเภอเขาคิชฌกูฏ ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี
วันที่ 7-18 พฤศจิกายน 2566 นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ฝึกปฏิบัติงานห้องสมุด ที่ห้องจันทบุรี
นางสาวทับทิม พันธ์จำปา และนางสาวศศิรินทร์ มีทรัพย์มั่น นักศึกษาสหกิจศึกษา สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ฝึกปฏิบัติงานห้องสมุด และงานบริการห้องจันทบุรี ระหว่างวันที่ 7–18 พฤศจิกายน 2566 โดยนางสาววิรากร รสเกษร เจ้าพนักงานห้องสมุดชำนาญงาน เป็นผู้ฝึกสอน
การฝึกงาน ได้ฝึกปฏิบัติ การตัวเล่ม ได้แก่ การประทับตรา การพิมพ์สัน ติดสันติดแถบสี ติดแท็ก RFID การเพิ่มสำเนาหนังสือ (Item) ในระบบ ห้องสมุดอัตโนมัติ และกำหนดสถานที่ จัดเก็บ (Location) ฝึกการจัดทำรายการหนังสือท้องถิ่น และ จัดทำกฤตภาคข่าวท้องถิ่นออนไลน์
วันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2566 นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ฝึกปฏิบัติงานห้องสมุด ที่ห้องวารสารและหนังสือพิมพ์
นางสาวทับทิม พันธ์จำปา และนางสาวศศิรินทร์ มีทรัพย์มั่น นักศึกษาสหกิจศึกษา สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ฝึกปฏิบัติงานห้องสมุด และงานบริการห้องวารสารและหนังสือพิมพ์ ระหว่างวันที่ 21–23 พฤศจิกายน 2566 โดยนายสุรศักดิ์ บัวเลียง เจ้าพนักงานห้องสมุดปฏิบัติงาน เป็นผู้ฝึกสอน
การฝึกงาน ได้ฝึกปฏิบัติ งาบริการห้องวารสารและหนังสือพิมพ์ การจัดการวารสาร และหนังสือพิมพ์ฉบับล่วงเวลา
วันที่ 25 พฤศจิกายน - 9 ธันวาคม 2566 นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ฝึกปฏิบัติงานห้องสมุด ที่ห้องวารสารและหนังสือพิมพ์
นางสาวทับทิม พันธ์จำปา และนางสาวศศิรินทร์ มีทรัพย์มั่น นักศึกษาสหกิจศึกษา สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ฝึกปฏิบัติงานห้องสมุด และงานบริการห้องวารสารและหนังสือพิมพ์ ระหว่างวันที่ วันที่ 25 พฤศจิกายน - 9 ธันวาคม 2566 โดยนายสุรศักดิ์ บัวเลียง เจ้าพนักงานห้องสมุดปฏิบัติงาน เป็นผู้ฝึกสอน
การฝึกงาน ได้ฝึกปฏิบัติ การจัดเตรียมหนังสือเพื่อการอนุรักษ์ ด้วยวิธีการแปลงเป็นดิจิทัล การสแกนหนังสือ การตกแต่งไฟล์และจัดเตรียมไฟล์ การนำเข้าระบบ และการจัดทำคิวอาร์โค๊ดเพื่อเผยแพร่
วันพุธที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๙ น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร ร่วมสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ ๒๕๖๗” เป็นปฐมฤกษ์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ ๒๕๖๗” (พุด–ทะ–บู–ชา–นา–คะ–สำ–พัด) อัญเชิญพระพุทธรูปที่มีคติการสร้างเกี่ยวข้องกับพญานาค โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ตามตำนานปั้นหล่อจากต้นแบบนาคแปลงนิมิตสำแดงพระพุทธลักษณะ เป็นประธาน พร้อมด้วยพระพุทธรูปอีก ๙ องค์ ที่จัดแสดงและสงวนรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน ๗ องค์ คลังกลางพิพิธภัณฑสถาน
แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี ๑ องค์ และวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ จำนวน ๑ องค์ มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชา เพื่ออำนวยความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ ประกอบด้วย
๑. พระพุทธสิหิงค์ ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๐
๒. พระพิมพ์ปางมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี ศิลปะศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔
๓. พระไภษัชยคุรุนาคปรก ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘
๔. พระรัตนตรัยมหายาน ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๘
๕. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒
๖. พระบัวเข็ม ศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔
๗. พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์นาคปรก ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔
๘. พระพุทธรูปนาคปรกไม้จันทน์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕
๙. พระพุทธรูปนาคปรกนอระมาด ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕
๑๐. พระนิรโรคันตราย ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๔๕
ขอเชิญพุทธศาสนิกชนสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ ๒๕๖๗” ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ (วันที่ ๒๙ – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ เปิดให้สักการะถึงเวลา ๒๐.๐๐ น.)
วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๗.๐๐ น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการ Chinese Xieyi เสี่ยอี้ สุนทรียศิลป์แห่งจีนประเพณี : ผลงานศิลปะร่วมสมัยจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีน โดยมีนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม นายอู๋ จื้อ อุปทูตสถานเอกอัครราชฑูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายจาง ไป่เฉิง รองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีน นายจูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเตประจำประเทศไทย ผู้แทนศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ศิลปินชาวจีน แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ อาคารนิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ นิทรรศการ Chinese Xieyi เสี่ยอี้ สุนทรียศิลป์แห่งจีนประเพณี : ผลงานศิลปะร่วมสมัยจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีน เป็นความร่วมมือทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลไทยและจีน เป็นการจัดกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สําหรับปี พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรมศิลปากร และพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีน เป็นผู้ดำเนินการจัดนิทรรศการครั้งนี้ขึ้นระหว่างวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ
สำหรับนิทรรศการ Chinese Xieyi เสี่ยอี้ สุนทรียศิลป์แห่งจีนประเพณี : ผลงานศิลปะร่วมสมัยจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติจีน นำเสนอจิตวิญญาณและการแสดงแบบจีนร่วมสมัยผ่านผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะและวัฒนธรรมแบบจีนโบราณ โดยหยิบยก "เสี่ยอี้" มาเป็นหัวข้อหลักของนิทรรศการ และใช้จิตรกรรมจีนร่วมสมัย จิตรกรรมสีน้ำมัน จิตรกรรมสีน้ำและประติมากรรม มาสร้างสรรค์เป็นเนื้อหาสำคัญเพื่อแสดงถึงจิตวิญญาณและรูปแบบเฉพาะของเสี่ยอี้ ทั้งยังสะท้อนถึงรูปแบบการสร้างสรรค์ และวิวัฒนาการร่วมสมัยของจิตวิญญาณเสี่ยอี้ โดยนิทรรศการในครั้งนี้คัดเลือกผลงานที่สร้างสรรค์อย่างยอดเยี่ยมทั้งสิ้น ๖๓ รายการ ทั้งจิตรกรรมและประติมากรรมจากศิลปินที่มีชื่อเสียงในประเทศจีน ๔๒ คน
โดยนิทรรศการนี้ถือเป็นการเริ่มต้นต้อนรับการเฉลิมฉลอง เนื่องในวาระครบรอบ ๕๐ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทยที่กำลังจะมาถึงในอีก ๒ ปีข้างหน้าคือ ในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๘
สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ร่วมมอบของขวัญปีใหม่จากใจกรมศิลปากร จัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๗ ให้รุ่งเรืองสดใส ดุจมังกรทะยานฟ้า นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นกรณีพิเศษ หัวข้อ “มะโรงนักษัตรทัวร์” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ในตำนานทั้งงูหงอน นาค มกร มังกร และเหรา ในความเหมือนและแตกต่างซึ่งมีความสัมพันธ์กับปีมะโรงที่กำลังมาถึงในพุทธศักราช ๒๕๖๗ ผ่านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ วันละ ๑ รอบ โดยเปิดรับลงทะเบียนเวลา ๑๗.๐๐ น. ณ บริเวณศาลาลงสรง และเริ่มนำชมเวลา ๑๘.๐๐ น. โดยภัณฑารักษ์และเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ซึ่งแบ่งการนำชมออกเป็น ๓ เส้นทาง โดยทั้งสามเส้นทางมีตัวอย่างโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สำคัญที่น่าชม อาทิ
๑. พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ (พระที่นั่งพุทไธสวรรย์)
สักการะพระพุทธรูปสำคัญรับพรปีใหม่ และเรียนรู้เรื่องราวของนาคต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา
๒. หลีฮื้อกระโดดข้ามประตูมังกร (พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย)
ภาพจิตรกรรมปลาไนกระโดดข้ามประตูมังกรจนกลายร่างเป็นมังกรห้าเล็บ ที่หลังพระทวารคู่กลางในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
๓. ธรรมาสน์กลมยอดทองจากวัดค้างคาว (มุขเด็จ)
ธรรมาสน์กลมยอดทองสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีรูปลักษณ์หาชมได้ยากและบันไดมนุษยนาค พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงได้มาจากวัดค้างคาว เมืองนนทบุรี ต่อมาพระราชทานแด่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
๔. นาฬิกาธูปรูปเรือมังกร (พระที่นั่งพรหมเมศธาดา-ล่าง)
นาฬิกาธูปรูปเรือมังกรประดับมุก (ไม่มีรางจับเวลาและลูกตุ้มบอกเวลา) สันนิษฐานว่า มีกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งจะจุดธูปจับเวลาในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนามหายาน และแพร่หลายเข้าสู่ประเทศจีนจนพัฒนารูปแบบของตนเอง และส่งต่อสู่เวียดนาม เกาหลี รวมถึงญี่ปุ่นด้วย
๕. นารายณ์บรรทมสินธุ์ (ห้องลพบุรี)
ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมบนหลังมกรที่เกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) จากปรางค์กู่สวนแตง บ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗
๖. นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส (ห้องชวา - ศรีวิชัย)
ภาพสลักจากบุโรพุทโธเป็นภาพนางสุชาดาพร้อมเหล่านางทาสีถวายข้าวมธุปายาสแด่พระโคตมโพธิสัตว์ใต้ต้นไทรด้วยเข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดาที่นางเคยขอสามีและบุตรชายไว้ ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะเสวยข้าวนั้นแล้วลอยถาดที่แม่น้ำเนรัญชรา โดยอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า “ถ้าจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขอให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำ หากไม่สำเร็จสมประสงค์ ขอให้ถาดลอยไปตามกระแสน้ำ” ในพระพุทธประวัติกล่าวว่า ถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปจนถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่งจึงจมลงสู่นาคพิภพ ไปกระทบกับถาดสามใบของพระอดีตพุทธเจ้าสามพระองค์คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า และพระกัสสปพุทธเจ้า พญานาคราชซึ่งกำลังหลับอยู่ในนาคพิภพ เมื่อได้ยินเสียงถาดกระทบกันจึงรู้ได้ทันทีว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์อีกหนึ่งพระองค์แล้ว
๗. พระอิศวร (ห้องสุโขทัย)
พระอิศวรทรงสังวาลนาคจากการกวนเกษียรสมุทร เดิมประดิษฐานที่หอเทวาลัยเกษตรพิมาน โบสถ์พราหมณ์ เมืองเก่าสุโขทัย
๘. ตู้พระธรรมจำหลักเล่าเรื่องทศชาติ (ห้องอยุธยา)
๙. พระแท่น (ห้องธนบุรี - รัตนโกสินทร์)
สันนิษฐานเป็นของพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้มาจากเมืองแกลง จังหวัดระยอง เป็นของอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาแต่เดิม
๑๐. พระเก้าอี้พับ (ห้องธนบุรี - รัตนโกสินทร์)
พระเก้าอี้พับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ใช้ในกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน เจ้าพนักงานจะเชิญพระเก้าอี้ทอดถวายแทนในกรณีที่ไม่ได้ทอดพระแท่นที่ประทับถวาย รวมถึงใช้ในการเสด็จงานพระราชสงครามด้วย
๑๑. อรหันต์ปราบมังกร - ศาลเจ้าพ่อหอแก้ว
เซียงหลงหลอฮั่นหรืออรหันต์ปราบมังกร (降龍羅漢) หนึ่งในสิบแปดอรหันต์ของจีน ท่านมีนามว่า พระมหากัศยปะ ซึ่งบางคนเชื่อว่า พระอรหันต์จี้กงก็คือร่างหนึ่งของอรหันต์ปราบมังกร เดิมที มีเพียงสิบหกอรหันต์เท่านั้นที่กล่าวถึงในพระสูตรจากอินเดีย ต่อมามีการเพิ่มพระอรหันต์เข้าไปอีกสองรูปช่วงปลายราชวงศ์ถังต่อกับสมัยห้าราชวงศ์สิบอาณาจักรของจีนคือ อรหันต์ปราบมังกรกับอรหันต์ปราบเสือ
ทั้งนี้ กิจกรรมนำชม “มะโรงนักษัตรทัวร์” ระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีสิทธิ์ลุ้นรางวัล เครื่องรางแก้ชงปี ๒๕๖๗ โอมาโมริไท่ส่วยครองชะตา วันละ ๑๐ ชิ้น และกาชาปองชุดพิเศษรับปีมังกรทอง ชุดที่สอง “ลูกมังกรทั้งเก้า” โดยศิลปินอาร์ตทอย วันละ ๙ ตัว เมื่อจบกิจกรรมในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังเปิดตลาดอาร์ตทอย ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เวลา ๑๐.๐๐ น. - ๒๐.๐๐ น. อีกด้วย
สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ขอเชิญชมการบรรเลงและการแสดง ในกิจกรรมปี่พาทย์เสภา ครั้งที่ ๒๐ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๖.๓๐ น. ณ เวทีกลางแจ้ง บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีรายการบรรเลงและการแสดง อาทิ
- การบรรเลงเพลงชุดโหมโรงเย็น และโหมโรงเพลงมะลิเลื้อย
- การขับเสภา โดย ครูสมชาย ทับพร ศิลปินแห่งชาติ และรำอาศิรวาทราชสดุดี
- การบรรเลง - ขับร้องประกอบการแสดงละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง – ขุนแผนพานางวันทองหนี
- การบรรเลงปี่พาทย์เสภา โดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร / กรมดุริยางค์ทหารบก / กองดุริยางค์ทหารเรือ / กรมประชาสัมพันธ์ / กองดุริยางค์ทหารอากาศ /
/ กองสวัสดิการ สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ / กองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว
อำนวยการแสดงโดยนายลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต
ชมฟรี !!! สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม (วันและเวลาราชการ) โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๔๒ และ ๐ ๒๒๒๑ ๐๑๗๑
สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ขอเชิญชมการแสดงเนื่องในโครงการดนตรีสำหรับประชาชน ปีที่ ๖๗“เหมันต์สุขศรี สุนทรีย์สังคีต” ทุกวันอาทิตย์ ระหว่างวันที่ ๑๔ มกราคม - ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๗.๓๐ น. ณ สังคีตศาลา บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประกอบด้วยการแสดงที่หลากหลาย ทั้งการแสดงโขน ละคร การบรรเลงดนตรีไทย ดนตรีสากล ทั้งนี้ได้นำเสนอ การแสดงสำคัญชุดหนึ่งของกรมศิลปากร คือ การแสดงตำนานเทวะนิยาย เรื่องนารายณ์สิบปาง ซึ่งกล่าวถึงการอวตารของพระนารายณ์ในปางต่าง ๆ เพื่อปราบยุคเข็ญของชาวโลก นำแสดงโดย ศิลปินสำนักการสังคีต อำนวยการแสดงโดย ลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต
บัตรราคา ๒๐ บาท (จำหน่ายบัตรก่อนการแสดง ๑ ชั่วโมง) ณ สังคีตศาลา บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม (วันและเวลาราชการ) โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๔๒ และ โทร. ๐๒๒๒๑ ๐๑๗๑
๑. ปางวราหะวตาร ๒. ปางมัจฉาวตาร ๓. ปางมหิงสาวตาร ๔. ปางทุลกีวตาร ๕. ปางทวิชาวตาร ๖. ปางนรสิงหาวตาร ๗. ปางสมณาวตาร ๘. ปางมหัลลกอสุรวตาร ๙. ปางอัปสราวตาร ๑๐. ปางรามาวตาร
รัก...คุณชำนาญ กฤษณสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา สำนักฯ ขอขอบคุณตลอดระยะเวลามากกว่า 30 ปีในการรับราชการ ที่ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจในการทำงานเพื่อองค์กร สร้างองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์โบราณสถานไว้มากมาย เนื่องจากการลาออกจากราชการของคุณชำนาญ เพื่อทำหน้าที่ดูแลบุพการีในครั้งนี้ ขอให้ครอบครัวคุณชำนาญมีความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ พระคุ้มครองนะคะ
ด้วยรักและคิดถึงเสมอ จากใจ...สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา