“อุสาบารส” - มนต์ขลังแห่งตำนาน สะท้อนคุณค่ามรดกโลกภูพระบาท
“อุสาบารส” - มนต์ขลังแห่งตำนาน สะท้อนคุณค่ามรดกโลกภูพระบาท
.
ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์และงดงามของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี พิธีฉลองการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ โบราณสถานหอนางอุสา โดยพระราชภาวนาวชิรากร (อินทร์ถวาย สนตุสสโก) เจ้าอาวาสวัดอุดมมงคลวนาราม (วัดป่านาคำน้อย) อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี แสดงธรรมเทศนาและนำพุทธศาสนิกชนเจริญจิตภาวนาแล้ว ไฮไลท์สำคัญอย่างหนึ่งของการเฉลิมฉลองครั้งนี้คือ การแสดงชุดพิเศษ ละครตำนานภูพระบาท เรื่องอุสา บารส (ตำนานรักภูพระบาท) วรรณกรรมพื้นบ้านอีสานอันเลื่องชื่อ ที่ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านการแสดงสุดอลังการ ผสมผสานกับเทคนิคแสงสีเสียงอันตระการตา สร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมงานอย่างมิรู้ลืม
.
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2567 ด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันโดดเด่น ที่นี่เป็นแหล่งรวมโบราณสถานและโบราณวัตถุที่แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์อายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งภาพเขียนสีบนเพิงผาที่มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ และภูมิปัญญาของมนุษย์ในอดีต มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของมรดกโลก คือ เป็นแหล่งวัฒนธรรมเสมาของสมัยทวารวดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แสดงถึงรูปแบบการกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และแสดงถึงรูปแบบทางศิลปะเสมานิมิตของวัฒนธรรมทวารวดีในบริบทของโลกและลักษณะทางภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้มีการปรับเปลี่ยนสำหรับ การตั้งเสมานิมิตและมีใช้งานพื้นที่อย่างต่อเนื่องในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องกว่า 4 ศตวรรษ อีกทั้งมีความสัมพันธ์กับประเพณีและวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีหรือวัดป่า เป็นการใช้พื้นที่ที่แสดงถึงวัฒนธรรมเสมาของสมัยทวารวดีที่โดดเด่นที่สุดในที่ราบสูงโคราช
.
นอกจากนี้ ภูพระบาทยังเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางศาสนา โดยมีโบราณสถานทางพุทธศาสนาจำนวนมาก เช่น พระพุทธบาทบัวบก พระพุทธบาทหลังเต่า และถ้ำพระ ซึ่งแสดงถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้
.
อุสาบารส : ตำนานรักโศกนาฏกรรมที่ผูกพันกับภูพระบาท
.
เรื่องราวของอุสาบารสเป็นตำนานรักโศกนาฏกรรมระหว่างนางอุสา ธิดาของเจ้าเมืองพาน และท้าวบารส ชายหนุ่มรูปงามโอรสแห่งเมืองพระโค ทั้งสองได้พบรักกัน แต่ถูกกีดกันจากเจ้าเมืองพานและถูกกลั่นแกล้งจากเหล่าชายาของท้าวบารสจนนางอุสาป่วยหนักและสิ้นใจ ด้วยความรักที่มีต่อนาง ท้าวบารสจึงตรอมใจตายตามนางอุสาไป จากชื่อตัวละครในนิทาน ตำนานที่บอกเล่าสืบต่อกันมานี้เอง ได้ผูกพันอย่างลึกซึ้งกับภูพระบาท โดยชื่อเรียกกลุ่มโบราณสถานต่าง ๆ ในอุทยานฯ นั้นมีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวในตำนาน เช่น หอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา และคอกม้าท้าวบารส ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องเตือนใจถึงความรัก ความสูญเสีย และคุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
.
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่อง”อุสาบารส” ขอแนะนำหนังสือ "สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่มที่ 15" ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของตำนานอุสาบารส ท่านจะเข้าใจและสามารถวิเคราะห์ตัวละครและเนื้อหาได้อย่างลึกซึ้ง รวมถึงความเชื่อมโยงกับโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับ "หอนางอุสา" โบราณสถานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับตำนาน รวมถึง "โฮล (ลายซิ่นเขมร)" ซึ่งเป็นลวดลายผ้าทอที่สะท้อนถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้
.
นอกจากนี้ ยังมีหนังสือที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่มรดกโลกภูพระบาทแห่งนี้อีกมากมาย เช่น หนังสือเรื่อง “ศิลปะถ้ำกลุ่มบ้านผือ” จังหวัดอุดรธานี โดยกรมศิลปากร หนังสือเรื่องอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โดยกรมศิลปากร “เรื่องภูพระบาท-อดีตกาลผสมผสานธรรมชาติ” เอกสารประกอบการอบรมยุวมัคคุเทศก์ (อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท พ.ศ. 2543) “หนังสือนำชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” โดยกรมศิลปากร
.
ท่านสามารถสืบค้นข้อมูลจากหนังสือเหล่านี้ได้ที่ ห้องค้นคว้า ชั้น 2 หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา
.
เลขที่หนังสือ : อ 306 ว678 ล.15
บรรณานุกรม : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทยธนาคารไทยพาณิชย์, 2542.
.
เลขที่หนังสือ : ศก 959.343 ศ528ศพ
บรรณาณุกรม : กรมศิลปากร. กองโบราณคดี. ศิลปะถ้ำกลุ่มบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533.
.
เลขที่หนังสือ : ศก 959.343 อ818
บรรณานุกรม : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ: ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการ กรมศิลปากร, 2535.
.
เลขที่หนังสือ : ศก 959.343 ภ641
บรรณานุกรม : อรุณศักดิ์ กิ่งมณี, บรรณาธิการ. ภูพระบาท - อดีตกาลผสานธรรมชาติ. อุดรธานี: อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท, 2543.
.
เลขที่หนังสือ : ศก 959.314 อ417น
บรรณานุกรม : อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ไพโรจน์ สุขพันะ, ผู้แปล. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ: สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น กรมศิลปากร, 2542.
.
และสามรถสืบค้นข้อมูลออนไลน์ของกรมศิลปากรเกี่ยวกับ “มรดกโลกภูพระบาท” เพิ่มเติมได้ที่ https://digitalcenter.finearts.go.th/advanced-search?word=ภูพระบาท
.
แนะนำโดย นางแพรว ธนภัทรพรชัย เจ้าพนักงานห้องสมุดชำนาญงาน
ออกแบบโดย นายพีรยุทธ กษิติบดินทร์ชัย บรรณารักษ์ปฏิบัติการ

(จำนวนผู้เข้าชม 20 ครั้ง)