ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 40,992 รายการ



ภาพบรรยากาศของบูทนิทรรศการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา โดยมีนางสาวนัยนา มั่นปาน ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เป็นวิทยากรให้ความรู้สำหรับผู้สนใจภายในงาน “กินเข่าค่ำ ของดีเมืองสูงเนิน” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๘-๑๐ มีนาคม ๒๕๖๗ ณ ปราสาทเมืองแขก พร้อมทั้งการนำเหรียญพระพุทธสิหิงค์ทั้ง ๓ แบบ มาให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเช่าบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล... โดยทุกท่านสามารถเช่าบูชาได้ที่ บูทนิทรรศการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ณ ปราสาทเมืองแขก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา วัดธรรมจักรเสมาราม (วัดพระนอน) อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา * เหรียญ​บรอนซ์​นอกขัดเงา ​บูชาเหรียญละ ๑๙๙.-บาท * เหรียญ​โลหะสัมฤทธิ์​ขัดเงา บูชาเหรียญละ ๑๙๙.-บาท * เหรียญ​ทองแดงรมซาติน บูชาเหรียญละ ๑๙๙.-บาท ทัังนี้การจัดสร้างพระพุทธสิหิงค์ จำลอง รุ่น ครบรอบ ๑๑๒ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร พุทธศักราช ๒๕๖๖ จัดสร้างขึ้นเพื่อหารายได้นำเข้ากองทุนโบราณคดี เพื่อใช้ในการบูรณะโบราณสถาน และกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ


วันเสาร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๗ นายทศพร ศรีมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา พร้อมด้วยนายภาคภูมิ อยู่พูล หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ร่วมให้การต้อนรับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพชร ชุนละเอียด) และคณะที่ปรึกษา ซึ่งลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลและหาแนวทางสร้างความเข้าใจร่วมกัน ระหว่างไทยและกัมพูชา กรณีวัดพระพุทธบาทศิลา (ภูม่านฟ้า) จังหวัดบุรีรัมย์ ในการนี้หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ได้ร่วมให้ข้อมูลและบรรยายสรุปให้ทราบถึงสภาพปัญหาและประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางวิชาการด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม ด้วย





          กรมศิลปากรจัดกิจกรรมศิลปากรสัญจร ครั้งที่ 2 “มรดกโลก 2 นครา อยุธยา - ศรีเทพ” นำผู้สนใจกว่า 80 คน ร่วมทัวร์ไปกับกรมศิลปากร ระหว่างวันที่ 9 - 10 มีนาคม 2567 พร้อมชมการแสดงโขนประกอบแสงสี ณ วัดไชยวัฒนาราม เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “สัจจะพาลี” โดยมีวิทยากรและนักโบราณคดีในแต่ละพื้นที่เป็นมัคคุเทศก์ร่วมให้ความรู้และข้อมูลแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ           นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตามที่นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้มอบนโยบายให้กรมศิลปากรดำเนินโครงการส่งเสริม Soft Power ด้านการท่องเที่ยว  ในมิติทางวัฒนธรรม โดยเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวโบราณสถานตามจุดต่าง ๆ เข้าด้วยกัน กรมศิลปากรจึงจัดกิจกรรมศิลปากรสัญจร เพื่อแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จัก พร้อมทั้งให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนและประเทศ ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ หลังจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมศิลปากรสัญจรในอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางในกรุงเทพมหานคร สืบสานธรรมเนียมโบราณ นมัสการพระใหญ่เพื่อเป็นสิริมงคล ย้อนประวัติศาสตร์ “ชุมชนกุฎีจีน” ท่องไปในชุมชนเก่าแก่ สะท้อนภาพวิถีชีวิตผู้คนจากแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และเส้นทางวัฒนธรรมวงแหวนตะวันตก : ต้นธารแห่งอารยธรรมไทย นำเที่ยวแหล่งโบราณสถานและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในพื้นที่ภาคตะวันตกของไทย ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม            ศิลปากรสัญจร ครั้งที่ 2 “มรดกโลก 2 นครา อยุธยา - ศรีเทพ” เยือนแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 2 แห่ง ได้แก่ เมืองโบราณพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เริ่มต้นด้วยการสักการะพระพุทธสิหิงค์ และชมห้องจัดแสดงนิทรรศการศิลปะทวารวดีและศิลปะอยุธยา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จากนั้นเดินทางไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เมื่อพุทธศักราช 2534 ภายใต้ชื่อ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ชมนิทรรศการเครื่องทองอยุธยา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และแต่งชุดไทยชมวัดไชยวัฒนารามยามเย็น พร้อมชมการแสดงโขนสุดวิจิตรครั้งประวัติศาสตร์ โขนประกอบแสงสี เรื่องรามเกียรติ์ ชุด สัจจะพาลี โดยศิลปินจากสำนักการสังคีต รุ่งเช้าร่วมกิจกรรมตักบาตร ณ วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร และออกเดินทางไปจังหวัดเพชรบูรณ์ ชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของไทย ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เมื่อพุทธศักราช 2566 ภายใต้ชื่อเมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง


           วันที่ 9 มีนาคม 2567 นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการแสดงโขนประกอบแสงสี ณ วัดไชยวัฒนาราม เรื่องรามเกียรติ์ ชุด“สัจจะพาลี” โดยมีนักท่องเที่ยวและประชาชนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมชมการแสดงโขนเป็นจำนวนมาก            นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ กล่าวว่า การจัดการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ชุด “สัจจะพาลี” โดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา นับเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะการแสดงแบบโบราณของไทยให้สืบทอดต่อไปอย่างยั่งยืน ซึ่งการนำมรดกโลกทั้งสองรายการ ได้แก่ วัดไชยวัฒนาราม โบราณสถานสำคัญในนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และการแสดงโขน มารวมอยู่ในที่เดียวกัน โดยใช้เทคนิคแสง สี เสียงสมัยใหม่ ประยุกต์เข้ากับการแสดงโขนแบบโบราณ ทำให้เกิดความตระการตาและประทับใจแก่ผู้ชม สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตามนโยบายซอฟต์  พาวเวอร์ของรัฐบาล            การแสดงโขนประกอบแสงสี ณ วัดไชยวัฒนาราม เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “สัจจะพาลี” ประกอบด้วย เทคโนโลยีที่ทันสมัยสุดตระการตาและการออกแบบเวทีการแสดงให้กลมกลืนกับโบราณสถานในทุกมิติ เพื่อสร้างมโนภาพต่อผู้ชมให้เกิดความงดงามชวนตื่นตาตื่นใจ  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 10 มีนาคม 2567  เวลา 19.00 น.  ณ วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโบราณสถานที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก  บูรณาการร่วมกับ ศิลปะการแสดง “โขน” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากองค์การยูเนสโกเช่นกัน               สำหรับการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “สัจจะพาลี” มีเนื้อเรื่องย่อกล่าวถึง พระอิศวรมอบ บำเหน็จความชอบแก่พญากากาศที่ชะลอเขาพระสุเมรุที่เอนทรุดให้ตั้งตรงได้  โดยประทานนามให้ว่า “พญาพาลีธิราช” และประทานตรีเพชรสุรกานต์ให้เป็นอาวุธประจำกายแล้วประทานพรว่า เมื่อต่อสู้ให้ได้กำลังศัตรูแบ่งมาสมทบครึ่งหนึ่ง จากนั้นจึงออกพระโอษฐ์ฝากผอบบรรจุนางเทพดาราไปประทานแก่สุครีพน้องชาย แต่พระนารายณ์ทูลทัดทานว่าไม่ควรฝากไปเกรงจะไม่ถึงสุครีพ  พาลีจึงถวายสัตย์ว่าหากตนทรยศน้องชายขอให้ตายด้วยศรพระนารายณ์ เมื่อกลับถึงเมืองขีดขิน พาลีก็ผิดสัตย์สาบานจนถูกพระนารายณ์อวตารตามมาสังหารชีวิต พร้อมทั้งได้ไพร่พลวานรมาเป็นข้าทหารตามสัตย์สัญญาที่สุครีพให้ไว้ พระรามจึงยกกองทัพข้ามสมุทรไปทำสงครามสังหารทศกัณฐ์ที่ลอบลักนางสีดามเหสีมาไว้ที่กรุงลงกา  เมื่อเสร็จศึกพระพรตพระสัตรุดและสามพระมารดาเสด็จมาอัญเชิญพระราม นางสีดา และพระลักษมณ์กลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา พระรามเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยายังความปลาบปลื้มโสมนัสแก่เหล่าบรรดาเทพบุตรนางฟ้า มาร่วมรำถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเจริญ


วันศุกร์ที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. นักเรียนชั้นอนุบาล ๒ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านหว้า ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๕๖ คน คุณครู ๙ คน เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ โดยมีนางสาวอภิญญา สุขใหญ พนักงานประจำห้อง ให้การต้อนรับและบรรยายนำชม


วันศุกร์ที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. นักเรียนชั้นอนุบาล ๒ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านพอก ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๑๒๖ คุณครู ๑๒ คน เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ โดยมีนางถนอม หลวงกลาง และนางศรีสุดา ศรีสด พนักงานประจำห้อง เป็นผู้บรรยายนำชม


วันศุกร์ที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. โรงเรียนบ้านสวายไตยภูมิ ตำบลแตล อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ นักเรียนชั้นอนุบาล ๒-๓ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๔๑ คน คุณครู ๑๓ คน เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ โดยมีนายกรภัทร์ สุขใหญ่ พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์ ให้การต้อนรับและบรรยายนำชม


วันศุกร์ที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๗ เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. นักเรียนชั้นอนุบาล ๒ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนบ้านรัตนะ ตำบลบุฤาษี อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ จำนวน ๖๓ คน คุณครู ๒๐ คน เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ โดยมีนายแก่นแก้ว หอมนวล พนักงานประจำห้อง เป็นผู้บรรยายนำชม


วันศุกร์ที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๗ เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. นักเรียนชั้นอนุบาล ๒ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านสีโค ตำบลกังแอน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ จำนวน ๖๐ คน คุณครู ๑๐ คน เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ โดยมีนายกรภัทร์ สุขใหญ่ พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์ ให้การต้อนรับและบรรยายนำชม



Messenger