รำบวงสรวงย่าโม : นาฏยลีลาแห่งศรัทธาและวีรกรรมที่สืบทอด

รำบวงสรวงย่าโม : นาฏยลีลาแห่งศรัทธาและวีรกรรมที่สืบทอด
.
เมื่อถึงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี ชาวโคราชจะร่วมใจกันจัดงาน "ฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี" เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของ ย่าโม วีรสตรีคู่บ้านคู่เมือง ในปี พ.ศ. 2568 นี้ งานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม ถึง 3 เมษายน ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หัวใจสำคัญของงาน คือ "การรำบวงสรวงย่าโม" นาฏยลีลาแห่งศรัทธาที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน
.
จากนาฏศิลป์พื้นบ้านสู่นาฏยลีลาแห่งศรัทธา
.
ในอดีต งานฉลองชัยชนะท้าวสุรนารีไม่ได้มีนาฏยลีลาที่งดงามเช่นปัจจุบัน หากแต่เป็นการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้าน การขับขานบทบรรยาย หรือการแห่ขบวนจากหน่วยงานต่าง ๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2539 นายสุพร สุภสร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น ได้มีดำริที่จะสร้างเอกลักษณ์ให้แก่งานประจำปี จึงได้ปรึกษาหารือกับนางเพ็ญทิพย์ จันทุดม ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์นครราชสีมา รังสรรค์นาฏยลีลาแห่งศรัทธาถวายแด่วีรสตรีขึ้น โดยมีนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมาและกิ่งกาชาดอำเภอต่าง ๆ นำสตรีผู้สูงศักดิ์มาร่วมรำบวงสรวง
.
ต่อมา เมื่อศรัทธาในย่าโมแผ่ขยายกว้างไกล สตรีชาวโคราชจากทุกสารทิศ ต่างหลั่งไหลมาร่วมรำบวงสรวงจนเนืองแน่น ได้เปลี่ยนนามเรียกขานจาก "สตรีผู้สูงศักดิ์" เป็น "สตรีชาวนครราชสีมาและสตรีผู้ศรัทธาต่อคุณย่าโม" นาฏยลีลาแห่งศรัทธานี้ได้แพร่หลายจากส่วนกลางสู่ทุกอำเภอในจังหวัดนครราชสีมา
.
จากการศึกษาของคุณชุมพล ชะนะมา พบว่าการรำบวงสรวงท้าวสุรนารีมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่
• รำลึกถึงวีรกรรมของท้าวสุรนารีและบรรพชนชาวโคราช
• สร้างเอกลักษณ์ให้แก่พิธีบวงสรวงท้าวสุรนารี
• ออกแบบและจัดการรำบวงสรวงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
.
การรำบวงสรวงท้าวสุรนารี มิใช่เพียงมหรสพ แต่เป็นนาฏกรรมที่ผสานศิลปะและวัฒนธรรมโคราชอย่างงดงาม สะท้อนเอกลักษณ์ท้องถิ่นผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
• ภาษาโคราช : บทเพลงสดุดีวีรกรรมท้าวสุรนารี และการใช้ภาษาโคราชในบทนำของการรำ
• ทำนองเพลงโคราชและวงมโหรีโคราช : ทำนองเพลงสรภัญญะ และการแบ่งกระบวนรำตามสถานการณ์
• การแต่งกาย : วิวัฒนาการจากชุดวีรสตรีไทย สู่ชุดประยุกต์จากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
• จริยธรรมที่ดีในสังคม : การส่งเสริมคุณธรรม ความสามัคคี และการเคารพซึ่งกันและกัน
• พัฒนาการและการแปรสภาพ : การปรับกระบวนลีลา ท่ารำ เนื้อหา เครื่องแต่งกาย และระบบการจัดการให้เข้ากับยุคสมัย
.
การรำบวงสรวงท้าวสุรนารีเป็นนาฏกรรมที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม สะท้อนถึงความศรัทธา ความสามัคคี และความภาคภูมิใจของชาวโคราช ที่ได้ร่วมกันสืบสานประเพณีอันดีงามนี้ให้คงอยู่สืบไป
.
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวท้าวสุรนารีและประวัติศาสตร์โคราชเพิ่มเติม สามารถค้นคว้าได้ที่ "ห้องค้นคว้า" ชั้น 2 หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา ซึ่งได้รวบรวมหนังสือและข้อมูลที่น่าสนใจไว้มากมาย และวันนี้จะขอแนะนำหนังสือที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับท้าวสุรนารีและการรำบวงสรวงย่าโม ดังนี้
.
1. หนังสือเรื่อง การเผยแพร่นาฎศิลป์พื้นบ้าน ระบำโคราชประยุกต์
เลขเรียกหนังสือ: ท 793.319593 บ645ก
บรรณานุกรมหนังสือ: บุษบัน ศรีสารคาม. การเผยแพร่นาฏศิลป์พื้นบ้าน ระบำโคราชประยุกต์. นครราชสีมา: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา วิทยาลัยครูนครราชสีมา, 2528.
.
2. หนังสือเรื่อง ท้าวสุระนารี
บรรณานุกรม: ท้าวสุระนารี. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., [2477].
บริการอ่านออนไลน์: https://www.finearts.go.th/nlt-korat/view/55783
.
3. หนังสือเรื่อง ท้าวสุรนารี (คุณย่าโม) วีรสตรีแห่งสยามประเทศ
เลขเรียกหนังสือ: ท 920.72 น561ท
บรรณานุกรม: นิชารัตน์. ท้าวสุรนารี (คุณย่าโม) : วีรสตรีแห่งสยามประเทศ. กรุงเทพฯ: สายส่งดวงแก้ว, 2558.
.
4. หนังสือเรื่อง ระลึกฐานแท่น อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีใหม่ พ.ศ. 2510
เลขเรียกหนังสือ: ท 920.72 ส851ท
บรรณานุกรม: ที่ระลึกฐานแท่น อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีใหม่ พ.ศ. 2510. นครราชสีมา: รวมจิตราชสีมา, 2510.
บริการอ่านออนไลน์: https://www.finearts.go.th/nlt-korat/view/18025
.
5. หนังสือพิธีวางศิลาฤกษ์ อนุสรณ์สถาน “วีรกรรมท้าวสุรนารี”
เลขเรียกหนังสือ: ท 920.72 น123 พ
บรรณานุกรม: จังหวัดนครราชสีมา. พิธีวางศิลาฤกษ์อนุสรณ์สถาน “วีรกรรมท้าวสุรนารี” จังหวัดนครราชสีมา วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม 2533. นครราชสีมา: สมบูรณ์ออฟเซ็ทการพิมพ์, 2533.
.
เรียบเรียงข้อมูลและแนะนำโดย : นางแพรว ธนภัทรพรชัย เจ้าพนักงานห้องสมุดชำนาญงาน
ออกแบบกราฟิกโดย : นายพีรยุทธ กษิติบดินทร์ชัย บรรณารักษ์ปฏิบัติการ
.
ข้อมูลอ้างอิง:
ชุมพล ชะนะมา. "รำบวงสรวงท้าวสุรนารี: ความเป็นมาและบริบททางวัฒนธรรมในการแสดง." วารสารศิลปวัฒนธรรมสวนสุนันทา. 1, 1 (2564): 69-86.
วีระพงษ์ ตามกลาง. "สัญญะในการรํา บวงสรวงทาวสุรนารี." ใน การประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ "Graduate School Conference 2018". มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 30 พฤศจิกายน 2561.
KCTV KORAT. การรำบวงสรวงท้าวสุรนารี ประจำปี 2567. (วีดิทัศน์). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2568, จาก: https://www.youtube.com/watch?v=343KexmmvS4
(จำนวนผู้เข้าชม 20 ครั้ง)