นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม แสดงความยินดีโบราณวัตถุสำคัญคืนแหล่งกำเนิด ส่งมอบ “พระเจ้าตอง” กลับสู่จังหวัดพะเยา
วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567 เวลา 10.30 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีส่งมอบ “พระเจ้าตอง” กลับคืนสู่จังหวัดพะเยา โดยมี นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) นายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรมศิลปากร พร้อมด้วยคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยเข้าร่วม ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การที่ประเทศไทยได้รับ “พระเจ้าตอง” โบราณวัตถุชิ้นสำคัญกลับคืนสู่แหล่งกำเนิดในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ชาวพะเยาให้ความเคารพศรัทธา ยังถือเป็นโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่า และเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีรับมอบแล้วจะอัญเชิญ “พระเจ้าตอง” กลับไปประดิษฐาน ณ วัดศรีปิงเมือง จังหวัดพะเยา ดังเดิม เพื่อเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวพะเยาต่อไป
“พระเจ้าตอง” หรือ “หลวงพ่อลอ” เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชาวจังหวัดพะเยา เดิมประดิษฐาน ณ วัดศรีปิงเมือง หมู่ 1 บ้านเวียงลอ ตำบลลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ตักกว้าง 78เซนติเมตร สูง 110 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยเข้ามาผสมผสาน ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และนิยมสร้างอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนศิลปโบราณวัตถุ และพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของวัดวาอาราม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 79 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2529
ปลายปี 2531 “พระเจ้าตอง” ถูกโจรกรรมไปจากวัดศรีปิงเมือง และไม่พบเบาะแสอีกเลย จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม 2567 กรมศิลปากร ได้รับการประสานจากนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ว่ามีผู้ให้ข้อมูลว่าพบพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์ใกล้เคียงกับ “พระเจ้าตอง” พระพุทธรูปจากวัดศรีปิงเมือง จังหวัดพะเยาที่ถูกโจรกรรมไปกว่า 36 ปี ปรากฏอยู่ในสถานประมูลโบราณวัตถุในยุโรป โดยให้รายละเอียดเป็นภาพถ่ายและข้อมูลในเชิงลึก จึงเป็นช่องทางสำคัญในการประสานงานกับผู้ครอบครอง และสามารถนำพระพุทธรูปกลับคืนสู่ประเทศไทยได้ในที่สุด
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า เมื่อกรมศิลปากรได้รับพระพุทธรูปในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 จึงได้ทำการตรวจพิสูจน์โดยใช้ภาพถ่ายและข้อมูล “พระเจ้าตอง” ที่ฝ่ายทะเบียน กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งเป็นหลักฐานเดียวในการนำมาพิจารณารูปแบบศิลปะ และรูปพรรณต่าง ๆ พบว่าตรงกัน นอกจากนี้ ยังได้ทำการตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ พบว่าพระพุทธรูปองค์นี้เคยถูกทาทับด้วยสี มีร่องรอยของสีกระจายอยู่ทั่วองค์ ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งตรงกับรูปพรรณของ “พระเจ้าตอง” ก่อนถูกโจรกรรม จึงสามารถยืนยันได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้คือ พระเจ้าตองของชาวเวียงลอ จังหวัดพะเยา
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ภาพ : พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๗๘ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๗๘ เซนติเมตร สูงทั้งฐาน ๑๒๗ เซนติเมตร
ประดิษฐาน ณ วัดศรีปิงเมือง หมู่ ๑ บ้านเวียงลอ ตำบลลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา
ประกาศขึ้นทะเบียนศิลปโบราณวัตถุ และพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของวัดวาอาราม
โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๓ ตอนที่ ๗๙ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๙
ภาพ : พระพุทธรูปปางมารวิชัย (พระเจ้าตอง) ที่ได้รับกลับสู่ประเทศไทย
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๗๘ เซนติเมตร สูง ๑๑๐ เซนติเมตร
ถูกเปลี่ยนแปลงรูปพรรณโดยการล้างสีเดิม และตัดฐานด้านล่างออก
ทำให้ความสูงของพระพุทธรูปลดลง เหลือ ๑๑๐ เซนติเมตร