ปี ๒๔๔๓ กับความเปลี่ยนแปลงของชาวโคราช เมื่อรถไฟมาถึง
ปัจจุบันเมืองนครราชสีมากลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคมและการรถไฟที่สำคัญของภาคอีสาน ในฐานะประตูสู่ภาคอีสาน สถานีรถไฟนครราชสีมาหรือที่ชาวโคราชรู้จักโดยทั่วไปว่า “หัวรถไฟ” เป็นสถานที่มีขนาดใหญ่ และเป็นศูนย์ซ่อมรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




“…ส่วนตัวเมืองนครราชสีมานั้น ก็มีความเชื่อใจว่า ถ้าไม่ตายเสียก่อนคงจะได้ไปเห็น เป็นการแน่ใจมากกว่าประเทศยุโรป ซึ่งไม่เชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บจะปล่อยให้ไปได้..”   พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่เมืองนครราชสีมา ร.ศ.110

         ปัจจุบันเมืองนครราชสีมากลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคมและการรถไฟที่สำคัญของภาคอีสาน ในฐานะประตูสู่ภาคอีสาน สถานีรถไฟนครราชสีมาหรือที่ชาวโคราชรู้จักโดยทั่วไปว่า “หัวรถไฟ” เป็นสถานที่มีขนาดใหญ่ และเป็นศูนย์ซ่อมรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถัดจากสถานีนครราชสีมามาทางด้านทิศตะวันออกที่สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระเป็นชุมทางระหว่างทางรถไฟสายอีสานตอนบนที่จะแล่นไปสิ้นสุดที่อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย และรถไฟสายอีสานตอนล่างที่จะแล่นไปสิ้นสุดที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในจังหวัดนครราชสีมา มีอำเภอที่มีเส้นทางรถไฟพาดผ่าน ทั้งสิ้น 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน เมื่อถึงอำเภอเมืองนครราชสีมา แบ่งเป็น 2 สายคือ 1. สายอีสานตอนบนผ่านอำเภอโนนสูง อำเภอคง อำเภอบัวใหญ่ อำเภอบัวลาย 2. สายอีสานตอนล่าง ผ่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอจักราช อำเภอห้วยแถลง

แรกเริ่มของเส้นทางรถไฟเส้นแรกในประเทศไทยนั้น สร้างขึ้นเมื่อ ปี 2434 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ปลายทางคือนครราชสีมา โดยพระองค์มีพระราชประสงค์เพื่อพัฒนาสยามให้รุ่งเรือง ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ ทรงมีพระราชดำริถึงการสร้างทางรถไฟจะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดระยะเวลาการเดินทาง ง่ายต่อการเดินทางไปตรวจราชการในหัวเมืองต่างๆ ความว่า “…ทรงพระราชดำริเห็นว่า การสร้างทางรถไฟเดินไปมาในระหว่างหัวเมืองไกล เป็นเหตุให้เกิดความเจริญแก่บ้านเมืองได้เป็นอย่างสำคัญ เพราะทางรถไฟอาจจะชักย่นหนทางหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกล ไปมาถึงกันยากให้เป็นหัวเมืองใกล้ ไปมาถึงกันได้สะดวกเร็วพลัน การย้ายของสินค้าไปมาซึ่งเป็นการลำบากก็สามารถจะย้ายขนสินค้าไปมา ซึ่งเป็นการลำบาก ก็สามารถจะย้ายขนไปมาถึงกันได้โดยง่าย...เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาราษฎรมีการตั้งทำมาหากินกว้างขวางออกไป...ทั้งเป็นคุณประโยชน์ในการบังคับบัญชา ตรวจตราราชการ บำรุงรักษาพระราชอาณาเขตให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขโดยสะดวก...” การก่อสร้างทางรถไฟสายนี้แล้วเสร็จในปี 2443 รวมระยะทางจาก กรุงเทพฯ - นครราชสีมา ทั้งสิ้น 265 กิโลเมตรโดยใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 17,585,000บาท

เส้นทางรถไฟสายอีสานจากกรุงเทพฯถึงนครราชสีมา ในปัจจุบันนี้ ถูกกำหนดขึ้นตามประกาศพระราชกฤษฎีกาสำหรับการที่จะสร้างรถไฟ ตามที่ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นรายละเอียด มาตรา 1 ระบุว่า “...ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานกระทรวงโยธาธิการ สร้างรถไฟขนาดใหญ่ตามอัตรา ตั้งแต่กรุงเทพฯไปทางบางปอินกรุงเก่าแลเมืองสระบุรี ถึงเมืองนครราชสีมาสายหนึ่ง...”

เมื่อ วันที่ 21 ธันวาคม ปี 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนิน เสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อย่างเป็นทางการและประทับรถไฟพระที่นั่งสู่เมืองนครราชสีมา เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรและตรวจราชการเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของมณฑลลาวกลาง ระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม – 25 ธันวาคม ปี 2443 จากบันทึกการเดินทางระบุว่า รถไฟพระที่นั่งเสด็จออกเดินทางในเวลา 07.25 น. และถึงเมืองนครราชสีมา ในเวลาประมาณ 16.00 น. รวมใช้เวลาเดินทางในขณะนั้นประมาณ 9 ชั่วโมง แวะพักเป็นจุดๆ ได้แก่ เมืองกรุงเก่า เมืองแก่งคอย เมืองปากช่อง เมืองสีคิ้ว ตามลำดับ ในปัจจุบันรถไฟ ประเภทรถเร็ว จากกรุงเทพฯ ถึง นครราชสีมา ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง หากรถไฟพระที่นั่งไม่หยุดพักคงใช้เวลาเดินทางใกล้เคียงกัน

ภายหลังจากเส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้วนั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีของชาวโคราชในช่วงเวลานั้นหลายประการ ทั้งในด้านการอุปโภค บริโภค การขยายตัวของเมืองดังปรากฏให้เห็นจากรายงานผลการเดินทางไปตรวจราชการ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปี 2445 เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในขณะนั้นกิจการรถไฟดำเนินการไปแล้วกว่า 1 ปี ดังนี้
1. สินค้าอุปโภค บริโภค
คนโคราชนำสินค้าขึ้นมาขายจากกรุงเทพฯ โดยตรง มีทั้งข้าวเปลือก สุกร ยาง ส้ม มะขามป้อม สมอ นุ่น มะขามฝัก (เพราะคนเมืองนี้ไม่กิน) มะเกลือ ส้ม อ้อย เนื้อโค ไม้เสาเรือน ไม้ไถ ไม้เครื่องเกวียน ไม้แดง ไม้ท่อน ศิลา โค ม้า เป็ด ไก่ หมากพลู ปูนแดง ยาจืด และสินค้าพิเศษคือการนำน้ำแข็งมาจากกรุงเทพฯ
2. วิถีการบริโภค
คนในเมืองโคราชเริ่มหันมาบริโภคเกลือทะเลแทนเกลือสินเธาว์ บริโภคยาเส้นจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีต้นตำรับจากเกาะกร่าง ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และปลูกอย่างแพร่หลายที่เมืองกาญจนบุรี แทนยาเส้นจากเดิมที่นำมาจากเมืองเพชรบูรณ์กับเมืองหนองคาย และคนโคราชเปลี่ยนการบริโภคปลาร้า จากเดิมซื้อจากเมืองพิมาย หันมาบริโภคปลาร้าจากกรุงเก่า เมืองอยุธยา
3. การแลกเปลี่ยนสินค้า
ในเรื่องการแลกเปลี่ยนสินค้าของพ่อค้าคนกลาง พ่อค้าจากมณฑลอิสาน (อุบลราชธานี) แบะมณฑลอุดร (อุดรธานี) ไม่รับสินค้าผ่านพ่อค้าคนกลางเมืองโคราชแล้ว แต่ลงไปซื้อด้วยตนเองที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีการนำปลาย่าง ปลากรอบ จากพระตะบอง บรรทุกใส่เกวียนคราวละ 50-60 เล่ม แล้วบรรทุกรถไฟลงไปขายที่กรุงเทพฯ
4. สิ่งปลูกสร้าง
สิ่งปลูกสร้าง ทั้งโรงเรือนมุงสังกะสี และโรงแถวปลูกใหม่ ในเมืองโคราชมีเพิ่มขึ้นทั้งในเมืองและนอกเมืองค่อนไปทางสถานีรถไฟนครราชสีมาในปัจจุบัน ที่ดินมีราคาเพิ่มสูงขึ้น ถึงตารางวาละ 6-7 บาท เมื่อมีความต้องการมากขึ้นจึงส่งผลให้เกิดโรงรับจ้างทำอิฐ ทำกระเบื้องขึ้น นอกจากนี้ยังพบบ้านข้างทางรถไฟเกิดขึ้นใหม่ ทั้งที่ลาดบัวขาว สีคิ้ว และที่หนาแน่นที่สุดคือบ้านสูงเนิน (อำเภอสูงเนินในปัจจุบัน) มีชุมชนขนาดใหญ่ มีตลาดและโรงแถว

เมื่อมีความต้องการมากขึ้นจึงส่งผลให้เกิดโรงรับจ้างทำอิฐ ทำกระเบื้องขึ้น นอกจากนี้ยังพบบ้านข้างทางรถไฟเกิดขึ้นใหม่ ทั้งที่ลาดบัวขาว สีคิ้ว และที่หนาแน่นที่สุดคือบ้านสูงเนิน (อำเภอสูงเนินในปัจจุบัน) มีชุมชนขนาดใหญ่ มีตลาดและโรงแถว

ในอนาคตอันใกล้เมืองนครราชสีมา กำลังจะมีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นเมกะโปรเจ็คระดับชาติ ที่จะทำให้การคมนาคมรวดเร็ว สะดวก คล่องตัวเพิ่มขึ้นไปอีก โดยระยะที่ 1 คือเส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร มูลค่าการทางลงทุนกว่า 179,413 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดใช้บริการในปี 2566 โดยจังหวัดนครราชสีมาจะมีสถานีรถไฟความเร็วสูงถึง 2 สถานี ได้แก่ สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา นับเป็นความโชคดี และเป็นโอกาสสำคัญของชาวนครราชสีมา สืบไป

- ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงสนพระราชหฤทัยที่จะเสด็จมาเมืองนครราชสีมาถึงกับเอ่ยในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานแก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่เมืองนครราชสีมา ร.ศ.110 หรือตรงกับ พ.ศ.2434 ความว่า “…ส่วนตัวเมืองนครราชสีมานั้น ก็มีความเชื่อใจว่า ถ้าไม่ตายเสียก่อนคงจะได้ไปเห็น เป็นการแน่ใจมากกว่าประเทศยุโรป ซึ่งไม่เชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บจะปล่อยให้ไปได้..”
- แต่ท้ายที่สุดแล้ว 6 ปีต่อมา พระองค์ได้เสด็จไปยุโรปก่อน ในปี 2440 และผ่านไปแล้วกว่า 9 ปี พระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินมาเมืองนครราชสีมา ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟแห่งแรกของสยาม สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในเดือนธันวาคม ปี 2443
- เมื่อรถไฟมาถึง...น้ำแข็งก็มาถึงโคราชด้วย
- เมื่อรถไฟมาถึง...ปลาร้าจากพิมายก็ลดความนิยมลง แล้วหันไปบริโภคปลาร้าจากเมืองกรุงเก่า
- เมื่อรถไฟมาถึง...แม้เพียง 1 ปี โคราชก็เปลี่ยนไปดังปรากฏให้เห็นจากรายงานผลการเดินทางไปตรวจราชการ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปี 2445 เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
- ในอนาคตอันใกล้ รถไฟความเร็วสูง กำลังจะมาถึง คงมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกมาก เช่นเดียวกับรถไฟขบวนแรกมาถึงโคราชเมื่อ 120 ปีที่ผ่านมา

บทความและออกแบบโดย
นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา
นักโบราณคดีปฏิบัติการ



Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

Messenger