อธิบดีกรมศิลปากรชี้แจงแนวทางการทำงาน เดินหน้าสานต่องานปกป้องคุ้มครองมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ
จำนวนผู้เข้าชม 566

อธิบดีกรมศิลปากร ประชุมชี้แจงกรอบแนวคิดและแนวทางการทำงานต่อข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เน้นสานต่องานเดิม สร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ พร้อมเร่งรัดการดำเนินงานให้เห็นเป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
อธิบดีกรมศิลปากร ประชุมชี้แจงกรอบแนวคิดและแนวทางการทำงานต่อข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เน้นสานต่องานเดิม สร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ พร้อมเร่งรัดการดำเนินงานให้เห็นเป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
 
นายอนันต์ ชูโชติ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า หลังจากได้รับมอบนโยบายในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จึงได้จัดประชุมชี้แจงกรอบแนวคิดและแนวทางการทำงานให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรทั่วประเทศได้รับทราบและนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น สานต่องานเดิมหรือโครงการเดิม ในขณะเดียวกันก็ต้องคิดงานใหม่ โครงการใหม่ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดประโยชน์กับองค์กร สังคม และประเทศชาติ ทั้งนี้ จะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นระยะๆ และจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรมทุกแขนงให้มีความสมบูรณ์ ทันสมัยและครบถ้วน เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติด้านการปกป้องคุ้มครองและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านโบราณสถานและแหล่งโบราณคดี เน้นโบราณสถานที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ (บาราย) คู คลอง และคูเมือง ให้นำมาตรการทางกฎหมายไปใช้อย่างเข้มแข็ง ในกรณีที่มีการบุกรุกและมีการครอบครองทั้งที่ชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้านการบริหารจัดการ เน้นการจัดมาตรการรักษาความปลอดภัยในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ โบราณสถานที่เป็นแหล่งมรดกโลกและโบราณสถานสำคัญ และพัฒนาการบริการให้มีประสิทธิภาพ ด้านการพัฒนาบุคลากรจะมีการจัดทำแผนอัตรากำลังและแผนปรับปรุงโครงสร้างกรมศิลปากร ๓ ปี พร้อมทั้งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของกรมศิลปากรให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ ทั้งนี้ได้มอบแนวทางดำเนินการในเรื่องสำคัญ ดังนี้
 
หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เดินหน้าพัฒนาระบบสืบค้นข้อมูลทั้งที่เป็นเอกสารทั่วไป เอกสารโบราณ หรือเอกสารหายาก ให้เป็นระบบดิจิตอลเพื่อประสิทธิภาพการให้บริการ วางระบบการบริหารจัดการให้สมดุลระหว่างการบริการอย่างมีประสิทธิภาพกับการปกป้องคุ้มครองและอนุรักษ์
 
สำนักช่างสิบหมู่ พัฒนาให้เป็นศูนย์ปฏิบัติงานและแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปกรรมที่เกี่ยวกับช่างสิบหมู่ และจัดสร้างอาคารหอประติมากรรมต้นแบบ เพื่อจัดแสดงงานต้นแบบในทุกแขนงของช่างสิบหมู่
 
สำนักสถาปัตยกรรม พัฒนามาตรฐานในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม งานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและการตกแต่ง เพื่อเป็นองค์กรหลักทางด้านสถาปัตยกรรม
 
สำนักการสังคีต พัฒนามาตรฐานในด้านนาฏศิลป์ดนตรีให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ บริหารจัดการโรงละครแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ เป็นโรงละครชั้นนำของประเทศและของภูมิภาค พร้อมทั้งจัดเทศกาลละคร เทศกาลโขน หรือเทศกาลการแสดงที่ยิ่งใหญ่ในทุกๆ ปี
 
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ จัดพิมพ์หนังสือหายากหรือหนังสือสำคัญที่กรมศิลปากรได้เคยจัดพิมพ์ ศึกษา ค้นคว้าวิจัย ทั้งในด้านการชำระและการสร้างองค์ความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง
 
ด้านโบราณสถานและแหล่งโบราณคดี ให้มีการจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เผยแพร่ข้อมูลและองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ และนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการศึกษาและการท่องเที่ยว วางมาตรการปกป้องคุ้มครองโบราณสถานและแหล่งโบราณคดี รวมถึงการบำรุงรักษา
 
ด้านโบราณสถานในบัญชีมรดกโลก ให้จัดเตรียมแผนการนำเสนอมรดกทางศิลปวัฒนธรรมเข้าสู่บัญชีชั่วคราวต่อจากอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนา เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง จัดทำฐานข้อมูลให้มีความสมบูรณ์ รวมถึงการจัดกิจกรรมทางวิชาการ กิจกรรมทางวัฒนธรรม และกิจกรรมการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ
 
งานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุศิลปวัตถุให้ครบถ้วนสมบูรณ์และพัฒนาสู่ระบบดิจิตอล ปรับปรุงพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครให้เป็นพิพิธภัณฑสถานชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ปรับปรุงพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ๕ แห่ง ประกอบด้วย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป สร้างอาคารจัดแสดงเครื่องทองคำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ให้เป็นศูนย์จัดแสดงงานเครื่องทองคำที่สมบูรณ์แบบ ก่อสร้างคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และวางแผนบริหารจัดการให้เป็นคลังพิพิธภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ สร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ พัฒนาสมรรถนะบุคลากรในทุกๆ ด้าน ตลอดจนวางระบบและมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้น
 
ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายในการปกป้องคุ้มครองมรดกทางศิลปวัฒนธรรมทุกแขนงให้คงความแท้และดั้งเดิมเพื่อส่งต่อไปในอนาคต โดยพัฒนาสร้างสรรค์บนหลักความถูกต้องทางวิชาการ ให้ความสำคัญกับการศึกษา ค้นคว้า วิจัย อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการพัฒนาข้อมูลทางวิชาการและสร้างเครือข่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานเพื่อปกป้องคุ้มครองและเฝ้าระวังมรดกทางศิลปวัฒนธรรม


Messenger