ประวัติและบทบาทหน้าที่

สำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น ตั้งอยู่ที่  ๑๙๓ ถ.กสิกรทุ่งสร้าง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ๔๐๐๐๐ โทร. ๐๔๓-๒๔๒๑๒๙ ๐๔๓-๓๓๗๖๒๙ พื้นที่โดยรวมของสำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีพื้นที่ ๔๒ ไร่ ๑ งาน ๗๕ ตารางวา เมื่อแบ่งขอบเขตพื้นที่ของสองหน่วยงานแล้ว จะได้พื้นที่สำนักงานศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น มีพื้นที่ประมาณ ๑๗ ไร่ ๓ งาน ๘๓ ตารางวา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น มีพื้นที่ประมาณ ๒๔ ไร่ ๑ งาน ๙๒ ตารางวา

 

 

        

เริ่มตั้งหน่วยงานในปี พ.ศ.๒๕๐๗ เดิมชื่อหน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลรักษาโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ในขอบเขตพื้นที่ ๙ จังหวัด ของภาคอีสานตอนบน คือ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม เลย มุกดาหาร โดยขอใช้สถานที่ทำงานชั่วคราวอาคารศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ได้ย้ายมาตั้งที่ทำการศาลากลางจังหวัดขอนแก่น จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๑๑ จึงย้ายมาอยู่ที่อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น เมื่อสร้างแล้วเสร็จ พ.ศ.๒๕๑๓ ภายหลังกรมศิลปากรได้ขยายขอบข่ายของงานออกในปี พ.ศ.๒๕๑๘ แบ่งงานของฝ่ายพิพิธภัณฑ์ขึ้นกับกองพิพิธภัณฑ์ และงานโบราณคดี คือ หน่วยศิลปากรต่าง ๆ ขึ้นกับกองโบราณคดี

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๐ หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น สังกัดกองโบราณคดี ย้ายสถานที่ตั้งหน่วยงานออกจากอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น มาอยู่ที่อาคารสำนักงานที่สร้างแล้วเสร็จ เริ่มแรกมีอาคารเพียงแค่หลังเดียว

ปี พ.ศ.๒๕๓๘ กรมศิลปากรมีการปรับโครงสร้างหน่วยงานใหม่อีกครั้ง จึงเปลี่ยนชื่อหน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่นเป็น สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๗ ขอนแก่น โดยรวมทั้งสองหน่วยงานเป็นหน่วยงานเดียวกัน รับผิดชอบ ๗ จังหวัด อีสานตอนบน คือ จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม สกลนคร หนองคาย เลย หนองบัวลำภู และหน่วยงานในสังกัด คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท สังกัดสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ

ปี พ.ศ.๒๕๔๐ ก่อสร้างอาคารเพิ่มอีก ๑ หลัง ประกอบด้วย ห้องประชุม และห้องฝ่ายวิชาการ

ปี พ.ศ.๒๕๔๕ มีการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้น กรมศิลปากรจึงโอนจากการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และปรับโครงสร้างสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็น ๒ หน่วยงาน คือ สำนักโบราณคดี และสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงมีการปรับเปลี่ยนชื่อหน่วยงานอีกครั้งเป็น สำนักงานศิลปากรที่ ๙ ขอนแก่น สังกัด สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม รับผิดชอบ ๖ จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู และอุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท

ปี พ.ศ.๒๕๕๔ มีการตั้งจังหวัดขึ้นใหม่คือ จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งแยกตัวมาจากจังหวัดหนองคาย สำนักศิลปากรที่ ๙ ขอนแก่น จึงมีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด ๗ จังหวัด จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ

ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มีการปรับยุบโครงสร้างหน่วยงานของกรมศิลปากรใหม่ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารราชการของหน่วยงานกรมศิลปากรที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้ออกกฎกระทรวงการแบ่งส่วนราชการ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๒๐ ก หน้า ๑๓ ลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ยกเลิกสำนักศิลปากรที่ ๑ - ๑๕ และกำหนดใหม่เป็นสำนักศิลปากรที่ ๑ - ๑๒ จึงเปลี่ยนชื่อสำนักศิลปากรที่ ๙ ขอนแก่น เป็น สำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น มีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด ๗ จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น สกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภู

บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๔๕ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีหน้าที่ดังนี้

           ๑. ดำเนินงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมในเขตพื้นที่รับผิดชอบในการธำรงรักษาคุณค่าและเอกลักษณ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติด้านโบราณคดี โบราณสถาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภาษา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียบประเพณี จารีตประเพณี เอกสาร หนังสือ จดหมายเหตุ นาฎศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ สถานปัตยกรรมและศิลปกรรม

          ๒. กำกับ ดูแล ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานในเขตพื้นที่รับผิดชอบให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รวมทั้งกฎหมายและระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง

          ๓. ปฏิบัติงานทางวิชาการด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่รับผิดชอบ พัฒนา สร้างสรรค์ ถ่ายทอด และเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากมรดกทางศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นศูนย์ข้อมูลด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรม สาขาต่างๆ

          ๔. ส่งเสริมและประสานการดำเนินงานทางวิชาการของหน่วยงานในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

          ๕. สร้างความรู้ ความร่วมมือ ให้คำแนะนำ และประสานงานกับจังหวัดหน่วยงานราชการอื่นๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน และประชาชน ในการดำเนินงานมรดกทางศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งขยายเครือข่ายการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

          ๖. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(จำนวนผู้เข้าชม 272 ครั้ง)