พระพุทธรูปปางมารวิชัย หินทรายสกุลช่างพะเยา
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
พระพุทธรูปปางมารวิชัย หินทรายสกุลช่างพะเยา
รูปแบบ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21
วัสดุ : หินทราย
ประวัติ : โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) สำรวจรวบรวมได้จากวัดพระเกิดคงคาราม อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529
ลักษณะ : พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์รูปไข่ พระขนงทำเป็นสัน ยาวต่อกันเป็นรูปปีกกา และเชื่อมต่อกับพระนาสิกที่โด่ง พระโอษฐ์บนหยัก ทำมุมตวัดขึ้นเป็นแนวร่องเชื่อมกับพระนาสิก เม็ดพระศกทำเป็นตารางสี่เหลี่ยมส่วนยอดแหลม พระวรกายยืดสูง บั้นพระองค์เล็ก ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ปลายแยก 2 แฉก
---------------------------------------------
สกุลช่างพะเยาจัดเป็นสกุลช่างหนึ่งในศิลปะล้านนา เนื่องจากพบการสร้างพระพุทธรูปที่มีรูปแบบเฉพาะ โดยช่างเมืองพะเยามักใช้หินทรายเป็นวัสดุหลักในการสร้างงานประติมากรรม
.
พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยามีวิวัฒนาการสัมพันธ์กับพระพุทธรูปแบบสำริด ในระยะแรกจากหลักฐาน พบว่าอยู่ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 มีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ต่อมาราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 จากการอัญเชิญพระสุมนเถระขึ้นมาเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ทำให้ปรากฏอิทธิพลศิลปะสุโขทัย จนถึงช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคทองของล้านนาก็ได้พัฒนารูปแบบจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างพะเยาเอง และเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 กลายเป็นแบบพื้นเมืองหรือท้องถิ่นมากขึ้น
.
พระพุทธรูปหินทรายที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่องค์นี้ มีลักษณะเฉพาะที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยา ตัวอย่างเช่น การทำพระขนงโก่งเป็นสันโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกาเชื่อมต่อลงมากับพระนาสิก การทำเม็ดพระศกเป็นตารางสี่เหลี่ยมคล้ายทรงพีระมิด เป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดจากข้อจำกัดของวัสดุหินทราย พระหัตถ์มีลักษณะอูม นิ้วพระหัตถ์ยาวเรียว ปลายนิ้วยาวเสมอกัน และหัตถ์ซ้ายโค้งเข้าหาพระวรกาย นอกจากนี้มีลักษณะบางประการที่มีวิวัฒนาการเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น พระวรกายที่ยืดสูง พระโอษฐ์ที่ตวัดขึ้นและทำเป็นแนวร่องเชื่อมต่อกับพระนาสิก สันนิษฐานว่าเป็นเทคนิคที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการพอกรัก เพื่อให้รักยึดติดกับหินได้
.
---------------------------------------------
อ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 259-262.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา (The Payao School sandstone Buddha image) (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2532) หน้า 120-128.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย – ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. หน้า 152-156.
พระพุทธรูปปางมารวิชัย หินทรายสกุลช่างพะเยา
รูปแบบ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21
วัสดุ : หินทราย
ประวัติ : โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) สำรวจรวบรวมได้จากวัดพระเกิดคงคาราม อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529
ลักษณะ : พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์รูปไข่ พระขนงทำเป็นสัน ยาวต่อกันเป็นรูปปีกกา และเชื่อมต่อกับพระนาสิกที่โด่ง พระโอษฐ์บนหยัก ทำมุมตวัดขึ้นเป็นแนวร่องเชื่อมกับพระนาสิก เม็ดพระศกทำเป็นตารางสี่เหลี่ยมส่วนยอดแหลม พระวรกายยืดสูง บั้นพระองค์เล็ก ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ปลายแยก 2 แฉก
---------------------------------------------
สกุลช่างพะเยาจัดเป็นสกุลช่างหนึ่งในศิลปะล้านนา เนื่องจากพบการสร้างพระพุทธรูปที่มีรูปแบบเฉพาะ โดยช่างเมืองพะเยามักใช้หินทรายเป็นวัสดุหลักในการสร้างงานประติมากรรม
.
พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยามีวิวัฒนาการสัมพันธ์กับพระพุทธรูปแบบสำริด ในระยะแรกจากหลักฐาน พบว่าอยู่ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 มีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ต่อมาราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 จากการอัญเชิญพระสุมนเถระขึ้นมาเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ทำให้ปรากฏอิทธิพลศิลปะสุโขทัย จนถึงช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคทองของล้านนาก็ได้พัฒนารูปแบบจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างพะเยาเอง และเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 กลายเป็นแบบพื้นเมืองหรือท้องถิ่นมากขึ้น
.
พระพุทธรูปหินทรายที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่องค์นี้ มีลักษณะเฉพาะที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยา ตัวอย่างเช่น การทำพระขนงโก่งเป็นสันโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกาเชื่อมต่อลงมากับพระนาสิก การทำเม็ดพระศกเป็นตารางสี่เหลี่ยมคล้ายทรงพีระมิด เป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดจากข้อจำกัดของวัสดุหินทราย พระหัตถ์มีลักษณะอูม นิ้วพระหัตถ์ยาวเรียว ปลายนิ้วยาวเสมอกัน และหัตถ์ซ้ายโค้งเข้าหาพระวรกาย นอกจากนี้มีลักษณะบางประการที่มีวิวัฒนาการเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น พระวรกายที่ยืดสูง พระโอษฐ์ที่ตวัดขึ้นและทำเป็นแนวร่องเชื่อมต่อกับพระนาสิก สันนิษฐานว่าเป็นเทคนิคที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการพอกรัก เพื่อให้รักยึดติดกับหินได้
.
---------------------------------------------
อ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 259-262.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา (The Payao School sandstone Buddha image) (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2532) หน้า 120-128.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย – ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. หน้า 152-156.
(จำนวนผู้เข้าชม 1102 ครั้ง)