...

ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
แมวขูดมะพร้าว

แมวขูดมะพร้าว วัสดุ : ไม้, เหล็กประวัติ : ร้านรัตนาแอนติค มอบให้เมื่อ 9 ตุลาคม 2528ขนาด : กว้าง 8 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร ลักษณะ : ไม้แกะสลักเป็นรูปแมวนอนหมอบยืดขาหน้า หางเก็บข้างลำตัว บริเวณดวงตาประดับกระจกสีเขียว แกะลายเส้นเป็นหนวดแมว ที่ปากแมวมีเหล็กทำเป็นซี่เล็ก ๆ ใช้สำหรับขูดมะพร้าวยื่นออกมา ที่ก้นแมวมีห่วงเหล็กสถานที่เก็บรักษา : คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ -----------------------------------------------------------อุปกรณ์ขูดมะพร้าวเป็นหนึ่งในเครื่องใช้ในครัวเรือนที่สามารถพบเห็นได้ตามบ้านเรือนในหลายภาค เนื่องจากอาหารไทยหรือขนมไทยหลายอย่างมีส่วนประกอบของมะพร้าวหรือกะทิ โดยแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกและรูปร่างที่ต่างกันไป ในภาคกลางคนจะนิยมเรียกว่า “กระต่ายขูดมะพร้าว” อาจเพราะมองว่า ส่วนเหล็กที่ใช้ขูดเนื้อมะพร้าว คล้ายกับฟันกระต่าย หรือบ้างก็ว่ามาจากรูปร่างที่นั่งที่นิยมทำเป็นรูปกระต่าย แต่ที่ภาคเหนือกลับนิยมทำเป็นรูปแมว จึงเรียกว่า “แมวขูดมะพร้าว” (หรือ งอง) อาจเพราะมองเหล็กที่ขูดมะพร้าวคล้ายกับเล็บแมว หรือเพราะนิยมทำที่นั่งเป็นรูปแมวส่วนทางภาคใต้ จะเรียกว่า “เหล็กขูด” หรือ แหล็กขูด นิยมทำเป็นรูปสิงห์ สัตว์ต่าง ๆ หรือรูปคน .วิธีใช้งานแมวขูดมะพร้าว เหมือนกันกับภาคอื่น ๆ คือ คนขูดจะนั่งลงบนส่วนที่นั่งในท่าทางที่ถนัด นำจานหรือถาดมารองไว้ที่ใต้เหล็กที่ใช้ขูด และนำมะพร้าวแห้งผ่าครึ่งมาขูดส่วนเนื้อมะพร้าวออกเบา ๆ สามารถใช้งานได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงเด็ก ๆ ด้วย แต่ต้องคอยระมัดระวังเป็นพิเศษ. ในภาคเหนือมีอาหารหรือขนมที่ต้องใช้ส่วนประกอบของเนื้อมะพร้าวหรือกะทิหลายอย่าง เช่น ข้าวซอย ขนมจีนน้ำลอ ขนมต้มกะทิ ขนมจ็อก ขนมลิ้นหมา ขนมแตงลาย ขนมกนน้ำอ้อย เป็นต้น.นอกจากแมวขูดมะพร้าวจะเป็นตัวช่วยในการขูดมะพร้าวได้สะดวกและง่ายขึ้นแล้ว ก็ยังแสดงออกให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และงานฝีมือของช่างที่ดัดแปลงส่วนที่นั่งทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ ให้เกิดความสวยงามอีกด้วย.แต่ในปัจจุบันเราไม่ค่อยพบเห็นแมวขูดมะพร้าวตามครัวเรือนแล้ว เนื่องจากอาจเพราะมีเครื่องขูดมะพร้าวแบบไฟฟ้าที่ทุ่นแรงได้มากกว่าเข้ามาแทน หรือคนนิยมซื้อมะพร้าวหรือกะทิแบบที่ขายสำเร็จรูปมาใช้ปรุงอาหารเลยเพื่อประหยัดเวลา --------------------------------------------------------อ้างอิง- พจนก กาญจนจันทร. “แมว กระต่าย และต้นไม้แห่งชีวิต”. ศึกษาสิ่งของ เข้าใจผู้คน 30 ปี พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. ปทุมธานี : พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560. หน้า 140-150.- พิชชา ทองขลิบ. “กระต่ายขูดมะพร้าว”. ฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 จาก https://www.sac.or.th/.../trad.../th/equipment-detail.php...

พระมหาเทวีจิรประภา

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ พระมหาเทวีจิรประภา(ครองราชย์ พ.ศ. 2088-2089).พระมหาเทวีจิรประภาเป็นพระมเหสีของพระเมืองเกษเกล้า (กษัตริย์ล้านนา ครองราชย์ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2068-2081 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2086-2088) เป็นพระมารดาของท้าวซายคำ (กษัตริย์ล้านนา ครองราชย์ พ.ศ.2081-2086) และพระนางยอดคำทิพย์ (อัครมเหสีของพระเจ้าโพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง)ซึ่งเป็นพระมารดาของ พระไชยเชษฐาธิราช (พระอุปโย).หลังจากพระเมืองเกษเกล้า พระสวามี ถูกขุนนางใหญ่ลอบปลงพระชนม์ แผ่นดินล้านนาว่างกษัตริย์ เหล่าขุนนางได้อัญเชิญพระมหาเทวีจิรประภาขึ้นปกครองล้านนาเป็นการชั่วคราว นับได้ว่าพระองค์เป็นกษัตรีย์ หรือ กษัตริย์ผู้หญิงพระองค์แรกแห่งราชวงค์มังราย .เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เหล่าขุนนางเชิญพระมหาเทวีจิรประภาขึ้นครองราชย์ ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล วิเคราะห์ไว้ในหนังสือขัติยานีศรีล้านนาว่า เพราะพระองค์มีความพร้อมสูง เนื่องจากมีบทบาททางการเมืองในฐานะที่เคยเป็นพระมเหสีของพระเมืองเกษเกล้า และเป็นพระมารดาของท้าวซายคำ ย่อมสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองไว้มาก เป็นไปได้ว่า พระองค์อยู่เบื้องหลังทางการเมืองในนครเชียงใหม่มานานแล้ว .พระมหาเทวีจิรประภาปกครองล้านนาในช่วงที่บ้านเมืองอ่อนแอ เกิดความแตกแยก พระองค์ขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน กองทัพของสมเด็จพระไชยราชาธิราชจากกรุงศรีอยุธยาก็ยกทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ด้วยสภาพบ้านเมืองในขณะนั้นไม่พร้อมรับศึก เพื่อไม่ให้บ้านเมืองบอบช้ำ พระองค์จึงใช้ยุทธวิธีแต่งบรรณาการไปถวายแทนการสู้รบ ซึ่งพระไชยราชาธิราชยอมรับการเป็นไมตรีนี้ พระองค์ยังได้เชิญพระไชยราชาธิราชทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระเมืองเกษเกล้า ณ วัดโลกโมฬี ด้วย .ภายหลังพระมหาเทวีจิรประภาสละราชบัลลังก์ให้แก่พระไชยเชษฐาธิราชซึ่งมีฐานะเป็นพระราชนัดดา (หลาน)ขึ้นปกครองล้านนา ต่อมาเมื่อพระเจ้าโพธิสารราช กษัตริย์ล้านช้าง สวรรคตกะทันหัน พระไชยเชษฐาธิราชจึงเสด็จกลับไปครองอาณาจักรล้านช้าง ในครั้งนั้นพระองค์ก็ได้ตามเสด็จไปด้วย.ปัจจุบันวัดโลกโมฬี ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นสมัยพระเมืองเกษเกล้าและเป็นที่บรรจุอัฐิ มีประติกรรมรูปพระมหาเทวีจิรประภาและพระเมืองเกษเกล้าตั้งอยู่ในศาลาทางซ้ายมือใกล้ประตูทางเข้าวัด มีความเชื่อว่าผู้ใดอยากสมหวังในเรื่อง “ความรัก” ต้องมากราบไว้ขอพรพระมหาเทวีจิรประภา โดยมีคำไหว้บูชาว่า “มหาเทวี จิรประภา วันทามิ สิระสา สะทาโสตฺถี ภะวันตุเมฯ ข้าพเจ้าขอไหว้พระนางจิรประภาเทวี ด้วยความเคารพนอบน้อมยิ่ง ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่ข้าพเจ้าในกาล เวลาทุกเมื่อเทอญ” และมีหลักการอธิษฐานระบุไว้ว่า “ขอความรัก บนไข่ไก่ 9 ฟอง แก้บน 108 ฟอง ผลไม้ 9 อย่าง พร้อมปัจจัยตามศรัทธา” .จากบทบาทในการเป็นกษัตรีย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ล้านนา ปัจจุบันพระองค์ได้รับความนับถือในฐานะเทพแห่งความรักของล้านนาอีกด้วย --------------------------------------------------------------อ้างอิง- สรัสวดี อ๋องสกุล. "บทบาททางการเมือง ประวัติ และที่มาของอำนาจมหาเทวีจิรประภา". ขัติยานีศรีล้านนา. เชียงใหม่ : มูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ, 2547. หน้า 31-49.- สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2553. หน้า 173.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 16-17.- มาลา คำจันทร์. พื้นบ้านตำนานเมืองล้านนา. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2565. หน้า 165-170.

วิหารจำลอง (โลหะเชตวันวิหาร)

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่วิหารจำลอง (โลหะเชตวันวิหาร)รูปแบบ ศิลปะล้านนา พุทธศักราช 2269วัสดุ สำริดประวัติ - สันนิษฐานว่าที่ตั้งเดิมอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงแสน เนื่องจากข้อความในจารึกมีการกล่าวถึง บ้านของผู้สร้างคือหมื่นสรภิรมย์ ว่าตั้งอยู่หน้าวัดขาวป๊าน ซึ่งคงเป็น วัดผ้าขาวป้าน ในตัวเมืองเชียงแสน ใกล้แม่น้ำโขง- วิหารจำลองหลังนี้ถูกนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม และย้ายไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ----------------------------------------------------ลักษณะวิหารจำลองเป็นการจำลองรูปแบบและโครงสร้างคล้ายกับวิหารขนาดจริงที่เป็นอาคารหลังคาคลุมเครื่องไม้มุงกระเบื้อง โดยย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลงและอยู่ในวัสดุสำริด .แผนผังของวิหารจำลองอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขด้านหน้า 3 มุข ด้านหลัง 2 มุข (เป็นที่มาของหลังคาลดชั้นที่นิยมเรียกว่า หน้า 3 หลัง 2) ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะล้านนา .มีฐานเขียงรองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ บริเวณฐานด้านหน้าทางเข้าประดับประติมากรรมรูปสัตว์ครึ่งตัว สันนิษฐานว่าเป็นสิงห์ จำนวน 2 ตัว .ตัวอาคารเป็นแบบมีฝาผนัง โดยทำฉลุลายคล้ายก้อนเมฆหรือลายช่องกระจกในศิลปะจีน และสลักลายรูปยักษ์ถือกระบอง เปรียบเสมือนทวารบาลที่มักอยู่ที่บานประตู คอยปกป้องสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าภายในวิหาร มีซุ้มประตูทางเข้าที่ด้านหน้า และด้านข้างทั้งสอง.เครื่องบนหลังคา ในส่วนของปราสาทเฟื้อง (ส่วนประดับกลางสันหลังคา) ขอบป้านลม และหางหงส์ ถูกประดับด้วยรูปหงส์ โดยรูปแบบนี้เป็นการจำลองเครื่องบนซึ่งอาจจะทำจากเครื่องเคลือบดินเผาประดับร่วมอยู่ด้วย เป็นการจำลองวิหารที่เกิดขึ้นในยุคที่ล้านนาอยู่ภายใต้ปกครองของพม่า.วิหารจำลองหลังนี้มีจารึกอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยยวน ปรากฏอยู่ที่ ฝาผนังหลังวิหารด้านนอก ส่วนฐานวิหาร และรอบกรุเจดีย์ในวิหาร ข้อความที่จารึกมีใจความเหมือนกับการจารึกที่ฐานพระพุทธรูป เพียงแต่นำออกมามาจารึกที่ตัววิหารแทน กล่าวคือ บอกวันเดือนปีที่สร้าง นามผู้สร้างพร้อมคณะ บอกสิ่งที่สร้าง เจตนาการสร้าง คำปรารถนาของผู้สร้าง และคำบาลี .โดยสรุปใจความโดยย่อได้ว่า... เมื่อจุลศักราช 1088 (ตรงกับปีพุทธศักราช 2269) หมื่นสรภิรมย์ และนางหมื่นสรภิรมย์ บ้านอยู่ที่หน้าวัดขาวป๊าน (คาดว่าเป็นวัดผ้าขาวป้าน) เป็นประธาน พร้อมลูกหลานเหลน วงศาคณาญาติทุกคน มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนา จึงสร้างโลหะเชตวันวิหารหลังนี้ และยังได้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งและมหาเจดีย์เจ้าหลังหนึ่ง ตั้งไว้ในวิหารจำลองหลังนี้ด้วย (แต่ปัจจุบันภายในเหลือเพียงส่วนฐานของพระพุทธรูปและเจดีย์) เพื่อให้เป็นที่ไหว้สักการะ และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ถึง 5,000 พระวัสสา ขอให้ผลบุญที่ได้นำไปสู่นิพพาน .นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึง น้ำหนักทองสำริดที่ใช้ในการสร้างหมดไป 120,000 (ประมาณ 132 กิโลกรัม) เป็นเงิน 1,170 อีกด้วย.แม้ว่าจะการสร้างวิหารจำลอง อาจจะมีสัดส่วนผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีการเก็บรายละเอียดโดยรวมให้คล้ายคลึงกับวิหารขนาดจริงมากที่สุด อาจเป็นไปได้ว่ามีความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงค์ของการสร้างวิหารจำลองว่าเปรียบเสมือนได้สร้างวิหารขนาดจริง เพียงแต่สร้างเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปที่สร้างถวายไว้----------------------------------------------------อ้างอิง - ฮันส์ เพนธ์, ศรีเลา เกษพรหม และศราวุธ ศรีทา. ประชุมจารึกล้านนา เล่ม 8 : จารึกในจังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2547. หน้า 299-304- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 170-174.- ฐาปกรณ์ เครือระยา. เครื่องเคลือบดินเผาประดับในศิลปกรรมล้านนา. เชียงใหม่ :โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (อพ.สธ.-มจ.), 2566. หน้า 100 – 103.

พระเจ้าไม้

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่พระเจ้าไม้พระไม้ หรือ พระเจ้าไม้ หมายถึง พระพุทธรูปที่แกะจากไม้ชนิดต่าง ๆ โดยนิยมแกะขึ้นจากไม้ท่อนเดียว แต่ก็มีบางองค์แกะจากไม้หลายชนิดมาประกอบเข้าด้วยกัน มักสร้างในช่วงเดือนยี่เป็ง หรือ เดือนสิบสองของภาคกลาง .- คติเกี่ยวกับไม้มงคลที่ใช้สร้างพระไม้จากการศึกษาของ ผศ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง พบว่าไม้ที่นิยมนำมาสร้างพระไม้ คือ ไม้สัก ไม้สะหรี (โพธิ์) ไม้สะเลียม (สะเดา) ไม้แก่นจันทน์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลมาสร้างพระไม้อีกด้วยพระไม้ที่สร้างจากไม้ท่อนเดียวมักเป็นของเจ้าภาพที่มีอำนาจหรือผู้นำชุมชน สร้างถวายวัดเพื่อหวังอานิสงค์ให้ได้ไปพบพระศรีอริยเมตไตรย (พระอนาคตพุทธเจ้า) และสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา หรือตั้งใจถวายเป็นเหตุปัจจัยให้ถึงนิพพานในที่สุดอนึ่งในบางท้องที่ทั้งในพม่าและไทย มีการสร้างพระไม้ด้วยหวายหรือไม้ไผ่จักตอก เอามาสานเป็นองค์พระแล้วพอกครั่ง หรือปูน ลงรักปิดทองให้สวยงามเรียกว่า พระสาน พระเจ้าอินทร์สาน หรือ พระอินทร์ถวายพระไม้อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “พระเจ้าพร้าโต้” ผู้สร้างจะแกะไม้เป็นรูปพระโดยใช้เวลาเพียง 1 วัน ทำให้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พระเจ้าทันใจ”พระไม้ที่สร้างโดยประกอบขึ้นจากไม้หลายท่อน เป็นพระไม้ชนิดพิเศษ เรียกว่า “พระเจ้าไม้ชาตา” (พระเจ้าชะตา) หรือ “พระเจ้าไม้สมฤทธี” หรือ “พระเจ้าไม้เจ็ดเยื่อง” เชื่อว่าผู้ใดสร้างหวังสิ่งจะสมความปรารถนาทุกประการ ผู้สร้างมักเป็นเจ้านายและขุนนาง.- อบรมสมโภชพระไม้เมื่อสร้างพระไม้เสร็จแล้ว จะมีพิธี “บวชพระเจ้า” “เบิกบายรวายสีพระเจ้า”หรือ “อบรมสมโภชพระเจ้า” คือพิธีพุทธาภิเษกเพื่อสถาปนาองค์พระให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ โดยตำราของวัดเมืองราม ตำบลนาเหลือง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ระบุว่า เจ้าภาพสร้างพระเกิดวันใดก็ให้ประกอบพิธีในวันนั้น เช่น เจ้าภาพเกิดจันทร์ ก็ให้บวชพระเจ้าในวันจันทร์ ส่วนเครื่องประกอบในพิธีการ เช่น เบี้ยหมื่น หมากหมื่น ฯลฯ.- ข้อมูลประวัติศาสตร์จากจารึกฐานพระไม้บริเวณฐานของพระไม้โดยส่วนใหญ่มักปรากฏคำจารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยให้เราทราบอายุสมัยและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ๆ ได้ พบทั้งแบบจารึกข้อความยาว ๆ หรือแบบสั้น ๆ สองสามคำ คำจารึกส่วนมากมีใจความคล้าย ๆ กัน โดยมักมีข้อความเรียงลำดับตามนี้ วัน เดือน ปีที่สร้าง : ส่วนมากจะขึ้นด้วยปีจุลศักราช ตามด้วยตัวเลขปี ชื่อปีหนไท ชื่อเดือน หรือลำดับเดือน บอกวัน (นับแบบมอญ เช่น เมงวัน) ตามด้วยตัวเลขลำดับวัน ตามด้วยวันไท ไทรวายสีเจ้าศรัทธาหรือนามผู้สร้างพร้อมคณะ : นิยมขึ้นต้นด้วยคำว่า ปถมมูลลศรัทธา มูลลศรัทธา หรือสัทธา ตามด้วยหลายนามผู้สร้างหรือถวายสิ่งที่สร้าง : ส่วนมากจะใช้คำว่า ได้สร้างพุทธรูปเจ้าองค์นี้ หรือบอกลักษณะของพระพุทธรูปที่สร้างเช่น ได้สร้างยังพุทธรูปเจ้ารับบาตร แลห้ามมารเจตนาในการสร้าง : เจตนาหลักในการสร้างเกือบทุกองค์มักเพื่อค้ำชูพระศาสนาให้ถึง 5,000 พระวัสสาคำปรารถนาของผู้สร้าง : คำปรารถนามักเขียนต่อจากเจตนาการสร้าง มีใจความสำคัญคือ ขอให้ได้พบกับความสุข และเป็นความสุข 3 ประการ (ความสุขในเมืองคน สุขในเมืองฟ้า สุขหลังความตาย)คำบาลี : ปิดท้ายด้วยคำบาลีซึ่งมีใจความเช่นเดียวกับคำปรารถนาของผู้สร้าง การจบด้วยคำบาลีเหมือนเป็นการเน้นย้ำให้คำปรารถนาเป็นจริงในอนาคต.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ นำพระเจ้าไม้มาจัดแสดงเนื่องในกิจกรรมไหว้พระปีใหม่ ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมและสักการะได้ ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2566 – 7 มกราคม 2567วันเปิดทำการ : วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 09:00 - 16:00 น.วันปิดทำการ : วันจันทร์ - วันอังคาร*เปิดให้บริการช่วงเทศกาลปีใหม่ (29 ธ.ค. 66 - 1 ม.ค. 67) ----------------------------------------------------อ้างอิงวิลักษณ์ ศรีป่าซาง. พระเจ้าไม้ล้านนา. เชียงใหม่ : สีสันพรรณไม้, 2554. หน้า 101 – 128.ศิรพงศ์ ศักดิ์สิทธิ์. คติการสร้างพระพุทธรูปไม้ล้านนา. ดำรงวิชาการ , Vol 11, No.2, 2012.

เฟิ่งหวง : นกมงคลในความเชื่อของวัฒนธรรมจีน

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ เฟิ่งหวง : นกมงคลในความเชื่อของวัฒนธรรมจีนจานลายครามสมัยราชวงศ์หมิงใบหนึ่ง ที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดหนานช้าง ในเขตเวียงกุมกาม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีการเขียนภาพ ซาน เฟิ่งหวง หั่วจู หรือ ราชาแห่งนกทั้งสามกับไข่มุกไฟ ซึ่งมีความหมายมงคล ดังนี้.เฟิ่งหวง (凤凰) หรือ ราชาแห่งนกทั้งปวงในวัฒนธรรมจีน มักปรากฏอยู่เสมอในงานศิลปะและวรรณกรรมของจีนการปรากฏตัวของเฟิ่งหวงเป็นลางบอกถึงสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง ความเมตตา คุณธรรม ความยั่งยืน ความเป็นอมตะ เฟิ่งหวง เกิดขึ้นประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว วาดเป็นนกตัวผู้ (เฟิ่ง) และ นกตัวเมีย (หวง) ต่อมาถูกรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เกิดเป็น “เฟิ่งหวง” นกเพศเมีย ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนจักรพรรดินี เมื่อแปลคำว่า เฟิ่งหวง เป็นภาษาอังกฤษ มักใช้คำว่า ฟีนิกซ์ (Phoenix) เนื่องจากฟีนิกซ์มีรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงและมีคุณสมบัติหลายอย่างใกล้เคียงกับเฟิ่งหวง โดยเฉพาะการฟื้นคืนชีพจากความตาย หรือ ความเป็นอมตะ .หัวจู่ (火珠) หรือ ไข่มุกไฟ เป็นสัญลักษณ์มงคลในวัฒนธรรมจีน ที่รวมแสงสว่างและความอบอุ่นสาดส่องทั่วแผ่นดิน ไม่มีวันดับสูญสลายตลอดกาลนาน.ซานเฟิ่งหวง (三凤凰) ราชานก 3 ตัว เลข 3 ในวัฒนธรรมจีนเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตมนุษย์ใน 3 สถานะคือ เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส (หรือ การเกิด การแต่งงาน การสิ้นสุดของชีวิต) และคำว่า 3 (ซาน) พ้องเสียงกับคำว่า เซิง ที่หมายถึงการเกิด.ภาพ ซาน เฟิ่งหวง หั่วจู จึงมีความหมายมงคลครอบคลุมชีวิตมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดให้มีความสุข ความเจริญในทุก ๆ ด้านตลอดไป.เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2567 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้จัดทำยาดมสมุนไพรไม้หอม* ลายภาพซาน เฟิ่งหวง หัวจู่ อันมงคลนี้ (จำนวนจำกัด) มอบให้แทนความรักและความปรารถนาดี ส่งเป็นความสุขปีใหม่แด่ท่านที่เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ -----------------------------------------------------------*รับฟรี ! ยาดมสมุนไพรไม้หอมเมื่อ check-in และกด liked เพจพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ (รับได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตร)

ตุงสามหาง

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ตุงสามหางตุง หมายถึง ธงแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา ตามความเชื่อของคนล้านนา ตุง ไม่ได้เป็นเพียงของใช้สำหรับการประดับตกแต่งหรือสื่อถึงสัญลักษณ์ความเป็นล้านนาเท่านั้น แต่ตุงยังมีความหมายและความสำคัญซ่อนอยู่ ใช้เป็นเครื่องประกอบสำคัญในงานประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อ หรือถวายเป็นพุทธบูชา โดยมีทั้งรูปแบบที่ใช้สำหรับงานมงคล งานอวมงคล หรือใช้ได้ทั้งสองงาน . “ตุงสามหาง” มีอีกชื่อเรียกว่า ตุงฮูปคน หรือ ตุงผีต๋าย เป็นตุงแบบที่ใช้สำหรับงานอวมงคลเท่านั้น เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยตุงประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. ส่วนหัว 2. ส่วนตัว ทำเหมือนแขนคน และ 3. ส่วนหาง ทำเป็น 3 ชาย รูปแบบที่พบในปัจจุบัน มีทั้งแบบที่ทำเป็นเค้าโครงรูปร่างคนอย่างชัดเจน แบบที่ทำเป็นรูปเทพนมหรือเทวดา หรือแบบที่ทำเป็นรูปเจดีย์และมีรูปโกศอยู่ภายใน โดยทุกแบบจะมีชาย 3 หางห้อยลงมา วัสดุที่ใช้ทำจากผ้าหรือกระดาษสา ตกแต่งด้วยกระดาษเงินหรือกระดาษทอง เป็นลวดลายต่าง ๆ สำหรับของพระภิกษุสงฆ์ ตัวตุงจะใช้ผ้าสีเหลือง หรือผ้าสบงผืนใหม่.ในอดีตช่างจะทำตุงสามหางต่อเมื่อมีคนตายแล้วเท่านั้น ไม่มีการทำเตรียมไว้ล่วงหน้า และจะทำรูปลักษณ์ของตุงตามลักษณะของผู้ตาย เช่น ผอม อ้วน สูง เตี้ย เพื่อเป็นการบอกกล่าวให้คนที่มางานศพทราบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ตาย แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำในลักษณะนี้แล้ว ใช้วิธีการเขียนแทน โดยเขียนระบุบอกชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิดและเสียชีวิตไว้บนตุง. เมื่อถึงวันเผาศพหรือเสียศพ จะมีคนแบกคันตุงสามหางพร้อมสะพายถุงข้าวด่วน เดินนำหน้าขบวนแห่ศพไปสู่สุสานหรือป่าช้า และนำไปไว้ติดกับเมรุเผาศพพร้อมเผาไปพร้อมกับศพด้วย มีความเชื่อกันว่าคนถือตุงห้ามหันหลังมองกลับมาจนกว่าจะไปถึงป่าช้า เพราะหากหันกลับมาเชื่อว่าจะมีคนตายเพิ่มอีก ในอดีตจะมีการเลือกคนที่ถือตุงนำขบวนจะต้องเป็นคนที่มีความประพฤติดี มีศีลธรรม แต่ปัจจุบันจะเป็นใครก็ได้ที่รับอาสาทำหน้าที่นี้ .ความหมายเกี่ยวกับตุงสามหางมีผู้ตีความไว้หลากหลายนัย อาทิเช่น เชื่อว่าหางตุงทั้ง 3 หางหมายถึง ที่พึ่งสูงสุดของมนุษย์คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บ้างก็เชื่อว่าหมายถึง โลกทั้ง 3 ของมนุษย์คือ สวรรค์ มนุษยโลก และนรกภูมิ บ้างก็เชื่อว่าหมายถึง อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เป็นต้น--------------------------------------------อ้างอิง- ยุพิน เข็มมุกด์. ช่อและตุง ศิลป์แห่งศรัทธา ภูมิปัญญาท้องถิ่น. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์แสงศิลป์, 2553. หน้า 142, 191-199. - คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542 หน้า 151.- ดอกรัก พยัคศรี. ตุง. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2566 จาก https://www.sac.or.th/.../trad.../th/equipment-detail.php...ภาพประกอบ- ตุงสามหาง จาก ร้านส.สว่าง ตุงสามหาง จังหวัดเชียงใหม่ (ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลและอนุญาตให้ถ่ายภาพ) - ตุงสามหางรูปคน จาก งานศพในจังหวัดลำปาง (ถ่ายโดยคุณอริยธัช มูลน้อย)