...

วิหารจำลอง (โลหะเชตวันวิหาร)
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
วิหารจำลอง (โลหะเชตวันวิหาร)
รูปแบบ ศิลปะล้านนา พุทธศักราช 2269
วัสดุ สำริด
ประวัติ  
- สันนิษฐานว่าที่ตั้งเดิมอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงแสน เนื่องจากข้อความในจารึกมีการกล่าวถึง บ้านของผู้สร้างคือหมื่นสรภิรมย์ ว่าตั้งอยู่หน้าวัดขาวป๊าน ซึ่งคงเป็น วัดผ้าขาวป้าน ในตัวเมืองเชียงแสน ใกล้แม่น้ำโขง
- วิหารจำลองหลังนี้ถูกนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม และย้ายไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่
----------------------------------------------------
ลักษณะวิหารจำลองเป็นการจำลองรูปแบบและโครงสร้างคล้ายกับวิหารขนาดจริงที่เป็นอาคารหลังคาคลุมเครื่องไม้มุงกระเบื้อง โดยย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลงและอยู่ในวัสดุสำริด
.
แผนผังของวิหารจำลองอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขด้านหน้า 3 มุข ด้านหลัง 2 มุข (เป็นที่มาของหลังคาลดชั้นที่นิยมเรียกว่า หน้า 3 หลัง 2) ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะล้านนา
.
มีฐานเขียงรองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ บริเวณฐานด้านหน้าทางเข้าประดับประติมากรรมรูปสัตว์ครึ่งตัว สันนิษฐานว่าเป็นสิงห์ จำนวน 2 ตัว
.
ตัวอาคารเป็นแบบมีฝาผนัง โดยทำฉลุลายคล้ายก้อนเมฆหรือลายช่องกระจกในศิลปะจีน และสลักลายรูปยักษ์ถือกระบอง เปรียบเสมือนทวารบาลที่มักอยู่ที่บานประตู คอยปกป้องสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าภายในวิหาร มีซุ้มประตูทางเข้าที่ด้านหน้า และด้านข้างทั้งสอง
.
เครื่องบนหลังคา ในส่วนของปราสาทเฟื้อง (ส่วนประดับกลางสันหลังคา) ขอบป้านลม และหางหงส์ ถูกประดับด้วยรูปหงส์ โดยรูปแบบนี้เป็นการจำลองเครื่องบนซึ่งอาจจะทำจากเครื่องเคลือบดินเผาประดับร่วมอยู่ด้วย เป็นการจำลองวิหารที่เกิดขึ้นในยุคที่ล้านนาอยู่ภายใต้ปกครองของพม่า
.
วิหารจำลองหลังนี้มีจารึกอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยยวน ปรากฏอยู่ที่ ฝาผนังหลังวิหารด้านนอก ส่วนฐานวิหาร และรอบกรุเจดีย์ในวิหาร ข้อความที่จารึกมีใจความเหมือนกับการจารึกที่ฐานพระพุทธรูป เพียงแต่นำออกมามาจารึกที่ตัววิหารแทน กล่าวคือ บอกวันเดือนปีที่สร้าง นามผู้สร้างพร้อมคณะ บอกสิ่งที่สร้าง เจตนาการสร้าง คำปรารถนาของผู้สร้าง และคำบาลี
.
โดยสรุปใจความโดยย่อได้ว่า... เมื่อจุลศักราช 1088 (ตรงกับปีพุทธศักราช 2269) หมื่นสรภิรมย์ และนางหมื่นสรภิรมย์ บ้านอยู่ที่หน้าวัดขาวป๊าน (คาดว่าเป็นวัดผ้าขาวป้าน) เป็นประธาน พร้อมลูกหลานเหลน วงศาคณาญาติทุกคน มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนา จึงสร้างโลหะเชตวันวิหารหลังนี้ และยังได้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งและมหาเจดีย์เจ้าหลังหนึ่ง ตั้งไว้ในวิหารจำลองหลังนี้ด้วย (แต่ปัจจุบันภายในเหลือเพียงส่วนฐานของพระพุทธรูปและเจดีย์) เพื่อให้เป็นที่ไหว้สักการะ และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ถึง 5,000 พระวัสสา ขอให้ผลบุญที่ได้นำไปสู่นิพพาน
 .
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึง น้ำหนักทองสำริดที่ใช้ในการสร้างหมดไป 120,000 (ประมาณ 132 กิโลกรัม) เป็นเงิน 1,170 อีกด้วย
.
แม้ว่าจะการสร้างวิหารจำลอง อาจจะมีสัดส่วนผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีการเก็บรายละเอียดโดยรวมให้คล้ายคลึงกับวิหารขนาดจริงมากที่สุด อาจเป็นไปได้ว่ามีความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงค์ของการสร้างวิหารจำลองว่าเปรียบเสมือนได้สร้างวิหารขนาดจริง เพียงแต่สร้างเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปที่สร้างถวายไว้
----------------------------------------------------
อ้างอิง
- ฮันส์ เพนธ์, ศรีเลา เกษพรหม และศราวุธ ศรีทา. ประชุมจารึกล้านนา เล่ม 8 : จารึกในจังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2547. หน้า 299-304
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 170-174.
- ฐาปกรณ์ เครือระยา. เครื่องเคลือบดินเผาประดับในศิลปกรรมล้านนา. เชียงใหม่ :โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (อพ.สธ.-มจ.), 2566. หน้า 100 – 103.

(จำนวนผู้เข้าชม 447 ครั้ง)


Messenger