รายงานการประชุมวิชาการนานาชาติ “The Second International Conference on Study of Oriental Lacquer Initiated by H.R.H. Princess Maha Chakri Sirindhorn for the Revitalization of Thai Wisdom”
รายงานการประชุมวิชาการนานาชาติ “The Second International Conference on Study of Oriental Lacquer Initiated by H.R.H. Princess Maha Chakri Sirindhorn for the Revitalization of Thai Wisdom”
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ ๒ เรื่อง “ศึกษายางรักเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” (The Second International Conference on Study of Oriental Lacquer Initiated by H.R.H. Princess Maha Chakri Sirindhorn for the Revitalization of Thai Wisdom) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘
กรมศิลปากร กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติและนิทรรศการ ครั้งที่ ๒ “The Second International Conference on Study of Oriental Lacquer Initiated by H.R.H. Princess Maha Chakri Sirindhorn for the Revitalization of Thai Wisdom” ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘ โดยการจัดประชุมนานาชาติครั้งนี้มีเพียง "ยางรัก" ซึ่งใช้ในงานศิลปกรรมเป็นหัวข้อหรือโจทย์ แต่งานวิจัยที่นำเสนอในครั้งนี้ กลับเป็นการบูรณาการงานของหลายองค์กรทั้งสถาบันการศึกษา สาธารณสุข กรมศิลปากร กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนักวิชาการสาขาต่างๆ จำนวน ๓๕๐ คน จาก ๑๔ ประเทศ คือ สหราชอาณาจักร สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน สาธารณรัฐอิตาลี สาธารณรัฐออสเตรีย ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สิงคโปร์ กัมพูชา และประเทศไทย เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ แยกได้เป็น
๑. ด้านวิชาการ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยางรักและเครื่องรัก ทั้งด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์การทำเครื่องรัก การใช้ประโยชน์ของยางรัก และในแง่พิษวิทยาจากแพทย์แผนปัจจุบัน ตลอดจนบทบาทของยางรักกับสมุนไพรไทย นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์คือ เครื่องเอ็กซ์เรย์ ๓ มิติ มาตรวจสอบโบราณวัตถุประเภทเครื่องรัก และมีการตรวจวิเคราะห์โบราณวัตถุด้วยนิวตรอนและรังสีแกมมา
๒. ด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประเทศไทยมีความตื่นตัวที่จะใช้ยางรักซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่เกือบจะสูญหายไปจากประเทศไทย โดยกรมป่าไม้จะเป็นองค์กรหลักในการสร้างผลผลิต คือปลูกป่ารักและคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อให้ได้ยางรักที่มีคุณภาพดี เป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ต้องสั่งซื้อยางรักจากต่างประเทศ และลดการใช้สารสังเคราะห์ที่ใช้แทนยางรักซึ่งนิยมใช้กันมากในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันหากสามารถผลิตยางรักได้มากเกินความต้องการ สามารถส่งขายยังต่างประเทศทำรายได้เข้าประเทศอีกด้วย
ในการจัดประชุมครั้งนี้มีการสาธิตการทำเครื่องรักโบราณ โดยผู้เชี่ยวชาญชาวจีน ซึ่งปัจจุบันเครื่องรักของจีนผลิตขึ้นเพื่อส่งเป็นสินค้าออกจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ทั้งยุโรปและอเมริกา ทำรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล เครื่องรักจีนที่ได้รับความนิยมคือ เครื่องรักแกะสลักลวดลายลงบนพื้นรักและการประดิษฐ์ลวดลายเส้นด้ายที่ทำจากส่วนผสมของยางรัก การสาธิตที่จัดขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะต่อยอดหรือเป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจทั่วไป ศิลปิน ตลอดจนชาวบ้านหรือชุมชนที่ประกอบกิจการหัตกรรมพื้นบ้านในการรังสรรค์เครื่องหัตถกรรมของไทยที่ผลิตจากยางรักทำเป็นสินค้าออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นผู้สนับสนุน
๓. ด้านวัฒนธรรม งานศิลปกรรมและประณีตศิลป์ของไทยใช้ยางรักในการตกแต่งและเคลือบผิววัสดุต่างๆ มาแต่โบราณกาล เช่น งานปิดทอง ลายรดน้ำ เครื่องมุก และอื่นๆ ซึ่งพบเห็นตามศาสนสถาน ปราสาทราชวัง ล้วนแล้วแต่เป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษถ่ายทอดไว้ กรมศิลปากรในฐานะผู้ดูแลรักษามรดกวัฒนธรรมของไทย ตลอดจนการบูรณะซ่อมแซมโบราณวัตถุสถานต่างๆ จำเป็นต้องมีบทบาทเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาเรื่องการใช้ยางรักให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติตลอดไป ตามพระราชดำรัสเปิดการประชุมครั้งนี้ว่า
"การที่หน่วยงานที่มีศักยภาพร่วมมือช่วยเหลือกันในมิติต่างๆ จะช่วยให้งานอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมสาขานี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี"