...

พระเจ้าไม้
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
พระเจ้าไม้
พระไม้ หรือ พระเจ้าไม้ หมายถึง พระพุทธรูปที่แกะจากไม้ชนิดต่าง ๆ โดยนิยมแกะขึ้นจากไม้ท่อนเดียว แต่ก็มีบางองค์แกะจากไม้หลายชนิดมาประกอบเข้าด้วยกัน มักสร้างในช่วงเดือนยี่เป็ง หรือ เดือนสิบสองของภาคกลาง
.
- คติเกี่ยวกับไม้มงคลที่ใช้สร้างพระไม้
จากการศึกษาของ ผศ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง พบว่าไม้ที่นิยมนำมาสร้างพระไม้ คือ ไม้สัก ไม้สะหรี (โพธิ์) ไม้สะเลียม (สะเดา) ไม้แก่นจันทน์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลมาสร้างพระไม้อีกด้วย
พระไม้ที่สร้างจากไม้ท่อนเดียวมักเป็นของเจ้าภาพที่มีอำนาจหรือผู้นำชุมชน สร้างถวายวัดเพื่อหวังอานิสงค์ให้ได้ไปพบพระศรีอริยเมตไตรย (พระอนาคตพุทธเจ้า) และสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา หรือตั้งใจถวายเป็นเหตุปัจจัยให้ถึงนิพพานในที่สุด
อนึ่งในบางท้องที่ทั้งในพม่าและไทย มีการสร้างพระไม้ด้วยหวายหรือไม้ไผ่จักตอก เอามาสานเป็นองค์พระแล้วพอกครั่ง หรือปูน ลงรักปิดทองให้สวยงามเรียกว่า พระสาน พระเจ้าอินทร์สาน หรือ พระอินทร์ถวาย
พระไม้อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “พระเจ้าพร้าโต้” ผู้สร้างจะแกะไม้เป็นรูปพระโดยใช้เวลาเพียง 1 วัน ทำให้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พระเจ้าทันใจ”
พระไม้ที่สร้างโดยประกอบขึ้นจากไม้หลายท่อน เป็นพระไม้ชนิดพิเศษ เรียกว่า “พระเจ้าไม้ชาตา” (พระเจ้าชะตา) หรือ “พระเจ้าไม้สมฤทธี” หรือ “พระเจ้าไม้เจ็ดเยื่อง” เชื่อว่าผู้ใดสร้างหวังสิ่งจะสมความปรารถนาทุกประการ ผู้สร้างมักเป็นเจ้านายและขุนนาง
.
- อบรมสมโภชพระไม้
เมื่อสร้างพระไม้เสร็จแล้ว จะมีพิธี “บวชพระเจ้า” “เบิกบายรวายสีพระเจ้า”หรือ “อบรมสมโภชพระเจ้า” คือพิธีพุทธาภิเษกเพื่อสถาปนาองค์พระให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ โดยตำราของวัดเมืองราม ตำบลนาเหลือง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ระบุว่า เจ้าภาพสร้างพระเกิดวันใดก็ให้ประกอบพิธีในวันนั้น เช่น เจ้าภาพเกิดจันทร์ ก็ให้บวชพระเจ้าในวันจันทร์ ส่วนเครื่องประกอบในพิธีการ เช่น เบี้ยหมื่น หมากหมื่น ฯลฯ
.
- ข้อมูลประวัติศาสตร์จากจารึกฐานพระไม้
บริเวณฐานของพระไม้โดยส่วนใหญ่มักปรากฏคำจารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยให้เราทราบอายุสมัยและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ๆ ได้ พบทั้งแบบจารึกข้อความยาว ๆ หรือแบบสั้น ๆ สองสามคำ
คำจารึกส่วนมากมีใจความคล้าย ๆ กัน โดยมักมีข้อความเรียงลำดับตามนี้
วัน เดือน ปีที่สร้าง : ส่วนมากจะขึ้นด้วยปีจุลศักราช ตามด้วยตัวเลขปี ชื่อปีหนไท ชื่อเดือน หรือลำดับเดือน บอกวัน (นับแบบมอญ เช่น เมงวัน) ตามด้วยตัวเลขลำดับวัน ตามด้วยวันไท ไทรวายสี
เจ้าศรัทธาหรือนามผู้สร้างพร้อมคณะ : นิยมขึ้นต้นด้วยคำว่า ปถมมูลลศรัทธา มูลลศรัทธา หรือสัทธา ตามด้วยหลายนามผู้สร้างหรือถวาย
สิ่งที่สร้าง : ส่วนมากจะใช้คำว่า ได้สร้างพุทธรูปเจ้าองค์นี้ หรือบอกลักษณะของพระพุทธรูปที่สร้าง
เช่น ได้สร้างยังพุทธรูปเจ้ารับบาตร แลห้ามมาร
เจตนาในการสร้าง : เจตนาหลักในการสร้างเกือบทุกองค์มักเพื่อค้ำชูพระศาสนาให้ถึง 5,000 พระวัสสา
คำปรารถนาของผู้สร้าง : คำปรารถนามักเขียนต่อจากเจตนาการสร้าง มีใจความสำคัญคือ ขอให้ได้พบกับความสุข และเป็นความสุข 3 ประการ (ความสุขในเมืองคน สุขในเมืองฟ้า สุขหลังความตาย)
คำบาลี : ปิดท้ายด้วยคำบาลีซึ่งมีใจความเช่นเดียวกับคำปรารถนาของผู้สร้าง การจบด้วยคำบาลีเหมือนเป็นการเน้นย้ำให้คำปรารถนาเป็นจริงในอนาคต
.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ นำพระเจ้าไม้มาจัดแสดงเนื่องในกิจกรรมไหว้พระปีใหม่ ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมและสักการะได้ ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2566 – 7 มกราคม 2567
วันเปิดทำการ : วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 09:00 - 16:00 น.
วันปิดทำการ : วันจันทร์ - วันอังคาร
*เปิดให้บริการช่วงเทศกาลปีใหม่ (29 ธ.ค. 66 - 1 ม.ค. 67)
----------------------------------------------------
อ้างอิง
วิลักษณ์ ศรีป่าซาง. พระเจ้าไม้ล้านนา. เชียงใหม่ : สีสันพรรณไม้, 2554. หน้า 101 – 128.
ศิรพงศ์ ศักดิ์สิทธิ์. คติการสร้างพระพุทธรูปไม้ล้านนา. ดำรงวิชาการ , Vol 11, No.2, 2012.

(จำนวนผู้เข้าชม 763 ครั้ง)