แหล่งเรียนรู้เสมือนจริง หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
จำนวนผู้เข้าชม 1566


แหล่งเรียนรู้เสมือนจริง หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช: www.virtualmuseum.finearts.go.th/TheNationalArchives


หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บนพื้นที่ 75 ไร่ จัดตั้งขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539 โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะที่เป็นส่วนราชการซึ่งมีภารกิจหลักในด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ตลอดจนกำกับดูแลการดำเนินงานของกรมศิลปากรในขณะนั้น ดำเนินการจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องในพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานต่างๆ อาทิ พระราชหัตถเลขา พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชนิพนธ์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลต่างๆ แถบบันทึกพระสุรเสียง แถบวีดิทัศน์ พระบรมฉายาลักษณ์ ฯลฯ มาจัดเก็บและอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติซึ่งต่อมา ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่ออาคารว่า หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
        ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันพุธ ที่ 30 กรกฎาคม พุทธศักราช 2540 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาทรงเปิดอาคารหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันจันทร์ ที่ 17 พฤษภาคม พุทธศักราช 2553

ภารกิจ

     หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านจด หมายเหตุมีหน้าที่ในการรวบรวม จัดหมวดหมู่ จัดทำเครื่องมือช่วยค้น เก็บรักษา และให้บริการ ศึกษา ค้นคว้า วิจัย เผยแพร่ เอกสารจดหมายเหตุที่เกี่ยวเนื่องในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นคลังปัญญาที่มีค่าต่อหน่วยงานราชการและประชาชน เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจนานัปการ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย
      นอกจากนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเผยแพร่พระเกียรติ คุณและให้ผู้มาเยี่ยมชมเกิดความซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและมีความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์สืบต่อไป โดยจัดแสดง 2 อาคารประกอบด้วยอาคาร 3 และอาคาร 4 มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีภารกิจดังต่อไปนี้
 
       1. ศึกษาวิเคราะห์ ติดตาม รวบรวม ประเมินคุณค่า จัดหมวดหมู่ ทำเครื่องมือช่วยค้น เก็บรักษา และอนุรักษ์เอกสารที่เกี่ยวเนื่องในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์
      2. บันทึกเหตุการณ์พระราชพิธี รัฐพิธี พิธีสำคัญ และจัดทำหนังสือจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ
      3. ศึกษาวิเคราะห์ และจัดวางระบบการจัดการเอกสารจดหมายเหตุดิจิทัล
     4. ให้บริการ ศึกษา ค้นคว้า เอกสารจดหมายเหตุที่เกี่ยวเนื่องในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์
     5. จัดแสดง บรรยาย และนำชมการดำเนินงานจดหมายเหตุ และนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทร
มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ
  6. จัดกิจกรรมและโครงการรูปแบบต่างๆ เพื่อเผยแพร่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์
      7. ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์
 
   ในปัจจุบันหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาต่างๆ และประชาชนทั่วไป รวมทั้งหน่วยงานด้านจดหมายเหตุในต่างประเทศ ได้เดินทางเข้ามาศึกษา ค้นคว้า และเยี่ยมชมการดำเนินงานและชมนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นจำนวนมาก สมดังวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อให้เป็นแหล่งในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เผยแพร่ และจัดแสดง ให้พสกนิกรชาวไทยเกิดความซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และมีความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์สืบต่อไป