๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ วันวาเลนไทน์
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ วันวาเลนไทน์ หรือวันเซนต์วาเลนไทน์

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
วันวาเลนไทน์ หรือวันเซนต์วาเลนไทน์ วันสำคัญที่คู่รักทั่วโลกนิยมเฉลิมฉลอง เพื่อแสดงออกซึ่งความรัก ความปรารถนาดี ด้วยการอวยพร และให้ของขวัญแก่กัน สำหรับคำว่า ”วาเลนไทน์” นั้น มาจากชื่อของนักบวชในศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกที่ชื่อว่านักบุญ Valentine (วาเลนไทน์) แต่ต้นกำเนิดที่แท้จริงของวันวาเลนไทน์นี้นั้นคลุมเครือที่สุด ทั้งนี้ มีการเสนอว่าวันดังกล่าวมีต้นกำเนิดมาจากเทศกาล Lupercalia (ลูเปอร์คาเลีย) เป็นประเพณีของชาวโรมันซึ่งจัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งความรัก จัดขึ้นประมาณช่วงวันที่ ๑๓-๑๕ กุมภาพันธ์ โดยจะมีการจับฉลากของหนุ่มสาว ใครได้ชื่อใคร ก็จะได้คนคนนั้นเป็นเพื่อนร่วมเที่ยวตลอดช่วงเทศกาล ซึ่งเป็นที่มาของการพบปะของหนุ่มสาว และเกิดความรักระหว่างกัน ซึ่งในตอนท้ายของศตวรรษที่ ๕ สมเด็จพระสันตะปาปาเกลาซีอุสที่ ๑ ประกาศว่าการเฉลิมฉลองเทศกาลลูเปอร์คาเลีย ไม่เป็นพิธีการส่วนหนึ่งของศาสนาคริสต์ และยังประกาศจัดวันวาเลนไทน์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยวันวาเลนไทน์ไม่ได้มีการเฉลิมฉลองขึ้นเป็นวันแห่งความรักจนกระทั่งประมาณศตวรรษที่ ๑๔
สำหรับนักบุญวาเลนไทน์นั้น ทางคริสตจักรคาทอลิก ได้รับรองนักบุญที่ชื่อวาเลนไทน์ หรือวาเลนตินัสอย่างน้อยสามคน และทุกคนล้วนเป็นมรณสักขี (ผู้ที่ถูกฆ่าตายเนื่องจากไม่ยอมละทิ้งความเชื่อ โดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนา) ตำนานหนึ่งกล่าวว่า วาเลนไทน์เป็นนักบวชในกรุงโรม ช่วงศตวรรษที่สาม เมื่อจักรพรรดิคลอดิอุสที่ ๒ ได้ออกกฎหมายห้ามการแต่งงานของชายหนุ่ม เนื่องจากมีสงครามเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เพื่อที่จะได้ไม่มีภาระผูกพัน ไม่ต้องห่วงลูก หรือภรรยาทางบ้าน วาเลนไทน์ตระหนักถึงความอยุติธรรมของการประกาศในครั้งนี้ และยังต่อต้านด้วยการดำเนินการแต่งงานกับคู่รักหนุ่มสาวต่อไปอย่างลับ ๆ เมื่อการกระทำของวาเลนไทน์ถูกพบเข้า ทำให้คาร์ดินัลสั่งให้ประหารชีวิตเขา บ้างก็ยืนยันว่าเป็นบิชอปวาเลนไทน์แห่งแตร์นี ซึ่งเป็นชื่อที่แท้จริงของวันหยุด โดยเขาก็ถูกตัดศีรษะโดยจักรพรรดิคลอดิอุสที่ ๒ นอกกรุงโรม
บางตำนานกล่าวว่าวาเลนไทน์อาจถูกฆ่าเพราะพยายามช่วยชาวคริสต์ให้รอดพ้นจากคุกอันโหดร้ายของโรมัน ซึ่งมักถูกทุบตีและทรมาน ตามตำนานกล่าวว่า นักบุญวาเลนไทน์ผู้ถูกจองจำส่ง “คำอวยพรวาเลนไทน์” เป็นครั้งแรก หลังจากที่เขาตกหลุมรักหญิงคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นลูกสาวของผู้คุม ผู้มาเยี่ยมเขาระหว่างถูกคุมขัง ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต และมีตำนานกล่าวด้วยว่า นักบวชลงนามในจดหมายถึงหญิงผู้นั้นว่า “From your Valentine” หรือ "จากวาเลนไทน์ของคุณ"  ซึ่งเป็นสำนวนที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าความจริงเบื้องหลังตำนานวาเลนไทน์จะคลุมเครือ แต่เรื่องราวทั้งหมดเน้นย้ำถึงเสน่ห์ของเขาในฐานะบุคคลผู้เห็นอกเห็นใจ กล้าหาญ และที่สำคัญที่สุดคือความโรแมนติก ในยุคกลาง อาจเป็นเพราะชื่อเสียงนี้ ส่งผลให้นักบุญวาเลนไทน์กลายเป็นหนึ่งในนักบุญที่โด่งดังที่สุดในอังกฤษ และฝรั่งเศส
คำอวยพรวาเลนไทน์นั้นเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยยุคกลาง แม้ว่าการเขียนคำอวยพรวาเลนไทน์จะไม่ปรากฏในที่ใดจนกระทั่งหลังปี ค.ศ. ๑๔๐๐ แต่คำอวยพรวาเลนไทน์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน คือบทกวีที่เขียนในปี ค.ศ. ๑๔๑๕ โดยชาร์ลส์ ดยุกแห่งออร์ลีนส์ เขียนถึงภรรยาของเขาในขณะที่ เขาถูกคุมขังในหอคอยแห่งลอนดอนหลังจากถูกจับกุมในสมรภูมิ Agincourt (ปัจจุบันคำอวยพรนี้ถูกจัดเก็บเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชันต้นฉบับในหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ ณ กรุงลอนดอน, สหราชอาณาจักร) ในหลายปีต่อมา มีทฤษฎีเชื่อกันว่ากษัตริย์เฮนรีที่ ๕ ได้ว่าจ้างนักเขียนชื่อจอห์น ลิดเกต ให้เขียนบันทึกวาเลนไทน์ถึงแคทเธอรีนแห่งวาลัวส์
วันวาเลนไทน์ถูกจัดขึ้นทุกวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา และที่อื่น ๆ ทั่วโลก มีการแลกเปลี่ยนขนม ดอกไม้ และของขวัญระหว่างบุคคลอันเป็นที่รัก ในนามของนักบุญวาเลนไทน์ ซึ่งในประเทศไทยจะมีการจัดกิจกรรมวันวาเลนไทน์ขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ในโรงเรียนจะมีการอวยพร ติดสติ๊กเกอร์ และมอบดอกไม้ให้กัน หรือจะมีกิจกรรมจัดงานจดทะเบียนสมรสสำหรับคู่รักนั่นเอง
อ้างอิง
ARNIE SEIPEL.  NPR.  THE DARK ORIGINS OF VALENTINE'S DAY.  [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2566, จาก: https://www.npr.org/.../the-dark-origins-of-valentines-day 
History.  History of Valentine’s Day. [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2566, จาก: http://www.history.com/.../history-of-valentines-day-2
Britannica, The Editors of Encyclopaedia. Valentine’s Day. [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2566, จาก: https://www.britannica.com/topic/Valentines-Day
Scrapbook.com. History of Valentine's Day Cards. [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2566, จาก: https://www.scrapbook.com/articles/valentine-history
เรียบเรียง และแปลโดย
พัชมณ ศรีสัตย์รสนา
บรรณารักษ์ชำนาญการ

(จำนวนผู้เข้าชม 742 ครั้ง)

Messenger