งาพลายชมภู

     สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕

     เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาแต่เดิม

      ปัจจุบันจัดอยู่ที่พระที่นั่งวสันตพิมาน (ชั้นบน) หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

      งาช้างยาวประมาณ ๒ เมตร รองรับด้วยฐานไม้กลมปิดทองล่องชาด และอีกกิ่งรองรับด้วยฐานไม้กลมจำหลักลายพรรณพฤกษา

      พลายชมภู เป็นชื่อช้างที่ขึ้นระวางสังกัดโรงช้างวังหน้า โดยอยู่ในทำเนียบช้างพลายวิเศษ สำหรับงาพลายชมภูคู่นี้ เป็นงาของพลายชมภูที่ขึ้นระวางในรัชกาลที่ ๔-๕ โดยเป็นช้างพลายที่ชาวกรุงเทพฯ รู้จักคุ้นเคย เหตุเพราะในฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคม-เดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเวลาที่ช้างพลายมีอาการตกมัน ช้างบางตัว จะดุร้ายชอบไล่แทงคน คนสมัยก่อนจึงมีกีฬาการละเล่น “ล่อช้างตกน้ำมัน” ในช่วงเวลานี้ของปี 

      ก่อนจะพาช้างตกน้ำมันลงอาบน้ำที่ท่าช้าง (วังหน้า) จะมีการตีฆ้องบอกสัญญาณมาตามทางก่อน เมื่อช้างตกน้ำมันออกจากโรง ผู้ที่มีใจกล้ามาเป็นผู้ผัด* กลุ่มหนึ่งเข้าล่อข้างหน้าช้างให้ไล่มาพักหนึ่ง จากนั้นพวกคนผัดกลุ่มที่อยู่ข้างหลัง ก็เข้าล่อให้ช้างกลับย้อนไปไล่ทางเดิม ช้างวิ่งไล่ไปทางไหน คนที่คอยดูอยู่โดยรอบก็จะพากันวิ่งหนี แม้เป็นที่ลุ้นระทึกและเสี่ยงอันตรายของผู้ผัดล่อ แต่ก็เป็นความสนุกของผู้ที่ชอบความโลดโผนและความเสี่ยงภัย

      สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ถึง “พลายชมพู” ในการล่อช้างตกน้ำมันว่า

“...เวลาช้างเช่นนั้นตกน้ำมัน กรมช้างไม่เอาไปลงน้ำแต่เช้าตรู่เหมือนช้างอื่น รอไว้จนถึงเวลาเช้าราว ๘ นาฬิกา เมื่อคนจ่ายตลาดกันเสร็จแล้ว จึงเอาช้างตกน้ำมันตัวนั้นไปลงน้ำ และอนุญาตให้คนเข้าผัดล่อได้ ก็เกิดเป็นการสนุก ชอบใจคนทั้งหลายทั้งพวกอยากดูและพวกคะนองที่อยากเสี่ยงภัยล่อช้างเล่นให้สนุก คงมีช้างพลายบางตัวที่ตกน้ำมันทุกปี และชอบไล่คนจนขึ้นชื่อลือนามมาทุกรัชกาล ว่าตามที่ฉันเคยได้ยินชื่อ...ในรัชกาลที่ ๕ มีพลายศักดิ์ตัวหนึ่ง กับพลายชมพูอยู่ในโรงวังหน้าตัวหนึ่ง ฉันได้เคยแต่ดูสองตัวที่ออกชื่อข้างหลังเมื่อฉันยังเป็นนักเรียนนายร้อยทหารมหาดเล็ก**...”

 

     *ความหมายหนึ่งของคำว่า “ผัด” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ หมายถึง “ย้ายไปย้ายมา หมุนไปมา ล่อให้ไล่”

     **ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๐

 

อ้างอิง

มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. ทำเนียบนามภาค ๑-๔ และ ทำเนียบนามข้าราชการวังหลัง. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๓.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. พิมพ์ครั้งที่ ๑๕. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร,๒๕๔๓.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖.



Messenger