หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2536 เห็นชอบโครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติในส่วนภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (หน่วยงานต้นสังกัดในขณะนั้น) ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรขยายงานจดหมายเหตุและจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติประจำภูมิภาค เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการรวบรวม จัดเก็บ และสงวนรักษาเอกสารสำคัญของชาติ รวมทั้งให้บริการค้นคว้าวิจัยแก่ส่วนราชการและประชาชนในท้องถิ่น
กรมศิลปากร โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (หน่วยงานต้นสังกัดในขณะนั้น) ได้จัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี ขึ้น เนื่องจากเห็นว่าจังหวัดสุพรรณบุรีมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงเป็นจังหวัดที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการที่สำคัญในพื้นที่ภาคตะวันตก
อาคารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี ออกแบบโดยสถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากร โดยเริ่มก่อสร้างอาคารใน พ.ศ. 2538 บนพื้นที่ดอนย่างแย้ ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ภายในแบ่งเป็นส่วนสำนักงาน ส่วนคลังเก็บเอกสาร ส่วนปฏิบัติการ และส่วนบริการ โดยเฉพาะส่วนเก็บเอกสารมีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อรักษาเอกสารให้คงสภาพดี มีอายุยาวนานด้วย
ต่อมาใน พ.ศ. 2541 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี และใน พ.ศ. 2542 ได้เริ่มปฏิบัติงานตามระบบงานจดหมายเหตุ กระทั่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2546 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี อย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี สังกัดในสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่สำคัญในการปฏิบัติงานรวม 5 ประการ คือ
1. พิจารณา ตรวจสอบ ติดตาม และรับมอบเอกสารสำคัญที่สิ้นกระแสการปฏิบัติงานจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนในพื้นที่รับผิดชอบ รวม 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี2. วิเคราะห์ ประเมินคุณค่า จัดหมวดหมู่ จัดทำเครื่องมือช่วยค้นคว้า และอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุ
3. รวบรวมข้อมูล สังเกตการณ์ และบันทึกเหตุการณ์สำคัญในท้องถิ่น
4. ให้บริการค้นคว้าวิจัยข้อมูลและจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานจดหมายเหตุ
5. ปฏิบัติงานสารบรรณ บุคลากร การเงินและพัสดุ การจัดทำแผนงานงบประมาณ ดูแลอาคารสถานที่ และรักษาความปลอดภัย
หอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21
ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์ราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ถนนสุพรรณบุรี - ชัยนาท ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ1. เพื่อเป็นเกียรติยศแก่บุคคลที่กระทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองและสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูยึดถือให้เป็นแบบอย่าง
2. เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมประวัติ ผลงาน และเกียรติคุณของ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 สำหรับให้ผู้สนใจได้ศึกษา ค้นคว้า และนำไปเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงชีวิต
3. เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์
อาคารหอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ออกแบบโดยสถาปนิกจากสถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากร เริ่มก่อสร้างในวันที่ 25 กันยายน 2541 แล้วเสร็จในวันที่ 16 ตุลาคม 2543 ลักษณะเป็นอาคารศิลปะไทยประยุกต์ 2 ชั้น ชั้นล่างประกอบด้วยส่วนจัดแสดง ส่วนสำนักงาน ห้องบริการค้นคว้า ห้องประชุม ห้องฉายภาพยนตร์ และส่วนชั้นบนเป็นส่วนจัดแสดง ภายหลังเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 โดยกรมศิลปากรมอบหมายให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี ดูแลรับผิดชอบการดำเนินงาน
ปัจจุบันหอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 สังกัดในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่สำคัญในการปฏิบัติงานรวม 2 ประการ คือ
1. รวบรวมและบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับนายบรรหาร ศิลปอาชา
2. ให้บริการข้อมูลและข่าวสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนายบรรหาร ศิลปอาชา
(จำนวนผู้เข้าชม 649 ครั้ง)
มีพันธกิจสำคัญในการให้บริการ ดังนี้
1.ให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับการกำหนดอายุการจัดเก็บ การทำลาย และการส่งมอบเอกสารราชการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี ยินดีให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับการจัดเก็บ การทำลาย และการส่งมอบเอกสารราชการตามหลักเกณฑ์ พระราชบัญญัติ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง (โปรดคลิก) ให้แก่หน่วยงานราชการที่ประสงค์จะทำลายเอกสารราชการที่สิ้นกระแสการปฏิบัติงานแล้ว รวมถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเอกชนที่ประสงค์จะทำลายเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหลังจากที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับมอบเอกสารราชการหรือเอกสารสำคัญแล้ว จะทำการประเมินคุณค่าและคัดเลือกเอกสารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้เป็นเอกสารจดหมายเหตุ จากนั้นทำการจัดหมวดหมู่ ทำบัญชีรายการ อนุรักษ์เอกสาร และเก็บรักษาอย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการจดหมายเหตุต่อไป
2.บริการค้นคว้าและทำสำเนาเอกสารจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี ให้บริการศึกษาค้นคว้าและทำสำเนาเอกสารจดหมายเหตุระหว่างวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.30 น. - 16.00 น. เว้นวันหยุดราชการ โดยผู้ค้นคว้าต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมศิลปากร ว่าด้วยการให้บริการแก่ประชาชนของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ การทำสำเนาเอกสารจดหมายเหตุ อัตราค่าทำสำเนาเอกสารจดหมายเหตุและค่าบริการอื่น พ.ศ. 2564 ซึ่งระบุให้ผู้ค้นคว้าต้องแจ้งความประสงค์ขอค้นคว้าเอกสารจดหมายเหตุและจัดทำบัตรประจำตัวผู้ค้นคว้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถอำนวยความสะดวกและแนะนำชุดเอกสารที่เหมาะสมกับหัวข้อที่จะค้นคว้าได้
3.บริการรับฝากเก็บเอกสาร หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี บริการรับฝากเก็บเอกสารสำคัญของหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ประสงค์จะให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี เก็บรักษาไว้ โดยขั้นตอนเริ่มจากผู้ฝากต้องส่งบัญชีเอกสารเพื่อขอพิจารณาฝากเก็บให้แก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี พิจารณาตรวจและอนุมัติรับฝาก ซึ่งอายุการฝากเก็บจะเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้ฝากกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อผู้ฝากต้องการอ่านเอกสารฝากเก็บจะต้องมีหนังสือจากผู้มีอำนาจอนุญาตให้อ่านมายืนยันต่อเจ้าหน้าที่ และเมื่อเอกสารที่ฝากเก็บครบอายุจัดเก็บตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี จะแจ้งหน่วยงานผู้ฝากให้ปฏิบัติตามระเบียบฯ ต่อไป
4.การจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี จัดกิจกรรมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับงานจดหมายเหตุให้แก่นักเรียน นักศึกษา และสาธารณชนทั่วไป โดยมีกิจกรรมหมุนเวียนไปตามโครงการและงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร อาทิ การจัดนิทรรศการ การจัดประชุมสัมมนา การนำชมหน่วยงาน เป็นต้น
(จำนวนผู้เข้าชม 367 ครั้ง)