คัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนี : อ่าน แปล และศึกษาวิเคราะห์
จำนวนผู้เข้าชม 3916




คัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนี

          คัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนี เป็นวรรณกรรมภาษาบาลี อรรถาธิบายขยายความประเด็นข้อสงสัยที่ยังไม่แจ่มแจ้งในคัมภีร์พระปาติโมกข์ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎกส่วนพระวินัย ให้เกิดความเข้าใจกระจ่างชัดในประเด็นข้อสงสัยนั้นๆ เพื่อเข้าถึงพุทธพจน์อันเป็นพุทธประสงค์อย่างแท้จริง
          คัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนี เป็นคัมภีร์บาลีชั้นคัณฐี มีความสำคัญรองมาจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา อธิบายข้อความบางตอนในพระไตรปิฎก ยกศัพท์ยากขึ้นอธิบาย โดยการวิเคราะห์ศัพท์บ้าง ตั้งบทอธิบายบ้าง อ้างอิงคัมภีร์ที่มีชั้นสำคัญกว่าบ้าง ใช้ศัพท์ที่มีความหมายเหมือนกันที่เรียกว่า “ไขความ” เพื่อให้เข้าใจศัพท์ยากนั้นบ้าง จึงเป็นคัมภีร์ที่ชี้เงื่อนสำคัญ หรือแสดงปมคลุมเคลือไม่ชัดเจนให้กระจ่างชัดขึ้น ด้วยเหตุที่คัมภีร์ประเภทคัณฐีเป็นคัมภีร์ที่มิได้แสดงบทต่อบท ปาฐะต่อปาฐะ เหมือนอย่างอรรถกถา แต่ยกเฉพาะศัพท์ยาก ข้อความชวนสงสัย ตามลำดับเนื้อเรื่องมาอธิบายโดยวิธีการดังกล่าวแล้วนี้เอง คัมภีีร์ประเภทนี้จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะมิได้สำเร็จบริบูรณ์ในตัวเอง คือเมื่อศึกษาคัมภีร์นี้ จำเป็นต้องศึกษาคัมภีร์หลักประกอบอันได้แก่“คัมภีร์พระปาติโมกข์”ด้วยเช่นกัน
          พระญาณกิตติเถระ พระนักปราชญ์ชาวเชียงใหม่ ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ทรงพระไตรปิฎกและอรรถกถา เชี่ยวชาญในคัมภีร์ไวยากรณ์ทั้งสิ้น เป็นผู้รจนาคัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนีนี้ไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๕ ใช้เวลา ๑ ปี ในการศึกษาค้นคว้า สำเร็จในปี ๒๐๓๖ จำพรรษาอยู่วัด ปนสาราม (วัดต้นขนุน) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของนครเชียงใหม่ จากผลงานของท่านที่รจนาไว้ ทำให้ทราบว่าท่านเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าติโลกราชเชื่อว่าท่านเคยไปศึกษาที่ประเทศลังกา ในรัชกาลกษัตริย์กรุงลังกาปรักกมพาหุที่ ๖ และพระเจ้าภูวเนกพาหุที่ ๖ (พ.ศ.๑๙๕๕ - ๒๐๒๔) ครั้งนั้นศาสนสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่ อยุธยา ลังกา และพม่า ดำเนินไปด้วยดี พระสงฆ์ล้านนาเดินทางไปประเทศเหล่านี้ได้อย่างเสรี ท่านมีชีวิตอยู่ในสมัยพระเจ้าติโลกราชและพระเจ้ายอดเชียงราย งานที่ท่านรจนาขึ้นหลังจากสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ พ.ศ. ๒๐๒๐ ล้วนแต่เป็นภาษาบาลีทั้งสิ้น ผลงานของพระญาณกิตติเถระที่รจนาไว้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคัมภีร์อธิบายพระวินัย พระอภิธรรม และบาลีไวยากรณ์จำนวนมาก เช่น คัมภีร์สีมาสังกรวินิจฉัย คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อัตถโยชนา คัมภีร์อัฏฐสาลินี อัตถโยชนา คัมภีร์สัมโมหวิโนทนี อัตถโยชนา คัมภีร์ปัญจกรณัฏฐกถา อัตถโยชนา คัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี ปัญจิกา อัตถโยชนา และคัมภีร์ มูลกัจจายนอัตถโยชนา เป็นต้น
          คัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนี ที่พระญาณกิตติรจนาไว้ เปรียบเสมือนคู่มือในการแปลพระปาติโมกข์ และยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นเสมือนคู่มือในการวินิจฉัยตีความสิกขาบททั้งหมดที่มาในพระปาติโมกข์ ซึ่งภิกษุในพระธรรมวินัยต้องยึดถือปฏิบัติให้เป็นไปด้วยดี จำนวน ๒๒๗ สิกขาบท(มาตรา) ไม่ให้ขาดทะลุด่างพร้อย ที่เรียกว่าต้องอาบัตินั่นเอง ทำให้ภิกษุในภายหลังสมัยล้านนาจนถึงปัจจุบัน ประมาณ ๕๐๐ กว่าปี มีคัมภีร์อ้างอิงประกอบการดำเนินชีวิตสมณะ ที่ผ่านเวลาพุทธกาลนานมาแล้วถึง ๒,๐๐๐ กว่าปี อาจตีความสิกขาบทวิปลาสคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติก็เป็นได้ ดังนั้น คัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนี จึงนับว่าสำคัญอย่างยิ่ง
          การอ่าน แปล และศึกษาวิเคราะห์คัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนี จึงมีความจำเป็นและควรค่าแก่การอนุรักษ์เผยแพร่สืบต่อไป เนื่องจากการรักษาพระวินัยเท่ากับรักษาพระพุทธศาสนา เพราะในบรรดาปิฎกทั้ง ๓ ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกนั้น พระวินัยปิฎก นับว่าสำคัญที่สุด ด้วยว่าเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้นาน เป็นเสมือนรากแก้วของต้นไม้ เป็นอายุพระพุทธศาสนา และให้ความเคารพเสมือนพระศาสดา ดังมีคำยืนยันที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญฃตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. แปลความว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมวินัยอันใด ซึ่งเราแสดงแล้วและบัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอโดยอันล่วงไปแห่งเรา แสดงให้เห็นว่าแม้พระพุทธองค์เองยังทรงให้ความสำคัญกับพระวินัย ถึงกับยกให้พระวินัยเป็นศาสดาแทนหลังจากพระองค์ดับขันธปรินิพพานแล้ว
          เนื้อเรื่องคัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนีนั้น อธิบายสิกขาบทในพระปาติโมกข์ เรียงลำดับตามเนื้อเรื่องที่มาในพระปาติโมกข์ เริ่มตั้งแต่ส่วนเบื้องต้น ได้แก่ บุพกิจบุพกรณ์ และนิทานุเทศ ส่วนท่ามกลาง เป็นสิกขาบท ได้แก่ ปาราชิก ๔ ข้อ สังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ อนิยต ๒ ข้อ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ข้อ ปาจิตตีย์ ๙๒ ข้อ ปาฏิเทสนียะ ๔ ข้อ เสขิยะ ๗๕ ข้อ และอธิกรณสมถะ ๗ ข้อ ส่วนเบื้องปลาย ได้แก่ สรุปรวมสิกขาบททั้งหมดที่ยกขึ้นแสดง ๒๒๗ ข้อ และให้สวดทุกกึ่งเดือนพร้อมทั้งพึงศึกษาในพระปาติโมกข์ คัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนีอธิบายเรียงตามสิกขาบทก็จริงอยู่ ถึงกระนั้นบางสิกขาบทที่มีความกระจ่างชัดอยู่แล้วไม่มีข้อสงสัยใดๆ หรือมีนัยเหมือนกับสิกขาบทข้อก่อนๆ ท่านจะไม่อธิบายเพิ่มจึงผ่านไปอธิบายสิกขาบทข้างหน้าต่อๆไป
          หอสมุดแห่งชาติ มีคัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนีที่เป็นต้นฉบับหนังสือตัวเขียน ประเภทคัมภีีร์ใบลาน อักษรขอม ภาษาบาลี ความยาวเนื้อหาจำนวน ๒ ผูก จากการสำรวจมีหลายชุดด้วยกัน คัมภีร์ใบลานที่นำมาใช้ศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบจำนวน ๔ ชุด ได้แก่ เลขที่ ๔๑๖๐/ค ฉบับล่องชาด เลขที่ ๕๘๓๒/ค ฉบับล่องชาด เลขที่ ๕๘๘๔/ก ฉบับทองทึบ และเลขที่ ๕๙๔๖/ก ฉบับทองทึบ ชุดที่ใช้เป็นหลักในการคัดถ่ายถอด อ่านและแปลนั้นใช้คัมภีร์ใบลาน เลขที่ ๕๘๓๒/ค ฉบับล่องชาด โดยปริวรรตคัดถ่ายถอด อักษรขอมให้เป็นอักษรไทยปัจจุบัน เรียกว่าคำคัดถ่ายถอด เสร็จแล้วทำการจัดเรียงรูปแบบ อักขรวิธี ให้เป็นแบบหนังสือภาษาบาลีอักษรไทยในปัจจุบัน ด้วยการแยกศัพท์ ตัดต่อประโยค จัดเรียงวรรคตอน ย่อหน้า ตามเนื้อหา เรียกว่าคำอ่านตามไวยากรณ์ ขั้นตอนสุดท้ายคือการแปลภาษาบาลีให้เป็นภาษาไทยที่คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้ เรียกว่าคำแปล ซึ่งปัจจุบันแปลแล้วเสร็จหนึ่งในสามของเนื้อหาทั้งหมด




คัมภีร์ใบลานเลขที่ ๔๑๖๐/ค, ๕๘๓๒/ค ,๕๘๘๔/ก, และ ๕๙๖๔/ก เรื่องภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนี

          เนื้อหาบางตอนของคัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนี ที่ได้อ่าน แปล และศึกษาวิเคราะห์ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาเพิ่มเติมยิ่งๆขึ้นไป โดยยกสิกขาบทปาราชิกข้อที่ ๑ เป็นตัวอย่าง
          ในคัมภีร์พระปาติโมกข์ กล่าวสิกขาบทปาราชิกข้อที่ ๑ ดังนี้ ///โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขูนํ สิกฺขาสาชีวสมาปนฺโน สิกฺขํ อปฺปจฺจกฺขาย ทุพฺพลฺยํ อนาวิกตฺวา เมถุนํ ธมฺมํ ปฏิเสเวยฺย อนฺตมโส ติรจฺฉานคตายปิ ปาราชิโก โหติ อสํวาโส. ///แปลความว่า ก็ ภิกษุใดถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย ไม่บอกลาสิกขา ไม่ทำความเป็นทุรพลให้แจ้ง พึงเสพเมถุนธรรม โดยที่สุด แม้ในสัตว์เดียรัจฉานตัวเมีย ต้องอาบัติปาราชิก หาสังวาสมิได้.




ใช้คัมภีร์ใบลานเลขที่ ๕๘๓๒/ค เป็นหลักในการคัดถ่ายถอด อ่าน แปล อักษรขอม ภาษาบาลี

          ในคัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนี กล่าวสิกขาบทปาราชิกข้อที่ ๑ ดังนี้ โย ปน รสฺสทีฆาทินา ลิงฺคเภเทน โย โกจิ ภิกฺขุ ภิกฺขูนํ สิกฺขาสาชีวสมาปนฺโน สิกฺขํ อธิสีลสิกฺขํ อปฺปจฺจกฺขาย อปติกฺขิปิตฺวา ทุพฺพลฺยํ ตสฺมึ สาชีเว ทุพฺพลภาวํ อนาวิกตฺวา อปกาเสตฺวา เมถุนํ ธมฺมํ ราคปริยุฏฺฐฃาเนน สทิสานํ อุภินฺนํ ชนานํ ธมฺมํ อชฺฌาจารํ ปฏิเสเวยฺย อนฺตมโส สพฺพนฺติเมน สพฺพาสํ อิตฺถีนํ อนฺติเมน ปริจฺเฉเทน ติรจฺฉานคตายปิ ปฏิสนฺธิวเสน ติรจฺฉานคตาย อุปฺปนฺนาย อิตฺถิยา เมถุนํ ธมฺมํ ปฏิเสเวยฺย เอโส ปุคฺคโล ปาราชิโก สาสนโต ปราชยํ อาปนฺโน อสํวาโส โหตีติ โยชนา.
          แปลความว่า มีการประกอบว่า ก็ ภิกษุใด คือภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามการแยกแยะลักษณะมีต่ำและสูงเป็นต้น ถึงพร้อมซึ่งสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย ไม่บอกลา คือไม่สลัดคืน สิกขา คือ อธิสีลสิกขา ไม่กระทำให้แจ้ง คือไม่ประกาศ ความทุรพล คือภาวะแห่งคนทุรพลในสาชีพนั้น พึงเสพเมถุนธรรม คืออัชฌาจารอันเป็นธรรมของชนคู่อันเช่นกับความกลุ้มรุมแห่งราคะ โดยที่สุด คือ โดยที่สุดทั้งปวง ได้แก่ โดยกำหนดที่สุดแห่งหญิงทั้งหลายทั้งปวง พึงเสพเมถุนธรรม แม้ในสัตว์เดียรัจฉานตัวเมีย คือ ในหญิงที่เกิดแล้วในสัตว์เดียรัจฉาน ด้วยอำนาจปฏิสนธิ บุคคลนั้น เป็นอาบัติปาราชิก ถึงแล้วซึ่งความพ่ายแพ้จากพระศาสนา ย่อมหาสังวาสไม่ได้ ดังนี้.             พิจารณาข้อความที่มาในคัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนี จะเห็นได้ว่า คำศัพท์บาลีที่ทำตัวทึบไว้ทั้งหมด เมื่อนำมาเรียงต่อกันตั้งแต่ต้นข้อความถึงท้ายสุด จะได้ข้อความตัวสิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์(ประโยคบาลีตัวเอน) คือพุทธบัญญัติที่ตรัสไว้ในพระวินัยปิฎกนั่นเอง ส่วนศัพท์บาลีที่เป็นตัวปกติทั้งหมด ก็คือส่วนขยายความเพิ่มเติมทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น อันเป็นลักษณะของคัมภีร์คัณฐีอย่างหนึ่งที่มุ่งอธิบายขยายความศัพท์ยาก ซึ่งพระญาณกิตติรจนาไว้อย่างงดงามทำให้คนรุ่นหลังเข้าถึงสิกขาบทในพระวินัยได้ง่าย และเป็นไปตามพุทธประสงค์อีกด้วย
          ยกตัวอย่างเช่น คำว่า อนาวิกตฺวา แปลว่า ไม่กระทำให้แจ้ง พระญาณกิตติเถระ ขยายความว่า อปกาเสตฺวา แปลว่า ไม่ประกาศ ซึ่งทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า ไม่บอกลาสิกขาให้ภิกษุที่รู้ความทราบ คือไม่เปล่งวาจาลาสิกขาต่อหน้าภิกษุก่อน แล้วจึงไปเสพเมถุนธรรมอย่างฆราวาสวิสัย(เสพเมถุนทั้งที่ยังไม่ลาสิกขา) นอกจากนี้ พระญาณกิตติเถระยังขยายคำว่า ทุพฺพลฺยํ ความทุรพล เป็น ตสฺมึ สาชีเว ทุพฺพลภาวํ แปลว่า ความเป็นบุคคลอ่อนแอในสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ คือมีกำลังน้อยไม่สามารถรักษาสิกขาบทไว้ได้ คำว่า ทุรพล นั้น ตามพุทธประสงค์ที่แท้จริงไม่น่าจะเป็นความอ่อนแอทางร่างกายไม่สมประกอบหรือพิการอย่างที่คนปัจจุบันเข้าใจ แต่ประสงค์เอาความพิการทางจิตใจคือความท้อแท้ไม่สามารถประพฤติตามสิกขาบทนั้นได้
          การแปลคัมภีร์บาลีนั้นต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะและทักษะด้านภาษา มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสานต่อเจตนาของพระโบราณาจารย์รุ่นก่อนในอันที่จะทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นยั่งยืน โดยการรจนาคัมภีร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาวิเคราะห์เห็นชอบตามพระธรรมวินัยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ปราศจากมลทินอคติใดๆ มาปรกคลุม เพราะได้ศึกษาคำอธิบายขยายความตามคัมภีร์คัณฐีและได้คัดถ่ายถอด อ่าน แปล ให้ประจักษ์ต่อสาธารณชนอันเป็นการอนุรักษ์สืบต่ออายุพระศาสนา ส่งเสริมการศึกษาวิเคราะห์คัมภีร์ส่วนพระวินัยอย่างกว้างขวาง อันจะมีผลต่อการไม่ละเมิดพระวินัยของบรรพชิต และฆราวาสก็ไม่มีความเข้าใจผิดเรื่องพระวินัย ทั้งยังรักษาต้นฉบับตัวเขียนอันเป็นเอกสารโบราณทรงคุณค่าอีกประการหนึ่งด้วย

--------------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นายวัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร.
--------------------------------------------------------------
ขอบคุณข้อมูลจาก http://historicallanna01.blogspot.com/2011/04/blog-post_25.html. พระญาณกิตติเถระ นักปราชญ์ล้านนาที่รจนาวรรณกรรมมากกว่าผู้อื่น (ชัชวาลย์ คำงาม). ๒๕ เม.ย. ๕๔ สืบค้นเมื่อ ๑๗ มิ.ย. ๖๔. ThaiJOso02.tci-thaijo.org › JGSR › article › download. คัมภีร์กังขาวิตรณีอภินวฎีกา : การแปลและศึกษา (สมควร นิยมวงศ์). วารสารบัณฑิตศึกษาปริทรรศน์ ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๒ พฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๖๒. สืบค้นเมื่อ ๒๐ มิ.ย.๖๔. ภิกขุปาติโมกข์แปล(ฉบับท่องจำ).พระมหาธิติพงศ์ อุตฺตมปญฺโญฃ. ครั้งที่ ๓ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ประยูรสาส์นไทย การพิมพ์, ๒๕๖๓.