พระสี่อิริยาบถ
[พระสี่อิริยาบถ]
.
สุโขทัยนิยมสร้างวิหารหรือมณฑปไว้ภายในวัด เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ก็มีบางแห่งที่มีการสร้างมณฑปที่มีแกนกลางขนาดใหญ่ เพื่อใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปที่ล้อมรอบแกนกลางมณฑปนี้ ซึ่งมณฑปที่กล่าวถึงนี้จะใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปที่อยู่ในอิริยาบถยืน เดิน นั่ง และนอน ทั้งนี้พระพุทธรูปที่กล่าวมานั้นอาจประดิษฐานอยู่ในมณฑปเดียวกันทั้งหมด หรือประดิษฐานเป็นกลุ่มอาคารใกล้เคียงกัน โดยเมืองสุโขทัยพบที่วัดพระพายหลวง วัดเชตุพน และพบที่วัดพระสี่อิริยาบถเมืองกำแพงเพชร ซึ่งการสร้างพระสี่อิริยาบถนี้ถือได้ว่าเป็นศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสุโขทัย โดยคติการสร้างนี้อาจเพื่อแสดงเรื่องราวตอนต่างๆ ในพุทธประวัติ หรืออาจสร้างมาจากพระสูตรในพระพระพุทธศาสนา คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช้สติพิจารณาดูกายในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง และนอน หรือมีนักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเป็นการสร้างเพื่อแสดงถึงอิริยาบถยืน เดิน นั่ง และนอนของพระพุทธเจ้า ขณะทรงสำราญพระอิริยาบถอยู่ในพระอาราม
.
ณ ที่วัดพระพายหลวงนั้นได้พบกลุ่มอาคารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปทางด้านทิศตะวันออกของวัด ลักษณะเป็นกลุ่มอาคารที่ประกอบด้วยมณฑปที่มีแกนกลางขนาดใหญ่ก่ออิฐ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืน 5 องค์ และพระพุทธรูปลีลา 1 องค์ ล้อมรอบแกนกลาง ถัดมาทางด้านทิศตะวันออกของมณฑปเป็นวิหารพระนอน และทางด้านทิศเหนือเป็นวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง สันนิษฐานว่ากลุ่มอาคารเหล่านี้สร้างขึ้นหลังสุดของวัดพระพายหลวง ทั้งนี้จากองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมดังที่กล่าวมาจึงมีผู้สันนิษฐานว่าที่วัดพระพายหลวงแห่งนี้เป็นแห่งแรกที่เริ่มสร้างพระพุทธรูปหลายปางไว้รวมกัน
.
วัดเชตุพนเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ ปรากฏมณฑปที่มีแกนกลางล้อมรอบด้วยพระสี่อิริยาบทเป็นประธานของวัด ซึ่งพระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในมณฑปประกอบไปด้วยพระพุทธรูปอิริยาบถเดินทางด้านทิศตะวันออก แสดงอิริยาบถยืนด้านทิศตะวันตก แสดงอิริยาบถนั่งด้านทิศเหนือ และแสดงอิริยาบถนอนด้านทิศใต้ สันนิษฐานว่าวัดเชตุพนแห่งนี้น่าจะพัฒนาการต่อมาจากการสร้างกลุ่มอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนและนอนของวัดพระพายหลวง
.
ในส่วนของวัดพระสี่อิริยาบถเมืองกำแพงเพชรนั้น เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ภายในวัดปรากฏมณฑปขนาดใหญ่ทำหน้าที่เป็นประธานของวัด ลักษณะเป็นมณฑปแกนกลางรับน้ำหนัก ซึ่งลักษณะผนังของแกนกลางทั้งสี่ด้านก่อเว้าคล้ายโอบพระพุทธรูปในแต่ละด้าน ผนังด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปลีลา ด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถนอน ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่ง และด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน จากองค์ประกอบและรูปแบบที่ลงตัวของสถาปัตยกรรม ทำให้สันนิษฐานว่าวัดพระสี่อิริยาบถนี้น่าจะสร้างหลังวัดเชตุพน เมืองสุโขทัยเล็กน้อย
.
การสร้างกลุ่มพระพุทธรูปหลายอิริยาบถหรือพระพุทธรูปสี่อิริยาบถนี้ สันนิษฐานว่าได้รับรูปแบบการสร้างกลุ่มอาคารลักษณะนี้มาจากลังกา พบที่คัลวิหาร เมืองโปลนนารุวะ ซึ่งเป็นกลุ่มประติมากรรมพระพุทธรูปที่สลักจากหน้าผาหินขนาดใหญ่ 4 องค์ ประกอบไปด้วย พระพุทธรูปประทับนั่งภายในถ้ำ พระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ พระพุทธรูปยืนตริภังค์ และพระพุทธรูปนอน
.
อ้างอิง
- กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. สุโขทัย : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, 2561.
- พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “พระสี่อิริยาบถ.” ศิลปวัฒนธรรม. 16,11 (กันยายน 2538) : 118-121.
- ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. “กลุ่มพระพุทธรูปสี่อิริยาบถในศิลปะสุโขทัย : ความหมายทางพระพุทธศาสนาบางประการ.” เมืองโบราณ. 13,3 (กรกฎาคม-กันยายน 2530) : 57-61.
- รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. “ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศิลปะศรีลังกา.” (เอกสารคำสอนรายวิชา 310212 Sri Lanka Art ฉบับปีการศึกษา 2554)(อัดสำเนา).
- ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2561.
- ศิริปุณย์ ดิสริยะกุล. “การศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมวัดพระสี่อิริยาบถ จังหวัดกำแพงเพชร” วิทยานิพนธ์ระดับศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.
- สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. พิมพ์ครั้งที่ 3. สุโขทัย : กรมศิลปากร, 2553.
.
สุโขทัยนิยมสร้างวิหารหรือมณฑปไว้ภายในวัด เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ก็มีบางแห่งที่มีการสร้างมณฑปที่มีแกนกลางขนาดใหญ่ เพื่อใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปที่ล้อมรอบแกนกลางมณฑปนี้ ซึ่งมณฑปที่กล่าวถึงนี้จะใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปที่อยู่ในอิริยาบถยืน เดิน นั่ง และนอน ทั้งนี้พระพุทธรูปที่กล่าวมานั้นอาจประดิษฐานอยู่ในมณฑปเดียวกันทั้งหมด หรือประดิษฐานเป็นกลุ่มอาคารใกล้เคียงกัน โดยเมืองสุโขทัยพบที่วัดพระพายหลวง วัดเชตุพน และพบที่วัดพระสี่อิริยาบถเมืองกำแพงเพชร ซึ่งการสร้างพระสี่อิริยาบถนี้ถือได้ว่าเป็นศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสุโขทัย โดยคติการสร้างนี้อาจเพื่อแสดงเรื่องราวตอนต่างๆ ในพุทธประวัติ หรืออาจสร้างมาจากพระสูตรในพระพระพุทธศาสนา คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช้สติพิจารณาดูกายในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง และนอน หรือมีนักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเป็นการสร้างเพื่อแสดงถึงอิริยาบถยืน เดิน นั่ง และนอนของพระพุทธเจ้า ขณะทรงสำราญพระอิริยาบถอยู่ในพระอาราม
.
ณ ที่วัดพระพายหลวงนั้นได้พบกลุ่มอาคารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปทางด้านทิศตะวันออกของวัด ลักษณะเป็นกลุ่มอาคารที่ประกอบด้วยมณฑปที่มีแกนกลางขนาดใหญ่ก่ออิฐ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืน 5 องค์ และพระพุทธรูปลีลา 1 องค์ ล้อมรอบแกนกลาง ถัดมาทางด้านทิศตะวันออกของมณฑปเป็นวิหารพระนอน และทางด้านทิศเหนือเป็นวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง สันนิษฐานว่ากลุ่มอาคารเหล่านี้สร้างขึ้นหลังสุดของวัดพระพายหลวง ทั้งนี้จากองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมดังที่กล่าวมาจึงมีผู้สันนิษฐานว่าที่วัดพระพายหลวงแห่งนี้เป็นแห่งแรกที่เริ่มสร้างพระพุทธรูปหลายปางไว้รวมกัน
.
วัดเชตุพนเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ ปรากฏมณฑปที่มีแกนกลางล้อมรอบด้วยพระสี่อิริยาบทเป็นประธานของวัด ซึ่งพระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในมณฑปประกอบไปด้วยพระพุทธรูปอิริยาบถเดินทางด้านทิศตะวันออก แสดงอิริยาบถยืนด้านทิศตะวันตก แสดงอิริยาบถนั่งด้านทิศเหนือ และแสดงอิริยาบถนอนด้านทิศใต้ สันนิษฐานว่าวัดเชตุพนแห่งนี้น่าจะพัฒนาการต่อมาจากการสร้างกลุ่มอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนและนอนของวัดพระพายหลวง
.
ในส่วนของวัดพระสี่อิริยาบถเมืองกำแพงเพชรนั้น เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ภายในวัดปรากฏมณฑปขนาดใหญ่ทำหน้าที่เป็นประธานของวัด ลักษณะเป็นมณฑปแกนกลางรับน้ำหนัก ซึ่งลักษณะผนังของแกนกลางทั้งสี่ด้านก่อเว้าคล้ายโอบพระพุทธรูปในแต่ละด้าน ผนังด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปลีลา ด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถนอน ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่ง และด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน จากองค์ประกอบและรูปแบบที่ลงตัวของสถาปัตยกรรม ทำให้สันนิษฐานว่าวัดพระสี่อิริยาบถนี้น่าจะสร้างหลังวัดเชตุพน เมืองสุโขทัยเล็กน้อย
.
การสร้างกลุ่มพระพุทธรูปหลายอิริยาบถหรือพระพุทธรูปสี่อิริยาบถนี้ สันนิษฐานว่าได้รับรูปแบบการสร้างกลุ่มอาคารลักษณะนี้มาจากลังกา พบที่คัลวิหาร เมืองโปลนนารุวะ ซึ่งเป็นกลุ่มประติมากรรมพระพุทธรูปที่สลักจากหน้าผาหินขนาดใหญ่ 4 องค์ ประกอบไปด้วย พระพุทธรูปประทับนั่งภายในถ้ำ พระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ พระพุทธรูปยืนตริภังค์ และพระพุทธรูปนอน
.
อ้างอิง
- กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. สุโขทัย : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, 2561.
- พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “พระสี่อิริยาบถ.” ศิลปวัฒนธรรม. 16,11 (กันยายน 2538) : 118-121.
- ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. “กลุ่มพระพุทธรูปสี่อิริยาบถในศิลปะสุโขทัย : ความหมายทางพระพุทธศาสนาบางประการ.” เมืองโบราณ. 13,3 (กรกฎาคม-กันยายน 2530) : 57-61.
- รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. “ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศิลปะศรีลังกา.” (เอกสารคำสอนรายวิชา 310212 Sri Lanka Art ฉบับปีการศึกษา 2554)(อัดสำเนา).
- ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2561.
- ศิริปุณย์ ดิสริยะกุล. “การศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมวัดพระสี่อิริยาบถ จังหวัดกำแพงเพชร” วิทยานิพนธ์ระดับศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.
- สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. พิมพ์ครั้งที่ 3. สุโขทัย : กรมศิลปากร, 2553.