กรมศิลปากรบวงสรวงพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่วังหน้า ก่อนดำเนินการอนุรักษ์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ให้คงไว้ซึ่งความเป็นของแท้ดั้งเดิม

           นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการอนุรักษ์พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มุ่งเน้นไปที่การใช้วีธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ เสริมความมั่งคงแข็งแรง และปรับสภาพพื้นผิวให้มีความกลมกลืน เงางาม ด้วยวิธีการและสารเคมีที่เหมาะสม มีความปลอดภัยต่อโบราณวัตถุและผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ โดยไม่เกิดผลกระทบต่อเนื้อโลหะและวัสดุดั้งเดิม ให้พระพุทธสิหิงค์กลับมามีสภาพสวยงาม คงหลักฐานความเป็นของแท้ดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด และป้องกันการเสื่อมสภาพในอนาคต เพื่อรักษาไว้ซึ่งพระพุทธรูปที่สำคัญของประเทศ




            อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานปัทม์ พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ มีพระรัศมีคล้ายเปลวเพลิง กำหนดอายุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 – พุทธศตวรรษที่ 21 รูปแบบศิลปะสุโขทัย - ล้านนา สร้างจากโลหะผสมของทองแดง พื้นผิวเป็นสีทอง ด้วยวิธีการกะไหล่ทอง หรือเรียกว่าเทคนิคเปียกทอง ตั้งแต่พระรัศมีจนถึงฐาน ไม่มีหลักฐานปรากฎชัดว่าองค์พระถูกกะไหล่ทองเมื่อใด พระเนตรใช้เทคนิคคล้ายการลงยาสี สภาพปัจจุบันของพระพุทธสิหิงค์เกิดความชำรุด พื้นผิวหมองคล้ำ มีรอยขูดขีด รอยถลอกพบสนิมคอปเปอร์ซัลเฟต ลักษณะเป็นจุดสีดำนูนขนาดเล็กๆ กระจายทั่วพื้นผิว มีรอยแตกร้าว บางจุดสีพื้นผิวไม่สม่ำเสมอ พระเนตรแตกหลุดบางส่วน จึงเกิดแนวคิดที่จะคืนความสมบูรณ์งดงามของพระพุทธสิหิงค์ด้วยวิธีการกะไหล่ทอง แต่ขั้นตอนของการกะไหล่ทอง จะต้องใช้น้ำ ความร้อน กรดเข้มข้น ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นผิวดั้งเดิมของโบราณวัตถุ โดยเฉพาะพื้นผิวโลหะที่มีความชำรุด แตกร้าว สึกกร่อนอยู่เดิม หากถูกความร้อน สารละลายกรดต่างๆ จะมีโอกาสทำให้ชำรุดเสียหายเพิ่มมากขึ้น ตามรายงานการสำรวจสภาพพระพุทธสิหิงค์และผลกระทบของการกะไหล่ทองของกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา จึงได้มอบหมายกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ทำการอนุรักษ์ซ่อมแซมพระพุทธสิหิงค์ ฐาน และ ฉัตร ด้วยการรักษาสภาพพื้นผิว ทำความสะอาดและกำจัดสนิม เสริมความมั่งคงแข็งแรง อุดซ่อมรอยแตกร้าวเท่าที่จำเป็น และปรับสภาพพื้นผิว เติมส่วนที่หายไป ด้วยวิธีการ วัสดุและสารเคมีที่เหมาะสม ส่งผลกระทบกับพื้นผิวดั้งเดิมให้น้อยที่สุด และคงไว้ซึ่งความเป็นของแท้ดั้งเดิม 


            นอกจากนี้ ยังให้ดำเนินการตรวจสอบ เก็บข้อมูลปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณก๊าซ มลพิษที่ก่อให้เกิดสนิมบนพื้นผิว รวมถึงกิจกรรมที่มีโอกาสส่งผลกระทบกับการเสื่อมสภาพของพระพุทธสิหิงค์ รวมถึงจัดเก็บและรวบรวมข้อมูล หลักฐาน ขั้นตอนการอนุรักษ์พระพุทธสิหิงค์ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อไปในอนาคต คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4 เดือน ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์องค์จำลอง มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะในระหว่างดำเนินการ
            สำหรับผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนบูรณะองค์พระพุทธสิหิงค์ สามารถร่วมบริจาคโดยบูชาวัตถุมงคลพระพุทธสิหิงค์ ได้ที่ ฝ่ายพัสดุ กลุ่มคลังและพัสดุ สำนักบริหารกลาง ชั้น 3 กรมศิลปากร เทเวศร์ สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0 2126 6559 หรือ facebook page พระพิฆเนศวร 108 ปี กรมศิลปากร
ทั้งนี้ สามารถสั่งเช่าบูชาได้ผ่านทางกล่องข้อความ facebook หรือหากสะดวกสามารถเข้ามาบูชาได้ด้วยตนเองได้ทุกวัน เวลา 09:30 - 15:30 น. 



* หมายเหตุ : บางรายการอาจมีผู้ศรัทธาบูชาหมดแล้ว


Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.