สิมวัดจักรวาฬภูมิพินิจ
จำนวนผู้เข้าชม 1519


          วัดจักรวาฬภูมิพินิจ (วัดจักรวาลภูมิพินิจ) ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองหมื่นถ่าน หมู่ที่ ๕ ตำบลหนองหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ โดยนายสิงห์ สิงห์เสนา (ปู่เมืองปาก) มีถิ่นเดิมอยู่บ้านหนองแล้ง แขวงสุวรรณภูมิ ได้พาครอบครัวและญาติมาตั้งบ้านใหม่ คือ บ้านหนองหมื่นถ่าน ต่อมาได้ชักชวนชาวบ้านสร้างวัดจักรวาฬขึ้น และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๕๑ มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ สิม (อุโบสถ) หลังเก่า

          สิม (อุโบสถ) หลังเก่า ลักษณะเป็นสิมทึบ ก่ออิฐถือปูน ตั้งบนฐานเอวขัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนาด ๓ ห้อง รวมห้องมุขด้านหน้า มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกเชื่อมต่อกับบันได โครงสร้างอาคาร ใช้เสาและผนังรับโครงสร้างหลังคาทรงจั่ว มุงกระเบื้องไม้ (แป้นเกล็ด) หน้าบันตีไม้เป็นลายตะวัน ประดับกระจกเงา มุมทั้งสามของหน้าบันประดับดอกลอยขนาดใหญ่ แผงรวงผึ้งไม่มีเสาด้านในคู่หน้า ทำให้รวงผึ้งหย่อนเกือบถึงระดับเดียวกับระเบียงห้องมุข ประดับไม้แกะสลักลายกนกเครือ และลายดอกลอยด้านล่างบริเวณโค้งรวงผึ้ง คันทวยเป็นไม้แกะสลัก ผนังภายนอกด้านหน้ามีฮูปแต้ม (ภาพจิตรกรรม) เป็นภาพ พุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าออกผนวช ภาพมารผจญ และภาพขุมนรก ด้านในอุโบสถเป็นภาพวรรณคดี เรื่องสังข์สินไซ (สังข์ศิลป์ชัย)



          สิม (อุโบสถ) หลังเก่า วัดจักรวาลภูมิพินิจ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนพิเศษ ๑๒๔ ง หน้า ๘ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๔ และระวางแนวเขตพื้นที่ประมาณ ๑ ไร่ ๒ งาน ๓๔ ตารางวา

-------------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูลโดย นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
-------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
กรมศิลปากร. (๒๕๕๖). ทำเนียบโบราณสถานขึ้นทะเบียนสำนักศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด (พ.ศ. ๒๔๗๘ – ๒๕๔๕). ขอนแก่น : บริษัทเพ็ญพรินติ้งจำกัด. ปิยนันท์ ชอบศิลประกอบ. (๒๕๕๒).รายงานการสำรวจข้อมูลโบราณสถานวัดจักรวาลภูมิพินิจ หมู่ ๕ และหมู่ ๑๓ บ้านหนองหมื่นถ่าน ตำบลหนองหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด. กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด. (เอกสารพิมพ์คอมพิวเตอร์) สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี. (๒๕๖๓). โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี (เล่ม ๒ : จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดนครพนม จังหวัดร้อยเอ็ด). อุบลราชธานี : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุบลกิจออฟเซทการพิมพ์.