...

ความรู้ทั่วไป
ตัวอย่างข้อมูล : กันตรึม

เครื่องดนตรีกันตรึม กันตรึม “กันตรึม” เป็นเพลงพื้นบ้านนิยมกันมากในจังหวัดสุรินทร์ เนื้อเพลงกันตรึมใช้ภาษาเขมรขับร้อง กันตรึมถือเป็นแม่บทของเพลงพื้นบ้าน และการละเล่นพื้นบ้านอื่นๆ ของจังหวัดสุรินทร์ ประวัติความเป็นมา ประวัติการเล่นกันตรึมไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด ลักษณะของเพลงกันตรึมเป็นเพลงปฏิพากย์คล้ายๆ เพลงฉ่อย เพลงเรือ หรือลำตัด จะแตกต่างที่เนื้อร้องกันตรึมเป็นภาษาเขมร ดนตรีบรรเลงประกอบ คือ กลองโทน(สก็วล) และซอ(สุกัญญา สุจฉายา ๒๕๒๕ : ๘) เหมือนกับประเทศกัมพูชา วงดนตรีกันตรึมมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของชาวสุรินทร์มาแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นงานพิธีแบบใดๆ เช่น งานแต่งงาน งานศพ งานพิธีกรรมต่างๆ หรือใช้บรรเลงในพิธีเซ่นสรวงบูชา ทรงเจ้าเข้าผี เป็นต้น งานพิธีต่างๆ ของกลุ่มชาวไทยเขมรส่วนมากมักจะใช้วงกันตรึมบรรเลงยืนพื้นตลอดงาน ปัจจุบันกันตรึมใช้เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงโดยทั่วไป มีการสืบทอดตามแบบการละเล่นพื้นบ้านแบบรุ่นสู่รุ่น คือ เมื่อผู้เล่นกันตรึมคณะเดิมชราภาพ หรือย้ายถิ่นที่อยู่ ก็จะถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจเพื่อสานต่อ(สงบ บุญคล้อย ๒๕๒๒ : ๘) วิวัฒนาการของเพลงกันตรึม ๑. ได้รับอิทธิพลมาจากเพลงปฏิพากย์ของเขมร ในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับเพลงปฏิพากย์ภาคกลางของประเทศไทยทั้งโครงสร้างของเพลง วิธีการแสดง และเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบ ได้แก่ กลองโทน ซอ และใช้การปรบมือเข้าจังหวะ เพลงปฏิพากย์ที่เล่นกันในประเทศกัมพูชาจะมีเพลงปรบเกอย เพลงอายัย เพลงอมตูก และเจรียงต่างๆ เป็นต้น (สุกัญญา สุจฉายา ๒๕๒๕ : ๘) ๒. วิวัฒนาการจากการใช้กลอง(สก็วล) ซึ่งเสียงตีกลองจะดัง “โจ๊ะกันตรึม ตรึม” จึงได้นำเสียงที่ดังนั้นมาตั้งเป็นชื่อวงดนตรี เรียกว่า “กันตรึม” การเล่นกันตรึมจะมีผู้ร้องทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ผู้แสดงจะร้อง และรำไปด้วย เป็นการรำให้เข้ากับจังหวะดนตรี ท่ารำไม่มีแบบแผนตายตัว ปัจจุบันคณะกันตรึมบางคณะที่ยังเล่นอยู่ก็มีแบบการรำที่ไม่แน่นอน เนื่องจากกันตรึมไม่เน้นทางด้านการรำ แต่จะเน้นที่ความไพเราะของเสียงร้อง และความสนุกสนานของท่วงทำนองเพลงกันตรึมที่มีหลากหลายมากกว่า เครื่องดนตรี เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเล่นกันตรึม ประกอบด้วย กลองกันตรึม(สก็วล) ๒ ลูก ซอ(ตรัว) ๑ คัน ปี่อ้อ ๑ เลา ขลุ่ย ๑ เลา ฉิ่ง กรับ และฉาบ อย่างละ ๑ คู่ แต่ถ้ามีเครื่องดนตรีไม่ครบก็อาจจะอนุโลมใช้เครื่องดนตรีเพียง ๔ อย่าง คือ กลองกันตรึม ๑ ลูก ซอ ๑ คัน ฉิ่ง และฉาบ อย่างละ ๑ คู่ ในปัจจุบัน วงกันตรึมบางคณะได้นำเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้ เช่น กลองชุด กีตาร์ และไวโอลิน เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนไปตามความนิยมของผู้ชม การแต่งกาย การแต่งกายทั้งของนักดนตรีและนักร้องชายหญิงไม่มีแบบแผนกฎเกณฑ์ที่แน่นอน จะแตกต่างตามความสะดวกสบาย ทันสมัยและถูกใจผู้ชม เช่น หญิงนุ่งผ้าไหมพื้นเมือง เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียง ชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนสั้น ผ้าไหมคาดเอว และมีผ้าขาวม้าไหมพาดไหล่ทั้งสองข้าง โดยชายผ้าทั้งสองจะห้อยอยู่ทางด้านหลัง ผู้เล่นและโอกาสที่ใช้เล่น การเล่นกันตรึม ใช้ผู้เล่นประมาณ ๖ – ๘ คน ผู้ร้องเป็นชายและหญิง อาจจะมี ๑ – ๒ คู่ หรือชาย ๑ คน หญิง ๒ – ๓ คน แต่โดยทั่วไปนิยมให้มีชาย ๒ คน หญิง ๒ คน การเล่นกันตรึมจะเล่นในโอกาสต่างๆ ทั้งในโอกาสเฉลิมฉลอง งานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานโกนจุก งานบวชนาค เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และลอยกระทง เป็นต้น หรืองานอวมงคล นอกจากนี้ยังใช้เล่นในพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อพื้นบ้าน วิธีเล่นกันตรึม วงกันตรึมจะเล่นที่ไหน ก่อนเริ่มการแสดงจะต้องมีพิธีไหว้ครูเพื่อเป็นสิริมงคล ทั้งผู้ดูและผู้เล่น เมื่อไหว้ครูเสร็จก็จะเริ่มบรรเลงเพลง เป็นการโหมโรงเพื่อปลุกใจให้ผู้ดูรู้สึกตื่นเต้น และผู้แสดงก็จะได้เตรียมตัว จากนั้นจะเริ่มแสดง โดยเริ่มบทไหว้ครูตามธรรมเนียมโบราณดั้งเดิม วิธีการร้องจะขับร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย หญิง มีการรำประกอบการร้อง ไม่ต้องใช้ลูกคู่ช่วยร้องรับบทเพลง บทเพลงกันตรึม บทเพลงกันตรึมไม่มีเนื้อร้องเป็นการเฉพาะ แต่มักคิดคำกลอนให้เหมาะสมกับงานที่เล่น หรือใช้บทร้องเก่าๆ ที่จดจำกันมามีประมาณ ๒๒๘ ทำนองเพลง ไม่มีใครสามารถจดจำได้ทั้งหมด เพราะไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงการจดจำต่อๆ กันมาเท่านั้น การแบ่งประเภทบทเพลงกันตรึม ๑. บทเพลงชั้นสูงหรือเพลงครู เป็นบทที่มีความไพเราะ สูงศักดิ์ ทำนองเพลงอ่อนหวานกินใจ แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ เช่น เพลงสวายจุมเวื้อด ร่ำเป็อย – จองได มโหรี และเพลงเซร้ยสะเดิง เป็นต้น ๒. บทเพลงสำหรับขบวนแห่ มีทำนองครึกครื้นสนุกสนาน มีการฟ้อนรำประกอบการขับร้อง มีหลายทำนอง เช่น รำพาย ซมโปง ตร็อบตุม และเกาะเบอรมแบง เป็นต้น ๓. บทเพลงเบ็ดเตล็ดต่างๆ เป็นบทเพลงที่มีทำนองรวดเร็ว เร่งเร้า ให้ความสนุกสนาน ใช้เป็นบทขับร้องในโอกาสทั่วๆ ไป เช่น เกี้ยวพาราสี สั่งสอน สู่ขวัญ และรำพึงรำพัน เป็นต้น ทำนองเพลงจะมีหลายทำนอง เช่น อมตูก กัจปกาซาปาดาน กันเตรยโมเวยงูดตึก กะโน้ปติงต้อง และมลบโดง เป็นต้น ๔. บทเพลงประยุกต์ เป็นบทเพลงที่ใช้ทำนองเพลงลูกทุ่งเข้ามาประยุกต์เป็นทำนองเพลงกันตรึม เช่น ดิสโก้กันตรึม สัญญาประยุกต์ และเตียแขมประยุกต์ เป็นต้น

-
พระสาวก รูปแบบ ศิลปะหริภุญไชย พุทธศตวรรษที่ 17-18

พระสาวกรูปแบบ ศิลปะหริภุญไชย พุทธศตวรรษที่ 17-18วัสดุ ดินเผาประวัติ นายไกรศรี นิมมานเหมินทร์ มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ลักษณะ พระสาวกประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พนมมือระดับพระอุระ พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรกลมและพองโต ตรงกลางมีเจาะรูพระเนตร พระโอษฐ์แบะกว้าง เหนือพระโอษฐ์ทำเป็นร่องคล้ายพระมัสสุ มีขอบไรพระศก ขมวดพระเกศาเป็นทรงกรวยแหลม ทรงครองจีวรเรียบห่มคลุม ชายผ้าที่หน้าตักทำเป็นแผ่นรูปครึ่งวงกลม-------------------------------------------------พระสาวกองค์นี้เป็นประติมากรรมดินเผาในศิลปะหริภุญไชยที่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยส่วนใหญ่มักพบแบบชำรุดหรือมีขนาดเล็ก มีลักษณะรูปแบบที่ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปปางสมาธิดินเผา ที่พบใกล้กับเจดีย์เปตเลก (Hpet-Leik) หมู่บ้านติรัปยิตสยา (Thiripyisaya) เมืองพุกาม.เป็นงานที่มีทั้งอิทธิพลศิลปะพุกามและมีลักษณะเฉพาะของศิลปะหริภุญไชยเอง.โดยอิทธิพลจากพุกามเห็นได้จากการทำขัดสมาธิเพชรที่ไขว้กันจนเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้างในระดับเดียวกันอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสายวิวัฒนาการที่ทำสืบต่อจากศิลปะปาละของอินเดีย และการทำชายผ้าที่หน้าตักเป็นแผ่นรูปครึ่งวงกลม.ส่วนลักษณะที่มีการพัฒนาเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะหริภุญชัยเอง ตัวอย่างเช่น การทำพระขนงต่อกันเป็นปีกกา และยกเป็นสันขึ้นมา พระเนตรกลมพองโตเป็นลักษณะเด่นซึ่งมักพบอยู่ในกลุ่มพระสาวก เทวดา และรูปบุคคล ร่องเหนือพระโอษฐ์คล้ายพระมัสสุ ขอบพระพักตร์เป็นสันขึ้นมาคล้ายไรพระศก เป็นต้น .นอกจากนี้ด้านหลังประติมากรรมมีลักษณะเรียบตรง มีขมวดพระเกศาเพียงครึ่งเดียวไม่เต็มพระเศียร แสดงให้เห็นว่า พระสาวกนี้เป็นประติมากรรมนูนสูงเพื่อใช้ประดับผนังก็เป็นได้-------------------------------------------------อ้างอิง- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 42-50.รูปภาพภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ- Gordon H. Luce and Bo-Hmu Ba Shin. Old Burma: Early Pagán. Artibus Asiae. Supplementum, Vol. 25, Old Burma: Early Pagán. Volume Three: Plates (1970), plate 410 b.

พระพุทธรูปปางมารวิชัย หินทรายสกุลช่างพะเยา

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่พระพุทธรูปปางมารวิชัย หินทรายสกุลช่างพะเยารูปแบบ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21วัสดุ : หินทรายประวัติ : โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) สำรวจรวบรวมได้จากวัดพระเกิดคงคาราม อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529ลักษณะ : พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์รูปไข่ พระขนงทำเป็นสัน ยาวต่อกันเป็นรูปปีกกา และเชื่อมต่อกับพระนาสิกที่โด่ง พระโอษฐ์บนหยัก ทำมุมตวัดขึ้นเป็นแนวร่องเชื่อมกับพระนาสิก เม็ดพระศกทำเป็นตารางสี่เหลี่ยมส่วนยอดแหลม พระวรกายยืดสูง บั้นพระองค์เล็ก ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ปลายแยก 2 แฉก---------------------------------------------สกุลช่างพะเยาจัดเป็นสกุลช่างหนึ่งในศิลปะล้านนา เนื่องจากพบการสร้างพระพุทธรูปที่มีรูปแบบเฉพาะ โดยช่างเมืองพะเยามักใช้หินทรายเป็นวัสดุหลักในการสร้างงานประติมากรรม .พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยามีวิวัฒนาการสัมพันธ์กับพระพุทธรูปแบบสำริด ในระยะแรกจากหลักฐาน พบว่าอยู่ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 มีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ต่อมาราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 จากการอัญเชิญพระสุมนเถระขึ้นมาเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ทำให้ปรากฏอิทธิพลศิลปะสุโขทัย จนถึงช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคทองของล้านนาก็ได้พัฒนารูปแบบจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างพะเยาเอง และเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 กลายเป็นแบบพื้นเมืองหรือท้องถิ่นมากขึ้น .พระพุทธรูปหินทรายที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่องค์นี้ มีลักษณะเฉพาะที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยา ตัวอย่างเช่น การทำพระขนงโก่งเป็นสันโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกาเชื่อมต่อลงมากับพระนาสิก การทำเม็ดพระศกเป็นตารางสี่เหลี่ยมคล้ายทรงพีระมิด เป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดจากข้อจำกัดของวัสดุหินทราย พระหัตถ์มีลักษณะอูม นิ้วพระหัตถ์ยาวเรียว ปลายนิ้วยาวเสมอกัน และหัตถ์ซ้ายโค้งเข้าหาพระวรกาย นอกจากนี้มีลักษณะบางประการที่มีวิวัฒนาการเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น พระวรกายที่ยืดสูง พระโอษฐ์ที่ตวัดขึ้นและทำเป็นแนวร่องเชื่อมต่อกับพระนาสิก สันนิษฐานว่าเป็นเทคนิคที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการพอกรัก เพื่อให้รักยึดติดกับหินได้.---------------------------------------------อ้างอิงศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 259-262.ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา (The Payao School sandstone Buddha image) (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2532) หน้า 120-128.สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย – ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. หน้า 152-156.

พระบฏ

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่พระบฏ รูปแบบ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 20 -21วัสดุ : ผ้าประวัติ : พบที่กรุเจดีย์วัดเจดีย์สูง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อคราวที่สำรวจแหล่งโบราณคดีที่จะถูกน้ำท่วมก่อนการสร้างเขื่อนภูมิพลเมื่อปี พ.ศ. 2502-2503 โดยเริ่มขุดที่วัดเจดีย์สูงเป็นวัดแรก ลักษณะ : เป็นภาพจิตรกรรมรูปพระพุทธเจ้าและพระสาวก เขียนลงบนผ้าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแนวตั้ง ส่วนบนและล่างมีที่ไว้สำหรับใช้แขวน---------------------------------------------------------พระบฏ คือ ภาพที่เขียนลงบนผ้าเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า ใช้แขวนเพื่อเคารพบูชามีรากศัพท์เดิมมาจากภาษาบาลี คำว่า ปฏ (ปะ-ตะ) หมายถึง ผืนผ้า.ถึงแม้ว่าสภาพของพระบฏผืนนี้ บางส่วนของภาพค่อนข้างชำรุด จึงมีไม่เต็มภาพ แต่ก็ยังสามารถมองเห็นองค์ประกอบหลักของภาพได้อยู่ .องค์ประกอบภาพ ตรงกลางเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับยืนบนฐานบัว แสดงปางเปิดโลก เหนือพระเศียรเขียนภาพฉัตร โดยมีพระอัครสาวกคือ พระโมคคัลลานะ (เบื้องซ้าย) และพระสารีบุตร (เบื้องขวา) ยืนพนมมือขนาบอยู่ทั้งสองข้าง ฉากหลังเป็นพื้นสีแดง ปรากฏภาพดอกไม้สวรรค์ หรือ ดอกไม้ร่วงนานาพันธุ์ เช่น ดอกบัว ดอกโบตั๋น ดอกจำปี ดอกจำปา ดอกปีบ เป็นต้น ส่วนด้านบนทางซ้ายและขวา เป็นภาพพระจันทร์ มีกระต่ายอยู่ด้านใน และก้อนเมฆล้อมรอบ อีกฝั่งที่ชำรุดเสียหายสันนิษฐานว่าคือภาพพระอาทิตย์ .จากองค์ประกอบภาพและการโคจรของพระอาทิตย์และพระจันทร์จะอยู่ระดับเหนือยอดเขายุคันธร อันเป็นหนึ่งในเขาสัตบริภัณฑ์ซึ่งอยู่ต่ำกว่าเขาพระสุเมรุ ยอดเขาพระสุเมรุคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงหมายถึงเรื่องราวใน พุทธประวัติ ตอนหลังจากเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสด็จลงมาถึงโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสะแล้ว. รูปแบบจากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่บริเวณพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าปรากฏพระเนตรที่เรียวยาวเหลือบมองต่ำ และร่องรอยลายเส้นคาดว่าน่าจะมีชายสังฆาฏิยาว แสดงให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย ส่วนพื้นหลังที่มีดอกไม้ร่วงนานาชนิด ลักษณะลวดลายของดอกไม้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะจีน ซึ่งได้รับความนิยมในงานศิลปกรรมของล้านนาช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 สันนิษฐานว่าช่างล้านนาได้นำลายดอกไม้จีนมาจากเครื่องถ้วยจีน เนื่องจากได้พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงภายในกรุเดียวกันกับพระบฏ นอกจากนี้ยังมีลายก้อนเมฆและลายหยักคลื่นก็ได้รับอิทธิพลศิลปะจีนเช่นเดียวกัน.การเขียนภาพใช้เทคนิคสีฝุ่นบนผ้าใบ การใช้สีเป็นประเภทพหุรงค์ โดยใช้หลายสีคือ สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง สีเขียว สีขาว และสีดำ.จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนการสร้างเขื่อนภูมิพลนี้ ยังได้พบพระบฏอีกผืนที่มีขนาดใกล้เคียงกันด้วย โดยพบบรรจุอยู่ในหม้อดินที่กรุเจดีย์วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นภาพตอนกำลังเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ กรุงเทพฯ . ขณะนี้ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้มีการปรับปรุงห้องจัดแสดงใหม่ โดยได้นำผ้าพระบฏที่พบจากวัดเจดีย์สูง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่นี้ กลับมาจัดแสดงอีกครั้ง ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าชมความงามและร่องรอยงานจิตรกรรมสมัยอาณาจักรล้านนาที่เหลือหลักฐานอยู่ไม่มากได้ที่ชั้น 2 ห้องพระพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เปิดทำการวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09:00 -16:00 น. หยุดทุกวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์-----------------------------------------------------อ้างอิง- กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. นครปฐม : รุ่งศิลป์การพิมพ์ , 2550 หน้า 372.- สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. หน้า 159-161.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 323-325.- Chiang Mai House of Photography by Associate Professor Kanta Poonpipat Foundation. ภาพเขียนจิตรกรรมบนผืนผ้า (พระบฏ) วัดเจดีย์สูง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 12 กันยายน 2565, จาก : https://cmhop.org/product/พระบฏกรุวัดเจดีย์สูง/ - อาทิตยา สืบมาแต่ปั้น. เปรียบเทียบพระบฏแสดงภาพพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สมัยล้านนาและรัตนโกสินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.

พระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะล้านนา

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่พระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะล้านนารูปแบบ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21ประวัติ : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2469 พระราชทาน แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2469 และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่งมาจัดแสดง ลักษณะ : พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ทรงสวมมงกุฎ กุณฑล สังวาลไขว้ ทับทรวงประดับพลอยสีแดง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ และสวมผ้านุ่งลายตาราง อยู่บนฐานบัวหงาย รองรับด้วยฐานหน้ากระดาน 6 เหลี่ยม มีขาสามขา -----------------------------------------------------------พระพุทธรูปทรงเครื่องในศิลปะล้านนา เป็นที่นิยมสร้างในช่วงต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 น่าจะมีคติการสร้างมาจากพุทธประวัติตอนทรมานพญามหาชมพู ซึ่งได้พบหลักฐานว่าเป็นคตินิยมที่เกิดขึ้นในแถบล้านนาและล้านช้าง โดยได้พบรูปบุคคลสำริดนั่งพนมมือแต่งเครื่องทรงอย่างกษัตริย์ชิ้นหนึ่งในศิลปะล้านช้างที่มีจารึกชื่อ “ชมภูปติ” .เรื่องราวเป็นตอนที่พญามหาชมพูซึ่งถือว่าตนเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีผู้ใดเหนือตน ได้มาคุกคามและรบกวนพระเจ้าพิมพิสารอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าทรงเล็งพระญาณเห็นว่า จะโปรดพญามหาชมพูได้ จึงเนรมิตแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่า แล้วให้พระอินทร์แปลงเป็นราชทูตไปทูลเชิญพญาชมพูมาเข้าเฝ้า และทรงแสดงธรรมโปรดจนพญามหาชมพูหมดทิฐิมานะและขอบรรพชาอุปสมบท .ลักษณะพระพุทธรูปทรงเครื่องในศิลปะล้านนาแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งเป็น แบบที่มีการครองจีวรและมีเครื่องทรงมาสวมทับไว้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ แบบที่แสดงเครื่องทรงเพียงอย่างเดียว ไม่แสดงการครองจีวร โดยทั้งสองแบบน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกันหรือห่างกันไม่มากเนื่องจากลักษณะรูปแบบโดยรวมใกล้เคียงกัน .พระพุทธรูปทรงเครื่องที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ องค์นี้ เป็นแบบกลุ่มที่แสดงเครื่องทรงเพียงอย่างเดียว ไม่แสดงการครองจีวร โดยปกติในกลุ่มนี้มักนิยมประทับนั่งขัดสมาธิราบ แต่องค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะปาละ มีเครื่องทรงที่แสดงอิทธิพลศิลปะลังกา คือ มีการสวมกรัณฑมกุฎ คือ มงกุฎทรงกรวยแหลม โดยประกอบขึ้นจากวงแหวนหรือลูกกลมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปจนถึงยอดแหลม การสวมเครื่องทรงแบบนี้สามารถเทียบเคียงได้กับเทวดาปูนปั้นที่วัดเจ็ดยอด .นอกจากนี้ส่วนฐานบริเวณบัวคว่ำทำเป็นลวดลายประดิษฐ์แบบศิลปะจีน และมีลายประจำยามก้ามปูและเม็ดไข่ปลา ส่วนขาสามขาที่มาจากสายท่อชนวนที่ไม่ได้ตัดทิ้งก็เป็นแบบที่นิยมพบในพระพุทธรูปช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 -----------------------------------------------------------อ้างอิง- สมพร อยู่โพธิ์. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2514. หน้า 118.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 247-251- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2565. หน้า 553-555.- เชษฐ์ ติงสัญชลี. บทบาทของศิลปะอินเดียต่อเครื่องแต่งกายประติมากรรมบุคคลในเอเชียอาคเนย์ : รายงานวิจัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. หน้า 88.ที่มารูปภาพรูปบุคคลมีจารึกชื่อ ชมภูปติ- A. B. Griswold. “Notes on the Art of Siam, no. 5. The Conversion of Jambupati”.Artibus Asiae Vol. 24, No. 3/4 (1961), pp. 297.

แมวขูดมะพร้าว

แมวขูดมะพร้าว วัสดุ : ไม้, เหล็กประวัติ : ร้านรัตนาแอนติค มอบให้เมื่อ 9 ตุลาคม 2528ขนาด : กว้าง 8 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร ลักษณะ : ไม้แกะสลักเป็นรูปแมวนอนหมอบยืดขาหน้า หางเก็บข้างลำตัว บริเวณดวงตาประดับกระจกสีเขียว แกะลายเส้นเป็นหนวดแมว ที่ปากแมวมีเหล็กทำเป็นซี่เล็ก ๆ ใช้สำหรับขูดมะพร้าวยื่นออกมา ที่ก้นแมวมีห่วงเหล็กสถานที่เก็บรักษา : คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ -----------------------------------------------------------อุปกรณ์ขูดมะพร้าวเป็นหนึ่งในเครื่องใช้ในครัวเรือนที่สามารถพบเห็นได้ตามบ้านเรือนในหลายภาค เนื่องจากอาหารไทยหรือขนมไทยหลายอย่างมีส่วนประกอบของมะพร้าวหรือกะทิ โดยแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกและรูปร่างที่ต่างกันไป ในภาคกลางคนจะนิยมเรียกว่า “กระต่ายขูดมะพร้าว” อาจเพราะมองว่า ส่วนเหล็กที่ใช้ขูดเนื้อมะพร้าว คล้ายกับฟันกระต่าย หรือบ้างก็ว่ามาจากรูปร่างที่นั่งที่นิยมทำเป็นรูปกระต่าย แต่ที่ภาคเหนือกลับนิยมทำเป็นรูปแมว จึงเรียกว่า “แมวขูดมะพร้าว” (หรือ งอง) อาจเพราะมองเหล็กที่ขูดมะพร้าวคล้ายกับเล็บแมว หรือเพราะนิยมทำที่นั่งเป็นรูปแมวส่วนทางภาคใต้ จะเรียกว่า “เหล็กขูด” หรือ แหล็กขูด นิยมทำเป็นรูปสิงห์ สัตว์ต่าง ๆ หรือรูปคน .วิธีใช้งานแมวขูดมะพร้าว เหมือนกันกับภาคอื่น ๆ คือ คนขูดจะนั่งลงบนส่วนที่นั่งในท่าทางที่ถนัด นำจานหรือถาดมารองไว้ที่ใต้เหล็กที่ใช้ขูด และนำมะพร้าวแห้งผ่าครึ่งมาขูดส่วนเนื้อมะพร้าวออกเบา ๆ สามารถใช้งานได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงเด็ก ๆ ด้วย แต่ต้องคอยระมัดระวังเป็นพิเศษ. ในภาคเหนือมีอาหารหรือขนมที่ต้องใช้ส่วนประกอบของเนื้อมะพร้าวหรือกะทิหลายอย่าง เช่น ข้าวซอย ขนมจีนน้ำลอ ขนมต้มกะทิ ขนมจ็อก ขนมลิ้นหมา ขนมแตงลาย ขนมกนน้ำอ้อย เป็นต้น.นอกจากแมวขูดมะพร้าวจะเป็นตัวช่วยในการขูดมะพร้าวได้สะดวกและง่ายขึ้นแล้ว ก็ยังแสดงออกให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และงานฝีมือของช่างที่ดัดแปลงส่วนที่นั่งทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ ให้เกิดความสวยงามอีกด้วย.แต่ในปัจจุบันเราไม่ค่อยพบเห็นแมวขูดมะพร้าวตามครัวเรือนแล้ว เนื่องจากอาจเพราะมีเครื่องขูดมะพร้าวแบบไฟฟ้าที่ทุ่นแรงได้มากกว่าเข้ามาแทน หรือคนนิยมซื้อมะพร้าวหรือกะทิแบบที่ขายสำเร็จรูปมาใช้ปรุงอาหารเลยเพื่อประหยัดเวลา --------------------------------------------------------อ้างอิง- พจนก กาญจนจันทร. “แมว กระต่าย และต้นไม้แห่งชีวิต”. ศึกษาสิ่งของ เข้าใจผู้คน 30 ปี พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. ปทุมธานี : พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560. หน้า 140-150.- พิชชา ทองขลิบ. “กระต่ายขูดมะพร้าว”. ฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 จาก https://www.sac.or.th/.../trad.../th/equipment-detail.php...

ทัพพีไม้เขียนสี

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ทัพพีไม้เขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ววัสดุ ไม้ ประวัติ พบที่แหล่งโบราณคดีประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ลักษณะ รูปทรงคล้ายช้อนแต่มีขนาดใหญ่กว่า ตกแต่งลายเขียนสีแดง บริเวณด้ามจับเขียนลายทาง และบริเวณที่ตักสิ่งของเขียนลายเส้นคดโค้ง --------------------------------------------------คำว่า ประตูผา มาจากลักษณะภูมิประเทศในบริเวณนี้ที่เป็นแนวเขาลูกโดดสองลูกต่อกัน ระหว่างกลางมีช่องแคบเล็ก ๆ ทำให้ดูเหมือนกำแพงสูงที่มีช่องประตูตรงกลาง จึงเป็นที่มาของชื่อประตูผา.แหล่งโบราณคดีประตูผา ได้พบหลักฐานการทำกิจกรรมของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เปรียบเสมือนเขตพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนในบริเวณนี้ โดยพบภาพเขียนสีซึ่งยาวที่สุดในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และร่องรอยการประกอบพิธีกรรมการฝังศพบริเวณพื้นดินใต้ภายเขียนสี.แม้ที่แหล่งนี้จะมีการถูกขุดรบกวนจากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ แต่ก็ยังคงพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากที่สภาพสมบูรณ์และน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ ทัพพีไม้เขียนสี พบจำนวน 2 อัน ในหลุมขุดค้นที่ 2 ชิ้นหนึ่งมีสภาพเกือบสมบูรณ์ แตกหักบริเวณที่ตักของ อีกชิ้นเหลือเพียงส่วนที่ตักของ .ทัพพีไม้เขียนสีทำด้วยไม้ชิ้นเดียวที่มีการถากและขูดเอาเนื้อไม้ออกจนได้รูปร่างที่ต้องการ สันนิษฐานว่าคงทำขึ้นเพื่อเป็นของอุทิศให้แก่ผู้ตาย เนื่องจากมีการเขียนลายสีแดงตกแต่งทั้งชิ้นเพิ่มความสวยงาม สะท้อนให้เห็นถึงงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของคนในอดีต ที่ไม่เพียงรู้จักการผสมสีจากหินสีหรือดินเทศเพื่อใช้เขียนภาพบนผนังเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำมาเขียนภาพลงบนสิ่งของเครื่องใช้ด้วย และอาจเป็นไปได้ว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันเป็นผู้วาดก็เป็นได้. ปัจจุบันทัพพีไม้เขียนสีนี้จัดแสดงอยู่ในตู้แหล่งโบราณคดีประตูผา ห้องยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคเหนือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่--------------------------------------------------อ้างอิง- ชินณวุฒิ วิลยาลัย. (2542). การศึกษาแหล่งภาพเขียนสีค่ายประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 206, 299.- กรมศิลปากร. (2544). เปิดประตูผา ค้นหาแหล่งวัฒนธรรม 3,000 ปี ที่ลำปาง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. หน้า 8, 29-37.- อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ.(2549) รูปเขียนดึกดำบรรพ์ “สุวรรณภูมิ” 3,000 ปีมาแล้ว ต้นแบบงานช่างเขียนปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 43.- ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2564). ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. ภาพเขียนสีค่ายประตูผา. เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 จาก https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/103.ที่มารูปภาพภาพลายเส้นทัพพีไม้- กรมศิลปากร. เปิดประตูผา ค้นหาแหล่งวัฒนธรรม 3,000 ปี ที่ลำปาง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2544.ภาพลักษณะช่องเขาที่มาชื่อประตูผา- สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่. รายงานเบื้องต้นการขุดค้นศึกษาและคัดลอกภาพเขียนสี แหล่งโบราณคดีประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง.

-
การก่อเจดีย์ทราย

๑. การก่อเจดีย์ทรายในอดีตการสร้างวัดของคนล้านนาเป็นการจำลองโลกตามคติไตรภูมิ กล่าวคือ วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเปรียบเสมือนเขาสิเนโรบรรพตซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ล้อมรอบวิหารด้วยทรายขาวสะอาดที่เป็นเสมือนมหาสมุทรสีทันดร ดังนั้น ชาวล้านนาจึงมีความเชื่อว่าทุกครั้งที่เหยียบย่างเข้าไปในวัดแล้วมีทรายติดเท้าออกมาด้วยนั้นเป็นบาป ประกอบกับคัมภีร์ใบลานธรรมอานิสงส์ปีใหม่ ได้กล่าวว่าผู้ใดได้ถวายทรายหรือขนทรายเข้าวัดแล้วจะได้รับอานิสงส์ผลบุญให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนนาน พร้อมด้วยทรัพย์สมบัติมากมาย การขนทรายเข้าวัดจึงเป็นกุสโลบายของทางวัดให้ชาวบ้านนำทรายมาทดแทนทรายที่เสียไปในช่วงเทศกาลปีใหม่ เมื่อชาวบ้านขนทรายเข้ามามากขึ้นจึงมีการสร้างเจดีย์ทราย โดยการนำไม้ไผ่สานมาขดให้เป็นวงกลม แล้วนำทรายมาถมให้เต็มเป็นชั้น ๆ เวียนขึ้นไปจนทรงคล้ายกับเจดีย์ เรียกว่า วาลุกเจดีย์ (อ่านว่า วา – ลุ – กะ เจดีย์) หรือเจดีย์ทราย อาจสร้างเป็นเจดีย์ทรายขนาดเล็กหลายๆ องค์ หรือเจดีย์ทรายองค์ใหญ่องค์เดียวก็ได้ แล้วจึงทำการถวายให้กับวัดในคราวเดียวภาพสาวงามก่อเจดีย์ทรายในพุทธสถานเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ 2496ถ่ายภาพโดยคุณบุญเสริม สาตราภัยที่มาภาพ: ฐานข้อมูลออนไลน์ภาพล้านนาในอดีต จัดทำโดยสำนักหอสมุด และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คติการถวายเจดีย์ทรายมีปรากฏในคัมภีร์ธรรมอานิสงส์เจดีย์ทราย กล่าวถึงพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าโคตมะนั้น พระองค์ได้เกิดเป็นชายคนหนึ่งนามว่าติสสะ เมื่อนายติสสะพบลำธารที่มีทรายสีขาวสะอาดจึงก่อเจดีย์ทรายขึ้น แล้วฉีกเสื้อของตนมาทำเป็นธงติดกับไม้ปักไว้บนยอดเจดีย์ และตั้งจิตอธิษฐานให้ตนได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า ต่อมาภายหลังชาวล้านนาได้ยึดหลักปฏิบัติตามตำนานนี้ โดยการถวายตุงไส้หมูหรือตุงสิบสองนักษัตรปักไว้กับกองเจดีย์ทรายด้วย โดยเชื่อว่าอานิสงส์ในการถวายเจดีย์ทรายจะช่วยให้เกิดมาในตระกูลที่ดี มีรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ หรือเกิดในภพภูมิที่ดีบนสวรรค์ เป็นต้นภาพสาวๆเมืองเชียงใหม่พากันขนทรายจากแม่น้ำปิง ที่เชิงสะพานนวรัฐฝั่งตะวันออกเพื่อนำไปก่อเจดีย์ทรายตามวัดต่างๆ เป็นการสร้างการกุศลในวันสงกรานต์ เมื่อ พ.ศ 2493ถ่ายภาพโดยคุณบุญเสริม สาตราภัยที่มาภาพ: ฐานข้อมูลออนไลน์ภาพล้านนาในอดีต จัดทำโดย สำนักหอสมุด และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นปัจจุบันการถวายเจดีย์ทรายพบได้น้อยลง เนื่องจากวัดได้ดัดแปลงจากพื้นทรายรอบวิหารให้เป็นพื้นคอนกรีตหรืออิฐบล็อกแทน อย่างไรก็ดี ในบางพื้นที่ที่ยังมีการถวายเจดีย์ทรายอยู่ก็มีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากการคืนทรายให้กับวัดเป็นการถวายทรายสำหรับการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ภายในวัดไปที่มาภาพ: www.loupiote.com. Sand Pagoda - Songkran festival (Thai New Year) in Chiang Mai (Thailand)

การแห่ไม้ก๊ำสะหรี (ไม้ค้ำโพธิ์)

การแห่ไม้ก๊ำสะหรี (ไม้ค้ำโพธิ์)ไม้ก๊ำหรือไม้ค้ำ มีลักษณะเป็นท่อนไม้ยาวหลากหลายขนาด ที่ปลายทำเป็นง่ามสำหรับค้ำกิ่งไม้ มีการประดับตกแต่งให้สวยงามด้วยการทาสีหรือหุ้มด้วยกระดาษเงินกระดาษทอง ส่วนสะหรีหรือสรี หมายถึง ต้นศรีมหาโพธิ์ ต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าและศาสนาพุทธ อ.สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ประเพณีการแห่ไม้ค้ำสะหรีน่าจะเริ่มต้นที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นที่แรก แล้วจึงเริ่มกระจายออกไปทั่วภาคเหนือในปัจจุบันที่มาภาพ: เชียงใหม่นิวส์. ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ วัดพระธาตุศรีจอมทอง. เผยแพร่ทางเว็บไซต์เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2562.การแห่ไม้ค้ำสะหรีนิยมทำใน ๒ พิธีกรรมหลัก ๆ ได้แก่ พิธีสืบชะตา และสงกรานต์ โดยการแห่ไม้ค้ำสะหรีนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถวายไม้ค้ำได้รับพรสมอย่างที่ตนปรารถนา สร้างเสริมสิริมงคลแก่ตนเอง ค้ำจุนชีวิตให้เจริญรุ่งเรือง ไม่ตกต่ำ และค้ำจุนพระพุทธศาสนา ในช่วงปีใหม่เมืองของทุกปี ชุมชนที่มีการแห่ไม้ค้ำสะหลีจะจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่วนไปรอบชุมชนก่อนจะนำไปถวายที่วัด จัดเป็นขบวนแห่งานบุญใหญ่ไม่แพ้งานปอยหลวงหรือขบวนแห่สลากภัต (ตานก๋วยสลาก) เลยก็ว่าได้ที่มาภาพ: ข่าวสดออนไลน์. คอลัมน์ รู้ไปโหม้ด : ไม้ค้ำโพธิ์ - ไม้ค้ำสะหลี. เผยแพร่ทางเว็บไซต์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559.

การรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสหรือผู้สูงอายุ

การรดน้ำดำหัวหรือในวัฒนธรรมล้านนาเรียกว่า การสระเกล้าดำหัว นั้น มีความหมายโดยนัย คือ การขจัดสิ่งชั่วร้าย อัปมงคล ออกไปในช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือการขอขมาอภัยต่อญาติผู้ใหญ่ พระเถระ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู ความเคารพนับถือ รวมไปถึงเป็นการถือโอกาสเยี่ยมเยือน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบญาติผู้ใหญ่ที่อาจไม่ได้พบปะกันมาทั้งปีอีกด้วยที่มาภาพ: ไทยโพสต์. สงกรานต์ วิถีน้ำ วิถีไทย ชุ่มฉ่ำ 4 ภาค. เผยแพร่ลงเว็บไซต์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562. การสระเกล้าดำหัว แบ่งวิธีปฏิบัติเป็น ๓ อย่าง คือ การดำหัว (สระผม) ตนเอง คือ การนำน้ำขมิ้นส้มป่อย (น้ำที่มีส่วนผสมของขมิ้นผงและส้มป่อยตากแห้ง ซึ่งคนล้านนามีความเชื่อว่าสามารถชำระล้างสิ่งอัปมงคลได้ ปัจจุบันไม่นิยมใช้ผงขมิ้นผสมน้ำแล้ว แต่ใช้ดอกไม้หอม เช่น ดอกคำฝอย ดอกสารภี หรือดอกพะยอมแทน) ลูบศีรษะของตนเอง หรือใช้ชำระล้างร่างกายเพื่อขจัดเสนียดจัญไรออกไปจากตัว อย่างที่สอง คือ การดำหัวผู้น้อยหรือผู้อ่อนวัยกว่า เช่น ลูก หลาน ภรรยา โดยผู้ที่มีวัยวุฒิสูงกว่าจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาประพรมหรือลูบศีรษะผู้น้อย หลังจากลูบศีรษะตนเองแล้ว และอย่างที่สาม คือ การดำหัวผู้ใหญ่ ซึ่งจะต้องมีการตระเตรียมข้าวของ ดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อที่จะนำไปขอขมาอภัยด้วยที่มาภาพ: www.openrice.co.th บทความ Food Tips หัวข้อ ส้มป่อยใช้ทำอาหารและตามความเชื่อ เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560 ของไหว้สำหรับการดำหัวของคนล้านนาแบบโบราณ จะมีการเตรียมสลุง (ขัน) ใส่น้ำขมิ้นส้มป่อย พร้อมเครื่องสักการะ เช่น ต้นผึ้ง (พุ่มขี้ผึ้ง) ต้นเทียน (พุ่มเทียน) ด้นดอก (พุ่มดอกไม้นานาชนิด) หมากสุ่ม (พุ่มหมากแห้งผ่าซีก) หมากเบ็ง (พุ่มหมากดิบ) และพลูสุ่ม (พุ่มใบพลู) แต่ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนของไหว้ขอขมาให้เป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ผู้รับสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น เช่น ผ้าขาวม้า เสื้อ ผ้าถุง ผ้าเช็ดตัว และพืชผักผลไม้ตามฤดูกาลต่าง ๆ เช่น หอมแดง กระเทียม มะม่วง มะปราง หรือถั่วต่าง ๆ โดยขอขมาพร้อมสวย (กรวย) ใส่ข้าวตอกดอกไม้ต่าง ๆ ที่มีความหมายเป็นสิริมงคล เช่น ดอกเก็ดถะวา (ดอกพุดซ้อน) ดอกโชค และใบโกศลหรือใบกุศล เป็นต้นธรรมเนียมการรดน้ำดำหัวแบบคนล้านนานั้นจะแตกต่างออกไปจากธรรมเนียมของคนภาคกลาง ที่นิยมนำน้ำมารดที่มือของผู้อาวุโส ซึ่งคนล้านนามองกว่าการรดน้ำที่มือนั้นเหมือนเป็นการรดน้ำศพ ดูอัปมงคลยิ่ง ธรรมเนียมคนล้านนา เมื่อผู้น้อยนำข้าวของสักการะพร้อมข้าวตอกดอกไม้มามอบให้แล้ว ผู้ใหญ่จะให้พร และนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาลูบศีรษะตนเอง แล้วค่อยพรมน้ำขมิ้นส้มป่อยด้วยช่อใบโกศลแก่ลูกหลานที่มาขอขมา ก็เป็นอันเสร็จพิธี...ที่มาภาพ: เชียงใหม่นิวส์. เครื่องดำหัวปี๋ใหม่เมือง. เผยแพร่ลงเว็บไซต์เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2561

ประเทศไทยฉลองวันวิสาขบูชา

ประเทศไทย เริ่มต้นกันที่ประเทศไทยก่อนเป็นที่แรก โดยปีนี้ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 (เนื่องจากปีนี้มีเดือน 8 สองหน จึงต้องเลื่อนไปเป็นเดือน 7 แทน) หรือวันที่ 26 พฤษภาคม โดยทั่วไป รัฐบาลจะประกาศให้วันนี้เป็นวันหยุดราชการเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา โดยในช่วงเช้าประชาชนจะนิยมเข้าวัด ทำบุญตักบาตร และฟังธรรมเทศนา และช่วงค่ำจะมีการเวียนเทียนรอบอุโบสถ วิหาร หรือเจดีย์ บางครั้งทางวัดหรือหน่วยงานต่างๆ อาจมีการบวชพระสงฆ์และสามเณร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วยค่ะ . ในภาคท้องถิ่นแต่ละจังหวัดอาจมีกิจกรรมที่พิเศษนอกเหนือจากการเข้าวัดทำบุญ และเวียนเทียนทั่วไป อย่างเช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัด “ประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ” ชาวเชียงใหม่จะเดินเท้าขึ้นดอยสุเทพกันตั้งแต่ช่วงค่ำในคืนก่อนหน้าวันวิสาขบูชา โดยจะมีการตั้งขบวนแห่น้ำสรงพระธาตุ มีขบวนฟ้อนรำนำหน้าไปตามถนนทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าของวันวิสาขบูชาประชาชนก็จะไปการนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ และทำบุญตักบาตรก่อนเดินทางกลับ การเดินเท้าขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพนี้ ชาวเชียงใหม่เชื่อกันว่าเป็นบุญกุศลมากและเป็นกิจกรรมที่ “ควรทำ” อย่างน้อยสักครั้งในชีวิต

ประเทศเมียนมาฉลองวันวิสาขบูชา

ประเทศเมียนมา ข้ามฟากมาที่ประเทศเมียนมาหรือพม่ากันบ้างค่ะ ในวันวิสาขบูชาของชาวเมียนมานั้นตรงกับวันเพ็ญเดือน 2 ตามปฏิทินของเมียนมา โดยชาวเมียนมาเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วันกะโส่ง - ละ - ปญี่” หรือแปลว่าวันเพ็ญเดือนกะโส่ง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคมค่ะ . วัตรปฏิบัติโดยทั่วไปของชาวเมียนมานั้นคล้ายกับที่บ้านเรา คือ การเข้าวัดทำบุญ ฟังเทศน์ธรรม และปล่อยนกปล่อยปลาให้ทานแก่สัตว์ แต่ที่แตกต่างออกไป คือ ชาวเมียนมาจะไม่เวียนเทียนเช่นเดียวกับบ้านเรา แต่นิยมการรดน้ำต้นโพธิ์แทน โดยชาวเมียนมาจะนำน้ำสะอาดหรือน้ำที่ผสมน้ำอบน้ำหอมใส่ในหม้อดินเผาที่ปักด้วยใบหว้า แล้วรดไปที่โคนต้นโพธิ์พร้อมถวายดอกไม้นานาชนิด ทั้งนี้คนพม่าเชื่อกันว่าต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าหรือพุทธิปัญญา (ต้นโพธิ์เป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า) ผู้ใดได้ทำแล้วจะขึ้นสวรรค์ ซึ่งการรดน้ำต้นโพธิ์นี้ยังเป็นกุศโลบายในการดูแลรักษาต้นโพธิ์ให้อยู่รอดในช่วงหน้าแล้งด้วยค่ะย

-

Messenger