เสนาะเสียงสำเนียงศิลป์ครั้งแผ่นดินพระปกเกล้า ฯ เรียบเรียงเทิดพระเกียรติคุณเนื่องในวาระคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นปีที่ ๘๑ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕
องค์ความรู้ : สำนักการสังคีต
เรื่อง เสนาะเสียงสำเนียงศิลป์ครั้งแผ่นดินพระปกเกล้า ฯ
เรียบเรียงเทิดพระเกียรติคุณเนื่องในวาระคล้ายวันสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นปีที่ ๘๑
๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๗ แห่งพระราชวงศ์จักรี พระราชสมภพเมื่อวันพุธ ที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๓๖ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งพระองค์ยังทรงดำรงพระยศที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชานั้น ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณีสวัสดิวัตน์ ต่อมา คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ กล่าวกันว่าในงานอภิเษกสมรสครั้งนั้น ถูกจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน เมื่อวันจันทร์ ที่ ๒๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๑ ซึ่งในงานครั้งนั้นมีการบรรเลงเพลงหน้าพาทย์บาทสกุณีโดยวงโยธวาทิตของทหารบกด้วยเรียบเรียงเสียงประสานเพลงโดย อัลเบอร์โต นาซารี (Alberto Nazari) ครูสอนแตรวงทหารบกชาวอิตาเลียน นับเป็นการบรรเลงเพลงบาทสกุณีด้วยวงดุริยางค์สากลครั้งแรก อำนวยเพลงโดย เสวกโท พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
ครั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ในพุทธศักราช ๒๔๖๘ นั้น ประเทศไทยต้องประสบกับสภาวะขาดแคลน จึงเกิดการยุบกรมโขนหลวงขึ้นในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘ ส่งผลให้ศิลปินในกรมโขนหลวงต้องถูกดุลยภาพออกจากตำแหน่งราชการ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นทรงมีพระราชดำริถึงกรมมหรสพ ความว่า
กรมมหรสพซึ่งเคยเป็นใหญ่ในสังกัดกรมมหาดเล็กต้องมีรายจ่ายเป็นเงินมากมาย บัดนี้เหลือความสามารถของพระคลังข้างที่ ที่จะดูแลต่อไปได้ จึงทรงขอความเห็นที่ประชุมเสนาบดีสภา หากเป็นการควรแท้ ที่จะสงวนรักษาศิลปะชั้นสูงเอาไว้สำหรับบ้านเมือง ก็เต็มพระราชหฤทัยที่จะทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์รักษาไว้ (พูนพิศ อมาตยกุล, ๒๕๕๑: ๓๗๕-๓๗๖)
จากความเห็นของที่ประชุมเสนาบดีสภา จึงได้มีมติให้ยุบกรมมหรสพ โดยเครื่องละครและสัมภาระทั้งปวงนั้น ให้มอบแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนวงปี่พาทย์ของหลวงและวงดนตรีฝรั่งหลวงนั้น ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ในพระราชสำนักของพระองค์ต่อไป ทั้งนี้ได้มีประกาศให้รวมกรมมหาดเล็กและกรมมหรสพเข้าไปอยู่ในสังกัดของกระทรวงวัง ซึ่งเจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) เสนาบดีผู้ดูแลกระทรวงวังในขณะนั้น ได้นำความกราบบังคมทูลแนะนำให้ปลดข้าราชการบางคนออกและขอให้ลดอัตราเงินเดือนลง รวมถึงย้ายข้าราชการบางคนไปบรรจุในอัตราตำแหน่งอื่น เพื่อให้รายจ่ายสมดุลกับงบประมาณของกระทรวงวัง
เสวกโท พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)ได้อธิบายถึงรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงดนตรีฝรั่งหลวง เมื่อครั้งเกิดกระแสที่จะมีการลดจำนวนนักดนตรีในวงดนตรีฝรั่งหลวงให้เหลือเป็นเพียงวงดนตรีย่อย ๆ ความว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีจุดจำนงจะบำรุงดนตรีวงนี้ให้เจริญยิ่งขึ้น...ข้าพเจ้าได้รับพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติไปเช่นเดิมทุกประการ เพื่อความก้าวหน้าของศิลปด้านนี้” (เสวกโท พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร), ๒๕๑๒: ๕๑)
จากข้อมูลดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อศิลปินและการดนตรีของประเทศ ซึ่งการที่ทรงอุปถัมภ์วงดนตรีฝรั่งหลวงอันเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติยศของประเทศนี้ ถือเป็นการสานต่อพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีมาแต่เดิม อีกทั้งยังส่งผลให้วงดนตรีฝรั่งหลวงนั้น ได้ดำรงต่อมาและกลายเป็นวงดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ในปัจจุบัน
ในเวลาต่อมา เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องจัดการแสดงนาฏศิลป์ไทยเพื่อต้อนรับแขกเมือง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ศิลปินด้านโขนและละคร ที่ถูกดุลยภาพออกไปบางท่านกลับเข้ามารับราชการในกระทรวงวังอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งงานต้อนรับผู้สำเร็จราชการอินโดจีน ณ วังวรดิศ เป็นต้นที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) และคุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต) กลับเข้ามารับราชการอีกครั้ง เพื่อถ่ายทอดและจัดการแสดงโขน ตอนนารายณ์ปราบนนทุกและตอนท้าวเสนากุฏเข้าเมืองโดยในครั้งนั้นคุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต) ได้แสดงโขนในบทบาท “นนทุก” ด้วยตนเอง
หากกล่าวถึงความเป็นศิลปินในพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระองค์โปรดฟังดนตรีไทยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ หากเสด็จ ฯ ไปงาน ณ ที่ใดก็ตามและที่นั่นมีการบรรเลงดนตรีไทยแล้วพระองค์มักจะประทับฟังเพลงไทยเป็นเวลานานเสมอ อีกทั้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ นั้น ยังโปรดการสีซออู้เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เมื่อทรงครองราชย์แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งวงดนตรีไทยส่วนพระองค์ขึ้น โดยทรงฝึกซ้อมและร่วมบรรเลงกับพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิดหลายพระองค์ อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า ฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิตและพระธิดาทั้ง ๕ พระองค์พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดรุณวัยวัฒน์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารำไพประภาฯลฯ เป็นต้น
ส่วนข้าราชบริพารที่ได้ร่วมวงนั้น ได้แก่พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) พระพาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน) พระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน) หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) หลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) ท้วม ประสิทธิกุล ศิลปินแห่งชาติ ฯลฯ เป็นต้น
การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ความสนพระราชหฤทัยและพระราชวงศ์ทรงให้ความสนพระทัยการบรรเลงดนตรีไทยนั้นส่งให้ผลให้ในเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ทางร้านดุริยบรรณ ได้จัดพิมพ์โน้ตดนตรีไทยระบบตัวเลขหรือที่เรียกว่าโน้ต “เลขาสังคีตย์”ขึ้นและได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เพื่อให้ทั้งสองพระองค์ได้ใช้เป็นเอกสารช่วยบันทึกความทรงจำในการฝึกหัดดนตรีไทยและเวลาทรงดนตรีไทย ซึ่ง พูนพิศ อมาตยกุล ได้กล่าวถึงร้านดุริยบรรณ ร้านดนตรีไทยเก่าแก่ร้านแรกที่ให้กำเนิดโน้ตเพลงไทยซึ่งบันทึกในรูปแบบตัวเลขและได้จัดพิมพ์เป็นตำรามาแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า
โน้ตสำหรับ ซอด้วง ซออู้ (เขียนเป็นตัวเลข มีสองบรรทัด บรรทัดบนสำหรับนิ้วสายเอกและบรรทัดล่างสำหรับนิ้วสายทุ้ม) กับโน้ตจะเข้ ซึ่งเขียนเป็นสามบรรทัด แยกสำหรับสายแต่ละสาย ทางร้านได้นำตำราโน้ตเพลงไทยที่เขียนเป็นระบบตัวเลขนี้ ตั้งชื่อว่า “เลขาสังคีตย์ ฉบับปรับปรุงขึ้นใหม่” ทุกฉบับขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ทั้งสองพระองค์ได้ทรงใช้เป็นเครื่องมือช่วยความจำ ในการฝึกหัดดนตรีไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะเวลาที่ทรงซอด้วง ซออู้และจะเข้ (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงจะเข้)(พูนพิศ อมาตยกุล, ๒๕๕๑: ๔๐๙)
สำหรับเครื่องดนตรีส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงมีซออู้คู่พระราชหฤทัยอยู่คันหนึ่ง พระราชทานนามซออู้คันนี้ว่า “ซอตุ๋น” ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง ทูลเกล้า ฯ ถวาย ซอตุ๋นคันนี้เป็นซออู้ขนาดเล็กที่กะโหลกของซอแกะเป็นตราประจำพระองค์ ปปร. และซออู้คันนี้เองเป็นซอคันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้พระราชนิพนธ์เพลงราตรีประดับดาวเถาขึ้นจากเพลงมอญดูดาวสองชั้น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๒ โดยมีหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) เป็นผู้ถวายคำแนะนำการพระราชนิพนธ์เพลงในครั้งนั้น ทั้งนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทขับร้องด้วยพระองค์เองอีกด้วย ถือได้ว่าเป็นพระราชนิพนธ์เพลงไทยเพลงแรกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๗๓ หลังจากพระองค์เสด็จนิวัติพระนครกลับจากการรักษาพระเนตรที่เมืองบอลทิมอร์ (Baltimore) สหรัฐอเมริกาแล้ว พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเขมรละออองค์ เถา ขึ้นอีกเพลงจากเพลงเขมรเอวบางสองชั้น โดยบทขับร้องนั้น ทรงดัดแปลงมาจากบทละครรำ เรื่องพระร่วง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์เพลงเขมรละออองค์ เถา นี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานต่อให้กับข้าราชการในกรมปี่พาทย์ที่ขึ้นเฝ้า ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน โดยรับสั่งให้ฝึกซ้อมให้เรียบร้อยเพื่อบรรเลงถวายให้ทรงตรวจแก้ไขในโอกาสต่อไป ถือเป็นพระราชนิพนธ์เพลงไทยลำดับที่ ๒ และได้มีการบันทึกเสียงเพลงเป็นครั้งแรกลงในแผ่นเสียงราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งท้วม ประสิทธิกุล ศิลปินแห่งชาติ นักร้องวงมโหรีหลวงในสมัยนั้น เป็นผู้ขับร้อง
ในพุทธศักราช ๒๔๗๔ ขณะพระองค์ประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล ได้ทรงพระราชนิพนธ์โหมโรงเพลงคลื่นกระทบฝั่งสามชั้นขึ้นจากจินตนาการที่ทรงทอดพระเนตรลูกคลื่นสาดซัดฝั่ง ซึ่งเพลงนี้มีต้นเค้ามาจากเพลงฝั่งน้ำอัตราสองชั้น ที่ปรากฏอยู่ในเพลงฉิ่งพระฉัน (เพล) เรื่องจิ้งจกทอง แล้วทรงนำมาขยายเป็นอัตราสามชั้น โดยทรงตั้งพระราชหฤทัยจะให้เป็นเพลงทยอยสำหรับบรรเลงรับร้อง แต่ด้วยยังทรงหาเนื้อร้องที่เหมาะสมไม่ได้ จึงโปรดให้นำมาเล่นเป็นเพลงสำหรับบรรเลงก่อน ครั้นนำทำนองช่วงท้ายของเพลงวามาต่อท้ายกับเพลงนี้เข้าจึงกลายเป็นเพลงโหมโรงไปโดยปริยาย
เมื่อครั้งขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวลในวันที่ ๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พร้อมด้วยพระธิดา ทั้ง ๕ พระองค์ ได้ทรงจัดวงเครื่องสาย (พิเศษ) บรรเลงและขับร้องบทชมพระตำหนักที่ประทับ ซึ่งประพันธ์บทขับร้องขึ้นใหม่โดยนายนราภิบาล (สิน เทศะแพทย์) บรรจุทำนองร้องด้วยเพลงแขกมอญบางขุนพรหมและเพลงอกทะเลครั้นบรรเลงและขับร้องเสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีการจัดงานรื่นเริงขึ้นณ ศาลาเริงและโปรดให้มีการละเล่นแต่งกายแฟนซีเดรส (Fancy Dress) ประกอบเพลงไทย
โดยมีกติกา คือ การแต่งพระองค์และการแต่งกายของสมาชิกที่มาร่วมในงานนั้น ต้องแต่งกายให้เป็นปริศนาโดยให้เครื่องแต่งกายมีความหมายตรงกับชื่อของเพลงไทยเพลงใดเพลงหนึ่งออกมา แล้วให้นักดนตรีทายว่าหมายถึงเพลงไทยเพลงใด หากนักดนตรีบรรเลงไม่ได้หรือบรรเลงผิดให้ถือว่าวงดนตรีเป็นฝ่ายแพ้ แต่ถ้าหากแต่งตัวออกมาแล้วง่ายเกินไปจนนักดนตรีสามารถบรรเลงเพลงได้ทันที ให้ถือว่าคนแต่งตัวเป็นฝ่ายแพ้ จะต้องโทษให้บรรเลงดนตรีหรือขับร้องเพื่อเป็นการทำโทษถือได้ว่าเป็นการทำกิจกรรมที่สนุกสนานร่วมกับการบรรเลงดนตรีไทยที่สนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในงานครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ทรงฉลองพระองค์แบบฝรั่งและคล้องพระกรควงคู่ด้วยกันเสด็จพระราชดำเนินออกมากลางเวที แล้ววงดนตรีบรรเลงเพลงไทยชื่อ “ฝรั่งควง”ส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตนั้น ทรงแต่งพระองค์เป็นแขก แล้วทรงนำหมูกระดาษทาสีแดง เอาเชือกมัดตีนทั้ง ๔ ข้าง พระดำเนินแบกหมูออกมา แล้ววงดนตรีบรรเลงเพลงชื่อ “มัดตีนหมู”
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนอกจากจะมีวงดนตรีในสังกัดต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้ว พระองค์ยังโปรดให้มีการตั้งวงมโหรีหลวงขึ้นอีกด้วยซึ่งนักดนตรีและนักร้องในวงนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสุภาพสตรีและต่างได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ทั้งสิ้น บรรดานักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงในยุคสมัยนั้น จึงพากันนำบุตรีและญาติที่เป็นผู้หญิงเข้าไปถวายตัวเป็นมโหรีหลวงโดยพร้อมกัน วงมโหรีหลวงวงนี้ มีหน้าที่บรรเลงในงานพระราชพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งจัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน เช่น รับพระ - ส่งพระ งานวันเฉลิมพระชนมพรรษา งานพระราชอุทยานสโมสร งานเลี้ยงรับรองต่าง ๆ ตามพระราชอัธยาศัย งานรับพระราชอาคันตุกะ ฯลฯ เป็นต้น โดยนักดนตรีในวงมโหรีหลวงทุกคนนั้น ต่างได้รับพระราชทานเครื่องแต่งกายในรูปแบบเดียวกันหมด ดังที่ เจริญใจ สุนทรวาทิน ศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวไว้ว่า
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ขึ้นเสวยราชย์ ในช่วงระยะหนึ่งก็ทรง โปรดเกล้าฯให้ตั้งวงมโหรีหลวง (หญิง) ขึ้น และข้าพเจ้าก็ได้ถวายตัวเป็นมโหรีหลวง และมีคุณแม่ท้วม ประสิทธิกุล และคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง เป็นมโหรีหลวงด้วย ข้าพเจ้าจำได้ว่าคุณแม่ท้วม ประสิทธิกุลนั้นได้รับพระราชทานเงินเดือนเดือนละ ๓๐ บาท ข้าพเจ้าเองได้เงินเดือน เดือนละ ๒๕ บาท การถวายตัวนี้ถวายตัวที่พระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีประทับอยู่ที่นั่น ในวันถวายตัวนั้นข้าพเจ้าได้รับพระราชทานเหรียญทอง ร.พ. ซึ่งหมายถึงพระนามของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เมื่อถวายตัวแล้วมีเครื่องแบบที่จะต้องแต่งตัวออกงานหลวงอยู่ ๒ สี คือ สีเขียวหมายถึง วันพุธ อันเป็นวันพระราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสีชมพู ก็หมายถึง วันอังคาร อันเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชินี และถ้าเป็นงานพระราชพิธีเล่นมโหรีในวัง เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันฉัตรมงคล ก็จะใส่เสื้อขาว ผ้าซิ่นเขียวเท่านั้น เครื่องแต่งตัวนี้ ได้รับพระราชทาน จากนั้นวงมโหรีหลวงก็ได้เริ่มซ้อม ที่รวมฝึกซ้อมคือที่บ้านท่านเจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) เสนาบดีกระทรวงวังในสมัยนั้น(เจริญใจ สุนทรวาทิน, ๒๕๕๕: ๑๓๑)
สำหรับนักดนตรีไทยที่อยู่ในวงมโหรีหลวงวงนี้ สันนิษฐานว่ามีทั้งสิ้น ๑๖ ท่าน ได้แก่ ๑) ดารา นาวีเสถียร (จะเข้) ๒) เลื่อน ผลาสินธุ์ (ขลุ่ย) ๓) สมใจ นวลอนันต์ (ระนาดเอกทอง) ๔) เจริญใจ สุนทรวาทิน (ฉิ่ง/ ขับลำนำ) ๕) ฝรั่ง เปรมประทิน (ฆ้องวงใหญ่) ๖) สะอิ้ง กาญจนผลิน (ระนาดเอก) ๗) ฟื้น บุญมา (ซอสามสาย) ๘)ละมุล คงศรีวิลัย (ระนาดทุ้ม) ๙) เชื่อม ดุริยประณีต (ฆ้องวงเล็ก) ๑๐) เฉลา วาทิน (รำมะนา) ๑๑) น้อม คงศรีวิลัย (ระนาดทุ้มเหล็ก) ๑๒) บรรจง เสริมสิริ (โทน)นอกจากนี้ยังมีนักดนตรีในวงมโหรีเครื่องสี่ อีก ๔ ท่าน ได้แก่ ๑๓) หม่อมหลวงเสารี ทินกร (กระจับปี่) ๑๔) ท้วม ประสิทธิกุล (กรับพวง ขับลำนำ) ๑๕) ชิ้น ศิลปบรรเลง (ซอสามสาย) และ ๑๖) สาลี ยันตรโกวิท (ทับ)นักดนตรีในวงมโหรีหลวงนี้ หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพุทธศักราช ๒๔๗๕ แล้วเมื่อถึงพุทธศักราช ๒๔๗๘ ได้มีหลายท่านโอนเข้ามารับราชการต่อในตำแหน่งครูของโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์และศิลปินในสังกัดของกรมศิลปากร
วงมโหรีหลวงนอกจากทำหน้าที่บรรเลงในงานต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายแล้วยังต้องบรรเลงถวายในเวลาเสวยค่ำทุกคืนวันพุธ เป็นเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง อีกด้วยซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น โปรดให้บรรเลงและขับร้องเพลงในละคร เรื่องเงาะป่า พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง โดยมีพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นครูผู้ควบคุมวง จากพระราชกระแสรับสั่งดังกล่าวส่งผลให้นักดนตรีในวงมโหรีหลวงทุกคนสามารถบรรเลงและขับร้องเพลงในละคร เรื่องเงาะป่าได้อย่างครบถ้วนเเละสมบูรณ์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในเรื่องดนตรีไทยดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังโปรดให้มีการฝึกซ้อมการแสดงละครดึกดำบรรพ์เพื่อออกแสดงในงานต่าง ๆ ตามพระราชประสงค์อีกด้วย ดังที่ เจริญใจ สุนทรวาทิน ศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการฝึกซ้อมการแสดงละครดึกดำบรรพ์ในสมัยนั้น ความว่า
สำหรับวงปี่พาทย์ที่ทำละครดึกดำบรรพ์ พ่อข้าพเจ้าเป็นผู้สอนและควบคุมวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์นี้ทั้งหมด เนื่องจากพ่อข้าพเจ้าได้เคยทำงานและร่วมงานละครนี้ที่บ้านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ตลอดมา ฉะนั้นในการละครดึกดำบรรพ์ทุกเรื่อง พ่อข้าพเจ้าเป็นผู้ควบคุมสอนอยู่ทุกเรื่อง และที่พระที่นั่งอัมพรสถานนี้เป็นงานแรกที่ข้าพเจ้าได้ออกรำละคร บรรดาเพื่อนๆ ที่ได้มาฝึกละครนั้น โดยมากที่เข้ามาจะเป็นละครและจะเป็นลูกข้าราชการแทบทั้งสิ้น แม้บางเรื่องธิดาคนเล็กของท่านเจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ หม่อมหลวงสาวดี อิศรเสนา เธอก็รำด้วย เธอเป็นตัวนารายณ์แปลง เป็นเด็กรําฉุยฉายได้สวยงามมาก ละครโรงนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า ละครหลวง และมโหรีหลวง จะฝึกซ้อมทุกวันที่วังสวนกุหลาบ โดยในเวลาเช้าจะมีรถมารับตามบ้านต่างๆ เข้ามาในวังสวนกุหลาบทุกวันเพื่อฝึกซ้อม และในตอนเย็น ประมาณ ๑๖.๐๐ น. ก็ส่งกลับตามบ้านทุกคน เมื่อมีงานหลวงก็ต้องไปแสดงตามที่ต่างๆ(เจริญใจ สุนทรวาทิน, ๒๕๕๕: ๑๓๒)
ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและพระราชประสงค์ให้ประชาชนชาวไทยได้มีโรงมหรสพที่ทันสมัยทัดเทียมอารยะประเทศ อีกทั้งเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทยและยังสามารถใช้เป็นสถานที่อำนวยความบันเทิงเริงรมย์ให้กับประชาชน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สร้างโรงมหรสพขึ้น ณ บริเวณแยกถนนตรีเพชรตัดกับถนนเจริญกรุง โดยเสด็จพระราชดำเนิน ฯ ไปทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๓ ด้วยพระองค์เองและพระราชทานนามโรงมหรสพแห่งนี้ว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” โดยมีหม่อมเจ้าเฉลิมสมัยกฤดากร ทรงออกแบบ ภาพยนตร์เรื่องที่นำออกฉายในวันเปิดเป็นปฐมฤกษ์นั้น คือ “เรื่องมหาภัยใต้ทะเล” ซึ่งรายได้ทั้งหมดจากค่าผ่านประตูในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ส่งไปบำรุงสภากาชาดสยาม โดยมิได้หักค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ในช่วงปลายของรัชกาล ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ วัฒนธรรมของชาติในด้านดนตรีไทยรวมถึงการแสดงโขนและละครในนั้น ถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมบันเทิงสำหรับชนชั้นสูงและพระราชวงศ์ด้วยเหตุนี้วงดนตรีซึ่งเคยเป็นวงทรงและวงดนตรีในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงต้องยุติการทำงานไประยะหนึ่ง นอกจากนี้เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงพระนิพนธ์บางเพลง ของพระบรมวงศานุวงศ์ ยังถูกสั่งห้ามมิให้นำออกมาบรรเลงอีกด้วย โดยเฉพาะเพลงราตรีประดับดาวและเพลงแขกมอญบางขุนพรหมนั้น ถูกสั่งห้ามมิให้บรรเลงและเผยแพร่โดยเด็ดขาด ทั้งช่องทางวิทยุและในที่สาธารณะด้วยทั้งสองเพลงนี้ เป็นเพลงที่แสดงให้เห็นถึงถึงความมีอำนาจของพระราชวงศ์
ครั้นถึงวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ จึงมีคำสั่งให้สำนักพระราชวังโอนงานการช่างและการมหรสพทั้งปวงไปขึ้นกับสังกัดกรมศิลปากร ซึ่งเป็นกรมที่ตั้งขึ้นใหม่ ข้าราชการและเจ้าพนักงานทุกคนในกองปี่พาทย์และโขนหลวง ซึ่งรับราชการมาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงต้องโอนย้ายไปขึ้นกับสังกัดกรมศิลปากร บางท่านได้บรรจุในแผนกดุริยางค์ไทย ปัจจุบันคือสำนักการสังคีต กรมศิลปากร บางท่านได้บรรจุอยู่ในโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ปัจจุบันคือ วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ด้วยเหตุนี้องค์ความรู้และภูมิปัญญาทางด้านดนตรีและนาฏศิลป์ที่อยู่ในตัวศิลปินผู้ซึ่งเคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณมาแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้รับการถ่ายทอด ต่อยอดและเผยแพร่อยู่ในสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และวิทยาลัยนาฏศิลปมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ในพุทธศักราช ๒๔๗๗ หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติแล้วพระองค์ได้เสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษและสวรรคต ณ ที่นั่น ด้วยพระอาการพระหทัยวายโดยฉับพลัน เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ บทความฉบับนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อเผยแพร่และเทิดพระเกียรติคุณพระราชกรณียกิจในด้านดนตรีและนาฏศิลป์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นที่ประจักษ์พร้อมทั้งถวายเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐให้ปรากฏยั่งยืนอยู่ตราบนิตยกาล
เรียบเรียง : ธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ
สำนักการสังคีต กรมศิลปากร
รายการอ้างอิง
เจนดุริยางค์, เสวกโท พระ. ชีวประวัติของข้าพเจ้า.กรุงเทพมหานคร: บางกอก ซีเกรตาเรียล ออฟฟิศ, ๒๕๐๑. (เจ้าภาพพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกโท
พระเจนดุริยางค์ ท.ช., ท.ม., ต.จ.ว. (ปิติ วาทยะกร) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒).
เจริญใจ สุนทรวาทิน, ข้าพเจ้าภูมิใจที่เกิดเป็นนักดนตรีไทย. ใน จารุวรรณ ชลประเสริฐ และ พรทิพย์ จันทิวโรทัย, บรรณานุสรณ์ เจริญใจ สุนทรวาทิน, หน้า๑๓๑-๑๓๒.กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๕.
พูนพิศ อมาตยกุล. จดหมายเหตุดนตรี ๕ แผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ เดือนตุลา,๒๕๕๑.
มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง). อนุสรณ์คำนึงในวาระฉลองรอบร้อยปีเกิดหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง). กรุงเทพมหานคร: บัวหลวงการพิมพ์,๒๕๒๔.
ศิลปากร, กรม. ทำเนียบราชการกรมศิลปากร. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์พระจันทร์,๒๔๗๙.


Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.