พระพุทธบาทบัวบก บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

ที่ตั้ง              บ้านติ้ว  ตำบลเมืองพาน  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี

พิกัดแผนที่       แผนที่ระวาง  5444  II  มาตราส่วน  1: 50,000

                   พิมพ์ครั้งที่  1  -RTSD  ลำดับชุด  L  7017

                   พิกัดกริด  48  QTE  218604

                   เส้นรุ้ง  ๑๗  องศา  ๔๒  ลิปดา  ๔๗  ฟิลิปดา  เหนือ

                   เส้นแวง  ๑๐๒  องศา  ๒๒  ลิปดา  ๒๘  ฟิลิปดา  ตะวันออก

 

สิ่งสำคัญที่ขึ้นทะเบียน

                   ๑.พระพุทธบาทบัวบก

                   ๒.หอนางอุษา

                   ๓.วัดพ่อตา

                   ๔.วัดลูกเขย

                   ๕.ถ้ำคน

                   ๖.คอกม้า

                   ๗.โนนสาวเอ้

                   ๘.ถ้ำเกิ้ง

 

ประวัติสังเขป

                   พระพุทธบาทบัวบกและกลุ่มโบราณสถานตั้งอยู่บนภูพระบาท  พระพุทธบาทบัวบก มีความหมายว่า  รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่ประทับไว้ในสถานที่ที่มีบัวบกขึ้นอยู่มีข้อความกล่าวอ้างถึงไว้ในตำนานพระเจ้าเลียบโลก  ว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จมาปราบนาคสองพี่น้องที่ภูกูเวียน ( ภูพระบาท ) เมื่อนาคทั้งสองพ่ายแพ้แล้ว  ได้ทูลขอให้พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้  ๒  แห่ง  คือ  รอยพระพุทธบาทบัวบกแห่งนี้  และรอยพระพุทธบาทบัวบานอีกแห่งหนึ่ง

                   ตามประวัติว่าแต่เดิมมีอุบมง ( มณฑป ) ขนาดเล็กสร้างครอบพระพุทธบาทไว้  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓  พระอาจารย์สีทัตถ์  สุวรรณมาโจ  ได้ธุดงค์มาพบจึงได้ปฏิสังขรณ์สร้างพระธาตุครอบใหม่ดังปรากฏในปัจจุบัน  โดยใช้เวลาสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๓  แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๗๖  หรือประมาณ  ๑๔  ปี

 

ลักษณะรูปแบบศิลปกรรม

                   องค์พระธาตุที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาทนี้  มีลักษณะศิลปกรรมล้านช้าง  โดยสร้างจำลองตามแบบพระธาตุพนมองค์เดิม  คือเป็นพระธาตุทรงเหลี่ยมฐานกว้างด้านละ  ๘.๕๐  เมตร  สูงประมาณ  ๔๕  เมตร  ส่วนฐานชั้นล่างก่อเป็นห้อง  สามารถเข้าไปนมัสการรอยพระพุทธบาทได้  ส่วนยอดพระธาตุทรงบัวเหลี่ยมสูงเพรียว  ประดับด้วยฉัตร  ๙  ชั้น  ในส่วนยอดประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบในรอยพระพุทธบาทเดิม

                   บริเวณใกล้เคียงมีพระธาตุองค์เล็ก  ๑  องค์  จำลองแบบจากพระธาตุองค์ใหญ่  เป็นพระธาตุบรรจุอัฐิหลวงปู่บุญ  ผู้เป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่มั่น  ภูริตทัตโต  และหลวงปู่เสาร์  กันตสีโล  ท่านมรณภาพบนภูพระบาท  บรรดาลูกศิษย์จึงได้สร้างพระธาตุบรรจุอัฐิของท่าน

                   นอกจากนี้ในบริเวณเทือกเขาภูพระบาทยังปรากฏโบราณสถานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  คือภาพเขียนสี  โบราณสถานสมัยทวารวดี  คือกลุ่มใบเสมาหินทราย  ได้ปรากฏหลักฐานอยู่มากมาย  ปัจจุบันกรมศิลปากรได้พัฒนาเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

 

อายุสมัย          ราวพุทธศตวรรษที่  ๒๒ – ๒๔  ในสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง

 

ประเภทโบราณสถาน

                   ศาสนสถานในพุทธศาสนา

 

ลักษณะการใช้งานในปัจจุบัน

                   สถานที่ศักดิ์สิทธิ์  เป็นที่เคารพสักการบูชาของท้องถิ่นและบุคคลทั่วไป

 

การดำเนินงาน

                   ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๒ – ๒๕๓๕  ได้พัฒนาพื้นที่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  โดยปรับปรุงภูมิทัศน์  จัดสร้างสำนักงาน  ศูนย์บริการข้อมูล  และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

 

การขึ้นทะเบียน

                   ๑.กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ  ในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  ๕๒  วันที่  ๘  มีนาคม  ๒๔๗๘  ระบุชื่อ “ พระพุทธบาท “ บัวบก “ อำเภอบ้านผือ  ตำบลเมืองพาน “

                   ๒.กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน  ในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  ๙๕  ตอนที่  ๙๘  วันที่  ๑๙  กันยายน  ๒๕๒๑  ระบุว่า “ จากการสำรวจปรากฏว่ามีโบราณสถานที่อยู่บริเวณใกล้เคียง  คือ  หอนางอุษา  วัดพ่อตา  วัดลูกเขย  ถ้ำคน  คอกม้า  โนนสาวเอ้  และถ้ำเกิ้ง  ซึ่งควรรักษาไว้  จึงกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระพุทธบาทบัวบก  วัดพระพุทธบาทบัวบก  ที่ภูพระบาท  บ้านติ้ว  ตำบลเมืองพาน  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  เนื้อที่ประมาณ  ๑๙,๐๖๒  ไร่ “

                   ๓.กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน  ในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  ๙๘  ตอนที่  ๖๓  วันที่  ๒๘  เมษายน  ๒๕๒๔  ระบุว่า “ โบราณสถานพระพุทธบาทบัวบก  ที่ภูพระบาท  เนื้อที่ประมาณ  ๑๙,๐๖๒  ไร่…….ปรากฏว่าเนื้อที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง  และจำนวนเนื้อที่ตามข้อเท็จจริง  คือประมาณ  ๓,๔๓๐  ไร่ “

 

ที่มาของข้อมูล

                   ๑.ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  ๕๒  วันที่  ๘  มีนาคม  ๒๔๗๘. 

                   ๒.ราชกิจจานุเบกษาเล่ม๙๕ตอนที่ ๙๘  วันที่  ๑๙  กันยายน  ๒๕๒๑ หน้า ๓๑๒๒.

                   ๓.ราชกิจจานุเบกษาเล่ม๙๘ ตอนที่ ๖๓  วันที่  ๒๘ เมษายน  ๒๕๒๔  หน้า ๑๒๑๔

                   ๔.สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่  ๗  ขอนแก่น , ทำเนียบโบราณสถานอีสานบน , เอกสารอัดสำเนา , ๒๕๔๒.

                   ๕.หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี , มรดกสิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี , ๒๕๔๓.

 

หมายเหตุ        ปัจจุบันคือโบราณสถานในเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

(จำนวนผู้เข้าชม 5137 ครั้ง)

Messenger