รัว รืง มืง สะเร็น เรื่อง ลายผักกูด : ลายพฤกษาโบราณ ณ ปราสาทภูมิโปน
องค์ความรู้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ประจำเดือน มกราคม ๒๕๖๕ เรื่อง "ลายผักกูด : ลายพฤกษาโบราณ ณ ปราสาทภูมิโปน"
ลายพรรณพฤกษา คือลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก กิ่ง ก้าน ใบและดอกของต้นไม้ที่เกี่ยวพันกันและมีการประดิษฐ์ให้เหมาะสมกับการประดับในงานต่างๆ สำหรับโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมรนิยมแกะสลักลายพรรณพฤกษาบริเวณหน้าบัน ทับหลัง เสาประดับกรอบประตูและบันแถลง เป็นต้น
ลายกระหนกแบบทวารวดี มีชื่อเรียกกันในหมู่ช่างปัจจุบันว่า "กระหนกผักกูด" เพราะมีลักษณะใกล้เคียงกับใบผักกูด ซึ่งมีแกนกลางเป็นแผ่นโค้ง ขมวดม้วนเข้าม้วนออกอย่างอิสระ แสดงออกถึงความเชี่ยวชาญของช่าง ไม่ได้มีลักษณะลายพุ่งเป็นเปลวแหลมเหมือนลายไทยปัจจุบัน
ลายผักกูด เป็นลวดลายพฤกษาธรรมชาติ ที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งรับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดีย ส่งต่อให้แก่ศิลปะทวารวดีรวมถึงศิลปะเขมร และได้พัฒนามาสู่ลายกระหนกของไทยในปัจจุบัน ในศิลปะอินเดียปรากฏพบลายผักกูดบนแผ่นศิลารูปรัศมีของพระพุทธรูปสมัยคุปตะ ปางปฐมเทศนา จากเมืองสารนาถ ในศิลปะลังกาสามารถพบลายผักกูดที่คล้ายกับอินเดียอยู่ที่ขอบนอกของแผ่นอัฒจันทร์ ณ เมืองอนุราธปุระ และในศิลปะทวารวดีของประเทศไทยพบลายผักกูดบนแผ่นหินจำหลักลายพรรณพฤกษา ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ที่พบในจังหวัดนครปฐม
ปราสาทภูมิโปน ตั้งอยู่ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทศิลปะลพบุรี(เขมรในประเทศไทย) ประกอบด้วยอาคารทั้งหมด ๔ หลัง ซึ่งอาคารหมายเลข ๑ และอาคารหมายเลข ๔ สร้างขึ้นในศิลปะสมัยสมโบร์ไพรกุกต่อเนื่องสมัยไพรกเมง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ - ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาร่วมสมัยกับศิลปะทวารวดีในภาคกลาง ลวดลายแกะสลักที่ประดับตกแต่งอาคาร ปรากฏลายพรรณพฤกษาหรือลายผักกูด ซึ่งมีความงดงามอ่อนช้อยเป็นเอกลักษณ์แห่งยุคสมัย โดยปรากฏหลักฐานให้เห็นจากชิ้นส่วนประดับอาคาร ได้แก่ ศิลาสลักเหนือกรอบทับหลัง ลายผักกูดและลายรูปสัตว์จากโบราณสถานหมายเลข ๑ , ลายผักกูดที่ปรากฏแทรกอยู่บนทับหลังของโบราณสถานหมายเลข ๔ ,ลายพวงอุบะห้อยและลายผักกูดสลักบนเสาประดับกรอบประตูของโบราณสถานหมายเลข ๔
อ้างอิง
- น. ณ ปรากน้ำ. วิวัฒนาการลายไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๐
- สันติ เล็กสุขุม. พัฒนาการของลายไทย : กระหนกกับเอกลักษณ์ไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๕๓.
ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานปราสาทภูมิโปนได้ทุกวันจันทร์ - วันอาทิตย์ และศึกษาเยี่ยมชมโบราณวัตถุ จากปราสาทภูมิโปน ได้ ณ ห้องนิทรรศการประวัติศาสตร์วัฒนธรรมขอม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. โดยไม่มีค่าธรรมเนียมเข้าชม