กรมศิลปากร ได้ดำเนินโครงการสื่อมวลชนสัญจรขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อนำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงาน และบรรยายให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับงานด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ของกรมศิลปากรในส่วนภูมิภาค รวมถึงการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดี โบราณสถานที่กรมศิลปากรดูแลและ มีส่วนร่วม เผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่องานด้านอนุรักษ์และสืบทอดมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยในครั้งนี้ได้นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานการดำเนินโครงการของสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ได้แก่ ผลการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่วัดท่ากาน ซึ่งจากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๖ พบว่าพื้นที่บริเวณกลางเวียงท่ากานมีการใช้พื้นที่มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ -๑๖ นั้น ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ฝังศพหรือสุสาน ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๒ จึงได้ขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติมเพื่อนำโครงกระดูกที่พบขึ้นมาอนุรักษ์และเก็บรักษา ซึ่งหลักฐานที่พบจากหลุมขุดค้นฯ ในพื้นที่วัดท่ากาน เป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่งต่อโบราณคดีภาคเหนือ ที่ยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์ หรือช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๗ ดังนั้น สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ต้องการเก็บหลักฐานที่พบทั้งหมดให้สมบูรณ์ที่สุด จึงดำเนินการจัดทำหลุมขุดค้นทางโบราณคดีจำลอง เพื่อเป็นสื่อสำหรับเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีเวียงท่ากานต่อไป
จากนั้นได้รับฟังการศึกษาโครงการโบราณคดีแหล่งโลหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย “กิจกรรมศึกษาแหล่งถลุงเหล็กโบราณบ้านแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน” ซึ่งเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของสังคม ผู้คน และเศรษฐกิจของกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิม ก่อนจะมีการเข้ามาของกลุ่มคนจากภายนอก (วัฒนธรรมทวารวดีภาคกลางของประเทศไทย) จนก่อเกิดบ้านเมืองระดับรัฐ อย่างหริภุญไชย (พุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔) และเชียงใหม่ (พุทธศตวรรษที่ ๑๙) ในช่วงเวลาต่อมา รวมถึงการดำเนินงานทางโบราณคดีกลุ่มโบราณสถานสบแจ่ม ในเขตตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่มีรูปแบบอิทธิพลสุโขทัย นับเป็นข้อมูลสำคัญที่เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของล้านนาและแอ่งที่ราบเชียงใหม่ ตลอดจนเยี่ยมชมการดำเนินงานศึกษาและอนุรักษ์โบราณสถานวัดผาลาด ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงเจ็ดลิน