Search
Thai
English
กรมศิลปากร
The Fine Arts Department
หน้าหลัก
กรมศิลปากร
ประวัติและบทบาทหน้าที่
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ผู้บริหารกรมศิลปากร
ผู้บริหารระดับสูง
ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ
ผู้อำนวยการสำนักส่วนกลาง
ผู้อำนวยการสำนักศิลปากร
CIO
โครงสร้างองค์กร
บุคลากรดีเด่น
ยุทธศาสตร์/แผนปฏิบัติราชการ
แผนงาน/โครงการ/งบประมาณ
หน่วยงานในสังกัด
บริการประชาชน
พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง
อุทยานเสมือนจริง
GIS (ระบบภูมิสารสนเทศแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรม)
NSW (ขอนำเข้า/ส่งออก โบราณวัตถุศิลปวัตถุ)
e-service (จดแจ้งการพิมพ์, ขอเลข ISSN, ISBN, CIP)
คลังข้อมูลดิจิทัล
จำหน่ายบัตรการแสดงออนไลน์
จำหน่ายหนังสือกรมศิลปากร
ศูนย์ข้อมูลงานศิลปกรรม
ระบบสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารฯ
อื่นๆ
คู่มือและมาตรฐานกรมศิลปากร
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสำรวจความพึงพอใจของผู้เข้าใช้บริการ Virtual Museum / Virtual Historical Park
แบบประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าใช้บริการ-เข้าชม (สำหรับครู-นักเรียน)
แบบประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ของกรมศิลปากร
แจ้งและร้องเรียน
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)
แบบสำรวจความพึงพอใจ
ดาว์นโหลดแบบฟอร์ม
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวกิจกรรม
ปฏิทินกิจกรรม
ข่าวรับสมัครงาน
จัดซื้อจัดจ้าง
ข่าว Feed
นิทรรศการ
นิทรรศการตู้พระธรรม
คลังวิชาการ
องค์ความรู้
ด้านดนตรีและนาฏศิลป์
ด้านภาษาและหนังสือ
ด้านเอกสารจดหมายเหตุ
ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
ด้านสถาปัตยกรรมและช่างศิลป์
ความรู้ทั่วไป
ความรู้ด้านดนตรีและนาฏศิลป์
ความรู้ด้านภาษา หนังสือ และเอกสาร
ความรู้ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
ความรู้สถาปัตยกรรมและช่างศิลป์
วีดิทัศน์
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์.
คลังภาพทรงคุณค่า
กฏระเบียบ
กฎหมายและระเบียบ
ITA
ช่องทางแจ้งเรื่องร้องเรียนการทุจริตและประพฤติมิชอบ
องค์กรคุณธรรม
กระดานถาม-ตอบ
คู่มือประชาชน
ติดต่อ
ITA.
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๑ เวลา ๕ นาฬิกา ณ พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี เมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมและทรงเริ่มศึกษาที่สำนักวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร) จากนั้นทรงศึกษาที่หอพระมณเฑียรธรรม ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเรียนทั้งวิชาปืนและการทรงช้างทรงม้า เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ ในปีถัดมาทรงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ ๒๑ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๓๗๒ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ กล่าวกันว่าทรงประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักในวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๗๕ (ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ ๒๔ พรรษา) ทรงบังคับบัญชากรมทหารแม่นปืนหน้าปืนหลัง และญวนอาสารบ แขกอาสาจาม พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ คือทรงเป็นแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพเรือไปรบกับฝ่ายญวนที่เมืองบันทายมาศ (เมืองฮาเตียน) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ พระองค์โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงมีพระเกียรติยศเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒ ดำรงตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล อีกทั้งยังมีการแก้ระเบียบราชประเพณีบางประการเพื่อให้สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อาทิ พระราชพิธีอุปราชาภิเษก ให้เรียกว่า “พระราชพิธีบวรราชาภิเษก” คำสั่งของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแต่เดิมใช้คำว่า “บัณฑูร” ให้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “พระบวรราชโองการ” เป็นต้น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับอยู่ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ทรงโปรดให้ก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมและปฏิสังขรณ์อาคารพระที่นั่งองค์ต่าง ๆ อาทิ โปรดให้ซ่อมตำหนักฝ่ายในทั้งหมด ป้อมประตูเครื่องไม้ที่ทรุดโทรม ทรงเปลี่ยนมาเป็นป้อมประตูก่ออิฐถือปูนแทน และย้ายตำหนักแดงจากพระราชวังเดิมมาปลูกขึ้นใหม่ในพระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนอาคารสร้างขึ้นใหม่ได้แก่ พระที่นั่งมังคลาภิเษก และพระที่นั่งเอกอลงกฎ ลักษณะเป็นอาคารโถง มีเกยอยู่ด้านหน้า สร้างตามแบบพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งคชกรรมประเวศตั้งอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ลักษณะเป็นอาคารยอดปราสาท คล้ายกับพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนที่ประทับของพระองค์ โปรดให้สร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบฝรั่ง มีนามว่า “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์” ลักษณะเป็นอาคารสองชั้น มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าอาคารและภายในอาคาร ส่วนที่ประทับของพระองค์อยู่ชั้นบน แบ่งออกเป็นสี่ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกคือห้องสมุดและห้องทรงพระอักษร ส่วนที่สองคือห้องรับแขก ส่วนที่สามคือห้องเสวย (ต่อมาเป็นห้องประดิษฐานพระบรมอัฐิ) ส่วนที่สี่คือ ห้องพระบรรทมและห้องฉลองพระองค์และสรงพระพักตร์
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
จากการที่พระองค์ทรงงานที่เกี่ยวกับการทหาร จึงมีการสร้างโรงปืนใหญ่ โรงทหาร คลังสรรพาวุธ และตึกดิน บริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอก และพื้นที่บริเวณริมน้ำโปรดให้สร้างเป็นโรงทหารเรือ อีกทั้งโปรดให้สร้างพลับพลาสูง บริเวณกำแพงด้านทิศตะวันออกของพระราชวังบวรสถานมงคล สำหรับทอดพระเนตรการฝึกซ้อมทหาร โดยสร้างตามแบบพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ในพระบรมมหาราชวัง
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นมีอยู่หลายประการ ทั้งด้านการทหาร ด้านศาสนา ด้านการดนตรีและวรรณกรรม กล่าวคือ ในด้านการทหารนั้นพระองค์ทรงว่าจ้างนายทหารอังกฤษ ชื่อ โทมัส ยอร์ช น็อกส์ (Thomas George Knox) มาฝึกทหารปืนใหญ่ในวังหน้า ในขณะที่ด้านกิจการทหารเรือ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือพระองค์แรก และได้ปูพื้นฐานการจัดการด้านทหารเรือให้เป็นไปตามแบบอย่างสากลของอารยประเทศ ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านการต่อเรือ พระองค์ทรงศึกษาวิธีการต่อเรือจากชาวต่างประเทศ เรือที่พระองค์ทรงต่อขึ้นสำเร็จในช่วง พ.ศ. ๒๔๐๖ มีนามว่า เรือยงยศอโยชฌิยา รวมทั้งพระองค์ทรงสั่งซื้อเรือจากต่างประเทศเข้ามาอยู่ในสังกัดวังหน้าเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้พระองค์ทรงมีกองทัพเรือของพระองค์เอง เรียกว่าทหารเรือวังหน้า
เรือยงยศอโยชฌิยาจำลอง
พระราชกรณียกิจของพระองค์ในด้านการศาสนา พระองค์โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดหงสาราม (วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร) วัดศรีสุดารามวรวิหาร วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) และวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร
พระราชกรณียกิจด้านการดนตรีและวรรณกรรม เป็นผลสืบเนื่องจากพระองค์ทรงโปรดการดนตรีและนาฏศิลป์ กล่าวคือ พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็ก จัดให้เล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ และยังคงเป็นแบบแผนที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพระองค์ทรงอุปการะศิลปินอยู่หลายท่าน เช่น สุนทรภู่ (บรรดาศักดิ์ สุนทรโวหาร) ครูมีแขก (บรรดาศักดิ์ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ) และ คุณพุ่ม (ธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) กวีหญิงในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ ๓-๕) พระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกประการหนึ่งคือ การทรงแคน แอ่วลาว ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนแอ่วลาวไว้อยู่หลายฉบับ เช่น บทแอ่วเรื่องนิทานนายคำสอน เป็นต้น
ระนาดทุ้มเหล็ก
แคนของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า และสมุดไทย (จำลอง) พระราชนิพนธ์เรื่องนิทานนายคำสอน
ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอาการประชวรด้วยโรควัณโรค พ.ศ. ๒๔๐๘ พระอาการประชวรก็ทรุดหนักลงตามลำดับ ทำให้พระองค์ต้องเสด็จกลับจากวังสีทา เมืองสระบุรี กลับมาประทับที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในพระบวรราชวัง กระทั่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในวันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ เวลาเช้าย่ำรุ่งแล้ว ๓ นาฬิกากับ ๓ บาท ตรงกับวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปสรงน้ำพระบรมศพ เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมศพสถิตอยู่ในพระโกศทองคำ จากนั้นจึงแห่มาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระบวรราชวัง และโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการเฉพาะสังกัดกับฝ่ายพระบวรราชวังโกนศีรษะเท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระศพว่า “พระบรมศพ” และให้จัดงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสมือนงานพระบรมศพเทียบเท่าพระมหากษัตริย์ งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ภายหลังเสร็จสิ้นงานพระบรมศพ ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ กระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระอัฐิกรมพระราชวังบวร ๔ พระองค์ ไปประดิษฐานในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐
ตู้ประดิษฐานพระบรมอัฐิ บนพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
------------------------------------------------------------
อ้างอิง
กรมศิลปากร. กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: โพรดักส์, ๒๕๔๙. . พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: สมาพันธ์, ๒๕๕๖.
โหวต
กรุณาให้คะแนน
×
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน