...

ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
ตุงสามหาง

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ตุงสามหางตุง หมายถึง ธงแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา ตามความเชื่อของคนล้านนา ตุง ไม่ได้เป็นเพียงของใช้สำหรับการประดับตกแต่งหรือสื่อถึงสัญลักษณ์ความเป็นล้านนาเท่านั้น แต่ตุงยังมีความหมายและความสำคัญซ่อนอยู่ ใช้เป็นเครื่องประกอบสำคัญในงานประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อ หรือถวายเป็นพุทธบูชา โดยมีทั้งรูปแบบที่ใช้สำหรับงานมงคล งานอวมงคล หรือใช้ได้ทั้งสองงาน . “ตุงสามหาง” มีอีกชื่อเรียกว่า ตุงฮูปคน หรือ ตุงผีต๋าย เป็นตุงแบบที่ใช้สำหรับงานอวมงคลเท่านั้น เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยตุงประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. ส่วนหัว 2. ส่วนตัว ทำเหมือนแขนคน และ 3. ส่วนหาง ทำเป็น 3 ชาย รูปแบบที่พบในปัจจุบัน มีทั้งแบบที่ทำเป็นเค้าโครงรูปร่างคนอย่างชัดเจน แบบที่ทำเป็นรูปเทพนมหรือเทวดา หรือแบบที่ทำเป็นรูปเจดีย์และมีรูปโกศอยู่ภายใน โดยทุกแบบจะมีชาย 3 หางห้อยลงมา วัสดุที่ใช้ทำจากผ้าหรือกระดาษสา ตกแต่งด้วยกระดาษเงินหรือกระดาษทอง เป็นลวดลายต่าง ๆ สำหรับของพระภิกษุสงฆ์ ตัวตุงจะใช้ผ้าสีเหลือง หรือผ้าสบงผืนใหม่.ในอดีตช่างจะทำตุงสามหางต่อเมื่อมีคนตายแล้วเท่านั้น ไม่มีการทำเตรียมไว้ล่วงหน้า และจะทำรูปลักษณ์ของตุงตามลักษณะของผู้ตาย เช่น ผอม อ้วน สูง เตี้ย เพื่อเป็นการบอกกล่าวให้คนที่มางานศพทราบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ตาย แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำในลักษณะนี้แล้ว ใช้วิธีการเขียนแทน โดยเขียนระบุบอกชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิดและเสียชีวิตไว้บนตุง. เมื่อถึงวันเผาศพหรือเสียศพ จะมีคนแบกคันตุงสามหางพร้อมสะพายถุงข้าวด่วน เดินนำหน้าขบวนแห่ศพไปสู่สุสานหรือป่าช้า และนำไปไว้ติดกับเมรุเผาศพพร้อมเผาไปพร้อมกับศพด้วย มีความเชื่อกันว่าคนถือตุงห้ามหันหลังมองกลับมาจนกว่าจะไปถึงป่าช้า เพราะหากหันกลับมาเชื่อว่าจะมีคนตายเพิ่มอีก ในอดีตจะมีการเลือกคนที่ถือตุงนำขบวนจะต้องเป็นคนที่มีความประพฤติดี มีศีลธรรม แต่ปัจจุบันจะเป็นใครก็ได้ที่รับอาสาทำหน้าที่นี้ .ความหมายเกี่ยวกับตุงสามหางมีผู้ตีความไว้หลากหลายนัย อาทิเช่น เชื่อว่าหางตุงทั้ง 3 หางหมายถึง ที่พึ่งสูงสุดของมนุษย์คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บ้างก็เชื่อว่าหมายถึง โลกทั้ง 3 ของมนุษย์คือ สวรรค์ มนุษยโลก และนรกภูมิ บ้างก็เชื่อว่าหมายถึง อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เป็นต้น--------------------------------------------อ้างอิง- ยุพิน เข็มมุกด์. ช่อและตุง ศิลป์แห่งศรัทธา ภูมิปัญญาท้องถิ่น. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์แสงศิลป์, 2553. หน้า 142, 191-199. - คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542 หน้า 151.- ดอกรัก พยัคศรี. ตุง. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2566 จาก https://www.sac.or.th/.../trad.../th/equipment-detail.php...ภาพประกอบ- ตุงสามหาง จาก ร้านส.สว่าง ตุงสามหาง จังหวัดเชียงใหม่ (ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลและอนุญาตให้ถ่ายภาพ) - ตุงสามหางรูปคน จาก งานศพในจังหวัดลำปาง (ถ่ายโดยคุณอริยธัช มูลน้อย)

ผีปู่ย่า

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ผีปู่ย่า ผี ตามความเชื่อของชาวล้านนาไทยโบราณ นอกจากจะหมายถึง วิญญาณของคนที่ล่วงลับไปแล้ว ยังรวมถึง ผีในลัทธิที่เคารพนับถืออีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าเป็นผีที่มีอิทธิฤทธิ์ มีความศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลให้คุณและโทษแก่คนได้ โดยสามารถแบ่งผีออกได้เป็น 2 ประเภท คือ1. ผีที่เคารพยำเกรงสืบต่อกันมาในวงศ์ตระกูล เช่น ผีปู่ย่า ผีโป่งป่าถ้ำดอยหลวง2. ผีที่ต้องเคารพเชื่อถือตามความนิยมของชนชาวอื่นที่เข้ามาเป็นใหญ่หรือมาเป็นครูบาอาจารย์อยู่ในบ้านเมืองตั้งแต่โบราณ เช่น ผีครู (ผียักษ์), ผีมดหรือผีเมง, ผีแมน (ผีดิบ), ผีนาค.โดยในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “ผีปู่ย่า” ซึ่งจัดอยู่ในผีประเภทแรก คือ ผีที่เคารพยำเกรงสืบต่อกันมาในวงศ์ตระกูล หรือเรียกได้ว่าเป็น ผีบรรพบุรุษ หรือ ผีประจำตระกูลผีปู่ย่า แบ่งออกมาได้เป็น 4 ชนิด คือ ผี สาง เทวดา และเปรต (เผด)1. ผี คือ วิญญาณของผู้ที่ตอนมีชีวิตอยู่ประพฤติตนดี ได้ก่อร่างสร้างวงศ์ตระกูล ผีจะอาศัยอยู่ยังตามอาสน์ หอ หรือสถานที่ที่ลูกหลานทำไว้ให้สถิต2. สาง คือ วิญญาณที่ตายโหง ตายห่า หรือตอนมีชีวิตอยู่ประพฤติตนเป็นคนชั่วช้า สางจะไม่มีที่อยู่อาศัย เพราะผีจะรังเกียจสาง คอยขับไล่ไม่ให้เข้ามาอยู่ปะปนกับผี ต้องคอยเร่ร่อนหลอกคนให้สะดุ้งตกใจ และแย่งเอาโชคลาภของคนไป หากญาติพี่น้องจะทำบุญอุทิศผลให้ก็ต้องแอบทำ ไม่ให้ผีรู้ คือไปทำตามตรอก ซอก ซอยทางสามแพร่ง หรือข้างทางแทน 3. เทวดา คือ วิญญาณของเจ้านาย เจ้าบ้านผ่านเมือง ที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่คนจำนวนมาก ที่เป็นกษัตริย์จะได้เป็น พระยาอินตา คือ พระอินทร์ 4. เปรต (เผด) คือ วิญญาณของเจ้านายเจ้าบ้านที่ทำตนไม่เที่ยงตรง โดยปกติเป็นคนพาล และคนที่ทำลายศาสนสถาน ฉ้อโกง ทำของปลอม เปรตต้องอาศัยอยู่ตามวัดคอยรับผลเมตตาจิต ต้องคอยตัดหญ้าในวัดโดยการกัดหญ้าทีละเส้น และแลบลิ้นเลียขัดพื้นโบสถ์วิหารให้สะอาด เพื่อใช้หนี้เวรกรรมที่ทำไว้เมื่อตอนเป็นคน อาหารก็ไม่สามารถกินจากที่ญาติอุทิศไปให้ได้ ต้องคอยกินเศษอาหารที่พระนำไปทิ้ง หรือคอยหลอกแล้วแย่งมากินเอา.สางกับเปรตจะเป็นผีที่น่าเกลียดน่ากลัว ไม่ทำคุณประโยชน์ให้แก่คน แต่ผีกับเทวดานั้นจะคอยช่วยเหลือ ปกปักรักษาคนให้มีความสุข ความเจริญ โดยเฉพาะกับคนที่เป็นลูกหลานของผีเหล่านั้น จะได้รับประโยชน์จากผีหรือเทวดามากกว่าผู้อื่น มักจะคอยติดตามลูกหลานไปปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ ลูกหลานจึงเคารพยำเกรงและคอยเส้นไหว้บวงสรวงให้อยู่เสมอ พร้อมจัดที่ทางให้สถิตอยู่ เช่น ทำเป็นหิ้งไว้บนฝาหัวนอนเหมือนตั้งพระพุทธรูป หรือสร้างเป็นหอ เป็นห้องไว้ให้ .การบวงสรวงผีปู่ย่านั้น มักจะทำการประมาณเดือน 7-8-9 เหนือ (ตรงกับเดือนเมษายน – มิถุนายน) ของทุกปี แล้วแต่ความพร้อมหรือความสะดวกของแต่ละตระกูล โดยมีการนำเครื่องบวงสรวง เช่น หัวหมูไก่ต้ม สำรับคาวหวาน สุรา ดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย หรือแล้วแต่จะกำหนด มาสังเวย นอกจากนี้อาจจะทำเนื่องในโอกาสที่ญาติ ๆ บนบานศาลกล่าวผีปู่ย่าให้ช่วยคนในตระกูลแล้วหายเจ็บป่วยก็ได้ --------------------------------------อ้างอิง - แก้วมงคล ชัยสุริยันต์. ผีของชาวล้านนาไทยโบราณ. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2486. หน้า 4-19.- สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ. ชีวิตไทย ชุด ฮีตฮอยเฮา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2538 หน้า 185.

พระพุทธรูปปางมารวิชัย หินทรายสกุลช่างพะเยา

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่พระพุทธรูปปางมารวิชัย หินทรายสกุลช่างพะเยารูปแบบ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21วัสดุ : หินทรายประวัติ : โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) สำรวจรวบรวมได้จากวัดพระเกิดคงคาราม อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529ลักษณะ : พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์รูปไข่ พระขนงทำเป็นสัน ยาวต่อกันเป็นรูปปีกกา และเชื่อมต่อกับพระนาสิกที่โด่ง พระโอษฐ์บนหยัก ทำมุมตวัดขึ้นเป็นแนวร่องเชื่อมกับพระนาสิก เม็ดพระศกทำเป็นตารางสี่เหลี่ยมส่วนยอดแหลม พระวรกายยืดสูง บั้นพระองค์เล็ก ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ปลายแยก 2 แฉก---------------------------------------------สกุลช่างพะเยาจัดเป็นสกุลช่างหนึ่งในศิลปะล้านนา เนื่องจากพบการสร้างพระพุทธรูปที่มีรูปแบบเฉพาะ โดยช่างเมืองพะเยามักใช้หินทรายเป็นวัสดุหลักในการสร้างงานประติมากรรม .พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยามีวิวัฒนาการสัมพันธ์กับพระพุทธรูปแบบสำริด ในระยะแรกจากหลักฐาน พบว่าอยู่ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 มีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ต่อมาราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 จากการอัญเชิญพระสุมนเถระขึ้นมาเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ทำให้ปรากฏอิทธิพลศิลปะสุโขทัย จนถึงช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคทองของล้านนาก็ได้พัฒนารูปแบบจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างพะเยาเอง และเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 กลายเป็นแบบพื้นเมืองหรือท้องถิ่นมากขึ้น .พระพุทธรูปหินทรายที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่องค์นี้ มีลักษณะเฉพาะที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยา ตัวอย่างเช่น การทำพระขนงโก่งเป็นสันโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกาเชื่อมต่อลงมากับพระนาสิก การทำเม็ดพระศกเป็นตารางสี่เหลี่ยมคล้ายทรงพีระมิด เป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดจากข้อจำกัดของวัสดุหินทราย พระหัตถ์มีลักษณะอูม นิ้วพระหัตถ์ยาวเรียว ปลายนิ้วยาวเสมอกัน และหัตถ์ซ้ายโค้งเข้าหาพระวรกาย นอกจากนี้มีลักษณะบางประการที่มีวิวัฒนาการเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น พระวรกายที่ยืดสูง พระโอษฐ์ที่ตวัดขึ้นและทำเป็นแนวร่องเชื่อมต่อกับพระนาสิก สันนิษฐานว่าเป็นเทคนิคที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการพอกรัก เพื่อให้รักยึดติดกับหินได้.---------------------------------------------อ้างอิงศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 259-262.ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา (The Payao School sandstone Buddha image) (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2532) หน้า 120-128.สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย – ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. หน้า 152-156.

พระสาวก รูปแบบ ศิลปะหริภุญไชย พุทธศตวรรษที่ 17-18

พระสาวกรูปแบบ ศิลปะหริภุญไชย พุทธศตวรรษที่ 17-18วัสดุ ดินเผาประวัติ นายไกรศรี นิมมานเหมินทร์ มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ลักษณะ พระสาวกประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พนมมือระดับพระอุระ พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรกลมและพองโต ตรงกลางมีเจาะรูพระเนตร พระโอษฐ์แบะกว้าง เหนือพระโอษฐ์ทำเป็นร่องคล้ายพระมัสสุ มีขอบไรพระศก ขมวดพระเกศาเป็นทรงกรวยแหลม ทรงครองจีวรเรียบห่มคลุม ชายผ้าที่หน้าตักทำเป็นแผ่นรูปครึ่งวงกลม-------------------------------------------------พระสาวกองค์นี้เป็นประติมากรรมดินเผาในศิลปะหริภุญไชยที่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยส่วนใหญ่มักพบแบบชำรุดหรือมีขนาดเล็ก มีลักษณะรูปแบบที่ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปปางสมาธิดินเผา ที่พบใกล้กับเจดีย์เปตเลก (Hpet-Leik) หมู่บ้านติรัปยิตสยา (Thiripyisaya) เมืองพุกาม.เป็นงานที่มีทั้งอิทธิพลศิลปะพุกามและมีลักษณะเฉพาะของศิลปะหริภุญไชยเอง.โดยอิทธิพลจากพุกามเห็นได้จากการทำขัดสมาธิเพชรที่ไขว้กันจนเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้างในระดับเดียวกันอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสายวิวัฒนาการที่ทำสืบต่อจากศิลปะปาละของอินเดีย และการทำชายผ้าที่หน้าตักเป็นแผ่นรูปครึ่งวงกลม.ส่วนลักษณะที่มีการพัฒนาเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะหริภุญชัยเอง ตัวอย่างเช่น การทำพระขนงต่อกันเป็นปีกกา และยกเป็นสันขึ้นมา พระเนตรกลมพองโตเป็นลักษณะเด่นซึ่งมักพบอยู่ในกลุ่มพระสาวก เทวดา และรูปบุคคล ร่องเหนือพระโอษฐ์คล้ายพระมัสสุ ขอบพระพักตร์เป็นสันขึ้นมาคล้ายไรพระศก เป็นต้น .นอกจากนี้ด้านหลังประติมากรรมมีลักษณะเรียบตรง มีขมวดพระเกศาเพียงครึ่งเดียวไม่เต็มพระเศียร แสดงให้เห็นว่า พระสาวกนี้เป็นประติมากรรมนูนสูงเพื่อใช้ประดับผนังก็เป็นได้-------------------------------------------------อ้างอิง- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 42-50.รูปภาพภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ- Gordon H. Luce and Bo-Hmu Ba Shin. Old Burma: Early Pagán. Artibus Asiae. Supplementum, Vol. 25, Old Burma: Early Pagán. Volume Three: Plates (1970), plate 410 b.

สุวรรณจังโกฐสำริด

สุวรรณจังโกฐสำริด เลขทะเบียน ๕๒๖ / ๒๕๑๖ แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ วัสดุ (ชนิด) สำริด ขนาด ฐานกว้าง ๓๗.๑ เซนติเมตร สูง ๕๗.๕ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา พุทธสถานจังหวัดเชียงใหม่ มอบให้จัดแสดง ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สุวรรณจังโกศ สำหรับประดิษฐานพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุ ทำเป็นทรงแปดเหลี่ยม ประกอบด้วยฐานและส่วนฝา ส่วนฐานมีหน้ากระดานท้องไม้ขนาดใหญ่ ตกแต่งลายกรอบช่องกระจก เหนือท้องไม้ขึ้นไปตรงมุมประดับด้วยลายดอกประจำยาม ส่วนฝามีการตกแต่งส่วนมุมด้วยลายกนก ส่วนยอดบนสุดทำเป็นชั้นฐานปัทม์รองรับรูปแปดเหลี่ยมส่วนปลายยอดแหลม

รอยพระพุทธบาท

รอยพระพุทธบาท เลขทะเบียน ๓๘ / ๒๕๑๖ แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา สร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ บูรณะในสมัยพระเจ้ากาวิละเมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๗ วัสดุ (ชนิด) ไม้ลงรักปิดทองล่องชาด ประดับมุก ขนาด กว้าง ๑๒๔ เซนติเมตร สูง ๒๐๐ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา พระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ให้ยืมจัดแสดง ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ รอยพระพุทธบาทไม้ลงรัก ทาชาด ประดับมุกและกระจก ตกแต่งบริเวณขอบด้านนอกด้วยลงรักปิดทองเป็นลายพันธุ์พฤกษา ตรงกลางทำรูปธรรมจักรประดับด้วยแก้วอังวะ (กระจกจืน) ใต้นิ้วพระบาททำเป็นรูปมงคล ๑๐๘ ประการ จัดตามตำแหน่งระบบภูมิจักรวาลตามแนวตั้ง ตั้งแต่โสฬสพรหมโลกชั้นสูงสุด ลดหลั่นด้วยพรหมโลกชั้นรองลงมา จนถึงเทวโลกที่ประกอบไปด้วยสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ ฉกามาพจร ปรนิมมิตวสวดี นิมมานรดี ยามา ดุสิต ดาวดึงส์ และจาตุมหาราชิก ซึ่งแต่ละชั้นจะมีอักษรล้านนาอธิบาย ยกเว้นเมื่อกล่าวถึงพรหมชั้นที่ ๑๖ หรือชั้นสูงสุด โดยใช้คำว่า “อกนิฏฐาพรหม” เขียนด้วยอักษรปาละของอินเดีย ตอนกลางเขียนภาพแกนจักรวาล คือ เขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยสีทันดรสมุทร เทือกเขาทั้ง ๗ และมหาทวีปทั้ง ๔ มีรูปพระเจ้าจักรพรรดิกับสิ่งของอันเป็นมงคลทั้งหลายประทับอยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ โดยมีกำแพงจักรวาลล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ภายในรอยพระพุทธบาทนี้ประดับเต็มไปด้วยรูปเทวดา ปราสาท สัตว์ ดอกไม้ทิพย์ และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อสะท้อนความหมายของภูมิจักรวาล หลายภาพมีคำอธิบายเขียนด้วยอักษรล้านนา ภาษาบาลีและภาษาไทยวน ที่ส้นพระบาทระบุพระนามอดีตพุทธเจ้า ๓ พระองค์ คือ พระกัสสปะ พระโกนาคมนะ พระกกุสันธะ โดยรอยพระบาทของพระโคตรมะเป็นรอยพระบาทสุดท้ายแต่ไม่ได้ระบุพระนาม จุดเด่นของรอยพระพุทธบาท ได้แก่ รูปจักรรัตนะที่ประดับอยู่กึ่งกลางพระบาท ด้านหนึ่งของรอยพระพุทธบาทมีจารึกกล่าวถึงการบูรณะรอยพระพุทธบาท ความว่า ในพุทธศักราช ๒๓๓๗ พระเจ้ากาวิละและพระราชวงศ์ ได้ร่วมกันบูรณะรอยพระพุทธบาทไม้เก่าแก่ที่เก็บรักษาไว้ภายในวัดพระสิงห์ โดยเปลี่ยนแผ่นไม้กระดานที่ชำรุดแล้วลงรักปิดทองล่องชาด แต่ไม่ได้ประดับมุก ในการบูรณะครั้งนี้น่าจะมีการเปลี่ยนแก้วอังวะที่ประดับภายในจักรรัตนะ เนื่องจากแก้วอังวะแต่ละแผ่น จะมีการปั้นรักนูนหนาล้อมรอบขึ้นเป็นกรอบ ส่วนด้านล่างของจารึก ยังมีร่องรอยงานลง รักปิดทอง สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องการเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏในศรีลังกา ลักษณะเครื่องทรงเทวดา ลายพันธุ์พฤกษา และลายประกอบต่าง ๆ ภายในรอยพระพุทธบาท มีความคล้ายคลึงกับที่พบในเครื่องทรงของเทวดาปูนปั้นประดับวิหาร ที่วัดโพธารามมหาวิหาร ซึ่งมีอายุประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ตรงกับสมัยของพระเจ้าติโลกราช รวมทั้งรูปแบบของอักษรจารึกที่ใช้อยู่ในราวพุทธศักราช ๒๐๐๐ – ๒๑๕๐ ดังนั้นรอยพระพุทธบาทนี้น่าจะสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้ากาวิละเมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๗ ที่มา: ฮันส์ เพนธ์, พรรณเพ็ญ เครือไทย และศรีเลา เกษพรหม, ประชุมจารึกล้านนา เล่ม ๒ จารึกพระเจ้ากาวิละ (เชียงใหม่ : คลังข้อมูลจารึกล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๑), ๒๖๑. ฮันส์ เพนธ์, พรรณเพ็ญ เครือไทย และศรีเลา เกษพรหม, ประชุมจารึกล้านนา เล่ม ๒ จารึกพระเจ้ากาวิละ (เชียงใหม่ : คลังข้อมูลจารึกล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๑), ๔๕ – ๕๒.