ทำไมสมัยก่อนประวัติศาสตร์จึงนิยมใช้สีแดง

        เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า “ปากไม่แดงไม่มีแรงเดิน” หรือ “จะถูกจะแพงขอให้แดงไว้ก่อน” นั่นอาจสะท้อนความนิยมของสีแดงได้เป็นอย่างดี

        กระนั้น การใช้สีแดงพบมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ภาพเขียนสี และการตกแต่งลวดลายบนภาชนะดินเผา ในดินแดนไทย น่าสนใจว่า ทำไมมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์นิยมใช้สีแดงมาตกแต่งผิวและลวดลายภาชนะ และภาพเขียนสี

        จากที่มีผู้ศึกษาไว้ พบว่าสีที่มนุษย์เริ่มใช้เป็นเนื้อสีที่หาได้จากแร่ธาตุต่าง ๆ ตามธรรมชาติ ที่มีการสะสมของสารประกอบเหล็กออกไซด์ (iron oxide) ส่วนใหญ่จะได้มาจากหินหรือดิน

        สีแดง ก็ถือเป็นสีที่เก่าแก่และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วทุกมุมโลก โดยหนึ่งในวัตถุดิบก็คือแร่เฮมาไทต์ (Hematite : Fe2O3) แต่ก็ใช่ว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์จะมีแต่สีแดงไปเสียทั้งหมด ในพื้นที่อื่น ๆ ของโลกยังพบว่ายังมีดินเหนียวละเอียดและเหล็กออกไซด์ที่ให้สีสันหลากหลายตั้งแต่สีเหลือง สีส้ม สีน้ำตาล ไปจนถึงสีแดงอีกหลายเฉด ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการใช้สีที่ได้จากพืช แมลง และสีดำจากถ่าน อีกด้วย

        คำถามต่อมาก็คือ แล้วทำไมสีเหล่านี้ถึงสามารถคงอยู่ได้นานนับหลายพันปีกันล่ะ? ว่ากันว่า ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนสี หรือลวดลายบนภาชนะดินเผา ที่คงทนมาให้เราได้เห็นถึงทุกวันนี้ เพราะสีจากการสะสมของเหล็กออกไซด์จะจางได้ช้ากว่าสีที่ได้จากพืชและสัตว์นั่นเอง

        หลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีที่ผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2535 พบว่ามีการนำแร่เฮมาไทต์มาขัดฝนเพื่อนำไปใช้งาน โดยมีการสันนิษฐานว่าคงนำแร่มาบดเป็นผงเสียก่อน แล้วอาจนำไปผสมกับยางไม้ ไขมันสัตว์ หรือเลือดสัตว์ที่เป็นสีแดงเช่นเดียวกับแร่ ซึ่งยิ่งทำให้สียิ่งติดทนและมีสีที่เด่นชัดมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม การที่ดินแดนไทยพบการใช้สีแดงอย่างแพร่หลาย อาจเนื่องด้วยแร่ชนิดดังกล่าวเป็นวัตถุดิบที่พบมากที่สุด

        แล้วมนุษย์ในสมัยนั้น เขาใช้อะไรเขียน ? สำหรับในข้อนี้ การศึกษาเชิงเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีในต่างประเทศ ทำให้เชื่อว่าสำหรับกรณีภาพเขียนสี คงมีทั้งการใช้มือ แปรงจากพืชหรือขนสัตว์ เป็นหลัก แต่อาจมีเทคนิคอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ขณะที่ลวดลายบนภาชนะดินเผา เป็นไปได้ที่จะใช้แปรงหรือพู่กัน

        ส่วนการใช้สีแดงสื่อความหมายใดหรือไม่นั้น ได้มีผู้ให้ความเห็นไว้ว่าสื่อถึง "เลือด" และ "ชีวิต" ซึ่งหากเป็นภาพเขียนสีมักตีความภาพเหล่านี้ไปในทางการประกอบพิธีกรรมและร่วมกันเขียนภาพสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกัน ลวดลายสีแดงบนภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมบ้านเชียง อาจสื่อความหมายถึง "ขวัญ" (ส่วนที่ไม่มีตัวตนของคน สัตว์ สิ่งของ)

        สีแดงยังถูกตีความเป็นตัวแทนของ "ระดู" ของเพศหญิง ซึ่งระดูนั้นก็เกี่ยวกับ "การมีชีวิตและการตั้งท้อง" แม้ว่าทั้งหมดนี้จะเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการมีชีวิตใหม่ในโลกหน้าหรือไม่ แต่ข้อสังเกตหนึ่งคือ ภาชนะดินเผาบ้านเชียงเกือบทั้งหมดพบในหลุมฝังศพ อีกทั้งยังพบร่องรอยการนำดินเทศมาโรยในพิธีศพ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี และแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี เป็นต้น

        ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่า ในเชิงการใช้งาน แม้ว่ามนุษย์จะมีสีจากวัตถุดิบต่าง ๆ ให้เลือกใช้ แต่สีแดงจากแร่เฮมาไทต์เป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและคงทน นอกจากนี้ ในเชิงความหมาย สีแดงก็อาจเปรียบเสมือนสีของเลือด จึงสัมพันธ์กับเรื่องของชีวิตและความเชื่อเรื่องโลกหน้าก็เป็นได้

________________________

ผู้เขียน : ปัณฑ์ชนิต สุรฤทธิ์โยธิน

ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

________________________

อ้างอิง

1. ชลิต ชัยครรชิต. “รูปคนและสัตว์บนภาชนะดินเผาลายเขียนสีวัฒนธรรม 

       บ้านเชียง” ศิลปศาสตร์บัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะ 

       โบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2522.

2. ธนิก เลิศชาญฤทธ์. ภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย.

        นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2560.

3. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. “ไหอีสานไม่ได้มีแต่ไหทองคำ เพราะยังมี

        ไหลายสีแดงในวัฒนธรรมบ้านเชียงด้วย,” มติชนสุดสัปดาห์ 23 - 29 

        มิถุนายน 2560. 

4. สุจิตต์ วงษ์เทศ. คนไทยอยู่ที่นี่ นี่อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 

        2537.

5. อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ. รูปเขียนดึกกำบรรพ์ “สุวรรณภูมิ” 3,000 ปีมาแล้ว 

        ต้นแบบงานช่างเขียนปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549.

        ENCYCLOPEDIA. Prehistoric Colour Palette : Paint Pigments 

        Used by Stone Age Artists in Cave Paintings and Pictographs.   

        เข้าถึงเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2564. http://www.visual-arts-

 cork.com/artist-paints/prehistoric-colour-palette.htm.