Search
Thai
English
กรมศิลปากร
The Fine Arts Department
หน้าหลัก
กรมศิลปากร
ประวัติและบทบาทหน้าที่
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ผู้บริหารกรมศิลปากร
ผู้บริหารระดับสูง
ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ
ผู้อำนวยการสำนักส่วนกลาง
ผู้อำนวยการสำนักศิลปากร
CIO
โครงสร้างองค์กร
บุคลากรดีเด่น
ยุทธศาสตร์/แผนปฏิบัติราชการ
แผนงาน/โครงการ/งบประมาณ
หน่วยงานในสังกัด
บริการประชาชน
พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง
อุทยานเสมือนจริง
GIS (ระบบภูมิสารสนเทศแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรม)
NSW (ขอนำเข้า/ส่งออก โบราณวัตถุศิลปวัตถุ)
e-service (จดแจ้งการพิมพ์, ขอเลข ISSN, ISBN, CIP)
คลังข้อมูลดิจิทัล
จำหน่ายบัตรการแสดงออนไลน์
จำหน่ายหนังสือกรมศิลปากร
ศูนย์ข้อมูลงานศิลปกรรม
ระบบสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารฯ
อื่นๆ
คู่มือและมาตรฐานกรมศิลปากร
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสำรวจความพึงพอใจของผู้เข้าใช้บริการ Virtual Museum / Virtual Historical Park
แบบประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าใช้บริการ-เข้าชม (สำหรับครู-นักเรียน)
แบบประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ของกรมศิลปากร
แจ้งและร้องเรียน
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)
แบบสำรวจความพึงพอใจ
แหล่งเรียนรู้
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
อุทยานประวัติศาสตร์
หอสมุดแห่งชาติ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวกิจกรรม
ปฏิทินกิจกรรม
ข่าวรับสมัครงาน
จัดซื้อจัดจ้าง
ข่าว Feed
นิทรรศการ
นิทรรศการตู้พระธรรม
คลังวิชาการ
องค์ความรู้
ด้านดนตรีและนาฏศิลป์
ด้านภาษาและหนังสือ
ด้านเอกสารจดหมายเหตุ
ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
ด้านสถาปัตยกรรมและช่างศิลป์
ความรู้ทั่วไป
ความรู้ด้านดนตรีและนาฏศิลป์
ความรู้ด้านภาษา หนังสือ และเอกสาร
ความรู้ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
ความรู้สถาปัตยกรรมและช่างศิลป์
วีดิทัศน์
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์.
คลังภาพทรงคุณค่า
กฏระเบียบ
กฎหมายและระเบียบ
ITA
ช่องทางแจ้งเรื่องร้องเรียนการทุจริตและประพฤติมิชอบ
องค์กรคุณธรรม
กระดานถาม-ตอบ
ติดต่อ
ITA.
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
สามพระพุทธปฏิมา ณ พระนครคีรี
พระพุทธรูปสำคัญองค์แรกประจำพระนครคีรีที่จะนำเสนอคือ “พระพุทธสุวรรณเขต” (จำลอง)
เป็นพระพุทธรูปที่จัดสร้างขึ้นใหม่ ที่ฐานด้านหน้ามีจารึกข้อความ “พระพุทธสุวรรณเขต” ซึ่งทางจังหวัดเพชรบุรี ได้มอบให้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ เป็นปีเดียวกับที่มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครคีรี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี โดยพระพุทธสุวรรณเขต (จำลอง) แต่เดิมประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาด้านข้างพระปรางค์แดง ปัจจุบันย้ายมาประดิษฐาน ณ หอพิมานเพชรมเหศวร์ ด้านหลังพระพุทธรูปศิลปะล้านนา (จำลอง) ณ หอพิมานเพชรมเหศวร์ (อาคารหลังกลาง) ซึ่งเป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงใช้บรรทมในวันธรรมสวนะ ซึ่งทรงถืออุโบสถศีลเช่นเดียวกับหอเสถียรธรรมปริตในพระบรมมหาราชวัง
สำหรับพระสุวรรณเขตองค์จริงนั้นปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ด้านหลังพระพุทธชินสีห์ ณ อุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประวัติพระสุวรรณเขต แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ มีชื่อว่า “พระศรีสรรเพชญสัตตพันพาน” เป็นพระประธานประดิษฐาน ณ วัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี หน้าตักกว้าง ๙ ศอก ๒๑ นิ้ว ตำนานปรัมปราเล่าสืบต่อกันว่า ในอดีตการแปรสภาพพระพุทธรูปโลหะให้กลายเป็นพระพุทธรูปทองคำ นั้นสามารถทำได้โดยการฝังแร่กายสิทธิ์ที่ชื่อ สุวรรณเขต หรือ สุวรรณขีด ลงไปในเม็ดพระศก (ผม) ขององค์พระพุทธรูป จะทำให้โลหะนั้นกลายเป็นทองคำทันที และเชื่อกันว่าน่าจะมีแร่สุวรรณเขตอยู่ในเม็ดพระศกของพระศรีสรรเพชรสัตตพันพาน และพระพุทธรูปองค์นี้ได้อยู่คู่บ้านคู่เมืองเพชรบุรีมาโดยตลอด
จนกระทั่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ประมาณพุทธศักราช ๒๓๖๗(ตรงกับรัชกาลที่ ๓) กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ได้ทรงอัญเชิญ โดยชะลอจากวัดสระตะพาน เมืองเพชรบุรี มาเป็นพระประธานในอุโบสถวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร (การเคลื่อนย้ายครั้งนั้นได้รื้อออกเป็นท่อนๆแล้วนำมาประกอบที่กรุงเทพฯ) และมีชื่อเรียกต่อมากันว่า “พระสุวรรณเขต” หรือ “หลวงพ่อโตวัดบวร” หรือที่เป็นรู้จักกันว่า “หลวงพ่อเพชร” อันเนื่องจากเคยเป็นพระพุทธรูปที่มาจากเมืองเพชรบุรี เมื่อพระพุทธรูปองค์นี้มาเป็นพระประธาน ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่มีความนิยมทำเม็ดพระศกพระพุทธรูปขนาดเล็ก ดังนั้นพระยาชำนิหัตถการช่างวังหน้าของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพ จึงได้ทำพระศกพระสุวรรณเขตเสียใหม่ กล่าวคือจากเดิมที่มีพระศกขนาดใหญ่ (เช่นเดียวกับพระพุทธชินสีห์) กลายเป็นมีพระศกขนาดเล็กแทนตามความนิยมในช่วงเวลานั้น วิธีการทำพระศกคือการทำด้วยดินเผาและลงรักปิดทอง อย่างไรก็ตามยังคงเห็นเค้าลางของรูปแบบศิลปกรรมเดิมที่สะท้อนให้เห็นว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีความเก่าแก่ อาทิ ขอบไรพระศก และ พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม เป็นต้น
พระพุทธรูปสำคัญองค์ที่สองประจำพระนครคีรีที่จะนำเสนอคือ “พระไพรีพินาศ” (จำลอง)
ประดิษฐาน ณ พระปรางค์แดง พระนครคีรี เมืองเพชรบุรี เป็นพระพุทธรูปขนาดย่อม หน้าตักกว้าง ๓๓ ซม. และมีความสูงถึงปลายรัศมี ๕๓ ซม. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้มีพระวินิจฉัยในสาสน์สมเด็จว่า “พระไพรีพินาศเป็นพระพุทธรูปแบบมหายานปางประทับ นั่งประทานอภัย กล่าวคือ มีพระพุทธลักษณะเหมือนพระปางมารวิชัยหัตถ์ขวาที่วางอยู่บนพระชานุขี้น”
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช มีเรื่องเล่าปรากฏในเอกสารต่าง ๆ ว่ามีผู้ไม่หวังดีกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา โดยเจตนาจะไม่ให้ได้รับราชสมบัติ ที่เห็นชัดก็คือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยใกล้จะเสด็จสวรรคตมีผู้ไปทูลอ้างรับสั่งให้ไปเฝ้า เมื่อเสด็จไปก็ถูกกักบริเวณให้อยู่ใน พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึง ๗ วัน ผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นคนวางแผน ก็คือ กรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งแสดงตนเป็นหัวเรือใหญ่ กีดกันไม่ให้สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ได้ราชสมบัติ ท่านผู้นี้เคยแกล้ง พระธรรมยุติที่เข้าไปรับบาตรในวัง โดยแกล้งเอาข้าวต้มร้อน ๆ ใส่บาตร บาตรเหล็กถูกของร้อนก็ร้อน ไปด้วยพระทนความร้อนไม่ได้ก็ต้องโยนบาตรทิ้ง และกรมหลวงรักษ์รณเรศเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง จนถึงคิดจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเองถ้ารัชกาลที่ ๓ สวรรคต ทั้งยังเคยเจรจามั่นหมายไว้ว่า ถ้ามีวาสนาใหญ่โตจะมีสิทธิ์ขาดในแผ่นดินแล้ว ก็จะทำลายล้างสิ่งที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทำไว้จนหมดสิ้น
เผอิญมีผู้ทำฎีกากล่าวโทษกรมหลวงรักษ์รณเรศด้วยข้อหาร้ายแรงหลายเรื่อง โปรดให้ชำระมีความผิดฉกรรจ์ จึงโปรดให้ลงพระราชอาญาแล้วให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๓๙๑ กล่าวกันว่าในเวลาใกล้เคียงกับที่กรมหลวงรักษ์รณเรศถูกสำเร็จโทษนั้นมีคนอัญเชิญพระพุทธรูปศิลาแบบมหายาน ปางนั่งประทานอภัย มาถวายสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร จึงโปรดถวายพระนามว่า “พระไพรีพินาศ” เป็นนิมิตหมายว่าหมดศัตรูแล้ว ต่อมาเมื่อเสวยราชสมบัติได้ประมาณ ๒ ปี คือ พุทธศักราช ๒๓๙๖ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล “ผ่องพ้นไพรี” เนื่องจากทรงหลุดพ้นจากการเบียดเบียนของศัตรูเป็นงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงนับถือกันว่า “พระไพรีพินาศ” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อาจบันดาลให้ศัตรูพ่ายแพ้ไปในที่สุด ซึ่งพระนามของพระพุทธรูปองค์สำคัญนี้ว่า “พระไพรีพินาศ” มีหลักฐานเป็นกระดาษซึ่งพบในพระไพรีพินาศเจดีย์ มีอักษรเขียนว่า “พระสถูปเจดียสิลาบัลลังองค์ จงมีนามว่า พระไพรีพินาศเจดียเทิญ” และอีกด้านเขียนว่า “เพราะตั้งแต่ทำแล้วมา คนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ” หลักฐานดังกล่าวได้ค้นพบเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ ระหว่างการซ่อมแซม พระเจดีย์ ๙๖ ปี วัดบวรนิเวศวิหาร
พระพุทธรูปสำคัญองค์สุดท้ายประจำพระนครคีรีที่จะนำเสนอคือ “พระนิรันตราย” (จำลอง)
ประดิษฐาน ณ วิหารวัดพระแก้วน้อย พระนครคีรี เมืองเพชรบุรี เป็นพระพุทธรูปนั่ง ปางสมาธิ หล่อด้วยทองคำ เบื้องหลังมีเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ มีอักษรขอมจำหลักลงในวงกลีบบัวเบื้องหน้า ๙ เบื้องหลัง ๙ ยอดเรือนแก้วมีรูปพระมหามงกุฎตั้งติดอยู่กับฐานชั้นล่างรองฐานพระซึ่งเป็นที่สำหรับรับน้ำสรงพระ มีท่อเป็นศีรษะโคแสดงเป็นที่หมายพระโคตรซึ่งเป็นโคตมะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริแบบสร้างขึ้น จากเหตุการณ์เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ กำนันอินและนายยังบุตรชาย ขุดพบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำเนื้อหก น้ำหนัก ๘ ตำลึง ที่ชายป่าแขวงเมืองปราจีนบุรีห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณสามเส้น ในขณะที่กำลังขุดมันนกกันอยู่ โดยก่อนหน้านั้น ฝันว่าจับช้างเผือกได้ จึงให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา พาเข้ามา ณ กรุงเทพฯ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ในวันพระฤกษ์เฉลิมพระราชมณเฑียรสีตลาภิรมย์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญมาประดิษฐานที่หอเสถียรธรรมปริตร ครั้นเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ มีผู้ร้ายลักพระกริ่งองค์น้อยซึ่งตั้งอยู่กับพระทองคำองค์นี้ไป แต่พระทองคำองค์นี้ผู้ร้ายควรที่จะลักไปด้วย ก็เผอิญแคล้วคลาด เรื่องทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระนิรันตราย” แล้วทรงพระราชดำริแบบให้เจ้าพนักงานหล่อพระพุทธรูปปางสมาธิ ตามพุทธลักษณะ ครอบพระพุทธรูปองค์เดิมมาจนถึงทุกวันนี้
---------------------------------------------------
สามารถอ่านต่อเพิ่มเติมได้จาก พนมกร นวเสลา. พระพุทธรูปจำลองบนพระนครคีรี . ใน www.phranakhonkhiri.com หัวข้อ คลังความรู้
---------------------------------------------------
ข้อมูลจาก : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี
---------------------------------------------------
อ้างอิง :
กรมศิลปากร. พระพุทธรูปสำคัญ. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2545. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม และ ขจร สุขพานิช. พระเกียรติประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547. ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ. กรุงเทพฯ.กรมศิลปากร,2496. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสิทร์ รัชกาลที่ ๔. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2558.
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน