...

บทความเเละองค์ความรู้ หจช.สงขลา ๐๐๔ เรื่อง จดหมายเหตุว่าด้วย โรคติดต่อร้ายแรง ตอนที่ ๓ ไข้มาลาเรียในพื้นที่ภาคใต้
ไข้มาลาเรีย ตอนที่ ๓ ไข้มาลาเรียในพื้นที่ภาคใต้
ไข้มาลาเรีย ไข้ป่า ไข้จับสั่น ในพื้นที่ภาคใต้ มีชื่อเรียกตามความเข้าใจของประชาชน ในแต่ละพื้นที่ เช่น ไข้ป้าง ไข้ร้อน ไข้เย็น ไข้ท้าน (ท้าน คือ อาการหนาวสั่น) ประชาชนในพื้นที่เข้าใจว่า สาเหตุการเกิดและแพร่ระบาดของไข้มาลาเรีย เกิดจากการดื่มน้ำในแหล่งน้ำตามป่า และในบางพื้นที่ยังเข้าใจว่าเกิดจากการกระทำของผีบรรพบุรุษ
 
การแพร่ระบาดของไข้มาลาเรียในพื้นที่ภาคใต้
ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี ประกอบกับการทำอาชีพกรีดยางพารา ในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ยุงก้นปล่องออกหากิน ทำให้ในพื้นที่สวนยางพาราในชนบท
เกิดการระบาดของไข้มาลามากกว่าพื้นที่ในเขตเมือง จากรายงานภาวะไข้มาลาเรียของศูนย์มาลาเรียเขต 4 สงขลา เมื่อ พ.ศ. 2520 ในอำเภอหาดใหญ่ การระบาดของไข้มาลาเรียไม่รุนแรงมากนัก ส่วนอำเภอสะเดา มีปัญหาการระบาดของไข้มาลาเรียอย่างหนัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าเขา และมีประชาชนจากหลายพื้นที่เข้าไปบุกเบิกทำสวนยางพารา แต่เมื่อมีการปิดพื้นที่อำเภอสะเดา เนื่องจากปัญหาความไม่สงบ ประชาชนที่เดินทางไปบุกเบิกพื้นที่ทำสวนยางพาราเหล่านี้ จึงเดินทางกลับภูมิลำเนาในอำเภอหาดใหญ่ เป็นเหตุให้การแพร่ระบาดของไข้มาลาเรียในอำเภอหาดใหญ่รุนแรงมากขึ้น
 
การควบคุม
การควบคุมและการรักษาไข้มาลาเรีย ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การควบคุมและรักษาไข้มาลาเรียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี พ.ศ. 2512 ฝ่ายสุขศึกษา – อบรม ศูนย์มาลาเรีย เขต 4 สงขลา ดำเนินการสำรวจทางสุขศึกษา เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของประชาชนต่อไข้มาลาเรีย ในพื้นที่ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง พบว่ามีประชาชนเพียง 23% ที่ทราบว่าไข้มาลาเรียมีสาเหตุมาจากยุงก้นปล่องเป็นพาหะ แต่ยังมีประชาชนอีก 53% ที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดไข้มาลาเรีย
ในการควบคุมและรักษาไข้มาลาเรีย เจ้าหน้าที่จะดำเนินการพ่นยา ตรวจโลหิต และรักษาผู้ป่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน คือ
1. ให้เจ้าที่มาลาเรีย พ่น ดี.ดี.ที. ในบ้านและที่อยู่อาศัยของท่านอย่างทั่วถึง
2. หากท่านและญาติพี่น้องไม่สบาย หรือสงสัยว่าจะเป็นไข้มาลาเรียให้ไปตรวจรักษาได้ที่ หน่วยมาลาเรีย สถานีอนามัย และโรงพยาบาลได้ตลอดเวลาราชการ
3. ให้ท่านกินยาตามที่เจ้าหน้าที่สั่งจนหมด อย่าเก็บทิ้งไว้
4. เมื่อท่านจะไปในป่าหรือกลับจากป่าให้ท่านไปตรวจโลหิตหาเชื้อมาลาเรีย
5. ให้ท่านนอนกางมุ้งทุกคืน
6. ก่อนเข้าไปในป่าควรกินยาป้องกันไข้มาลาเรียทุกครั้ง
 
รายละเอียดสามารถมาศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
ถนนกาญจนวนิช ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ๙๐๑๑๐
โทร. ๐ ๗๔๒๑ ๒๕๖๒, ๐ ๗๔๒๑ ๒๔๗๙
โทรสาร ๐ ๗๔๒๑ ๒๑๘๒
E-mail : national.archives.songkhla@gmail.com
Website : http://www.finearts.go.th/songkhlaarchives/ 
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 491 ครั้ง)


Messenger