กลองมโหระทึก จากชุมชนโบราณเขาสามแก้ว
          กลองมโหระทึก เป็นกลองชนิดหนึ่งที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ ซึ่งมีอายุประมาณ 2,000 – 3,000 ปีมาแล้ว ทำด้วยโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุกเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะรูปร่างคล้ายทรงกระบอก ส่วนหน้ากลองและฐานนั้นผายออก มีด้านหนึ่งเป็นแผ่นเรียบซึ่งเป็นส่วนของหน้ากลอง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นส่วนฐานเป็นรูปกรวยและกลวง กลองมโหระทึกนั้นมีกำเนิดในแถบเทือกเขาทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม จัดอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมดองซอน ต่อมาได้รับเอาวิธีการหลอมโลหะมาจากจีน ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีหลักฐานปรากฏชัดว่า ได้มีการผลิตและใช้กลองมโหระทึกมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคโลหะเป็นต้นมา

รูปแบบกลองมโหระทึก
           แบ่งออกได้เป็น 4 แบบ คือ
           - แบบที่ 1 เป็นกลองที่มีขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ กลองทำเป็นรูปคล้ายกลองรำมะนา ส่วนที่อยู่เหนือหูมีลักษณะโค้งผายและปิดทึบ ถัดมาเป็นส่วนตรงกลางมีรูปเป็นทรงกระบอก ส่วนล่างสุดโค้งผายออกและกลวงคล้ายบาตรคว่ำ กลองแบบนี้เป็นกลองที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด และทางใต้ของประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่พบแบบที่ 1
           - แบบที่ 2 เป็นกลองขนาดปานกลาง ส่วนของหน้ากลองมีลักษณะโค้งมากขึ้นจนดูคล้ายทรงกระบอก ส่วนหูจะมี 2 อัน คู่กัน กลองแบบนี้พวกมวงในประเทศเวียดนามยังคงใช้กันอยู่
           - แบบที่ 3 เป็นกลองขนาดกลาง ส่วนตอนกลางและตอนล่างจะกลมกลืนกันจนแยกไม่ค่อยออก ส่วนหน้ากลองจะมีรูปกบประกอบเกาะแน่นอยู่หลายตัว กลองแบบนี้เรียกว่า แบบยางหรือแบบกระเหรี่ยง เพราะชาวกระเหรี่ยงยังคงใช้กันจนทุกวันนี้
          แบบที่ 4 เป็นแบบที่คล้ายทรงกระบอกเตี้ยและมีขนาดเล็ก บางครั้งเรียกว่า แบบจีนและมีลวดลายตกแต่งเป็นลายจีน มีหูจับ 2 คู่ ปัจจุบันยังคงพบและมีการใช้กันตามวัดในประเทศจีน

ลวดลายประดับ
          1. ลายดวงดาวหรือดวงอาทิตย์ เป็นลายที่สำคัญที่สุด พบบนหน้ากลองมโหระทึกตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงรุ่นหลังสุด สัญนิษฐานว่ากลุ่มชนที่สร้างกลองมโหระทึกอาจนับถือหรือเคารพบูชาดวงอาทิตย์

          2. ลายนกบิน เป็นลายรูปสัตว์ที่สำคัญลายหนึ่งที่พบบนหน้ากลองมโหระทึก ลายนกบินที่พบส่วนใหญ่จะมีหลายตัวตั้งแต่ 4 ตัวขึ้นไป สัญนิษฐานว่าลายนกบินนั้นอาจหมายถึงนกส่งวิญญาณตามความเชื่อของกลุ่มชน คือใช้ในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย


          3. ประติมากรรมลอยตัวรูปกบ ความสำคัญของกบบนขอบหน้ากลองสันนิษฐานว่าเนื่องจากกบเป็นสัตว์ที่คนในสังคมเกษตรคุ้นเคย เป็นสัตว์ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ คาดว่ากลองมโหระทึกแบบนี้น่าจะเกี่ยวกับการเกษตรกรรม


วัตถุประสงค์ในการผลิตกลองมโหระทึก
          มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับกลองมโหระทึก โดยศึกษาจากชนเผ่าที่ยังใช้กลองมโหระทึกกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงตีความจากลวดลายที่ปรากฏบนหน้ากลอง และจากหลักฐานทางโบราณคดี พบว่ากลองมโหระทึกนั้นผลิตขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป อาทิเช่น - ใช้เป็นสิ่งแสดงถึงฐานะและความมั่งมี พวกเหลียว (Liao) ในประเทศจีน ถือว่าผู้ใดมีกลองใบใหญ่จะได้รับการยกย่องให้เป็นทู-ลาว (Tu-lao) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องนับถือจากคนในชุมชน - ใช้เป็นสิ่งสำคัญในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย พบว่าพวกกระเหรี่ยงในพม่าและภาคตะวันตกของไทยใช้กลองมโหระทึกในการตีเพื่อเรียกวิญญานของผู้ตาย โดยเชื่อว่าผู้ตายนั้นจะแปลงร่างเป็นนก และใช้กลองมโหระทึกเป็นแท่นวางเครื่องสังเวย นอกจากนี้ยังมีการตีความลายนกบินทวนเข็มนาฬิกาที่ปรากฏบนหน้ากลองว่า อาจเป็นกลองที่ใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย และในทางตอนใต้ของจีน ที่สุสานสือไจ้ซาน มณฑลหยุนหนาน ได้มีการขุดพบกลองมโหระทึกในพื้นที่สุสานด้วย - ใช้ตีเป็นสัญญาณในคราวออกศึกสงคราม ที่ปาเซมะ(Pasemah) เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการค้นพบประติมากรรมนักรบมีกลองมโหระทึกขนาดกลางแขวนอยู่ด้านหลัง - ใช้ตีในการประกอบพิธีกรรมขอฝน พบว่ากลองมโหระทึกบางใบมีการทำรูปสัตว์ต่าง เช่น กบ หอยทาก ช้าง จักจั่น ติดบนหน้ากลอง ซึ่งเชื่อว่าสัตว์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับฝน ในทางตอนใต้ของจีนเชื่อว่า กบ และคางคกจะบอกเหตุล่วงหน้าว่าฝนจะตก - ใช้ในการประกอบพิธีกรรมอื่นๆ เช่น ในประเทศพม่าจะมีการตีกลองมโหระทึกในงานประเพณีของกลุ่มชนพื้นเมือง ส่วนในประเทศไทยพบว่ามีการตีกลองในงานมงคล และใช้ตีในงานพระราชพิธี อย่างเช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ




ภาพ : มโหระทึกและฆ้องชัยในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

          กลองมโหระทึกที่พบจากชุมชนโบราณเขาสามแก้ว พบในบริเวณเขาสามแก้ว ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร



ภาพ : กลองมโหระทึก
ขนาด (ฐาน) ศก.18.5 ซม. สูง 16.5 ซม. (หน้ากลอง) ศก.15.5 ซม.
ชนิด สำริด สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ 5-10
ลักษณะวัตถุ : หน้ากลองตกแต่งลายดวงอาทิตย์หรือดาว 8 แฉก ล้อมรอบด้วยลายนกกระสาบินทวนเข็มนาฬิกา
ประวัติ : พบที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร นำมาจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2540




ภาพ : กลองมโหระทึก
ขนาด กว้าง 76 ซม. สูง 56 ซม. (หน้ากลอง) ศก.68.5 ซม.
ชนิด สำริด สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ 5-10
ลักษณะวัตถุ : หน้ากลองตกแต่งลายดวงอาทิตย์หรือดาว 12 แฉก คั่นด้วยลายหางนกยูงล้อมรอบด้วยลายนกกระสาบินทวนเข็มนาฬิกาและลายเรขาคณิต ด้านข้างกลองตอนบนมีหู 4 หู โดยรอบ ตัวกลองตกแต่งลายวงกลมมีจุดตรงกลางมีเส้นทแยงในแนวตั้ง
ประวัติ : พบที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร นำมาจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2540


ภาพ : กลองมโหระทึก
ขนาด สูง 51 ซม. ศก.หน้ากลอง 69 ซม.
ชนิด สำริด สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ 5-10
ลักษณะวัตถุ : ทรงกลมสีเทาดำ หน้ากลองแบนราบ ตัวกลองป่องออกแล้วคอดเข้า ก่อนผายออกเป็นฐานมีหูสี่คู่ ภายในกรวง หน้ากลองตกแต่งลายดวงอาทิตย์สิบสี่แฉกล้อมรอบด้วยลายเส้น ลายจุด ลายนกยูงเหลียวหลังจำนวนหกตัว ลายปีกใบพัดจำนวนสิบสองตัว และลายนกกระสาสิบหกตัว บินทวนเข็มนาฬิกา ด้านข้างกลองตกแต่งลายเส้น ลายวงกลม ลายเส้นทแยง ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าและลายวงกลมขนาดเล็ก
ประวัติ : พบในคลองท่าตะเภา ตำบลบางลึก (เขาสามแก้ว) อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร นำมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554


ภาพ : ลวดลายบนหน้ากลองมโหระทึก

-----------------------------------------
ข้อมูลโดย : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร
-----------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
ภาพลายเส้นจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เขมชาติ เทพไชย. "รายงานการสำรวจและศึกษากลองมโหระทึก ณ บ้านยวนเฒ่า ตำบลเทพราช อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช" ใน ศิลปากร ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๔, หน้า ๘๒-๙๘. เมธินี จิระวัฒนา. กลองมโหระทึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒. สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๑. ระบบทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร